จากคำบรรยาย "แนวทางเจริญวิปัสสนา" ครั้งที่ 755 - 758 ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงที่มาของคณะศึกษาธรรม Dhamma Study Group ว่า
... ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่มีความสนใจในคำว่า “คณะศึกษาธรรม” คือ ไม่ทราบว่า หมายความว่าอย่างไร และหมายความถึงใคร
ขอเรียนให้ทราบว่า ที่ใช้คำว่า “คณะศึกษาธรรม” เพราะเหตุว่าไม่ประสงค์จะให้เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ว่าเป็นทุกท่านที่มีความสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม และส่งเสริมในการเผยแพร่พระธรรม และสำหรับคณะศึกษาธรรมนี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะคนไทย เพราะผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งตามปกติสำหรับชาวต่างประเทศ ดิฉันก็จะสนทนาธรรมด้วยทุกวันพุธ ที่วัดบวร ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงจนถึงเวลาห้าโมงเย็น ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่สนใจจริงๆ ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทั้งอุบาสก อุบาสิกา และพระภิกษุ ท่านเหล่านี้ก็ได้ทำกิจเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศของท่าน เช่น ในประเทศออสเตรเลียก็มีคณะศึกษาธรรม ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษว่า Dhamma Study Group แล้วเมื่อปีก่อน ได้จัดพิมพ์การตอบปัญหาธรรมที่ศิริราช ที่เคยพิมพ์เป็นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ทางออสเตรเลียก็ขอพิมพ์เฉพาะภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ก็มีอุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุ สามเณรชาวต่างประเทศที่ได้สนใจและได้เผยแพร่ธรรมไม่เฉพาะแต่ที่เมืองไทย แม้แต่ประเทศอื่น เช่น ประเทศศรีลังกา เมื่อปีก่อนท่านผู้ฟังคงจำได้ว่า ดิฉันได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาธรรมที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งการศรีลังกาเชิญมานี้ ทางศรีลังกาในขณะนั้นก็ยังไม่รู้จักดิฉันเลยว่า เป็นผู้ที่มีความสนใจและได้กระทำกิจของพระพุทธศาสนาที่เมืองไทย แต่ท่านพระภิกษุธัมมธโร ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ซึ่งคณะศึกษาธรรมได้นิมนต์ให้ไปที่ศรีลังกาด้วย และเวลาที่ดิฉันกลับมาที่เมืองไทย ท่านก็ยังทำกิจเผยแพร่ศาสนาอยู่ที่ประเทศศรีลังกาต่อไป เป็นผู้ที่แนะนำชาวศรีลังกาให้เห็นว่า ควรจะได้มีการสัมมนาธรรมที่ประเทศศรีลังกา และทางโน้นก็เห็นด้วย และได้เชิญมาโดยตรง เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่จะร่วมในการสัมมนาธรรมได้ประโยชน์ผู้หนึ่ง ขณะนี้ท่านธัมมธโรซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียก็ได้กลับจากประเทศศรีลังกาแล้ว และขณะนี้ท่านสนใจศึกษาภาษาบาลี การศึกษาภาษาบาลีมี ๒ อย่าง คือ ศึกษาภาษาบาลีไวยากรณ์ใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง ไม่ทราบเรียกอะไร เรียกไวยากรณ์น้อย โดยทั่วไปการศึกษาภาษาบาลีในยุคนี้ สมัยนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเดิม ซึ่งสมัยเดิมแต่ก่อนนี้ศึกษาโดยบาลีไวยากรณ์ใหญ่ การศึกษาก็ยากกว่า กว้างขวางกว่า มีหลักที่แน่นมากทีเดียว เวลานี้เท่าที่ทราบมีการศึกษาบาลีไวยากรณ์ใหญ่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง โดยพระภิกษุพม่า ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะจำได้ว่า คณะศึกษาธรรมท่านหนึ่งที่ท่านเป็นผู้ที่มักจะถามปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทางบ้านบ่อยๆ
ขอเล่าถึงเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย เพื่อที่จะได้ทราบถึงชีวิตความเป็นมาของคณะศึกษาธรรมว่า อุบาสก อุบาสิกาที่มีความสนใจในธรรม วันหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังนั่งฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาอยู่ที่นี่ บุตรชายของท่านได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกิดความเศร้าใจอย่างมาก เพราะฉะนั้น ท่านก็ใคร่ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุตรชาย ท่านก็ไปที่จังหวัดลำปางครั้งหนึ่ง ก็คิดว่า ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินจากคำบอกเล่าของท่านแล้วว่า ท่านไปแสวงหาวัด ซึ่งท่านอยากจะได้วัดที่มีทั้งการศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อที่จะได้สร้างกุฏิถวาย แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุตรชายของท่าน ขอเชิญท่านเล่าเองตอนนี้
ถ. เมื่อลูกชายผมถูกรถชนตาย และลูกสาวไปหาทนาย เรียกค่าเสียหายได้ ห้าหมื่นบาท เพื่อเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ผมจึงเลือกวัดที่จะสร้างถาวรวัตถุ ผมพยายามเลือกวัดที่มีการปฏิบัติธรรมและศึกษาธรรม มีพระองค์หนึ่งท่านแนะนำว่า วัดท่ามะโอ ที่จังหวัดลำปาง มีพระอาจารย์ชาวพม่า ชื่อ ธัมมานันทะมหาเถระ เป็นผู้สอนธรรม สอนได้ดีมาก และสอนละเอียดมาก ผมก็เอาเงินนี้ไปสร้างกุฏิได้ ๓ หลัง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ท่านก็เขียนจดหมายมาให้ผมไปฉลองกุฏิ ผมก็เลยขึ้นไปฉลอง พบท่านธัมมธโร (Alan Driver) และท่านพระศุภกร (กัลยาณมิตร) อยู่ที่กุฏิที่ผมสร้าง ผมดีใจมาก เพราะรู้จักพระทั้งสององค์นี้ดีว่า ท่านเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องทั้ง ๒ องค์ และได้มาอนุเคราะห์อยู่ในกุฏิที่ผมสร้าง ทำให้ผมปีติมากเหลือเกิน
สุ ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญซึ่งน่าอนุโมทนาอย่างยิ่งที่สมความปรารถนาของผู้ที่ตั้งใจที่จะสร้างกุฏิสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม แล้วท่านธัมมธโรก็ได้อยู่กุฏิที่ท่านผู้นี้สร้างไว้ เข้าใจว่าเคยพบท่านแล้วใช่ไหม ก็เป็นการพบกันของคณะนักศึกษาธรรมที่จังหวัดลำปาง
