[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 111
เรื่องส่งพระเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ
เรื่องส่งพระเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 111
พระมัชฌันติกเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 112
พญานาคอารวาฬแผลงฤทธิ์ ฯ หน้า 112
พระเถระทรมานพวกนาค ฯ หน้า 113
พระเถระให้โอวาทพวกยักษ์ ฯ หน้า 114
พระโยนกธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 116
พระมหาธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 116
พระมหารักขิตเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 117
พระมัชฌิมเถระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 117
พระโสณกะกับพระอุตตระไปประกาศพระศาสนา ฯ หน้า 118
พระเถระทรมานพวกรากษสให้หนีไป ฯ หน้า 119
พระมหินทเถระไปประกาศพระศาสนาที่เกาะลังกา หน้า 120
ประวัติย่อของพระมหินทเถระ หน้า 121
พระอินทร์ทรงเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์ถวาย ฯ หน้า 122
พระมหินทเถระพร้อมกับคณะไปเกาะลังกา หน้า 123
ลำดับราชวงศ์ที่เสวยราชย์ในเกาะลังกา ฯ หน้า 124
พระเจ้าเทวานัมปิยดิสทรงพบพระมหินทเถระ หน้า 126
พระเถระถามปัญหาเพื่อหยั่งทราบพระปัญญา ฯ หน้า 132
สุมนสามเณรประกาศโฆษณาเวลาฟังธรรม ฯ หน้า 135
เสียงโฆษณาเวลาฟังธรรมกระฉ่อนไปถึงพรหมโลก หน้า 135
พระราชาทรงรับสั่งให้เตรียมการต้อนรับพระเถระ หน้า 136
พระเถระแสดงธรรมโปรด ฯ หน้า 138
พระราชาถวายอุทยานสร้างวัด หน้า 139
อริฏฐอำมาตย์ขอพระบรมราชานุญาตบวช หน้า 141
พระเถระแนะให้หาสิ่งที่ควรกราบไหว้บูชา หน้า 141
สุมนสามเณรรับจัดหาพระธาตุ หน้า 142
สุมนสามเณรไปเชิญพระธาตุมาเกาะลังกา ฯ หน้า 143
ช้างนำพระธาตุไปยังที่จะสร้างพระเจดีย์ หน้า 145
ประวัติเกาะลังกาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หน้า 146
ช้างไม่ยอมให้ยกพระธาตุลงจากกระพอง หน้า 148
พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชน หน้า 149
พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปเกาะลังกา ฯ หน้า 149
กุลบุตรชาวเกาะออกบวชในพระศาสนา หน้า 150
พระนางอนุฬาเทวีทรงมีพระประสงค์จะบวช หน้า 151
พระเจ้าอโศกตั้งพระทัยจะส่งต้นมหาโพธิ์ ฯ หน้า 153
มหาอธิษฐาน ๕ ข้อ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า หน้า 154
วิสสุกรรมเทพบุตรปลอมตัวเป็นช่าง ฯ หน้า 154
พระราชาทรงทำสัตยาธิษฐาน หน้า 156
กิ่งต้นมหาโพธิ์ลอยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า ๗ ว้น หน้า 157
ต้นมหาโพธิ์แตกหน่อออกใหม่ หน้า 158
พระเจ้าอโศกทรงลุยน้ำส่งต้นมหาโพธิ์ หน้า 159
พระเจ้าเทวานัมปิยดิสกรุงลังกาต้อนรับต้นมหาโพธิ์ หน้า 160
ต้นมหาโพธิ์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ หน้า 162
