ถ. ถ้าเปรียบเทียบการรักชีวิต ย่อมมีความรักชีวิตของตนเองมากกว่าชีวิตของสัตว์อื่น แต่การฆ่าตัวเอง ทำไมโทษจึงเบากว่าฆ่าคนอื่น
สุ. ถูกต้อง ความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่า เมื่อมีความไม่พอใจ ไม่ปรารถนาสภาพของสัตว์อื่น บุคคลอื่น ที่จะให้เป็นอย่างนั้น กิเลสก็รุนแรงถึงกับสามารถที่จะทำลายในวัตถุ คือ สัตว์อื่น ซึ่งไม่เป็นที่ไม่พอใจนั้นได้ ก็เป็นกิเลสที่มีกำลังแรง และสัตว์อื่น บุคคลอื่น ก็ไม่เหมือนจิตของตนเองซึ่งต้องการที่จะทำลายสภาพนั้นของตน แต่นี่ไปทำลายสภาพของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลอื่นก็รักชีวิต และไม่ได้ต้องการจะให้ถูกฆ่าด้วย
สำหรับเรื่องของการฆ่านี้ เป็นอกุศลเจตนา เป็นอกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ต้องการทำลายชีวิตของสัตว์อื่น บุคคลอื่นให้ตกไป เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาสภาพจิตของท่านได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะทราบว่า ขณะนั้น สภาพความไม่แช่มชื่นของจิต เป็นอกุศลธรรม และถ้าท่านไม่ระลึกรู้ว่าเป็น นามธรรมและรูปธรรม กิเลสก็จะเพิ่มกำลังขึ้น จนถึงกับเป็นโทสะกล้า และทำการประหารสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่ในการฆ่า ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีอยู่ ถ้ามีความจำเป็นเกิดขึ้น ซึ่งทุกท่านก็บอกว่า เป็นความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพบ้าง เป็นความจำเป็นเวลามีศัตรู หรือสัตว์ร้ายเผชิญหน้าบ้าง มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านกล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการประทุษร้าย หรือว่ามีการฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่น
แต่ว่า ขอให้ท่านพิจารณาสภาพจิตของท่าน ถ้ามีการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความจำเป็นจริงๆ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือว่ายังแฝงไปด้วยความพยาบาทในการที่จะปองร้าย ในการที่จะเบียดเบียนสัตว์นั้น บุคคลนั้น ซึ่งเจตนาก็มีกำลังต่างกันแล้วใช่ไหม
ถ้าผู้ที่ฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่น เพราะมีเหตุการณ์ที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ประกอบด้วยความพยาบาทอาฆาต ปองร้าย ก็ไม่มีกำลังแรงเท่ากับขณะที่แฝงด้วยความพยาบาท ความอาฆาต หรือความปองร้าย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาสภาพธรรมแล้ว ก็รู้กำลังของกิเลส ก็ย่อมเป็นผู้ที่เพียรละ ขัดเกลากิเลสส่วนที่มีกำลัง เช่น ความพยาบาท ความอาฆาต ความปองร้าย เป็นต้น แต่เมื่อเป็นการกระทำที่ท่านจำเป็นจะต้องกระทำ เพราะว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ให้จิตของท่านตั้งไว้ชอบ ด้วยการที่จะไม่ให้จิตนั้นกำเริบ หรือว่าแฝงไว้ด้วยความอาฆาต ความพยาบาท ความปองร้าย แต่กระทำไปด้วยความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกระทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์ของการอาชีพ หรือว่าเพื่อประโยชน์ของหมู่คณะซึ่งเป็นส่วนรวม ถ้าเป็นอย่างนี้ อกุศลกรรมนั้นจะไม่มีกำลังเท่ากับขณะที่แฝงด้วยความอาฆาต พยาบาท ปองร้าย ซึ่งเป็นการที่จะขัดเกลา บรรเทากิเลสของท่านให้ลดน้อยลง จนกว่าท่านจะได้เจริญธรรมบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจะไม่มีแม้เจตนาที่จะฆ่าหรือเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่น และจะไม่ล่วงศีล ๕ ไม่กระทำอกุศลกรรมบถที่จะให้ไปสู่ทุคติ อบายภูมิเลย
ขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่รู้จักตัวของท่านดีขึ้น ละเอียดขึ้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐานและด้วยการรู้สภาพจิตของท่านว่า กิเลสมีกำลังถึงกับทำการฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่นบ้างหรือไม่ หรือว่าเจตนาที่จะฆ่านั้น ลดลง น้อยลง ละคลายลงบ้างแล้ว
ขอเชิญรับฟัง
การฆ่าตัวเอง ทำไมจึงไม่ถึงความเป็นกรรมบถ