สำหรับท่านธัมมธโรภิกขุซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย มีความรู้มากทีเดียวในปริยัติและในการเจริญสติปัฏฐาน และขณะนี้ท่านกำลังศึกษาภาษาบาลี เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้อนุโมทนา เกิดศรัทธาเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรมที่ชาวต่างประเทศที่ได้มาศึกษาที่เมืองไทย ดิฉันขอกราบอาราธนาท่านธัมมธโร เพื่อที่ว่าถ้าท่านผู้ฟังใคร่ที่จะถาม การเผยแพร่พระศาสนาที่ประเทศศรีลังกาก็ดี หรือที่ประเทศออสเตรเลีย หรือว่าการเจริญสติปัฏฐาน ก็ขอเชิญท่านผู้ฟังถามได้ ขออาราธนาเจ้าค่ะ
ธัม. เรื่องการพูดภาษาไทย อาตมาไม่ค่อยถนัดเท่าไร ถ้าพูดไม่ถูกก็ขออภัย ถ้ามีใครมีคำถามอะไรบ้าง ก็เชิญ
ถ. ท่านเป็นฝรั่งชาวออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา มีเหตุ
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ท่านหันมาสนใจคำสอนของพระพุทธศาสนา แล้วมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ท่านบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วย
ธัม. ในตอนแรกไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาโดยชื่อก็จริง แต่นับถือความจริง หมายความว่า พอได้มีโอกาสฟังเรื่องความจริง ซึ่งเป็นเรื่องพุทธศาสนาก็นับถือทันที เพราะเป็นเรื่องจริง เรื่องตรง ที่มีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน
ถ. ท่านไปเผยแพร่พุทธศาสนาที่ศรีลังกานานเท่าไร
ธัม. ปีกว่า มีชาวศรีลังกาสนใจพุทธศาสนาพอสมควร การสนใจของชาวศรีลังกาและของคนไทยก็เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง รู้สึกว่าคนไทยกับคนศรีลังกาเป็นชาวพุทธด้วยกัน ก็เป็นคนที่มีเมตตา รู้คุณของการให้ทาน เป็นต้น แน่นอนที่สุดช่วยบุคคลอื่นด้วย แต่สำหรับภาวนา มันก็ลำบาก เพราะถ้าไม่มีโอกาสฟังเรื่องการเจริญภาวนาที่ถูกต้อง ที่ละเอียดด้วย และฟังบ่อย ยากที่จะเจริญได้ และทั้งสองประเทศเท่าที่ทราบ ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ฟังเท่าไร ที่ต่างกัน ชาวศรีลังกายังไม่มีโทรทัศน์ รู้สึกว่านี้สำคัญมาก เห็นว่ามีเวลาที่จะอยู่ด้วยกัน เข้าวัดบ่อยๆ อาจจะไปหาพระบ้าง อาจจะไปสวดมนต์บ้าง ไปทำวัตรต่อหน้าเจดีย์ ไปกราบไหว้ต้นโพธิ์ และบางคนใช้เวลาในการศึกษาธรรม เก่งในภาษาบาลี ชาวบ้านมีเวลา และมีศรัทธาไปคนละทาง คือ อาจจะสร้างวัดมากกว่า อย่างนี้ต่างกัน ชาวลังกาชอบศึกษา คนไทยชอบสร้าง เป็นอย่างนี้ได้ไหม คนศรีลังกาขาดปัจจัยในการสร้างวัด คนไทยขาดเวลาที่จะศึกษาธรรม
ถ. ที่ท่านอยู่ศรีลังกาปีกว่า อยากจะทราบว่ามีลูกศิษย์มากน้อยอย่างไร
ธัม. คนที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เกิดปัญญาเข้าใจ สนใจมากขึ้น รู้สึกว่าที่สนใจจริงๆ มีราวๆ ๓๐ คน ที่เข้าใจว่ามีประโยชน์ เป็นเรื่องที่ควรฟังอีกต่อไปข้างหน้า ถ้ามีโอกาส บางคนฟังครั้งหนึ่ง สองครั้งแล้วไม่สนใจที่จะฟังอีกก็มีมาก หรือว่าบางทีเข้าใจผิดไปเลย บางทีไม่ใส่ใจฟัง คือฟังเพื่อจะจับผิดก็ได้ วิธีฟังธรรมมีหลายๆ อย่าง คนที่ฟังเพื่อเรียน เพื่อเข้าใจ และที่เกิดปัญญาเข้าใจบ้าง แล้วเห็นประโยชน์อยากจะฟังต่อไป ปฏิบัติตามที่เข้าใจก็มี ๓๐ กว่าคน ในจำนวนนี้ บางคนเข้าใจมากก็มี บางคนก็เข้าใจบ้างนิดหน่อยก็มี แต่ศรัทธาที่จะฟังต่อไปก็มี
ถ. อุปนิสัยของคนศรีลังกากับคนไทยต่างกันไหม ชอบการศึกษามากกว่า หรือชอบการปฏิบัติมากกว่า
ธัม. คนที่ชอบปฏิบัติจริงๆ ก็ต้องเข้าใจถูกต้องเสียก่อน ต้องศึกษาถูกต้องเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะชอบปฏิบัติ ชอบปฏิบัติถูกหรือชอบปฏิบัติผิด เพราะบางคนชอบปฏิบัติมาก แต่ปฏิบัติอย่างไร ต้องศึกษาถูกต้องเสียก่อน
ถ. ในการเจริญสมถภาวนา จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง
ธัม. ก็จำเป็นทีเดียวที่จะเข้าใจลักษณะของความสงบว่าต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร เพราะสมถะ หมายถึงความสงบ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากกิเลส ไม่ใช่สงบจากกิเลสอย่างหยาบๆ อย่างเดียว แต่สงบจากกิเลสทั้งหยาบ ทั้งกลาง แต่ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ตัวเองยังมีกิเลสอย่างกลางและอย่างละเอียด ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของความสงบ จะปนกันเรื่อย
ถ. เมื่อรู้ลักษณะของความสงบแล้ว จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ธัม. ก็แล้วแต่ ทุกคนไม่เหมือนกัน วิธีที่จะเกิดกุศลจิตก็มีหลายวิธี ที่จะคิดดีๆ เพราะความจริงสมถะใครๆ ก็ว่าคิดดี ในขณะที่คิดดีเป็นกุศลจิต จิตสงบในขณะนั้น บางคนสะสมมาที่จะคิดดีได้เนื่องจากเห็นซากศพก็ได้ แต่บางคนเห็นซากศพก็เกิดโทสมูลจิตง่ายที่สุดสำหรับคนนั้น ซากศพไม่ช่วยให้จิตสงบเลย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องใช้เวลา เมื่อเข้าใจละเอียดดีแล้ว จิตสงบบ้าง แต่จะละกิเลสได้อย่างไร
ถ. อันนี้ยังไม่ได้ถาม
ธัม. ทำไมไม่ได้ถาม
ถ. ก็ถามเป็นขั้นตอน ตอนนี้ถามเรื่องสมถภาวนา แล้วจะถามวิปัสสนาภาวนา
ธัม. คุณโยม อาตมาเห็นใจ สมถะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องละเอียด น่าฟังด้วย แต่วันนี้วันเดียวที่อาตมาจะพูด และจะไม่พูดตลอดถึงหมดเวลาด้วย เห็นว่าโยมสงสัย มีคำถามเกี่ยวกับสติปัฏฐาน คือ อาตมาติดในเรื่องสติปัฏฐาน แต่เห็นว่าถ้าอาตมาไม่เจอเรื่องนี้ อาตมาคงสึกไปนานแล้ว และอะไรที่จะเกิดต่อไม่รู้ ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ตัวเอง ก็ทำอะไรก็ได้
ถ. ทำไมหลวงพี่สามารถฟังอาจารย์สุจินต์แล้วเข้าใจ และปฏิบัติได้ถูกต้อง ก่อนฟังอาจารย์สุจินต์เคยฟังของสำนักอื่นบ้างหรือเปล่า
ธัม. ไม่เคยฟังคุณสุจินต์หรือคนอื่น แต่เคยฟังเหตุผล ถ้าที่อื่นไม่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่น่าฟัง ฟังแล้วพิจารณา แล้วประกอบด้วยเหตุผลมากน้อยเท่าไรเป็นสำคัญ
ถ. ในเรื่องการปฏิบัติ ผมอยากถามว่า ครั้งแรกพิสูจน์ได้ทางทวารไหนก่อน ที่เป็นนามเป็นรูป เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
ธัม. สติจะเกิดขึ้นทางไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครรู้ ตอนต้นๆ สติเกิด แต่อ่อนมาก ปัญญาก็ยิ่งอ่อน ตอนต้นๆ เป็นผู้เริ่มต้น คนที่เริ่มต้น ทั้งสติและปัญญาต้องอ่อนมาก เกิดเป็นครั้งเป็นคราว อาทิตย์หนึ่งอาจไม่เกิด เดือนหนึ่งอาจไม่เกิด แล้วแต่ เพราะเป็นผู้เริ่มต้น เกิดแล้วกี่ขณะก็ไม่รู้ และอารมณ์อะไรที่สติรู้ในขณะนั้นก็เข้าใจยาก ถ้าเป็นตอนเริ่มต้น นามรูปต้องไม่ชัด ค่อยๆ ชัดด้วยขันติ ด้วยไม่เบื่อที่จะเจริญต่อไป