พระนางอนุฬาเทวี และอริฏฐอำมาตย์ผนวช ฯ หน้า 164
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 111
เรื่องส่งพระเถระไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ
ในการนําพระศาสนาสืบมาตามลําดับอาจารย์นั้น มีอนุบุพพีกถาดังต่อไปนี้ : -
ได้ยินว่า พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ครั้นทําตติยสังคีตินั้นแล้ว ได้ดําริอย่างนี้ว่า ในอนาคต พระศาสนาจะพึงตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในประเทศไหนหนอแล? ลําดับนั้น เมื่อท่านใคร่ครวญอยู่ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสนาจักตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในปัจจันติมชนบททั้งหลาย. ท่านจึงมอบศาสนกิจนั้นให้เป็นภาระของภิกษุเหล่านั้น แล้วส่งภิกษุเหล่านั้นๆ ไปในรัฐนั้นๆ คือ ส่งพระมัชฌันติกเถระไปยังรัฐกัสมีรคันธาระ ด้วยสั่งว่า ท่านไปยังรัฐนั่นแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในรัฐนั่น. ท่านได้สั่งพระมหาเทวเถระอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วส่งไปยังมหิสกมณฑล ส่งพระรักขิตเถระไปยังวนวาสีชนบท ส่งพระโยนกธรรมรักขิตเถระไปยังอปรันตกชนบท ส่งพระมหาธรรมรักขิตเถระไปยังมหารัฐชนบท ส่งพระมหารักขิตเถระไปยังโลกเป็นที่อยู่ของชาวโยนก ส่งพระมัชฌิมเถระไปยังชนบทอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งหิมวันตประเทศ ส่งพระโสณกเถระ ๑ พระอุตตรเถระ ๑ ไปยังสุวรรณภูมิชนบท ส่งพระมหินทเถระผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน กับพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ ไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีป ด้วยสั่งว่า พวกท่านไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในเกาะนั่น. พระเถระแม้ทั้งหมดเมื่อจะไปยังทิสาภาคนั้นๆ ก็เข้าใจอยู่ว่า ในปัจจันติมชนบททั้งหลายต้องมีคณะปัญจวรรค จึงสมควรทําอุปสมบทกรรมได้ ดังนี้ จึงไปกันพวกละ ๕ รวมกับตน.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 112
[พระมัชฌันติกเถระไปประกาศพระศาสนาที่กัสมีรคันธารรัฐ]
ก็โดยสมัยนั้นแล ในแคว้นกัสมีรคันธาระ ในฤดูข้าวกล้าสุก มีพญานาคชื่ออารวาฬ ได้บันดาลฝน ชื่อว่าฝนลูกเห็บให้ตกลงมา ทําข้าวกล้าให้ลอยไปยังมหาสมุทร. พระมัชฌันติกเถระเหาะขึ้นไปสู่เวหาสจากนครปาตลีบุตร แล้วไปลงเบื้องบนสระอารวาฬที่ป่าหิมพานต์ จงกรมอยู่บ้าง ยืนอยู่บ้าง นั่งอยู่บ้าง สําเร็จการนอนอยู่บ้าง บนหลังสระอารวาฬ. นางนาคมาณวิกาทั้งหลายเห็นพระเถระนั้นแล้ว จึงบอกแก่พญานาคอารวาฬว่า ข้าแต่มหาราช มีสมณะโล้นรูปหนึ่ง ทรงแผ่นผ้าที่ตัดขาดด้วยศัสตรา นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ประทุษร้ายน้ำของพวกเรา.
