๗. อหิสูตร ว่าด้วยแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยาง
โดย บ้านธัมมะ  23 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38857

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 214

ทุติยปัณณาสก์

ปัตตกัมมวรรคที่ ๒

๗. อหิสูตร

ว่าด้วยแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยาง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 214

๗. อหิสูตร

ว่าด้วยแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยางู

[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี ก็แลสมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ถูกงูกัดตายในกรุงสาวัตถี ลำดับนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งลงในที่สมควรส่วนหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นนั่งในที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว กราบทูลพระ-


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 215

ผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดทำกาละแล้วในกรุงสาวัตถี พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้น ไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยางูทั้ง ๔ เป็นแน่ เพราะถ้าภิกษุนั้น พึงแผ่เมตตาถึงตระกูลพระยางูทั้ง ๔ ไซร้ ภิกษุนั้นก็ไม่พึงถูกงูกัดตายเลย ตระกูลพระยางู ทั้ง ๔ คืออะไรบ้าง คือ ตระกูลพระยางูชื่อวิรูปักขะ ตระกูลพระยางูชื่อ เอราปถะ ตระกูลพระยางูชื่อฉัพยาปุตตะ ตระกูลพระยางูชื่อกัณหา โคตมกะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยางูทั้ง ๔ นี้เป็นแน่ เพราะถ้าภิกษุนั้นพึงแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพระยางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ ภิกษุนั้นก็ไม่พึงถูกงูกัดตายเลย ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิต ไปถึงตระกูลพระยางูทั้ง ๔ นี้ เพื่อคุ้มตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน

ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับงูตระกูลวิรูปักขะทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับงูตระกูลเอราปถะทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับงูตระกูลฉัพยาปุตตะทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับงูตระกูลกัณหาโคตมกะทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ ๔ เท้าทั้งหลาย ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์มีเท้ามากทั้งหลาย ขอสัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าก็อย่าเบียดเบียนเรา


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 216

สัตว์ ๔ เท้าก็อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากก็อย่าเบียดเบียนเรา ขอสัตว์ทั้งปวง ผู้มีลมหายใจทั้งสิ้น และผู้เกิดแล้วทั้งหมดสิ้นเชิง จงประสบแต่ความเจริญทุกผู้เถิด อย่าได้รับโทษลามกอะไรๆ เลย.

พระพุทธเจ้าทรงพระคุณสุดที่จะประมาณ พระธรรมทรงพระคุณสุดที่จะประมาณ พระสงฆ์ทรงพระคุณสุดที่จะประมาณ สัตว์เสือกคลานทั้งหลายมีประมาณ คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนู การรักษาเราได้ทำแล้ว การป้องกันเราได้ทำแล้ว ขอสัตว์ทั้งหลายจงหลีกไป ข้าฯ นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.

จบอหิสูตรที่ ๗

อรรถกถาอหิสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอหิสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อิมานิ จตฺตาริ อหิราชกุลานิ นี้ ตรัสหมายถึงพิษที่ถูกงูกัด พิษที่ถูกงูกัดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พิษเหล่านั้นทั้งหมด อยู่ภายในตระกูลพระยางูทั้ง ๔ เหล่านี้. บทว่า อตฺตคุตฺติยา คือเพื่อคุ้มตน. บทว่า อตฺตรกฺขาย คือเพื่อรักษาตน. บทว่า อตฺตปริตฺตาย คือเพื่อป้องกันตน. อธิบายว่า เราจึงอนุญาตปริตไว้ดังนี้.

บัดนี้ ภิกษุพึงทำปริตนั้นโดยวิธีใด เมื่อทรงแสดงวิธีนั้น จึงตรัสว่า วิรูปกฺเขหิ เม เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า วิรูปกฺเขหิ ได้แก่มี


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 217

เมตตาจิตกับงูตระกูลวิรูปักขะ. แม้ในตระกูลงูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อปาทเกหิ ได้แก่ มีเมตตาจิตกับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย. แม้ในสัตว์ที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สพฺเพ สตฺตา ความว่า ก่อนแต่นี้ ภิกษุกล่าว เมตตาเจาะจงด้วยฐานะประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ จึงเริ่มคำนี้ เพื่อกล่าวเมตตา ไม่เจาะจง. ในบทเหล่านั้น คำว่า สัตว์ ปาณะ ภูต เหล่านี้ ทั้งหมดเป็นคำกล่าวถึงบุคคลเท่านั้น. บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ความว่า จงเห็นแต่อารมณ์ที่เจริญใจเถิด. บทว่า มา กญฺจิ ปาปนาคมา ความว่า สัตว์อะไรๆ อย่าประสบสิ่งอันเป็นบาปลามกเลย. ในบทว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ นี้พึงทราบพุทธคุณว่า พุทฺโธ แท้จริง พุทธคุณเหล่านั้น ชื่อว่า สุดที่จะประมาณได้. แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แล. บทว่า ปมาณวนฺตานิ ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยประมาณแห่งพระคุณ. บทว่า อุณฺณานาภี ได้แก่ แมลงมุมมีขนที่ท้อง. บทว่า สรพู ได้แก่ ตุ๊กแกในเรือน. บทว่า กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา ความว่า การรักษา และการป้องกัน ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว แก่ชนประมาณเท่านี้. บทว่า ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ ความว่า สัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งหมด อันข้าพเจ้าทำการป้องกันแล้ว จงหลีกไปเสีย อธิบายว่า อย่าเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย ดังนี้.

จบอรรถกถาอหิสูตรที่ ๗