ถ. ที่มาบวชด้วยศรัทธา ก็เพราะมาฟังอาจารย์สุจินต์ใช่ไหม ที่เห็นเหตุผลที่สมบูรณ์ เพราะเรื่องนี้ผู้ที่ฟังเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง สำหรับชาวต่างประทศแล้วไม่ใช่ง่าย เป็นเรื่องธรรมดาจริง แต่มันแสนยาก หนังสือที่อาจารย์แจก คำพูดธรรมดาเหลือเกิน แต่ว่าทุกคำนั้นลึกซึ้งและเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมทั้งนั้น
ธัม. อ่านแล้ว อาตมาเกิดศรัทธาที่ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนามากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ถ. ที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนานี้ ท่านเริ่มด้วยสมถะก่อนหรือไม่
ธัม. คำถามดี สมถะมีหลายขั้น ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล มักจะเป็นสมถะ ถ้าไม่ใช่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะจิตสงบในขณะนั้น
ถ. สมถกัมมัฏฐานมี ๔๐ วิธี ท่านได้ใช่วิธีอานาปานสติหรือไม่
ธัม. อาตมาสะสมมาที่จะสนใจเรื่องการละกิเลสมากกว่าเรื่องอื่นๆ เรื่องสมถะไม่ใช่เรื่องการละกิเลส เพราะฉะนั้น ตั้งแต่อาตมาพบพระธรรม ไม่เคยสนใจในเรื่องสมถะเท่ากับเรื่องวิปัสสนา สมถะกับวิปัสสนาเป็นคนละเรื่องทีเดียว อารมณ์ต่างกัน จุดประสงค์ต่างกัน วิธีเจริญต่างกัน
ถ. ท่านเริ่มต้นฝึกสติอย่างไร
ธัม. จุดประสงค์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ ปัญญา ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อจิตสงบในขณะนั้น
ถ. ทีนี้ปัญญาที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าสติเกิดไม่ทัน บางครั้งทุกขเวทนาก็เกิดขึ้น ขอเรียนถามว่า ที่ท่านเล่าว่าปฏิบัตินั้น การฝึกสติให้ระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมนั้น ท่านทำอย่างไร
ธัม. คุณโยมสนใจเรื่องทุกขเวทนาใช่ไหม ที่ถามว่าสติเกิดไม่ทันทุกขเวทนา
ถ. ตอนแรกที่สนใจพระพุทธศาสนา คือสนใจในคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล และฉลาดก็สนใจ ทีนี้ก็เริ่มปฏิบัติในเรื่องสมถะ ก็ได้รับความสงบจริงตามที่ได้บอกไว้เป็นขั้นตอน ทีนี้มาพิจารณาเรื่องวิปัสสนา พบว่าสติเกิดไม่ทัน
ธัม. สติไม่ทัน หมายความว่าอย่างไร ไม่ทัน
ถ. ไม่ทันในปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้นที่มากระทบ
ธัม. จุดประสงค์อย่างไร โยม ที่สติไม่ทัน
ถ. สมมติว่า ขณะที่เราเดิน ก็พิจารณาว่า ขณะนี้ทีแรกยังไม่ได้ทำวิปัสสนา ฝึกสติก่อนว่า ขณะนี้กำลังเดินอยู่ ก้าวเท้าซ้าย ขวา เอาเท่านี้ก่อน
ธัม. เท่านี้ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน
ถ. ไม่เป็นหรือ หมายความว่ายังไม่ได้พิจารณาสติปัฏฐาน ยังไม่ได้เห็นกายในกาย ทีนี้ได้เคยทดลองจากอาปานสติ แต่ว่าไม่ได้จับอยู่ที่ลมกระทบ แต่พิจารณาลมว่า รูปนาม อันนั้นเป็นกายในกายใช่ไหม
ธัม. ลมมีอยู่ในขณะนี้ ใช่ไหมโยม อาจจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ได้ แต่อย่าง
อื่นที่กายปรากฏบ้างไหม เย็นบ้างไหม หรือร้อนบ้างไหม หรือว่าแข็งหรืออ่อนบ้างไหม
ถ. อันนั้นไปพิจารณาธาตุ ๔ หรือ?
ธัม. แต่ปรากฏที่กายหรือเปล่า
ถ. ปรากฏ คือ ยังไม่ได้พิจารณาวิปัสสนา แต่เริ่มด้วยการฝึกสติ ถูกต้องไหม ให้สติเกิดทัน
ธัม. ลักษณะของสติยากที่จะรู้ ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด สติเกิดในขณะนั้น แต่เป็นสติแต่ละขั้น
ถ. กรุณาเล่าว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร
ธัม. เรื่องที่อาตมากำลังเล่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ถ. ท่านทำอย่างไร
ธัม. ไม่ใช่เรื่องท่าน ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องของธรรมซึ่งไม่ใช่อาตมา ไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรื่องการทำ ไม่ใช่เรื่องการว่า ไม่ใช่เรื่องการคิด เป็นเรื่องพิจารณาศึกษาธรรมที่ปรากฏ เพราะสติระลึกในขณะนั้น จึงมีโอกาสที่จะศึกษาธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ ถ้าสติไม่เกิดก็ลืม เป็นธรรมดา ลืมที่จะพิจารณา หรืออาจจะเข้าใจว่า ไม่ลืมก็ได้ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่พิจารณาก็เท่ากับลืม เพราะต้องเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่าต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่พิจารณาการเดิน เพราะว่าการเดินตามความเป็นจริงไม่มีเลย ลักษณะการเดินไม่ปรากฏ ที่จะปรากฏทางกายได้ มีแต่แข็งกับอ่อน เป็นต้น ไม่ใช่อีกลักษณะหนึ่ง เรียกว่า การเดิน และที่ปรากฏทางใจได้ก็มีหลายอย่าง แต่การเดินไม่มีอยู่ในลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องสภาพธรรมมีอยู่กี่ชนิด มีลักษณะอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่าตามใจที่จะพิจารณาอย่างไร คิดอย่างนี้ อย่างนั้น
ถ. ต้องเริ่มที่ปริยัติ
ธัม. แน่นอนที่สุด คุณโยม เพราะคนที่ไม่เข้าใจปริยัติถูกต้อง หมายความว่า เข้าใจปริยัติผิดพลาด และเข้าใจปริยัติผิดพลาด จะเป็นบาทของการปฏิบัติถูกต้องไม่ได้เลย
ถ. ที่เรียนถามท่านนี้ คือ หมายความว่า ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาตามปริยัติที่เล่าเรียนหรือศึกษามานี้ มีวิธีการอย่างไรที่ว่าสติจึงจะเกิดทันกับปัญญา มิฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาก็พิจารณาไม่ทัน
ธัม. ถ้าสติเกิดในขณะนี้ ทันไหม คุณโยม ทันหรือเปล่า หรือว่าคิดถึงเฉพาะเมื่อเวลาทุกขเวทนาเกิด อยากให้ทันเฉพาะทุกขเวทนา เป็นต้น หรือว่าอยากให้ทันเฉพาะบางรูปบางนามที่ไม่ค่อยพอใจเป็นต้น เพราะอย่างนี้ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาเสียแล้ว แสดงว่าจุดประสงค์ คือ ความสงบ ไม่ใช่ความรู้ ถ้าจะเลือกอารมณ์เฉพาะบางอารมณ์
ถ. มันผ่านไปแล้ว ทีนี้ถ้าทำวิปัสสนา มันไม่สงบ สงบในขั้นต้น ในขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น