[พญานาคอารวาฬแผลงฤทธิ์ไล่พระเถระ]
พญานาคฟังคํานั้นแล้ว ก็ถูกความโกรธครอบงํา ได้ออกไปพบพระเถระในทันใดนั้นเอง เมื่ออดกลั้นความลบหลู่ไม่ได้ จึงได้นิรมิตรูปที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอันมาก บนอากาศกลางหาว. (คือบันดาลให้) พายุที่กล้าแข็งพัดฟุ้งไปในที่นั้นๆ. รุกขชาติทั้งหลาย ก็หักโค่นลง. เหล่ายอดบรรพตก็พังทลาย, เมฆทั้งหลายก็คํารามลั่น, สายฟ้าทั้งหลายก็แลบแปลบๆ อสนีบาตก็ผ่าลงมา, อุทกวารีก็ไหลนอง เหมือนท้องฟ้าแตกฉะนั้น. เหล่าลูกนาคซึ่งมีรูปอันน่าสะพรึงกลัว ก็ประชุมกัน. ฝ่ายพญานาคเองก็บังหวนควัน ลุกโพลง ปล่อยฝนเครื่องประหาร คุกคามพระเถระด้วยคําหยาบคายเป็นต้นว่า สมณะโล้นผู้นี้ ทรงผ้าที่ตัดขาด (ด้วยศัสตรา) คือใคร? ได้บังคับหมู่พลนาคไปว่า พวกท่านจงมาจับฆ่า, ขับไสสมณะรูปนี้ออกไป.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 113
[พระเถระทรมานพวกนาคให้คลายพยศแล้ว]
พระเถระป้องกันกําลังพลนาคที่น่าสะพรึงกลัวทั้งหมด ด้วยกําลังฤทธิ์ของตน พูดกะพญานาคว่า
ดูก่อนพญานาค ถ้าโลกแม้ทั้งเทวโลก จะพึงมายังเราให้ครั่นคร้ามได้ไซร้, ก็ไม่พึงมีผู้สามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เราได้, ดูก่อนพญานาค แม้หากท่านจะยกแผ่นดินขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งสมุทร ทั้งบรรพต แล้วพึงเหวี่ยงไปเบื้องบนของเราได้ไซร้, ท่านก็ไม่พึงสามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เราได้เลย, ดูก่อนพญาอุรคาธิบดี ท่านเท่านั้น จะพึงมีความแค้นใจอย่างแน่แท้.
ครั้นเมื่อพระเถระกล่าวอย่างนั้นแล้ว พญานาค ถูกพระเถระกําจัดอานุภาพแล้ว เป็นผู้มีความพยายามไร้ผล มีความทุกข์เศร้าใจซบเซาอยู่. พระเถระชี้แจงให้พญานาคนั้นเข้าใจ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันสมควรแก่ขณะนั้นแล้ว ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และเบญจศีล พร้อมด้วยนาคจํานวนแปดหมื่นสี่พัน. ยักษ์ คนธรรพ์ และกุมภัณฑ์ แม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ที่อยู่ป่าหิมพานต์ได้ฟังธรรมกถาของพระเถระแล้ว ก็ได้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล. แม้ปัญจกยักษ์ พร้อมด้วยนางหาริดียักษิณี และบุตร ๕๐๐ ก็ได้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 114
[พระเถระให้โอวาทพวกยักษ์และรากษสเป็นต้น]
ลําดับนั้น ท่านพระมัชฌันติกเถระ เรียกพวกนาคและรากษสแม้ทั้งหมดมาแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
จําเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกท่านอย่าให้ความโกรธเกิดขึ้นเหมือนในกาลก่อนเลย และอย่าทําลายข้าวกล้า (ให้เสียหาย) เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย ใคร่ต่อความสุข จงแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอมวลมนุษย์จงอยู่เป็นสุขเถิด.
นาคและยักษ์เป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมด รับโอวาทของพระเถระว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ําสอนแล้ว. ก็ในวันนั้นแล เป็นสมัยทําการบูชาพญานาค. เวลานั้น พญานาคสั่งให้นํารัตนบัลลังก์ของตนมาแต่งตั้งถวายพระเถระ. พระเถระก็นั่งบนบัลลังก์. ฝ่ายพญานาค ได้ยืนพัดพระเถระอยู่ในที่ใกล้. ในขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่ในแคว้นกัสมีรคันธาระมาเห็นพระเถระแล้ว ก็พูดกันว่า พระเถระมีฤทธิ์มากแม้กว่าพญานาคของพวกเรา แล้วได้นั่งลงไหว้พระเถระนั่นแล. พระเถระก็แสดงอาสิวิโสปมสูตร (๑) แก่มนุษย์เหล่านั้น. ในเวลาจบพระสูตร สัตว์ประมาณแปดหมื่นได้บรรลุธรรมาภิสมัย. แสนตระกูลออกบวชแล้ว, ก็แลจําเดิมแต่กาลนั้นมา แคว้นกัสมีรคันธาระ ก็รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ อบอวลไปด้วยลมพวกฤษีจนตราบเท่าทุกวันนี้.
