คฤหัสถ์ไม่รู้จักพระ พระเองก็ไม่รู้จักพระ เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จึงยกย่องนับถือในการกระทำที่ผิดของพระภิกษุและพระภิกษุก็กระทำผิดตามความคิดของตนเอง เช่น ยกย่องพระภิกษุที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยสังคมแบบคฤหัสถ์ พระกินเจ เป็นต้น นี่คือ วิกฤตของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
พระภิกษุเป็นเพศสูงส่ง สละจากเพศคฤหัสถ์ ละการกระทำแบบคฤหัสถ์ และที่สำคัญที่สุด เมื่อบวชแล้ว มีพระวินัย สิกขาบท กฎระเบียบที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้ประพฤติ เพื่อให้ถึงการดับกิเลสและละกิเลสอย่างยิ่ง นี้เองที่จะทำให้มีความแตกต่างของเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่ใช่กระทำตามใจชอบ
กิจของพระภิกษุมีสองอย่าง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่ตามที่เราคิดเอง คือ ศึกษาพระธรรมวินัย และ อบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้นกิจอื่น ที่เหมือนคฤหัสถ์ พระภิกษุทำไม่ได้ มีโทษ ไม่เช่นนั้น บรรพชิตกับคฤหัสถ์ก็ไม่ต่างกันเลย
พระเมื่อบวช ประพฤตินอกพระธรรมวินัยแต่คฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ไม่ศึกษาพระธรรม กลับยกย่อง เคารพนับถือ ในสิ่งที่ภิกษุทำไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมที่สังคมยกย่องเข้าใจผิดของสังคมกับพระมีดังนี้
พระเล่นโยคะ พระภิกษุจะมีกิริยาออกกำลังกาย แบบคฤหัสถ์ไม่ได้ การออกกำลังกายของพระภิกษุ คือ การเปลี่ยนอิริยาบถ มีการจงกรม เป็นต้น
พระกินเจ พระภิกษุเป็นผู้เลี้ยงง่าย พระพุทธเจ้าทรงเสวยเนื้อ ไม่ใช่กินเจ เพราะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่เนื้อ แต่กิเลสอยู่ที่ใจ คนจะใจร้อน ไม่ใช่เพราะทานเนื้อ แต่ใจร้อนเพราะกิเลส คือ โทสะที่สะสมมามาก พระเทวทัต ทูลขอวัตถุ 5 ประการ ข้อหนึ่งคือ งดเว้นการทานเนื้อสัตว์พระพุทธเจ้าตรัสห้ามข้อนั้น
พระทำอาหารฉันเอง การประกอบอาหารเอง ด้วยการมีหม้อหุงข้าว กระทะ น้ำมันพืช เป็นต้น อยู่ในกุฏิ อยู่ในที่พัก ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้แตกต่างไปจากคฤหัสถ์เลย เหมือนคฤหัสถ์ทุกประการ ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เลี้ยงยาก ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสเลยมาแต่น้อย แต่เป็นการเพิ่มโทษให้กับตนเอง ด้วยการต้องอาบัติ ทั้งในการประกอบอาหารเอง และฉันอาหารที่ตนเองประกอบ และ ยังเก็บอาหารเอาไว้ประกอบ และก็ต้องอาบัติในเรื่องการเก็บอาหาร เป็นโทษ
พระช่วยเหลือสังคมบริจาคสิ่งของ พระไม่มีกิจช่วยเหลือสังคมแบบคฤหัสถ์ที่มาแจกของเยอะแยะ เดินทางไปแจกของที่ต่างๆ แต่พระภิกษุมีหน้าที่ละกิเลสของตนเอง และช่วยเหลือสังคมด้วยการแสดงธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจ การแจกของให้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ ไม่เช่นนั้น พระภิกษุจะไม่มีความต่างกันเลยกับคฤหัสถ์
