[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 272
เถรคาถา ติกนิบาต
วรรคที่ ๑
๙. ยโสชเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระยโสชเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 272
๙. ยโสชเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระยโสชเถระ
[๓๑๕] ได้ยินว่า พระยโสชเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
นรชนผู้มีใจไม่ย่อท้อ เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าว และน้ำ ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหมือนกับเถาหญ้านาง ภิกษุถูกเหลือบและยุงในป่าใหญ่กัด ควรเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายเหล่านั้น เหมือนช้างในสงคราม ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม อยู่ ๒ รูปเหมือนเทวดา อยู่ ๓ รูปเหมือนชาวบ้าน อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น เพราะฉะนั้น ภิกษุควรเป็นผู้อยู่แต่รูปเดียว.
อรรถกถายโสชเถรคาถา
คาถาของท่านพระยโสชเถระ มีคำเริ่มต้นว่า กาลปพฺพงฺคสงฺกาโส. มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
แม้ท่านพระยโสชเถระนี้ มีบุญญาธิการที่ได้ทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อสั่งสมบุญทั้งหลายในภพนั้นๆ มาในกาลของ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้เกิดในตระกูลของผู้เฝ้าสวน รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี กำลังเสด็จมาทางอากาศ มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลขนุนสำมะลอ (แด่พระองค์).
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 273
ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก มาในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงได้เกิดเป็นบุตรของชาวประมง ผู้เป็นหัวหน้าของตน ๕๐๐ สกุล ในหมู่บ้านของชาวประมง ใกล้ประตูพระนครสาวัตถี. มารดาบิดา ได้ขนานนามท่านว่า ยโสชะ. ท่านเจริญวัยแล้ว ได้ไปลงอวนที่แม่น้ำอจิรวดี เพื่อจะเอาปลาพร้อมกับลูกชาวประมง ที่เป็นเพื่อนของตน. บรรดาปลาเหล่านั้น ปลาใหญ่ตัวหนึ่ง มีสีเหมือนทองเข้าอวน. ชาวประมงเหล่านั้น พากันเอาปลา ไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ทอดพระเนตร. พระองค์ตรัสว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า (เท่านั้น) จึงจะทรงทราบเหตุแห่งสีของปลาสีทองตัวนี้ แล้วทรงให้พวกเขาเอาปลาไปให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปลาตัวนี้ เมื่อพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมถอยลง บวชแล้วปฏิบัติผิด ทำให้ศาสนาเสื่อมถอยลง (มรณภาพแล้ว) ไปเกิดในนรก ไหม้อยู่ในนรกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากนรกนั้นแล้ว จึงมาเกิดเป็นปลาในแม่น้ำอจิรวดี แล้วทรงให้ปลานั้นนั่นเอง บอกความที่เขาและน้องของเขาเกิดในนรก และบอกความที่พระเถระผู้เป็นพี่ชายของเขาปรินิพพาน แล้วจึงทรงแสดงกบิลสูตร เพราะเกิดเรื่องนี้ขึ้น.
นายยโสชะ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เกิดสังเวชสลดใจ จึงได้บวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมด้วยสหายของตน พักอยู่ ณ ที่ๆ สมควร อยู่มาวันหนึ่ง เป็นผู้มีบริวารได้ไปยังพระเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า. ในการมาของท่าน ได้มีเสียงอึกทึกคึกโครมไปด้วยการปูเสนาสนะเป็นต้น ในวิหาร ผู้ศึกษาควรทราบเรื่องทั้งหมด โดยนัยที่มีมาแล้วในคัมภีร์อุทานว่า พระศาสดาครั้นได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ได้ทรงประณามท่านยโสชะ พร้อมด้วยบริวาร ส่วนท่านยโสชะผู้ถูกประณามแล้วสลดใจ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 274
เหมือนม้าอาชาไนยตัวดีถูกหวดด้วยแส้ จึงพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัดคุมุทา พร้อมด้วยบริษัทบริวาร พยายามสืบต่อบำเพ็ญวิปัสสนา แล้วได้เป็นพระอริยเจ้า ผู้มีอภิญญา ๖ ในภายในพรรษานั่นเอง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ในอปทานว่า
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นคนเฝ้าสวน ในนครพันธุมดี ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงปราศจากความกำหนัด กำลังเสด็จดำเนินไป ข้าพเจ้าไม่ได้หลีกไป ได้เอาผลขนุนสำมะลอไปถวายพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ มีพระทัยสงบแล้ว ประทับบนอากาศนั่นเอง ทรงรับเอาผลไม้นั้น พระองค์ทรงยังความปลื้มใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ทรงนำความสุขในปัจจุบันมาให้ข้าพเจ้า เพราะถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้าด้วยใจเลื่อมใส ในครั้งนั้นข้าพเจ้า จึงประสบปีติที่ไพบูลย์ และความสุขอย่างสูงสุด รัตนะเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าผู้เกิดในภพนั้นๆ ทีเดียว ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย เพราะเหตุที่ได้ถวายผลไม้แก่พระพุทธเจ้าในครั้งนั้น นี้คือผลแห่งการให้ทานผลไม้. กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าได้เผาแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
ก็พระศาสดาได้ตรัสสั่งให้หาท่านยโสชะ พร้อมด้วยบริวารผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว ได้ทรงทำการต้อนรับด้วยอาเนญชสมาบัติ (สมาบัติที่ไม่หวั่นไหว) ท่านสมาทานธุดงค์ธรรมแม้ทุกข้อแล้วประพฤติ. ด้วยเหตุนั้น ร่างกายของท่านจึงผ่ายผอม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 275
เศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสรรเสริญท่าน ด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง จึงได้ตรัส พระคาถาที่ ๑ ไว้ว่า
นรชนผู้มีใจไม่ย่อท้อ เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นเหมือนกับเถาหญ้านาง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลปพฺพงฺสงฺกาโส ความว่า มีตัวคล้ายข้อเถาหญ้านาง เพราะมีอวัยวะร่างกายผอม ดำรงอยู่โดยยาก โดยปราศจากกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า กิโส ธมนิสนฺถโต ผอมมีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น.