ธัม. โยมอาจจะเข้าใจว่า เรื่องสมถะผ่านไปแล้ว แต่ว่าตลอดชีวิตยังไม่จบเรื่องนี้ทุกคนสนใจมาก อยากจะสงบ อยากจะสงบจากโทสะมากกว่า
ถ. คือการทำวิปัสสนา จุดประสงค์เพื่อมุ่งละกิเลสทีละตัว ให้เบาบางไป
ธัม. อันนั้นเป็นขณะที่ปัญญาเกิด ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นก็เข้าใจอย่างนั้น และขณะต่อไปปัญญาไม่เกิดก็เข้าใจอย่างอื่นไป เข้าใจว่าอยากจะพ้นจาก
ถ. ไม่พ้น มันพ้นไม่ได้
ธัม. แต่อยากจะพ้น ถ้าจะพ้นเร็วไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกคนไม่ชอบทุกขเวทนา โทมนัสเวทนา หาวิธีที่จะแก้ เป็นปกติ คนที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ไม่ต่างกับคนอื่น คนที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็สนใจในเรื่องของความสงบมากด้วย แล้วก็โดยมากอยากจะให้จิตสงบเกิดขึ้นมากกว่า เพราะเป็นผู้เริ่มต้น ยังไม่ค่อยเข้าใจค่าของสติ อาจจะเข้าใจว่า เข้าใจดีแล้ว แต่ความจริงเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ค่าของสติ หรือสนใจในเรื่องความสงบมากกว่า ถ้าสนใจในเรื่องความสงบก็ดีเหมือนกัน
ถ. อันนั้นเข้าใจว่าคนละอย่าง สมถะกับวิปัสสนานี้
ธัม. ถ้าเข้าใจถูกต้องก็ไม่มีปัญหา
ถ. คนละวิธี ทีนี้สมถะตัดทิ้งไป พูดถึงวิปัสสนา ทีนี้เรียนถามท่านว่า วิปัสสนานี้สิ่งที่จะได้รับคือ ญาณ หรือปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาธรรมนั้น อันแรกนี้รู้รูปรู้นาม ถ้าสติเกิดไม่ทันจะให้ทำอย่างไร บางทีมันผ่านไปแล้ว เช่น ปัจจุบันธรรมอันนั้นผ่านไป
ธัม. ไม่ค่อยเข้าใจว่า สติเกิดไม่ทัน หมายความว่าอย่างไร ไม่ทันอะไร
ถ. ไม่ทันในนามรูปปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น มันเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าบางครั้งเผลอสติ ไม่สามารถที่จะรับได้ว่า มันผ่านไปแล้ว เราจึงระลึกได้ว่า ที่จริงตอนนั้นมันก็เกิดอยู่ แต่เราก็รับอารมณ์นั้นไม่ทัน
ธัม. คิดว่าคำถามของโยมเท่ากับคำถามว่า สติเกิดไม่บ่อย ทำไมเกิดไม่บ่อย ก็สมมติว่า คุณโยมคิดว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว เพราะสติปัฏฐานเป็นกุศลที่สูงสุด ถ้าเจริญสติปัฏฐานได้สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องละกิเลสแน่ บางทีอาจจะเข้าใจถูกบ้าง เข้าใจผิดบ้างว่า จะเจริญสติปัฏฐาน แต่เรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญเท่าไรก็ได้ เพราะสติปัฏฐานมีกำลังมาก อาจจะเข้าใจว่า ปล่อยชีวิตให้เป็นไปเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่เจริญสติปัฏฐาน อันนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะที่จะเจริญสติในขณะที่สติไม่เกิด สะสมกิเลสไปมากมาย เพราะทุกขณะอื่นๆ ก็ไม่สนใจ ไม่มีฉันทะที่จะเจริญกุศล เพราะฉะนั้น คนที่ค่อยๆ รู้สึกตัวด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นกิเลสมากมาย น่ากลัวจริงๆ หลายประเภท เดี๋ยวนี้มีไหม อาจจะไม่พอใจในคำตอบของอาตมาก็ได้ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง จะร้อนเกินไป ไม่ชอบนิดหน่อยไม่มาก เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง รู้สึกอย่างไรในขณะนี้ มีโทมนัสนิดหน่อยไหม นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นกิเลส และไม่ต้องพูดถึงโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้กิเลสที่หยาบ บางทีไม่เห็นเลย พูดไม่ดี สติไม่เกิด ไม่ต้องพูดถึงสติ ปัฏฐาน คือ ไม่รู้สึกตัวเลย ไม่เห็นว่าทำอะไรผิด ไม่เห็นว่าทำคนอื่นเจ็บ เพราะฉะนั้น ผลของสติ คือ ค่อยๆ รู้ตัว เห็นกิเลส นี่เป็นผลอย่างหนึ่ง และเมื่อเห็นกิเลสว่ามีมากๆ ก็เห็นว่าจำเป็นทีเดียวที่จะต้องเจริญกุศลทุกประเภท มากที่สุดที่จะมากได้ ไม่ละโอกาส รู้ตัวดีแล้วว่า สติเกิดไม่บ่อย ขณะที่สติไม่เกิด ทำอย่างไรดี ก็น่าจะเจริญกุศลประเภทอื่นๆ ไม่เสียเวลาเปล่าๆ เพราะขณะที่กุศลไม่เกิด อกุศลต้องเกิดสะสมไปเรื่อยๆ
การเจริญกุศลมีหลายอย่าง และที่สำคัญมาก คือการศึกษาธรรม ฟังธรรม คุณโยมที่นั่งฟังที่นี่วันอาทิตย์ ไม่ทราบว่าวันอื่นๆ หาโอกาสที่จะฟังธรรม หรือว่าศึกษาพระไตรปิฎก เรื่องที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมีประโยชน์มากๆ ต้องเก่งในการอ่าน ไม่ใช่อ่านผ่านๆ หาข้อความที่ประทับใจ ตรงนี้เคยอ่านมาแล้ว หาอะไรที่ไม่เคยอ่าน ที่ใหม่ๆ ที่แปลกๆ อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ต้องพิจารณาข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก พิจารณาจริงๆ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าพูดถึงความโกรธ แล้วเราคิดว่า เราไม่ใช่เป็นคนโกรธ ไม่อ่านข้อความนี้ หาข้อความอื่นๆ น่าคิดว่า ความโกรธเราไม่มีเลยหรือ เพราะเราอาจจะเข้าใจว่า ความโกรธเป็นกิเลสอย่างหยาบๆ ไม่มีถึงขั้นที่จะเรียกว่า ความโกรธ ไม่แช่มชื่นก็มี แต่ยังไม่ใช่ว่าเราเป็นคนโกรธ แต่ข้อความนี้น่าพิจารณาจริงๆ ต้องคิดดีๆ พิจารณาชีวิตของตนเอง ความโกรธมีลักษณะอย่างไร รู้ไหม ที่ความโกรธต่างกับโทสมูลจิตอย่างอื่นๆ ที่เรียกว่า ความไม่แช่มชื่น เป็นต้น ภาษาไทยอาตมารู้น้อย แต่เข้าใจว่า เหมือนกับภาษาอังกฤษ สำหรับลักษณะของโทสะ คงมีหลายคำทีเดียว ที่กล่าวถึงโทสะ แต่ละขั้นแต่ละอย่าง ความโกรธเป็นอย่างไร ต้องคิด ถ้าอ่านแล้วพิจารณาข้อความที่นี่ ตัวเรา ชีวิตของเรา จะค่อยๆ เห็นประโยชน์ของข้อความในพระไตรปิฎกทุกๆ ข้อ ไม่เว้น เพราะไม่ใช่คำบางคำไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะทุกคำเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าเป็นคำสอนของคนธรรมดา ถูกบ้าง ผิดบ้าง รู้สึกว่าถ้าค่อยๆ ศึกษาธรรมจริงๆ ไม่ใช่เปิดอ่านเผินๆ แต่อ่านดีๆ อ่านบ่อยๆ สนทนากับเพื่อนที่สนใจ อย่างนี้จะมีประโยชน์มากๆ จะเกื้อกูลอุปการะแก่การเจริญสติ ขี้เกียจไม่ได้ในกุศล ต้องเอาใจใส่จริงๆ รู้สึกว่าอันนี้จะเป็นเหตุที่สติเกิดไม่บ่อย เพราะขี้เกียจก็ได้ ขี้เกียจที่จะเจริญกุศล ทุกๆ ประเภท ไม่เลือก
