ลักษณะความเห็นผิดที่มีโทษมาก
โดย สิริพรรณ  26 ก.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23703

ได้อ่านพบว่า ความเห็นผิดมีโทษมากที่สุด ขอเรียนถามเพื่อความกระจ่างดังนี้

1. อวิชากับความเห็นผิดคือสภาพธรรมเดียวกันใช่ไหมคะ

2. การไม่เห็น หรือไม่ประจักษ์สภาวะรูปนามก็คือความเห็นผิดใช่ไหมคะ

3. การไม่ยอมรับในอกุศลวิบากก็เป็นความเห็นผิดใช่ไหมคะ

4. การศึกษาธรรม เป็นหนทางเริ่มต้นของการเห็นถูกใช่ไหมคะ

5. การปล่อยวางสิ่งที่เคยหลงไหล ยึดติด เพราะเข้าใจความจริงของสัจจธรรม เป็นส่วนหนึ่งของผลจากความเห็นถูกใช่ไหมคะ

6. การชื่นชม ดีใจ สุขใจ ว่า วันนี้ เรานั่งสมาธิได้นาน ไม่เมื่อยเลย หรือเดินจงกรม ได้ตลอดคืน เป็นความเห็นผิดใช่ไหม เพราะเหตุใด

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงในความเมตตาค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. อวิชากับความเห็นผิดคือสภาพธรรมเดียวกันใช่ไหมคะ

อวิชชา หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็น โมหเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ หลง และ เขลา ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียง ธรรมไม่ใชเรา เป็นต้น ทีเป็นการไม่รู้ในอริยสัจ 4 ส่วนความเห็นผิด ที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็น อกุศลเจตสิกเช่นกัน แต่เป็น ทิฏฐิเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิด ความเห็นขึ้น เห็นผิดตามความเป็นจริงว่า เที่ยง เป็นสุข หรือ เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล สำคัญว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงด้วยความเห็นผิด ครับ

จะเห็นนะครับว่า อวิชชา ความไม่รู้ ขณะที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีความเห็นอะไรเกิดขึ้นเลย แต่ ขณะนั้น ไม่รู้อะไรเลย เท่านั้น แต่ ขณะที่มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น ขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้นแล้ว ที่เห็นผิด อย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นผิดว่าเที่ยง หรือ เป็นสุข หรือเป็นตัวตนครับ แต่ ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น มี อวิชชา คือ โมหะเจตสกิเกดร่วมด้วยเสมอ เพราะ อาศัยความไม่รู้ จึงเกิดความเห็นผิด และ อกุศลประการต่างๆ ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

โมหะ โมหเจตสิก ความเห็นผิด ความไม่รู้ อวิชชา

หากศึกษาไม่ละเอียด จะทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้

มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

ความเห็นผิดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง


2. การไม่เห็น หรือไม่ประจักษ์สภาวะรูปนามก็คือความเห็นผิดใช่ไหมคะ

- เมื่อกล่าวถึงขณะจิต ขณะที่ไม่ได้มีความเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ไม่ได้ จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด เพราะเมื่อพูดถึงความเห็นผิด เป็นทิฏฐิเจตสิก ที่เป็น เจตสิกที่ไม่ดี เกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น แม้ขณะที่ทำกุศล หรือ เกิด กุศลที่ไม่ใช่มีปัญญา เช่น ให้ทาน รักษาศีล แม้ขณะนั้น ไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ ขณะนั้น ไม่มีทิฏฐิเจตสิก ที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่ได้มีความเห็นผิด เพียงแต่ว่า แม้ไม่เห็นผิด แต่ก็ไม่ได้เห็นถูก เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ครับ และ แม้เกิดอกุศลประเภทอื่นๆ เช่น ขณะที่โกรธอยู่ ขณะนั้น ก็ไมได้เห็นผิด เพราะ กำลังโกรธเท่านั้น เพราะ เมื่อพูดถึงความเห็นผิด ทิฏฐิเจตสิก จะต้องมีความเห็น อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ เกิดความคิดเห็นขึ้นในจิตใจที่ผิด เช่น คิดว่ามีสัตว์ บุคคลแน่นอน เป็นต้น แต่ขณะที่โกรธไม่ได้มีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นมา จึงไม่ได้ เห็นผิด แม้จะเป็นอกุศล ครับ แต่ ขณะใดที่เกิดความคิดเห็นอย่างนั้น ที่ผิดตามความ เป็นจริง มี ทิฏฐิเจตสิก มีความเห็นผิด ครับ


3. การไม่ยอมรับในอกุศลวิบากก็เป็นความเห็นผิดใช่ไหมคะ

ความเห็นผิด มีหลายระดับ ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นผิด ที่ไม่เชื่อว่ากรรมมีผล ของกรรมมี ความเห็นผิดว่าเที่ยง ความเห็นผิดว่าขาดสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีก ความ เห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากมีความเห็นผิดที่ไม่ยอมรับใน ผล คือ ไม่เชื่อว่าเมื่อทำกรรมชั่วแล้ว จะต้องได้รับผลชั่ว อย่างนี้ ก็เป็นการไม่ยอบรับใน อกุศลวิบาก ก็เป็นความเห็นผิดได้ ครับ


4. การศึกษาธรรม เป็นหนทางเริ่มต้นของการเห็นถูกใช่ไหมคะ

ถูกต้อง ครับ อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม ที่เป็นปริยัติ ย่อมทำให้เกิดปัญญา เกิดความเห็นถูก เพราะ การฟังด้วดี ย่อมเกิดปัญญา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕

ถาม บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร ...