บทว่า กิโส ได้แก่ มีรูปร่างผอม เพราะบำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา ข้อ ปฏิบัติเพื่อเป็นมุนีให้บริบูรณ์.
บทว่า ธมนิสนฺถโต ความว่า มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น อธิบายว่า มีรูปร่างเกลื่อนไปด้วยเส้นเอ็นใหญ่ๆ ที่ปรากฏชัด เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย.
บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่ เป็นผู้รู้ประมาณในการแสวงหา การรับ การฉัน และการเสียสละ.
บทว่า อทีนมานโส ได้แก่ ผู้มีใจไม่หดหู่ เพราะไม่ถูกความเกียจคร้านเป็นต้นครอบงำ คือเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่เกียจคร้าน.
บทว่า นโร ได้แก่ ผู้ชาย คือผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะของผู้ชาย เพราะนำธุระของลูกผู้ชายไปได้ อธิบายว่า ชายที่เอางานเอาการ.
พระเถระผู้อันพระศาสดาทรงสรรเสริญอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกล่าวธรรมที่เหมาะสมกับความที่ตนเป็นผู้อันพระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 276
โดยการสรรเสริญอธิวาสนขันติ วิริยารัมภะ และความยินดีในวิเวกของตนเป็นสำคัญ จึงได้ภาษิตคาถา ๒ คาถาไว้ว่า
ภิกษุถูกเหลือบและยุงในป่าใหญ่กัด ควรเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายเหล่านั้น เหมือนช้างในสงความ ภิกษุอยู่รูปเดียว ย่อมเป็นเหมือนพรหม อยู่ ๒ รูป เหมือนเทวดา อยู่ ๓ รูป เหมือนชาวบ้าน อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น เพราะฉะนั้น ภิกษุควรเป็นผู้อยู่แต่รูปเดียว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาโค สงฺคามสีเสว ความว่า อุปมา เสมือนหนึ่งว่า ช้างตัวประเสริฐอาชาไนย สู้ทนเครื่องประหัตประหาร มีดาบ หอกแทงและหอกซัดเป็นต้นในสนามรบแล้ว กำจัดแสนยานุภาพฝ่ายข้าศึก (ปรเสนา) ได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ควรมีสติสัมปชัญญะ อดทนอันตราย มีเหลือบเป็นต้นในป่าใหญ่ คือพงไพรไว้ และครั้นทนได้แล้ว ก็จะพึงกำจัด มารและพลมารได้ ด้วยกำลังแห่งภาวนา.
บทว่า ยถา พฺรหฺมา ความว่า พระพรหมโดดเดี่ยวเดียวดาย เว้นจากผู้กวนใจ อยู่สำราญด้วยฌานสุขเนืองนิจทีเดียว ฉันใด. บทว่า ตถา เอโก ความว่า แม้ภิกษุอยู่รูปเดียว ไม่มีเพื่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน จะเพิ่มพูนความสุข เกิดแต่วิเวกอยู่อย่างสำราญ. จริงดังที่กล่าวไว้ว่า ความสุขธรรมดาสามัญของคนๆ เดียว เป็นความสุขที่ประณีต. ด้วยคำว่า ยถา พฺรหฺมา ตถา เอโก นี้ พระเถระชื่อว่าให้โอวาทว่า ภิกษุผู้อยู่รูปเดียวเป็นปกติ เป็นผู้เสมอเหมือน พระพรหม.
บทว่า ยถา เทโว ตถา ทุเว ความว่า เทวดาทั้งหลายก็คงมีความวุ่นวายใจเป็นระยะๆ ฉันใด แม้การกระทบกระทั่งกัน เพราะการอยู่ร่วมกัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 277
ก็คงมีแก่ภิกษุ ๒ รูป ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น ภิกษุท่านกล่าวว่า เป็นผู้เสมอเหมือนเทวดา โดยการอยู่มีเพื่อนสอง.
บทว่า ยถา คาโม ตถา ตโย ความว่า ในบาลีแห่งนี้เท่านั้น การอยู่ร่วมกันของภิกษุ ๓ รูป เป็นเสมือนการอยู่ของชาวบ้าน อธิบายว่า ไม่ใช่การอยู่อย่างวิเวก.
บทว่า โกลาหลํ ตรุตฺรึ ความว่า การอยู่ร่วมกันเกิน ๓ คน หรือมากกว่านั้น เป็นความโกลาหล อธิบายว่า เป็นเสมือนการชุมนุมของคนจำนวนมาก ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม เพราะฉะนั้น ภิกษุควรจะเป็นผู้อยู่คนเดียวเป็นปกติ.
จบอรรถกถายโสชเถรคาถา