(๑) บางแห่งว่าอลคัททูปมสูตร ม. ม. ๑๒/๒๖๑.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 115
ในกาลนั้น พระมัชฌันติกะผู้ฤษีไปยังแคว้นกัสมีรคันธาระแล้ว ให้พญานาคผู้ดุร้ายเลื่อมใสแล้วได้ปลดเปลื้องสัตว์เป็นอันมากให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.
[พระมหาเทวเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหิสสกมณฑล]
ฝ่ายพระมหาเทวเถระ ไปยังมหิสสกมณฑลแล้ว ก็แสดงเทวทูตสูตร. (๑) ในเวลาจบพระสูตร สัตว์ประมาณสี่หมื่นได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว. สัตว์ประมาณสี่หมื่นนั่นแลออกบวชแล้ว.
พระมหาเทวเถระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปยังมหิสสกรัฐแล้ว โอวาทตักเตือนด้วยเทวทูตทั้งหลาย ได้ปลดเปลื้องสัตว์เป็นอันมากให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.
[พระรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่แคว้นวนวาสี]
ส่วนพระรักขิตเถระ ไปยังแคว้นวนวาสีชนบทแล้ว ยืนอยู่บนอากาศให้ชนชาววนวาสีชนบทเลื่อมใส ด้วยอนมตัคคปริยายกถา. (๒) ก็ในเวลาจบกถาของพระเถระนั้น สัตว์ประมาณหกหมื่นได้บรรลุธรรมแล้ว. ประชาชนประมาณสามหมื่นเจ็ดพันบวชแล้ว. วิหาร ๕๐๐ หลัง ก็ประดิษฐานขึ้นแล้ว. พระเถระนั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในแคว้นวนวาสีชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
(๑) ม. อุป. ๑๔/๓๓๔.
(๒) สํ. นิทาน. ๑๖/๒๑๒ - ๒๒๘
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 116
พระรักขิตเถระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปยังวนวาสีชนบทแล้ว ได้ยืนอยู่บนอากาศกลางหาวแล้วแสดงอนมตัคคิยกถา (แก่มหาชน) ในวนวาสีชนบทนั้นแล.
[พระโยนกธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่อปรันตกชนบท]
ฝ่ายพระโยนกธรรมรักขิตเถระ ไปยังอปรันตกชนบทแล้ว ให้ชนชาวอปรันตกชนบทเลื่อมใสด้วยอัคคิขันธูปมสุตตันตกถา (๑) แล้ว ก็ให้สัตว์ประมาณสามหมื่นเจ็ดพันดื่มอมตธรรม. บุรุษออกบรรพชาแต่ขัตติยตระกูลหนึ่งพันคน. และสตรีออกบรรพชาหกพันถ้วน. พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในอปรันตกชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
พระโยนกธรรมรักขิตเถระย่างเข้าสู่อปรันตกชนบทแล้ว ก็ให้ชนเป็นอันมากในอปรันตกชนบทนั่นเลื่อมใสแล้ว ด้วยอัคคิขันธูปมสูตร (๒) แล.
[พระมหาธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหารัฐ]
ส่วนพระมหาธรรมรักขิตเถระ ไปยังมหารัฐชนบทแล้ว ให้ชนชาวมหารัฐชนบทเลื่อมใสด้วยมหานารทกัสสปชาดกกถา (๓) แล้ว ก็ให้สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พันตั้งอยู่ในมรรคและผล. ประชาชนจํานวนหนึ่งหมื่นสามพันคนบวชแล้ว. พระเถระนั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในมหารัฐชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
(๑) - (๒) องฺ สตฺตก. ๒๓/๑๒๙ - ๑๓๗.