ถ. เท่าที่ผมคิดทุกคนก็อยากเจริญสติปัฏฐานที่ถูก และรู้ไตรลักษณ์ของนามรูป แต่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะรู้ยาก อย่างผู้ถามเมื่อสักครู่ รู้สึกว่าอยากจะรู้ลักษณะของสติว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ผมขอถามหลวงพี่ว่า คำว่า จ้อง สำเหนียก สังเกต ต่างกันอย่างไร คำว่า จ้องในการปฏิบัตินามรูป กับคำว่า สังเกต สำเหนียก ต่างกันอย่างไร ถ้าผู้ใดเข้าใจแล้ว จะเข้าใจสภาพของสติได้ถูกต้อง
ธัม. คำว่า “จ้อง” ในภาษาไทยอธิบายไว้อย่างไร
ถ. คือว่า “จ้อง” ในการปฏิบัติว่า สมมติว่าเขาให้อารมณ์อะไร หรือจะเป็นนามใดหรือรูปใดก็นั่งจ้องอยู่ที่อารมณ์นั้น นามรูปนั้น เรียกว่า จ้องเอา
ธัม. จ้องอย่างไร ยังไม่เข้าใจลักษณะของการจ้อง
ถ. ลักษณะที่เห็นนี่ก็ได้ จะให้เป็นนาม เป็นรูป เป็นนามก็จ้องว่า นามที่เห็น ว่าเป็นอย่างไร ทีนี้ต่างกับลักษณะที่สังเกตกับสำเหนียกอย่างไร สติจะเกิดหรือไม่เกิดอยู่ช่วงนี้ ถูกต้องก็เกิด ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่มีทางหรอก
ธัม. ถ้าผู้ฟังท่านอื่นมีความคิดเห็นในคำว่า “จ้อง” จะเป็นประโยชน์
ถ. ผมจะช่วยอธิบายคำว่า “จ้อง” ให้ท่าน “จ้อง” ในที่นี้หมายถึง จดจ้องอยู่ในนามเดียว หรือรูปเดียว รูปอื่นนามอื่นไม่เอา เอาเฉพาะนามเดียวรูปเดียว คือ ความหมายของคำว่า “จ้อง”
ถ. หมายความว่า ถ้าเป็นนามทางไหนก็ได้ หรือเป็นรูปทางไหนก็ได้ นั่งจ้อง นั่งเพ่ง ที่จะให้รู้นามนั้น รูปนั้น นี้เรียกว่า จ้อง แล้วในขณะที่สังเกต สำเหนียก ถ้าหากว่าผู้ที่เข้าใจแล้ว ปฏิบัติถูก เห็นสภาวะปรมัตถ์ของสติ
ธัม. หมายความว่า จ้องของโยมสองคนนี้ต่างกันใช่ไหม
ถ. เหมือนกัน ผมว่าทุกคนอยากมีสติ แต่สภาพปรมัตถ์ของสตินี้ จะรู้ตัวมันไม่ใช่ง่าย ยากเหลือเกิน เมื่อใดผู้ใดรู้สภาพของสติแล้ว ผู้นั้นจะปฏิบัติจะเห็นความต่างกันของจ้อง สำเหนียก สังเกต ต่างกันจริงๆ
ธัม. ขณะที่จ้อง สังเกตหรือเปล่า อยากทราบขณะที่จ้อง จะมีการสังเกตหรือเปล่า
ถ. ผมอยากจะเปรียบเทียบให้ฟัง จ้องก็เหมือนกับเพ่งกสิณ เพ่งไฟ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า “จ้อง” และ “สังเกต” นี้ไม่เฉพาะไฟอย่างเดียว สังเกต หมายความถึงอารมณ์อะไรๆ จะมากระทบก็สังเกต ต่างกันอย่างนี้
ธัม. รู้สึกว่า อาตมาเข้าใจดีแล้ว
ถ. “จ้อง” นี้หมายความว่ามองเพ่งดูเฉพาะ ภาษาอังกฤษจะตรงกับคำว่า look จ้องหมายความว่า เตรียมดูสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จ้อง ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่จ้อง
ธัม. ถ้าเป็นเรื่องการเจริญสติ สติจะเกิดขณะไหน จะรู้ล่วงหน้าได้ไหม
ถ. คือถ้าโดยความคิด โดยคิดเอา ขณะที่สำเหนียก สังเกตนี้ ขณะนั้นสังเกต สำเหนียกในสภาวะของนามของรูปแต่ละชนิด ขณะนั้นถ้าถูกต้อง สติก็ระลึกในสภาพที่ถูกต้อง สติเกิดได้ จดจ้องแล้วไม่มีทางเลย
ธัม. สติจะเกิดอีกขณะหนึ่ง ทราบแล้วหรือยัง
ถ. อันนี้ไม่รู้
ธัม. ถูก ไม่รู้ แล้วสติจะระลึกรู้อารมณ์ไหน จะรู้ล่วงหน้าได้ไหม
ถ. ไม่ได้
ธัม. สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้กี่ขณะ รู้ไหม
ถ. ไม่รู้ จะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร
ธัม. ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ รู้ไม่ได้ว่า สติจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะระลึกรู้อารมณ์ไหน ในขณะไหน กี่ขณะก็ไม่รู้ที่จะเกิดมีสติ ไม่มีใครรู้ เข้าใจอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้เจริญสติต่อไปได้ จะไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องการจ้องว่า ไม่เลือกอารมณ์ เข้าใจดีแล้วว่าเลือกอารมณ์ไม่ได้ ต้องรู้ทั่ว สิ่งที่กำลังปรากฏมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าบางอารมณ์ไม่เอา ไม่ใช่ว่าอารมณ์พิเศษที่จะต้องศึกษา ทุกสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ปรากฏสำคัญที่สุด เพราะอย่างอื่นศึกษาไม่ได้ เช่น ลมหายใจที่โยมบอกว่าสนใจ ถ้าลมหายใจไม่ปรากฏ แล้วจะไปหาลมหายใจ หมายถึงสติไม่เกิดในขณะนั้น เพราะในขณะที่ลมหายใจไม่ปรากฏ อย่างอื่นต้องปรากฏในขณะนั้น ใช่ไหม และอย่างอื่นที่ปรากฏในขณะที่ลมหายใจไม่ปรากฏ สติไม่เกิด เพราะสนใจที่จะไปหาอย่างอื่นที่ยังไม่ปรากฏ เสียเวลาที่จะเจริญสติในขณะนั้น ไม่สนใจในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ
ถ. มันยาก ยากอยู่ตอนนี้
ธัม. เข้าใจว่าอะไรถูก อะไรไม่ถูก
ถ. ทุกคนปรารถนามีสติมากๆ เจริญสติมากๆ และถูกต้อง มันยากอยู่ตอนนี้
ธัม. จะเอาง่ายและผิด หรือเอายากและถูก
ถ. ยากหรือง่าย มันอีกข้อหนึ่ง แต่ปรารถนาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ธัม. อย่างนั้นเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะจุดประสงค์ของการเจริญสติเป็นอะไรที่จะพิสูจน์อนัตตา แล้วที่จะเอาอัตตามาพิสูจน์อนัตตา ก็ไม่มีสาระแล้ว ต้องเข้าใจว่าสติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ที่จะไปเลือกอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ให้จ้องอยู่ที่อารมณ์นี้สักกี่นาที กี่วินาที อะไรอย่างนี้ ไม่คิดเลย ขณะที่สังเกต ไม่คิด ไม่สนใจ
ถ. แต่สำเหนียกสังเกตในอารมณ์ของปรมัตถ์ทางนามและรูปได้ แต่ถ้าจ้องแล้วไม่มีทางเลย
ธัม. ในขณะนี้นอกจากนามธรรมและรูปธรรม มีอย่างอื่นปรากฏไหม
ถ. มันรอบด้าน เป็นนาม เป็นรูป สภาวะมีอยู่ตลอดเวลา
ธัม. ที่ปรากฏมีลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีอย่างอื่นนอกจากนามธรรมและรูปธรรมไหม
ถ. ไม่มี มีแต่นามกับรูป ๒ อย่างเท่านั้นเอง อย่างบางครั้งปฏิบัติ คือ มีนาม ได้ยินทางหู เห็นความเป็นอนัตตา เช่น ได้ยินเสียง เมื่อมีเสียงมากระทบ สภาพที่ได้ยิน มันเกิดของมันเอง เมื่อมีเสียงมากระทบแล้วเกิดได้ยินจริงๆ รู้ความเป็นอนัตตาในลักษณะนี้ คือว่าของจริง สภาพจริง นามได้ยินมีจริง ต่างกับที่เรายึดถือว่า เป็นตัวตน ต่างกัน คือ รู้ลักษณะว่ามันต่างกัน เป็นนาม ปกติเรารู้ตัวตนที่ได้ยิน ทีนี้ลักษณะที่ว่านามได้ยินนี้ มันเป็นอนัตตา ถ้าผู้ใดประจักษ์ จะเห็นความประหลาด น่าวิจิตร มันพูดไม่ถูก
ถ. ดิฉันอยากจะขอเรียนถามพระคุณท่าน คือ ที่ท่านปฏิบัติเจริญกัมมัฏฐาน เจริญแนวไหน หมายความว่าเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนาล้วนๆ หรือท่านเจริญสมถวิปัสสนา