ดังนั้นการช่วยสังคมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จักว่าตนเองอยู่ในเพศอะไร บรรพชิต ไม่ใช่คฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นกิจหน้าที่ของพระภิกษุที่ควรกระทำและถึงที่สุด คือ การศึกษาพระธรรมวินัย และ อบรมปัญญาดับกิเลส ถ้าจะช่วยเหลือสังคมแบบคฤหัสถ์ ก็สึกมาเป็นคฤหัสถ์ช่วยเหลือแบบนั้นได้ ไม่มีโทษ
พระรับเงินจากผู้อื่นเอาไปช่วยสังคม เงินทองเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกับพระภิกษุ ไม่ว่าเหตุใดก็ตาม พระพุทธเจ้าปรับอาบัติสำหรับภิกษุผู้รับและยินดีในเงินและทอง เป็นต้น
เมื่อพระและภิกษุอลัชชีอื่นๆ ทั้งหลายที่กระทำผิด ไม่ละอายทั้งหลาย ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ก็ย่อมต้องอาบัติ กระทำสิ่งที่ผิดเล็กน้อย ไม่เห็นโทษ ทำตามใจตน หลอกลวงชาวบ้านด้วยเพศพระภิกษุ แสดงสิ่งที่ผิดว่าถูก สิ่งที่ถูกว่าผิด เพื่อลาภสักการะของตน และ คฤหัสถ์ที่ไม่รู้พระวินัย ก็ยกย่องในสิ่งที่ผิด คิดว่าการช่วยเหลือสังคมแบบนั้นเป็นพระที่ดี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ รวมทั้งการทำอาหารเอง เล่นโยคะ รับเงินและทอง เป็นต้น เมื่อไม่เห็นโทษของการกระทำของตน จากความไม่รู้และไม่ศึกษาพระวินัย ก็ค่อยๆ ล่วงพระวินัย จนถึงการล่วงสิกขาบทหนัก คือ ปาราชิก เสพเมถุนธรรม แต่ก็ยังประพฤติหลอกลวงว่าเป็นพระภิกษุ
พระปาราชิกแล้วต้องสึกไหม
เมื่อล่วงปาราชิก หมดจากความเป็นพระภิกษุตั้งแต่การล่วงศีลปาราชิกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องมาสึกจากความเป็นพระอีก
จากที่กล่าวมาเพื่อให้เห็นว่าชาวพุทธไม่รู้พระวินัย ยกย่องสิ่งที่ผิด ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเร็วขึ้น แต่เพราะได้ฟังเข้าใจสิ่งที่ถูกที่ได้อธิบายมา ชาวพุทธได้รู้พระวินัย และ เลื่อมใสในสิ่งที่ถูกต้อง ว่าพระภิกษุที่ดี ไม่ใช่พระภิกษุที่ช่วยสังคมแบบคฤหัสถ์ แต่ คือ พระภิกษุที่ประพฤติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ไม่กระทำกิจการงานแบบคฤหัสถ์
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย จะรุ่งเรือง ไม่รุ่งเรือง ไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนนับถือศาสนาพุทธมากเพียงคำพูดหรือบัตรประชาชน หรือ บวชมาก หรือให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ (แต่ตัวเองไม่เข้าใจพระธรรม) แต่เพราะแต่ละคนมีความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องมาก หรือ น้อย ความเข้าใจพระธรรมนั้นเองที่จะเป็นเครื่องวัด ความรุ่งเรืองและไม่รุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา ควรที่ชาวพุทธจะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถ่องแท้ ก็จะไม่ถูกหลอกจากพระภิกษุอลัชชี (ไม่ละอาย) มี เรี่ยไรเงิน กฐินเงิน ผ้าป่าเงิน หลอกลวงชาวบ้านด้วยคำว่าได้บุญ หรือ ช่วยเหลือสังคมในแบบผิดๆ ที่ทำแบบคฤหัสถ์ และ ควรยกย่องภิกษุที่ดี ประพฤติตามพระธรรมวินัย มีไม่รับเงินทอง เป็นต้น ความเข้าใจถูกของคฤหัสถ์และบรรพชิต ตามพระธรรมวินัย ก็จะเป็นการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