(๓) ขุ. ชา. ๒๘/๒๙๒ - ๓๑๕.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 117
พระมหาธรรมรักขิตเถระ ผู้ฤษีนั้นไปยังมหารัฐชนบทแล้ว ก็แสดงชาดก (๑) ให้มหาชนเลื่อมใสแล้วแล.
[พระมหารักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่รัฐโยนก]
ฝ่ายพระมหารักขิตเถระ ไปยังรัฐโยนกแล้ว ให้ชนชาวโลกโยนกเลื่อมใสด้วยกาฬการามสุตตันตกถาแล้ว ได้ให้เครื่องอลังการ คือ มรรคและผลแก่สัตว์ประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพัน ก็ประชาชนประมาณหนึ่งหมื่นบวชแล้วในสํานักของพระเถระนั้น. แม้พระเถระนั้น ก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในรัฐโยนกนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
ในกาลนั้น พระมหารักขิตเถระผู้ฤษีนั้น ไปยังรัฐโยนกแล้ว ก็ให้ชนชาวโยนกเหล่านั้นเลื่อมใส ด้วยกาฬการามสูตรแล.
[พระมัชฌิมเถระไปประกาศพระศาสนาที่หิมวันตประเทศ]
ส่วนพระมัชฌิมเถระ กับพระกัสสปโคตตรเถระ ๑ พระอฬกเทวเถระ ๑ พระทุนทุภิสสรเถระ ๑ พระสหัสสเทวเถระ ๑ ไปยังชนบทเป็นส่วนหิมวันตประเทศแล้ว ให้ชาวประเทศนั้นเลื่อมใสด้วยธัมมจักกัปปวัตตนสุตตันตกถา (๒) แล้ว ให้สัตว์ประมาณแปดสิบโกฏิได้รัตนะ คือ มรรคและผลแล้ว. ก็พระเถระแม้ทั้ง ๕ รูปนั้น ได้ยังรัฐทั้ง ๕ ให้เลื่อมใสแล้ว. ประชาชนที่บวชในสํานักของพระเถระแต่ละรูป มีประมาณแสนหนึ่ง. พระเถระทั้ง ๕ รูป
(๑) ขุ. ชา. ๒๘/๒๙๒ - ๓๑๕. ตทฏฺกถา ๑๐/๑๓๙.
(๒) วิ. มหา. ๔/๑๗.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 118
เหล่านั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในหิมวันตประเทศนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
พระมัชฌิมเถระ ไปยังหิมวันตประเทศแล้วประกาศอยู่ซึ่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๑) ให้ยักษ์และเสนายักษ์เลื่อมใสแล้วแล.
[พระโสณกะกับพระอุตตระไปประกาศพระศาสนาที่สุวรรณภูมิ]
ฝ่ายพระโสณกเถระ กับพระอุตตรเถระได้ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ. ก็โดยสมัยนั้น ที่แคว้นสุวรรณภูมินั้น มีนางรากษส (๒) ตนหนึ่ง ขึ้นมาจากสมุทร เคี้ยวกินพวกทารกที่เกิดในราชตระกูล. ในวันนั้นเอง มีเด็กคนหนึ่ง เกิดในราชตระกูล. มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระเถระแล้ว สําคัญอยู่ว่า ผู้นี้จักเป็นสหายของพวกรากษส จึงพากันถือเอาอาวุธไปประสงค์จะประหารพระเถระ.
พระเถระ พูดว่า พวกท่านถืออาวุธมาทําไมกัน?
มนุษย์เหล่านั้น พูดว่า พวกรากษส ย่อมเคี้ยวกินพวกเด็กที่เกิดแล้วๆ ในราชตระกูล, พวกท่านเป็นสหายของรากษสเหล่านั้น.
พระเถระ พูดว่า พวกข้าพเจ้า หาได้เป็นสหายของรากษสไม่, พวกข้าพเจ้าชื่อว่า เป็นสมณะ งดเว้นจากการทําชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จากความประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมา เป็นผู้ฉันหนเดียว มีศีล ประพฤติพรหมจรรย์ มีกัลยาณธรรม.