ธัม. ที่อาตมาสนใจมากที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐาน
ถ. แนวที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง อย่างนี้ ใช่ไหม
ธัม. เจริญพร
ถ. แล้วพระคุณท่านหันมาเจริญสติปัฏฐานแนวนี้ นานเท่าไรแล้ว
ธัม. ขณะแรกที่สติเกิด ชาติไหนไม่รู้
ถ. ไม่ใช่ หมายถึงว่าชาตินี้ คือ หมายถึงที่ท่านเริ่มมาสนใจในแนวทางเจริญวิปัสสนาแบบเจริญสติปัฏฐานนี้ ท่านเริ่มสนใจในแนวนี้ตั้งแต่เมื่อไร ประมาณสักกี่ปีมาแล้ว
ธัม. ตั้งแต่ฟังเรื่องนี้ครั้งแรก ราว ๕ – ๖ ปีที่แล้ว
ถ. พอท่านสนใจในแนวทางเจริญวิปัสสนา ขณะนั้นท่านได้ศึกษาปริยัติด้วยหรือเปล่า
ธัม. คือที่สนใจ หมายความว่า สนใจปริยัติ เรื่องการปฏิบัติ
ถ. ก่อนที่ท่านจะมาเจริญสติปัฏฐานในแนวทางนี้ ท่านได้เจริญอย่างอื่นมาก่อนหรือเปล่า หมายถึงท่านเจริญสมาธิมาก่อนหรือเปล่า
ธัม. ตั้งแต่อาตมาเกิดสนใจในพระพุทธศาสนา ได้ยินคนพูดถึงเรื่องหนทางหลายอย่าง แต่ไม่เกิดความสนใจในเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะเรื่องอื่นๆ เห็นว่า น่าสงสัยมากเหลือเกิน เหตุผลไม่ค่อยตรงกัน
ถ. เจริญธรรมอย่างอื่นไม่ตรงกับปริยัติที่เรียนมาอย่างนี้ใช่ไหม คือ ว่าก่อนที่ท่านจะเจริญ ท่านต้องตรวจสอบทำความเข้าใจกับขั้นการฟัง ว่าจะเจริญวิปัสสนาไปในแนวทางนี้ซึ่งตรงกับปริยัติ อย่างนี้ใช่หรือเปล่า
ธัม. ตรง คุณโยม เท่าที่ศึกษามา ยังไม่เห็นไม่ตรง ต้องเข้าใจก่อน ต้องพิจารณาสิ่งที่เคยฟังมา
ถ. แล้วก็เทียบเคียงดูว่าอันไหนถูกกับอัธยาศัย หรือว่าตรงกับเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
ธัม. โดยมากพิจารณาสิ่งที่น่าพิจารณา บางอย่างไม่น่าพิจารณาเลย ไม่ต้องเสียเวลา
ถ. ดิฉันไม่เข้าใจคำว่า ไม่น่าพิจารณา
ธัม. คือคล้ายๆ กับว่า ตั้งแต่แรกเห็นว่า เหตุผลไม่ตรงกัน ไม่ต้องเอามาพิจารณานานๆ ใครพูดเรื่องอะไรที่ไม่ค่อยมีสาระ เรื่องนั้นก็ไม่เอามาเก็บไว้ แล้วค่อยๆ พิจารณาไป
ถ. ถ้าอย่างนั้นก็ทำความเข้าใจแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับฟังมา
ธัม. สมมติว่ามีคนเข้ามาที่นี่แล้วบอกคุณโยมว่า ถ้าอยากจะเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องรับประทานไอศกรีมวันละ ๖ ถ้วย
ถ. อย่างนี้ไม่มีเหตุผล
ธัม. เจริญพร เป็นอย่างนี้ คุณโยม
ถ. ฟังคำบรรยายของอาจารย์แล้วไปเทียบเคียงกับเหตุผลที่ได้เรียนมา อย่างนี้ตรงกับเหตุผลใช่ไหม
ธัม. รู้สึกต้องเทียบเคียงกับความจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ยินเรื่องการเห็น จะไปเทียบเคียงกับอะไร สิ่งที่เคยเรียนมา เรื่องการเห็น อาจจะไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะคนส่วนมากไม่ค่อยสนใจที่จะพูดถึงเรื่องการเห็น แม้ชาวพุทธ แม้คนที่ศึกษาปริยัติ การเห็นไม่ค่อยสนใจ ไม่เคยสนใจ
ถ. เคยได้ยิน แต่ก็ไม่สนใจ เพราะมันผ่านไปเลย
ธัม. คิดว่าถ้าได้ยินเรื่องการเห็น น่าเทียบเคียงกับสภาพที่กำลังเห็นไหม ขณะนี้ คือ การพิจารณาที่มีประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่คิดถึงเรื่องที่เคยผ่านมาแล้ว สมมติว่าอาตมาซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ อาจจะเคยศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นต้น หรือจิตวิทยา และเรื่องการเห็นก็มีรายละเอียดมาก เกี่ยวกับอะไรๆ ที่มีทางในแล้วมีอะไรมากระทบต่างๆ ถ้าเอาเรื่องนี้มาพิจารณา เสียเวลามาก เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วปรากฏทางหนึ่งทางใด หรือว่าเรื่องอะไรที่มีภายใน เป็นรถ เป็นคน อะไรต่างๆ ก็ไม่ใช่สภาพธรรมเหมือนกัน แต่การเห็นนี่เองก็กำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ในขณะนี้ ทำให้รูปารมณ์ปรากฏในขณะนี้ได้ ถ้าขาดการเห็น ขณะนี้สีก็ไม่ปรากฏเลย แต่ที่เรายึดถือว่า เรากำลังเห็นในขณะนี้ ก็หันไปหาสภาพการเห็นที่อื่น เพราะเข้าใจว่าการเห็นนี่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพราะสภาพการเห็นมักจะอยู่ที่อื่น แต่ที่อื่นไม่รู้ คิดมากๆ อยู่ที่ไหน การเห็นนี้ไม่พิจารณาสภาพธรรม การเห็นมีอยู่ตลอดเวลา ไปบ้าน หรืออยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่ไหนก็ตาม อาจจะไม่มีเพื่อน ขาดเพื่อนก็ได้ ขาดหนังสือ แต่ไม่ขาดการเห็น และไม่ขาดนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดที่กำลังพูดถึงวันนี้ และทุกวันอาทิตย์ ถ้าเราสะสมมาที่จะมีสติเกิดน้อย จะให้มีสติเกิดมากก็ไม่ได้ ต้องรู้ตัวว่า ยังไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะข้ามจากคนที่มีสติน้อยเป็นคนที่มีสติมาก แทนที่จะหวังผลจากการเจริญสติ ขอให้เจริญสติเสีย เพราะมักจะลืม อยากได้ผลมากกว่าการเจริญเหตุ ถึงบัดนี้รู้สึกว่าพูดมามากแล้ว และการฟังแม้จะยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับการบรรยาย เพราะฉะนั้น จะขอนั่งฟังคำบรรยายสักหน่อย
ถ. ผมจะขอถามท่านว่า ในเมื่อคิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน ก่อนอื่นจะต้องทำอย่างไร
ธัม. คิดจะเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีก่อน ไม่มีหลัง คือ ไม่ใช่ตัดสินว่าจะเจริญและทำอะไรก่อน คือคล้ายๆ กับว่า ตัดสินแล้วว่า วันนั้น ที่นั้นจะเริ่ม จะต้องเตรียมเสียก่อน คือคนที่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจว่า สติปัฏฐานเป็นอะไร สติมีลักษณะอย่างไร อารมณ์ของสติเป็นอย่างไร จุดประสงค์ของการเจริญสติเป็นอย่างไร เจริญเพื่ออะไร ค่อยๆ ฟังแล้วเข้าใจ นี้เป็นเหตุที่จะให้สติเกิดได้เพราะเข้าใจ เข้าใจเรื่องของสติ เข้าใจจุดประสงค์ เข้าใจอารมณ์ของสติ เป็นต้น แต่ว่าสติจะเกิดเมื่อไร ขณะไหน ไม่มีใครรู้ จะเริ่มต้นด้วยอารมณ์ไหน ไม่รู้ และความจริงไม่น่าสนใจด้วย เพราะบังคับให้เป็นตามที่ต้องการไม่ได้
ถ. ก็หมายความว่า ก่อนที่คิดจะเจริญสติปัฏฐาน ต้องศึกษาเรื่องของสติ เรื่องของอารมณ์เสียก่อน ใช่ไหม
ธัม. ต้องศึกษาเรื่องที่คิดจะเจริญ จะเจริญอะไรก็ต้องศึกษา ทางโลกถ้าคิดที่จะเป็นสถาปนิก ก็ไม่ใช่ว่าคิดแล้วประเดี๋ยวจะเป็น อาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลายๆ ปี คนที่เก่งๆ ก็อาจจะต้อง ๒๐ กว่าปีกว่าจะเรียกว่าเก่งได้ บางคน ๕๐ ปีก็ยังไม่ถึงความเป็นคนเก่ง แต่เราอยากจะเก่งในเรื่องสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่วันเดียว ปีเดียว หรือ ๕ ปี แต่นี่เป็นเรื่องต้องเจริญเป็นชาติๆ จะถึงจุดประสงค์เมื่อไร เพราะฉะนั้น ต้องมีขันติจริงๆ