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ ทั้งหลายเพื่อบรรลุนิพพานเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง

ฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

๑. มหาจุนทเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็น เหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯลฯ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ปัญญาเริ่มต้นจากการฟังพระธรรม

ปัญญามีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดปัญญา

อาศัยการฟังให้เข้าใจก่อน


5. การปล่อยวางสิ่งที่เคยหลงไหล ยึดติด เพราะเข้าใจความจริงของสัจจธรรม เป็น ส่วนหนึ่งของผลจากความเห็นถูกใช่ไหมคะ

แม้แต่คำว่า ปล่อยวาง ก็เป็นเรื่องละเอียด เพราะ ในความเป็นจริง ผู้ที่ไม่ยึดถือ ติดข้องจริงๆ แล้ว คือ พระอรหันต์ หากแต่ว่า เรายังไม่รู้จักโลภะ ความติดข้องอย่าง ละเอียด เพราะฉะนั้น แม้เพียงเห็น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ยึดถือด้วยความติดข้องแล้ว ด้วยโลภะโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะ กิเลสไว และ สะสมกิเลสมามาก เพราะฉะนั้น หนทางการดับกิเลส จะต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่การจะละความติดข้องพอใจ แต่ ต้องเป็นการละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล

เพราะถ้าไม่ละเอียด ก็ยึดถือ ว่าเป็นเรา ละวาง เป็นเราที่ปล่อย ไม่ยึดถือก็ไม่พ้นจากความยึดถือได้เลย ใน ขณะนั้น เพราะยังเข้าใจว่าเป็นเรา ไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม ผลของการศึกษา ธรรมที่ถูกต้อง คือ เกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นและที่สำคัญที่สุด เกิดความเห็นถูก เกิดปัญญา เข้าใจความจริงมากขึ้น แม้อกุศลที่เกิดขึ้น ก็ไม่พยายามบังคับ เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียง ธรรมไม่ใช่เรา และ ไม่สามารถบังคับได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ที่ เป็นผลจกการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง คือ ค่อยๆ เข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียง ธรรมไม่ใช่เราครับ โดยไม่มีตัวตน ที่จะปล่อย ที่จะละเลย เพราะธรรมจะทำหน้าที่เอง หน้าที่ที่สำคัญ คือการฟัง ศึกษาพระธรรมต่อไป


6. การชื่นชม ดีใจ สุขใจ ว่า วันนี้ เรานั่งสมาธิได้นาน ไม่เมื่อยเลย หรือเดินจงกรมได้ ตลอดคืน เป็นความเห็นผิดใช่ไหม เพราะเหตุใด

การปฏิบัติธรรมใพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ตามที่เข้าใจ แต่เป็นการเกิดของสติและปัญญทาทีเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นการ รู้ความจริงของสภาพธรรมมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่เช่รา ครับ นี่คือ การ ปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง อันจะมีได้ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ขณะที่จะไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม ก็เกิดความไม่รู้ อันแป็นควาเมห็นผิดในข้อปฏิบัติ แล้ว ที่เป็น สีลพรตปรามาส ซึ่งเป็นควาเมห็นผิดประเภทหนึ่งเช่นกัน ไม่ต้องกล่าวถึง การแช่มชื่น ยินดีในความสุข เพราะ ขณะนั้น ก็ยินดีในสิ่งที่ผิด ในอกุศลอยู่ โดยไม่รู้ ตัวเลยครับ ที่ไม่รู้ตัว เพราะมี อวิชชา ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปนั่ง หลับตา ขณะนี้ลืมตาอยู่ ก็ควรที่จะฟัง ด้วยหู อ่าน ด้วยตา ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะเป็นเหตุให้เกิด ปัญญาความ เห็นถูกเป็นไปตามลำดับ อย่างถูกต้อง

ช้าแต่ถูกทาง ดีกว่า เร็ว ที่สำคัญว่า เร็ว เพราะอยากด้วยโลภะ แต่ผิดทาง ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. อวิชากับความเห็นผิดคือสภาพธรรมเดียวกันใช่ไหมคะ