(๑) วิ. มหา. ๔/๑๗.
(๒) รากษส ยักษ์, ผีเสื้อน้ำ, ปีศาจ, เวตาลหรือค้างคาว เป็นชื่อของพวกอสูรอย่างเลว มีนิสัยดุร้าย ชอบเที่ยวตามป่า ทําลายพิธีและกินคน สูบโลหิตของสัตว์เป็นอาหาร, สถานที่อยู่ของพวกนี้อยู่ในทะเลหรือสระใหญ่.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 119
[พระเถระทรมานพวกรากษสให้หนีไปแล้วป้องกันเกาะไว้]
ก็ในขณะนั้นเอง นางรากษสตนหนึ่ง พร้อมด้วยบริวาร ขึ้นมาจากสมุทรด้วยคิดว่า เด็กเกิดในราชตระกูล, พวกเราจักเคี้ยวกินเด็กนั้น. พวกมนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้ว ก็กลัวร้องเสียงดังว่า นางรากษสนี้กําลังมาเจ้าข้า! พระเถระนิรมิตอัตภาพมากหลายกว่าพวกรากษสเป็นสองเท่า ปิดล้อมข้างทั้งสองด้วยอัตภาพเหล่านั้น กั้นนางรากษสนั้น พร้อมทั้งบริวารไว้ตรงกลาง. นางรากษสตนนั้น พร้อมทั้งบริษัท ได้คิดดังนี้ว่า สถานที่นี้จักเป็นของอันรากษสเหล่านี้ได้แล้วแน่นอน, ส่วนพวกเราก็จักเป็นภักษาของรากษสเหล่านี้. พวกรากษสทั้งหมดได้รีบหนีไปแล้ว.
ฝ่ายพระเถระ ขับไล่รากษสเหล่านั้นให้หนีไปแล้ว จนมองไม่เห็น จึงได้ตั้งอารักขาไว้โดยรอบเกาะ (๑) อนึ่ง ท่านให้หมู่มหาชน ซึ่งประชุมพร้อมกันอยู่ในสมัยนั้นเลื่อมใสด้วยพรหมชาลสุตตันตกถา (๒) ทั้งให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีลแล้ว. ก็ในสันนิบาตนี้ ประชาชนประมาณหกหมื่น ได้บรรลุธรรมแล้ว. พวกเด็กในตระกูลประมาณสามพันห้าร้อย บวชแล้ว. กุลธิดาประมาณหนึ่งพันห้าร้อยนาง ก็บวชแล้ว. พระเถระนั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดํารงมั่นอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมินั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้. จําเดิมแต่นั้นมา
(๑) นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า ประเทศไทยของเรานี้อยู่ในแหลมทอง คือแคว้นสุวรรณภูมิ ได้รับพระพุทธศาสนาในคราวที่พระโสณกเถระและพระอุตตรเถระถูกส่งให้มาประกาศพระศาสนาในภาคนี้ แต่ถ้าจะสันนิษฐานอีกแง่หนึ่งแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะใจความในเรื่องนี้บ่งชัดอยู่แล้วว่า สถานที่ท่านทั้งสองไปประกาศนั้นเป็นเกาะ ไม่ใช่เป็นแผ่นดินเชื่อมติดต่อกัน และท่านก็ทําการป้องกันเกาะไว้โดยรอบ มิให้พวกผีเสื้อน้ำมารบกวนประชาชนได้, อนึ่ง ถ้าแหลมทองนี้รวมทั้งประเทศพม่า ญวน ลาว เขมร และไทย อย่างที่พวกนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์เข้าใจแล้ว ก็ยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ท่านจะป้องกันได้อย่างไร? ขอได้โปรดพิจารณาดูเถิด.
(๒) ที. สี. ๙/๑
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 120
ชนชาวสุวรรณภูมิ ก็ได้ตั้งชื่อพวกเด็กที่เกิดในราชตระกูลว่า โสณุตตระ (โสณุดร) สืบมา.
พระโสณะและพระอุตตระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ แล้วขับไล่ปีศาจทั้งหลายให้หนีไป ได้แสดงพรหมชาลสูตร (๑) แล้ว แล.
[พระมหินทเถระไปประกาศพระศาสนาที่เกาะลังกา]
ส่วนพระมหินทเถระ ผู้อันพระอุปัชฌายะ และภิกษุสงฆ์เชื้อเชิญว่า ขอท่านจงไปประดิษฐานพระศาสนายังเกาะตัมพปัณณิทวีปเถิด ดังนี้ จึงดําริว่า เป็นกาลที่เราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ? ครั้งนั้นเมื่อท่านใคร่ครวญอยู่ ก็ได้มีความเห็นว่า ยังไม่ใช่กาลที่ควรจะไปก่อน.
ถามว่า ก็พระเถระนั้น ได้มีความเห็นดังนี้ เพราะเห็นเหตุการณ์อะไร?
แก้ว่า เพราะเห็นว่า พระเจ้ามุฏสีวะ ทรงพระชราภาพมาก.
[พระมหินทเถระเที่ยวเยี่ยมญาติจนกว่าจะถึงเวลาไปเกาะลังกา]
ลําดับนั้น พระเถระดําริว่า พระราชาพระองค์นี้ ทรงพระชราภาพมาก เราไม่อาจรับพระราชานี้ยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้ ก็บัดนี้ พระราชโอรสของพระองค์ ทรงพระนามว่า เทวานัมปิยดิส จักเสวยราชย์ (ต่อไป) เราจักอาจรับพระราชานั้นยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้ เอาเถิด เราจักเยี่ยมพวกญาติเสียก่อน จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง, บัดนี้ เราจะพึงได้กลับมายังชนบทนี้อีกหรือไม่. พระเถระนั้น ครั้นดําริอย่างนั้นแล้ว จึงไหว้พระอุปัชฌายะ
(๑) ที.สี. ๙/๑.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 121
และภิกษุสงฆ์ออกไปจากวัดอโศการาม เที่ยวจาริกไปทางทักขิณาคิรีชนบท ซึ่งเวียนรอบนครราชคฤห์ไปพร้อมกับพระเถระ ๔ รูป มีพระอิฏฏิยะเป็นต้นนั้น สุมนสามเณร ผู้เป็นโอรสของพระนางสังฆมิตตา และภัณฑกอุบาสกเยี่ยมพวกญาติอยู่จนเวลาล่วงไปถึง ๖ เดือน. ครั้งนั้น พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลําดับ
[ประวัติย่อของพระมหินทเถระ]
ได้ยินว่า พระเจ้าอโศกทรงได้ชนบท (ได้กินเมือง) ในเวลายังทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนี ผ่านเวทิสนคร ได้ทรงรับธิดาของเวทิสเศรษฐี (เป็นอัครมเหสี). ในวันนั้นนั่นเอง พระนางก็ทรงครรภ์ แล้วได้ประสูติมหินทกุมารที่กรุงอุชเชนี. ในเวลาที่พระกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๔ พรรษา พระราชาทรงได้รับการอภิเษกขึ้นครองราชย์. สมัยนั้น พระนางที่เป็นมารดาของมหินทกุมารนั้น ก็ประทับอยู่ที่ตําหนักของพระประยูรญาติ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลําดับ.
ก็แล พระเทวีผู้เป็นพระมารดาของพระเถระ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระผู้มาถึงแล้ว ก็ทรงไหว้เท้าทั้งสองด้วยเศียรเกล้า แล้วถวายภิกษา ทรงมอบถวายวัดชื่อ เวทิสคิรีมหาวิหาร ที่ตนสร้างถวายพระเถระ. พระเถระนั่งคิดอยู่ที่วิหารนั้นว่า กิจที่เราควรกระทําในที่นี้สําเร็จแล้ว, บัดนี้ เป็นเวลาที่ควรจะไปยังเกาะลังกาหรือยังหนอแล. ลําดับนั้น ท่านดําริว่า ขอให้พระราชกุมารพระนามว่า เทวานัมปิยดิส เสวยอภิเษก ที่พระชนกของเราทรงส่งไปถวายเสียก่อน, ขอให้ได้สดับคุณพระรัตนตรัย และเสด็จออกไปจาก
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 122
พระนคร เสด็จขึ้นสู่มิสสกบรรพตมีมหรสพเป็นเครื่องหมาย, เวลานั้น เราจักพบพระองค์ท่านในที่นั้น. พระเถระ ก็สําเร็จการพักอยู่ที่เวทิสคิรีมหาวิหารนั้นแล สิ้นเดือนหนึ่งต่อไปอีก.
