Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๑๙ ก.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
นาคิตสูตร ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๖
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๖
๑๐. นาคิตสูตร
ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้บ้านพราหมณคาม ชื่ออิจฉานัง-คละ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณ-คามชื่ออิจฉานังคละ ก็เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิก-บานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลางไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีไป จึงพากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมากเข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้ว ได้ยืนชุมนุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอก ส่งเสียงอื้ออึง สมัยนั้น ท่านพระนา-คิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ก็พวกใครส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านั้น พากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมาก มายืนประชุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอกเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์. พ. ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะและการสรรเสริญ. นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ขอพระสุคตทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่
ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศีลและปัญญาของผู้มีพระภาคเจ้า. พ. ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่
ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะ และการสรรเสริญ ดูก่อนนาคิตะ อาหาร ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมมีอุจจาระและปัสสาวะเป็นผล นี้เป็นผลแห่งอาหารนั้น ความรักมีโสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่นเป็นผล นี้เป็นผลแห่งความรักนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอสุภนิมิต ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้ขวนขวายการประกอบตามอสุภนิมิต นี้เป็นผลแห่งการประกอบตามอสุภนิมิตนั้น ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะ ๖ อยู่ นี้เป็นผลแห่งการพิจาร-ณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอุปาทานย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปา-ทานขันธ์.
จบนาคิตสูตรที่ ๑๐
จบปัญจังคิกวรรคที่ ๓
อรรถกถานาคิตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในนาคิตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่า อุจฺจาสทฺทมหาสทฺทา เพราะชื่อว่ามีเสียงสูงเพราะเสียงขึ้นไปเบื้องบน และชื่อว่ามีเสียงดังเพราะเสียงเป็นกลุ่มก้อน จริงอยู่เมื่อชนทั้งหลายมีกษัตริย์มหาศาลและพราหมณ์มหาศาลเป็นต้น ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถือสักการะเป็นอันมาก พากันเดินมา เมื่อพวกเขาพูดว่า ท่านจงให้โอกาสแก่คนโน้น จงให้โอกาสแก่คนโน้นดังนี้ เมื่อต่างคนต่างพูดกันอย่างนี้ว่า เราไม่มีโอกาสก่อนดังนี้ เสียงก็สูงและดัง. บทว่า เกวฏฺฎา มญฺเญ มจฺเฉ วิโลเปนฺติ แปลว่า ชะรอยชาวประมง. จริงอยู่ เมื่อชาวประมงเหล่านั้น ถือกระจาดใส่ปลาเดินมาในตลาดขายปลา ย่อมจะมีเสียงเช่นนี้ของหมู่ชนผู้ซึ่งต่างพูดกันว่า ขายให้ข้านะ ขายให้ข้านะดังนี้. บทว่า มิฬฺหสุขํ ได้แก่สุขไม่สะอาด. บทว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่สุขในการหลับ. บทว่า ลาภสกฺการสิโลกสุขํ ได้แก่ สุขเกิดขึ้นเพราะอาศัยลาภสักการะและการสรรเสริญ. บทว่า ตํนินฺนาว ภวิสฺสนฺติ ท่านอธิบายว่า ชนทั้งหลายจักไป คือจักติดตามไปยังที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปแล้วนั่นแหละ. บทว่า ตถา หิ ภนฺเต ภควโต สีลปญฺญาณํ ความว่า เพราะเหตุที่ศีลและความมีชื่อเสียงของพระองค์มีอยู่อย่างนั้น. บทว่า มา จ มยา ยโส ความว่า แม้ยศก็อย่าร่วมไปกับเราเลย. บทว่า เอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่นี้เป็นผลสำเร็จแห่งความเป็นของไม่สะอาด. บทว่า ปิยานํ ได้แก่ที่ให้เกิดน่ารัก. บทว่า เอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่ นี้เป็นผลสำเร็จแห่งความเป็นของน่ารัก.บทว่า อสุภนิมิตฺตานุโยคํ ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภกรรมฐาน.บทว่า สุภนิมิตฺเต ได้แก่ อิฏฐารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ. บทว่าเอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่ นี้เป็นผลสำเร็จแห่งการประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภนิมิตนั้น. ในสูตรนี้ ตรัสวิปัสสนาในฐานะ ๕ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถานาคิตสูตรที่ ๑๐
สาธุ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป
นาคิตสูตร (ว่าด้วยการไม่ติดยศ และไม่ให้ยศติดตน)
--------------------------------------------
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศล ชื่อ อิจฉานังคละ และได้ประทับอยู่ที่ราวป่าชื่ออิจฉา-นังคละ เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน ทราบข่าวดังนั้น จึงพากันถือเอาของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากมาเพื่อถวายแด่พระองค์ และ ภิกษุสงฆ์ พระนาคิตะซึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ในขณะนั้น กราบทูลเพื่อให้พระองค์ทรงรับ, พระองค์ได้ตรัสกับพระนาคิตะ ว่า พระองค์ไม่ทรงติดยศ และยศก็ไม่ติดพระองค์ คนที่ไม่ได้สุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ อย่างที่พระองค์ทรงได้ (คนเหล่านั้น) ย่อมจะยินดีในสุขที่ไม่สะอาดสุขในการนอนหลับ สุขที่อิงอาศัยลาภสักการะและสรรเสริญ ต่อจากนั้น พระองค์ทรงแสดงผล ซึ่งเป็นฐานะ ๕ ประการ ดังนี้ คือ ๑. ผลของอาหารที่รับประทานเข้าไป คือ อุจจาระ และ ปัสสาวะ ๒. ผลของความรัก คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่น ๓. ผลของการตามประกอบซึ่งอสุภนิมิต คือ เห็นความเป็นปฏิกูลในอสุภนิมิต
๔. ผลของการพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะ คือ เห็นความเป็นปฏิกูลในผัสสะ ๕. ผลของการพิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ คือ เห็นความเป็นปฏิกูลของอุปาทานขันธ์. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณครับ
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นมากค่ะ
อ่านครั้งแรก ความเข้าใจก็ไม่เท่ากับการได้อ่านคำอธิบายจากอาจารย์ค่ะ
ยิ่งเข้าใจมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น น้อมระลึกในทางที่เห็นคุณของกุศล และเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลที่หมักหมมเหนียวแน่น เกาะเป็นคราบฝังลึกมาแสนนาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลเลย ในจิตนี้เอง
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์เป็นอย่างสูง
และกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น คณะวิทยากร และเจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาทุกท่านค่ะ