[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 93
มุณฑราชวรรคที่ ๕ ๑. อาทิยสูตรว่าด้วยหลักการใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง
[๔๑] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน
คืออริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่นความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรมได้มาโดยธรรม เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารตนให้เป็นสุขสำราญเลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๑.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรมได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๒.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรมได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่ โภคทรัพย์ข้อที่ ๓.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรมได้มาโดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
๓. ปุพพเปตพลี [ทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย]
๔. ราชพลี [บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
๕. เทวตาพลี [ทำบุญอุทิศให้เทวดา]
นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๔.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรมได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๕.
ดูก่อนคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน ฯลฯ
ใช้ไปเถอะ ถ้าเป็นประโยชน์และเป็นไปในทางกุศล
ที่เก็บทรัพย์ที่ปลอดภัย คือ ในกองบุญ.
ได้ลาภ เสื่อมลาภ หามา หมดไป เป็นธรรมดาโลก ถ้าปัญญาเกิด ก็ไม่เดือดร้อนใจ
ขออนุโมทนาครับ
เสื่อมลาภ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมมิตร จะเสื่อมอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่เท่ากับการเสื่อมปัญญาค่ะ
ถ้าปัญญาเกิดจริง ก็ไม่มีสิ่งใดให้เดือดร้อน.
ยินดีในความดีครับ