ถ. ในเมื่อศึกษา รู้จักลักษณะของสติ ลักษณะของอารมณ์ต่างๆ แล้ว ครั้นเมื่อสติเกิดขึ้น จะพิจารณาอารมณ์ พิจารณาอย่างไร
ธัม. ในขณะที่สติเกิดต้องระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรม หรือในลักษณะของรูปธรรม ๒ อย่างนี้ อย่างอื่นไม่มี ถ้านามธรรมปรากฏในขณะนั้น ต้องเข้าใจว่านามธรรมเป็นอย่างไร ที่เรียกว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นเป็นการเห็นที่ทำหน้าที่เห็นในขณะนั้น ไม่ใช่เราเห็นอย่างไร เป็นต้น
ถ. นามธรรมกับรูปธรรมมีลักษณะต่างกันอย่างไร
ธัม. พูดสั้นๆ ที่เคยได้ยินมานานแล้ว แต่ถูก รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร และนามธรรมเป็นสภาพรู้ ง่ายๆ แต่ยากด้วย
ถ. โดยการศึกษารู้ว่า รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้ นามธรรมเป็นสภาพที่รู้ ก็ขณะที่สติเกิดขึ้น รูปก็ดี นามก็ดีเกิดพร้อมกัน แล้วเราจะพิจารณานามหรือพิจารณารูป
ธัม. เกิดพร้อมกัน แต่ปรากฏไม่พร้อมกัน ปรากฏพร้อมกันไม่ได้
ถ. รูปปรากฏก่อน หรือนามปรากฏก่อน
ธัม. ในขณะที่รูปปรากฏ ไม่มีก่อน ไม่มีหลังแน่นอน และเมื่อนามปรากฏ ไม่มีก่อน ไม่มีหลัง ในขณะนั้นจะนับตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่ที่ไหนไม่ทราบ เพราะขณะนี้ถ้ามีเหตุปัจจัยให้มีรูปปรากฏ ในขณะนั้นเรียกว่า ก่อนนามที่ยังไม่ปรากฏ หรือว่าหลังนามที่ปรากฏก็แล้วแต่
ถ. ก็หมายความว่า รูปจะปรากฏก็ดี หรือนามจะปรากฏก็ดี แล้แต่สติน้อมระลึกไป
ธัม. ธรรมที่สำคัญที่สุด คือ แล้วแต่ บังคับบัญชาไม่ได้ เนื่องจากเราบังคับบัญชาไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร อะไรจะเกิดก็ดี อะไรจะปรากฏก็ดี เพราะสติระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องทำให้ปรากฏ ปรากฏเอง
ถ. ในเมื่อสภาพธรรมปรากฏอยู่แล้ว แล้วเราจะพิจารณาอย่างไร จึงจะชื่อว่าการเจริญวิปัสสนา ถามว่าจะพิจารณาอย่างไร
ธัม. ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องรู้ว่าเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ใช่ไมโครโฟน ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คน ก็เป็นอะไร เข้าใจว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม แต่ว่าลักษณะเป็นอย่างไร ที่เราเข้าใจกันว่า เป็นรูปหรือเข้าใจกันว่า เป็นนาม เพราะลักษณะต่างกัน ลักษณะของนามเป็นสภาพรู้ ไม่เหมือนสีที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ปรากฏทางตา เพราะรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่รู้อะไร ที่เราเข้าใจกันว่า มีคนกำลังนั่ง แล้วเราเห็นได้ ความจริงที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียว ไม่ปรากฏทางอื่น ไม่มีลักษณะอย่างอื่นอยู่ ไม่มีอยู่ในสีที่ปรากฏทางตา แม้รูปอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏในสี เพราะสีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา แข็งไม่มีอยู่ในสีนั้น ต้องสังเกต แข็งก็ไม่มี และอ่อนก็ไม่มี และเสียงก็ไม่มีอยู่ในรูปารมณ์ที่ปรากฏขณะนี้ทางตา และนามธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏต่างๆ นามธรรมไม่มีอยู่ในสีที่ปรากฏทางตา นี่จะทำให้รู้ลักษณะของสีดีขึ้น เพราะที่เราเข้าใจว่าเป็นหนังสือ เพราะเราเอาสีบ้าง บัญญัติบ้าง เอาทุกอย่างมาผสมกันเป็นหนังสือ
ถ. คือว่าเรื่องของการพิจารณา ในสติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาสติ ปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในสติปัฏฐาน ๔ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงยกเอากายานุปัสสนาสติปัฏฐานขึ้นมากล่าวก่อน เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อนหรือไม่
ธัม. จะเลือกอีกใช่ไหม โยม
ถ. ใช่
ธัม. ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. หมายความว่าอย่างไร
ธัม. เลือกไม่ได้ ถ้ากายไม่ปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องไปหากายกว่าจะเจริญสติปัฏฐานได้
ถ. ก็กายมีอยู่ในขณะนี้
ธัม. แต่ถ้าไม่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าปรากฏทุกขณะ ถ้ากายไม่ปรากฏในขณะนี้ แต่จงใจที่จะจ้องที่จะรู้เฉพาะกาย เพราะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคให้รู้กายก่อน ถ้าจะเจริญก็ต้องไปหา อย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติ เพราะสติจะต้องเกิดในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าจะไปหาสิ่งอื่นที่ยังไม่ปรากฏ ถ้าจิตปรากฏก็ต้องศึกษาจิต ก็อย่างอื่นไม่ปรากฏ ไม่มีทางที่จะศึกษาอย่างอื่นที่ยังไม่ปรากฏ ถ้าเวทนาปรากฏในขณะนี้ แทนที่จะทิ้งโอกาสนี้ โอกาสเดียวที่จะเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ปรากฏในขณะนี้ ก็คิดว่าจะต้องทำอย่างนี้ นี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นความคิด และคิดไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล
ถ. ก็หมายความว่า การเจริญสติปัฏฐานก็จะจดจ้องเลือกกายอย่างเดียวไม่ได้
ธัม. เลือกอะไรสักอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา
ถ. ในเมื่อเลือกกายไม่ได้ เลือกเวทนาก็ไม่ได้
ธัม. ระลึกรู้ได้ แทนที่จะเลือก ขอให้ระลึก ระลึกดีกว่าเลือก
สุ ขออนุโมทนาพระคุณเจ้าผู้ตอบ ท่านถามและท่านผู้ฟัง ที่ท่านมีความสนใจในคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งความจริงคณะศึกษาธรรมชาวต่างประเทศ นอกจากท่านธัมมธโรแล้วก็ยังมีท่านผู้อื่นด้วย ซึ่งดำเนินงานในการโต้ตอบจดหมายและในการจัดพิมพ์หนังสือธรรมภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งวันนี้ไม่ได้นำมา เป็นหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอม ได้เขียนไว้ และมีประโยชน์ เป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก
