[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 200
๓. เรื่องพระปธานิกติสสเถระ [๑๒๙]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 200
๓. เรื่องพระปธานิกติสสเถระ [๑๒๙]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปธานิกติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อตฺตานญฺเจ" เป็นต้น.
พระปธานิกติสสเถระดีแต่สอนคนอื่น ตนไม่ทำ
ดังได้สดับมา พระเถระนั้นเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว พวกภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไปจำพรรษาในป่า กล่าวสอนว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระชนม์อยู่, จงเป็นผู้ไม่ประมาท ทำสมณธรรมเถิด" ดังนี้แล้ว ตนเองก็ไปนอนหลับ. ภิกษุเหล่านั้นจงกรมในปฐมยามแล้ว เข้าไปสู่วิหาร ในมัชฌิมยาม. พระเถระนั้นไปสู่สำนักของภิกษุเหล่านั้น ในเวลาตนนอนหลับแล้วตื่นขึ้น กล่าวว่า "พวกท่านมาด้วยหวังว่า จักหลับนอน ดังนี้หรือ? จงรีบออกไปทำสมณธรรมเถิด" ดังนี้แล้ว ตนเองก็ไปนอน เหมือนอย่างนั้นนั่นแล. พวกภิกษุนอกนี้ จงกรมในภายนอกในมัชฌิมยามแล้ว เข้าไปสู่วิหารในปัจฉิมยาม. พระเถระนั้น ตื่นขึ้นแม้อีกแล้ว ไปสู่สำนักของภิกษุเหล่านั้น นำภิกษุเหล่านั้นออกจากวิหารแล้ว ตนเองก็ไปนอนหลับเสียอีก, เมื่อพระเถระนั้นกระทำอยู่อย่างนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์, ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะทำการสาธยายหรือทำพระกัมมัฏฐานไว้ในใจได้. จึงได้ถึงความฟุ้งซ่านแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันว่า "อาจารย์ของพวกเรา ปรารภความเพียรเหลือเกิน, พวกเราจักคอยจับท่าน" เมื่อคอยจับอยู่ เห็นกิริยาของพระเถระนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรา ฉิบหายแล้ว, อาจารย์ของพวกเราย่อมร้องเปล่าๆ " บรรดาภิกษุเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 201
ลำบากอยู่เหลือเกิน ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ไม่สามารถจะยังคุณวิเศษให้บังเกิดได้. ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา มีปฏิสันถารอันพระศาสดาทรงทำแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท ทำสมณธรรมหรือ? จึงกราบทูลความนั้น.
เรื่องไก่ขันไม่เป็นเวลา
พระศาสดา ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ได้ทำอันตรายแก่พวกเธอไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น, แม้ในกาลก่อน ภิกษุนั้นก็ได้ทำอันตรายแก่พวกเธอเหมือนกัน" อันภิกษุเหล่านั้น ทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงยังอกาลรวกุกกุฏชาดก (๑) ให้พิสดาร (ความย่อ) ว่า :-
" ไก่ตัวนี้ เติบโตแล้วในสำนักของผู้มิใช่มารดา
และบิดา อยู่ในสกุลแห่งผู้มิใช่อาจารย์ จึงไม่รู้จัก กาลหรือมิใช่กาล"
ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อันธรรมดาภิกษุ เมื่อกล่าวสอนคนอื่น พึงทำตนให้เป็นอันทรมานดีแล้ว, เพราะบุคคล เมื่อกล่าวสอนอย่างนั้น เป็นผู้ฝึกดีแล้ว ชื่อว่าย่อมฝึกได้" แล้วตรัสพระคาถานี้ :-
๓. อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
"ถ้าบุคคลพร่ำสอนผู้อื่นอยู่ฉันใด, พึงทำตน
ฉันนั้น, บุคคลผู้มีตนฝึกดีแล้วหนอ (จึง) ควรฝึก
(ผู้อื่น) เพราะว่าได้ยินว่า ตนฝึกได้โดยยาก."
๑. ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๓๘. อรรถกถา. ๒/๓๐๒. อกาลราวิชาดก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 202
แก้อรรถ
พึงทราบความแห่งพระคาถานั้นว่า :-
"ภิกษุกล่าวแล้วว่า พึงจงกรมในปฐมยามเป็นต้น ชื่อว่าย่อมกล่าวสอนผู้อื่นฉันใด ตนเองก็ฉันนั้น อธิษฐานกิจมีจงกรมเป็นต้น ชื่อว่าพึงกระทำตนเหมือนอย่างสอนผู้อื่น. เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นเป็นผู้มีตนฝึกดีแล้วหนอ ควรฝึก (บุคคลอื่น). "
บาทพระคาถาว่า สุทนฺโต วต ทเมถ ความว่า ภิกษุย่อมพร่ำสอนผู้อื่น ด้วยคุณอันใด, เป็นผู้ฝึกฝนดีแล้วด้วยตน ด้วยคุณอันนั้น ควรฝึก (ผู้อื่น).
บาทพระคาถาว่า อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม ความว่า เพราะว่าชื่อว่าตนนี้ เป็นสภาพอันบุคคลฝึกฝนได้ยาก. เพราะเหตุนั้น ตนนั้นย่อมเป็น สภาพอันบุคคลฝึกฝนดีแล้ว ด้วยประการใด ควรฝึกฝนตนด้วยประการนั้น.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุแม้ประมาณ ๕๐๐ รูปนั้น บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระปธานิติสสเถระ จบ.