สภาพธรรม เป็นจริงแต่ละอย่างโดยไม่ปะปนกัน อวิชชา เป็นความไม่รู้ ส่วน ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่เห็นผิดเห็นคลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริงของสภาพธรรม ก็เป็นธรรมที่แตกต่างกัน อวิชชา เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิด ร่วมกับอกุศลจิตทุกขณะ ทุกประเภท ส่วนความเห็นผิด จะเกิดเฉพาะกับจิตที่เป็น โลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย, พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้ทุกชนิด แต่ถ้าเป็นอวิชชาแล้ว ต้องถึงความ เป็นพระอรหันต์ จึงจะดับได้อย่างหมดสิ้น

2. การไม่เห็น หรือไม่ประจักษ์สภาวะรูปนามก็คือความเห็นผิดใช่ไหมคะ

ปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ส่วนใหญ่ก่อนการศึกษาพระธรรม จะเข้าใจผิดว่า ถ้าไม่มีความเห็นถูก ก็จะต้องมีความเห็นผิด แต่ตามความเป็นจริง แล้ว แม้จะไม่ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้นในขณะนั้น จิตเป็นกุศล ก็ได้ คือ เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือแม้แต่ในขณะที่เป็นอกุศล ก็ไม่ใช่ว่าจะ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยตลอด เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะถึงการประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมตามความเป็นจริงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จะต้องเริ่มต้นที่ขณะนี้ คือ เริ่มต้นที่การฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

3. การไม่ยอมรับในอกุศลวิบากก็เป็นความเห็นผิดใช่ไหมคะ

ความเห็นผิด เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นว่า ธรรมเที่ยง ยั่งยืน เห็นว่าเป็นตัวตน หรือ เห็นผิดว่า ทานไม่มีผล บาป บุญ ไม่มี เป็นต้น นี้คือ ความเห็นผิด ตามความเป็นจริงแล้ว วิบากที่เกิดขึ้น เป็นผลของกรรม ที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ บัญขาของใครทั้งสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้น ซึ่ง ในชีวิตประจำวัน ก็รับวิบาก อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางกาย ถ้าเห็นว่า วิบากเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุหรือ บังคับให้เกิดขึ้นได้ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากความเห็นผิด แต่ถ้ามีความไม่ชอบไม่พอใจในวิบากที่ได้รับ อย่างนี้ เป็นอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะ เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่ความเห็นผิด

4. การศึกษาธรรม เป็นหนทางเริ่มต้นของการเห็นถูกใช่ไหมคะ

ถ้าไม่เริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะเจริญ ขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การศึกษาธรรม เป็นหนทางเริ่มต้นของการเห็นถูก จึงเป็น ความเห็นที่ถูกต้อง พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ฟัง พระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยกันทั้งนั้น

5. การปล่อยวางสิ่งที่เคยหลงไหล ยึดติด เพราะเข้าใจความจริงของสัจจธรรม เป็นส่วนหนึ่งของผลจากความเห็นถูกใช่ไหมคะ

เพราะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาทำกิจของปัญญา ค่อยๆ ขัดเกลา ความติดข้องไปตามลำดับ จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ คือ ควรเข้าใจความจริง ศึกษาความจริงที่กำลังปรากฏ เมื่อศึกษาด้วยปัญญาย่อมเข้าใจความจริง เมื่อเข้าใจ ความจริง ย่อมค่อยๆ ละการยึดถือได้ด้วยปัญญา

6. การชื่นชม ดีใจ สุขใจ ว่า วันนี้ เรานั่งสมาธิได้นาน ไม่เมื่อยเลย หรือเดินจงกรม ได้ตลอดคืน เป็นความเห็นผิดใช่ไหม เพราะเหตุใด

การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่ใช่รูปแบบการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา เพราะการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติและปัญญาพร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะนั้น ซึ่งจะขาดรากฐานสำคัญ คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ได้เลย ทีเดียว แต่ถ้าไม่่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว การทำอะไรก็ตาม ก็จะถูกไม่ได้ มีแต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ปัญญา ไม่เจริญ ขึ้น ขณะที่ชื่นชมยินดีกับความไม่รู้ กับความเห็นที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริง ก็ไม่พ้นไปจากความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น หลีก ออกห่างจากความเห็นผิดและความไม่รู้ตลอดจนถึงกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ด้วยหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นจริงๆ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 26 ก.ย. 2556

การศึกษาธรรมที่ถูกต้องเป็นเหตุให้เกิดปัญญา เห็นโทษของ อกุศล จึงงดเว้นและเจริญกุศลทุกทาง เพื่อละกิเลสได้หมดวันหนึ่ง ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย สิริพรรณ  วันที่ 26 ก.ย. 2556

กราบนอบน้อมต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์

กราบระลึกในพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่อนุเคราะห์ให้ได้ ศึกษาพระธรรมที่เป็นหนทางละคลายความเห็นผิด

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสอง ที่กรุณาให้ความกระจ่างตอบคำถามตลอดเวลา

ด้วยความเคารพอย่างยิ่งและขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย orawan.c  วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