สำหรับคนไทยเองก็พอจะทราบได้ใช่ไหม ในจำนวนท่านที่เข้าใจ สนใจ และเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นมีมากหรือมีน้อย สำหรับชาวต่างประเทศน่าสนใจไหมว่า ขณะนี้จะมีการศึกษาและเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานมากเท่าไร แต่สำหรับชาวต่างประเทศที่เมืองไทย ถ้าสนใจขอเชิญคณะศึกษาธรรมชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ขอเชิญคุณโจนาธาน
ถ. การเจริญสติปัฏฐานของท่าน ท่านได้ศึกษามานานแล้วหรือ
โจ. ก็ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทย ๔ ปีกว่ามาแล้ว
ถ. และทางออสเตรเลียมีผู้สนใจพระพุทธศาสนามากไหม
โจ. น้อย ไม่มาก
ถ. แล้วท่านเห็นชาวต่างประเทศชาติไหนที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน
โจ. ที่ศรีลังกา มาเลเซีย และออสเตรเลีย อังกฤษ แต่ไม่มาก
ถ. ท่านรู้สึกปริมาณจะเพิ่มขึ้นมากไหมจากเดิม
โจ. ถ้าคนที่อยู่ต่างประเทศมีโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็คงมากขึ้น แต่สงสัยส่วนมากไม่ค่อยจะไม่โอกาสที่จะฟัง
ถ. ถ้าไม่มีโอกาสที่จะฟัง มีตำราอ่านไหม
โจ. มีหนังสือภาษาอังกฤษที่พิมพ์ที่กรุงเทพ แล้วส่งไปที่ต่างประเทศหลายเล่ม ตั้งแต่ ๓ ปีมาแล้ว ส่งไปประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ เล่ม ส่งไปต่างประเทศ และคนที่ได้รับ อ่าน บางคนอ่านแล้วก็เข้าใจดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคน มีเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นมีแบบ sheet ที่พิมพ์ดีด โรเนียว จัดเป็นเล่มด้วย เรื่องเจตสิก เรื่องอภิธรรม แล้วอีกอย่างหนึ่งเป็นแบบจดหมายตอบปัญหาที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเขียน นอกจากนั้นมีเทปแคสเซ็ทที่อัดทุกวันพุธที่มีสนทนาธรรมภาษาอังกฤษกับอาจารย์สุจินต์ เราอัดเทปไป อัดแล้วก็ทำเป็นรีลม้วนใหญ่ส่งไป ถ้ามีใครเขียนมาขอเทป เราจะอัดม้วนชุดหนึ่งส่งไปให้ด้วย
ถ. นับว่าอาจารย์สุจินต์เป็นคนสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ต่อๆ ไป
โจ. สำคัญมาก
ถ. ดิฉันอยากจะถามว่า คือคุณปฏิบัติธรรมมาได้กี่ปีแล้ว และเพราะด้วยความเข้าใจอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ถึงได้หันมาสู่การปฏิบัติธรรม
โจ. ผมปฏิบัติมาประมาณ ๔ ปี เพราะมาเมืองไทยได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานบ้างแล้วก็สนใจ เห็นว่ามีประโยชน์ ก็เลยฟังอีก แล้วศึกษา สนทนา
ถ. ก่อนที่จะศึกษาจนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้นี้ ใช้เวลานานไหม
โจ. นี่ไม่ใช่ว่าได้แล้ว หมดเลยอย่างนี้ แต่ยิ่งฟังยิ่งได้
ถ. ใช้เวลาเป็นปีไหม
โจ. ต้องเป็นปีๆ
ถ. ก่อนที่คุณจะเจริญสติปัฏฐาน เคยปฏิบัติอย่างอื่นมาก่อนไหม อย่างสมถะ
โจ. ก่อนที่จะมาฟังเรื่องสติปัฏฐานที่เมืองไทย ไม่เคยปฏิบัติแบบสมาธิ เพราะไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟังเหมือนกัน
ถ. อย่างที่เมืองไทยนี้ บางคนก็เคยฟังเรื่องสมาธิมามาก อย่างดิฉันก็เหมือนกัน เคยฟังเรื่องสมาธิ แล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ทั้งๆ ที่อยู่ในเมืองไทย และทั้งๆ ที่อาจารย์ผู้บรรยายก็บรรยายเป็นภาษาไทย ก็นับว่าเป็นความประเสริฐอย่างยิ่งทีเดียว ทั้งๆ ที่ฟังภาษาไทยก็ลำบาก และอาจารย์จะพูดให้คุณฟังก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องใช้ความพยายามทั้งสองฝ่าย ดิฉันก็ขออนุโมทนา
สุ ขอบคุณ คุณโจนาธาน ที่กรุณาให้ความเข้าใจในเรื่องของชาวต่างประเทศที่สนใจในการศึกษาธรรมและการเจริญสติปัฏฐาน
ไม่ทราบจะเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวของคุณโจนาธานได้ไหม ถึงการมาเมืองไทย และการได้พบพระพุทธศาสนา เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เห็นปัจจัยของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ใครจะได้รับฟังแล้วก็เกิดศรัทธา ประพฤติปฏิบัติธรรมมากน้อยอย่างไร จะรู้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งอาจจะเกิดมาเป็นบุคคลชาติต่างๆ อยู่ในประเทศต่างๆ แต่ก็มีปัจจัยที่จะได้มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจ และได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่าที่คุณมาเมืองไทย โดยไม่ได้ตั้งใจใช่ไหม เพราะทราบว่าตอนแรกทีเดียวออกจากออสเตรเลียแล้วก็ไปอินโดนีเซีย แล้วก็ได้พบกับท่านธัมมธโร ตอนนั้นท่านก็บวช โดยที่ว่ามีหนังสือที่คณะศึกษาธรรมได้พิมพ์ภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งคุณนีน่า วัน กอร์คอม เป็นคนเขียน ซึ่งหนังสือเล่มนั้นมีประโยชน์มากสำหรับคนไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาเลยว่า สอนว่าอย่างไร แล้วก็ชีวิตประจำวันของฆราวาสและบรรพชิตที่เป็นชาวพุทธนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนอย่างไร ท่านธัมมธโรก็มีหนังสือหลายเล่มที่จะให้คุณโจนาธานเอากลับไป คุณโจนาธานก็เลือกหนังสือของคุณ นีน่า วัน กอร์คอม เรื่อง “ธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน” เป็นภาษาอังกฤษ แล้วต่อจากประเทศอินโดนีเซียได้เดินทางมาที่เมืองไทย แต่ว่าในครั้งนั้นก็คิดว่าจะพักอยู่ประมาณ ๑๕ วันเท่านั้นเอง ไม่คิดว่าจะอยู่เมืองไทยถึง ๔ ปี ระหว่างนั้นพอดีหนังสือเดินทางหาย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อขอหนังสือเดินทางใหม่ ซึ่งก็เลยกำหนดเวลาที่คิดว่าจะอยู่เมืองไทยเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย คือหนึ่งหรือสองอาทิตย์ และเมื่อได้รับหนังสือเดินทางฉบับใหม่แล้ว ก็เป็นที่น่าแปลกว่า พบหนังสือเดินทางเล่มเก่าที่เข้าใจว่าหายไปอยู่ในกระเป๋าเดินทาง โดยที่ไม่น่าจะหาไม่พบ หรือไม่น่าเลยที่จะต้องลำบากถึงกับต้องไปติดต่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ แต่ว่าใน ๒ อาทิตย์นั้นก็มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้มีความสนใจ และถึงกับได้บวชเป็นสามเณร แต่ก็คงจะต้องเดินทางกลับไปประเทศก่อน แล้วกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรม โดยการที่อยู่ที่เมืองไทย และได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