ก็โดยล่วงไปเดือนหนึ่ง คณะสงฆ์และอุบาสกแม้ทั้งหมด ซึ่งประชุมกันอยู่ในวันอุโบสถ ในดิถีเพ็ญแห่งเดือนแปดต้น (คือวันเพ็ญเดือน ๗) ได้ปรึกษากันว่า เป็นกาลสมควรที่พวกเราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ? เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้กล่าวว่า
ในกาลนั้น ได้มีพระสังฆเถระชื่อมหินท์โดยนาม ๑ พระอิฏฏิยเถระ ๑ พระอุตติยเถระ ๑ พระภัททสาลเถระ ๑ พระสัมพลเถระ๑ สุมนสามเณร ผู้ได้ฉฬภิญญา มีฤทธิ์มาก ๑ ภัณฑกอุบาสก ผู้ได้เห็นสัจจะเป็นที่ ๗ แห่งพระเถระเหล่านั้น ๑, ท่านมหานาคเหล่านั้นนั่นแล พักอยู่ในที่เงียบสงัด ได้ปรึกษากันแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.
[พระอินทร์ทรงเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์ถวายให้พระมหินท์ทราบ]
เวลานั้น ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพ เสด็จเข้าไปหาพระมหินทเถระ แล้วได้ตรัสคํานี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระเจ้ามุฏสีวะ สวรรคตแล้ว, บัดนี้ พระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราชเสวยราชย์แล้ว, และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงพยากรณ์องค์ท่านไว้แล้วว่า ในอนาคต ภิกษุชื่อมหินท์ จักยังชาวเกาะตัมพปัณณิทวีปให้เสื่อมใส ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 123
เพราะเหตุดังนั้นแล เป็นกาลสมควรที่ท่านจะไปยังเกาะอันประเสริฐแล้ว แม้กระผม ก็จักร่วมเป็นเพื่อนท่านด้วย.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น?
แก้ว่า เพราะได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ที่ควงแห่งโพธิพฤกษ์นั่นเองได้ทอดพระเนตรเห็นสมบัติแห่งเกาะนี้ในอนาคต จึงได้ตรัสบอกความนั่นแก่ท้าวสักกะนั้น และทรงสั่งบังคับไว้ด้วยว่า "ในเวลานั้น ถึงบพิตรก็ควรร่วมเป็นสหายด้วย" ดังนี้ ฉะนั้น ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น.
[พระมหินทเถระพร้อมกับคณะไปเกาะลังกา]
พระเถระ รับคําของท้าวสักกะนั้นแล้ว เป็น ๗ คนทั้งตน เหาะขึ้นไปสู่เวหาสจากเวทิสบรรพต แล้วดํารงอยู่บนมิสสกบรรพต ซึ่งชนทั้งหลายในบัดนี้จํากันได้ว่า เจติยบรรพต บ้าง ทางทิศบูรพาแห่งอนุราธบุรี. เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวไว้ว่า
พระเถระทั้งหลายพักอยู่ที่เวทิสคิรีบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ สิ้น ๓๐ ราตรี ได้ดําริว่า เป็นกาลสมควรที่จะไปยังเกาะอันประเสริฐ, พวกเราจะพากันไปสู่เกาะอันอุดม ดังนี้ แล้วได้เหาะขึ้นจากชมพูทวีปลอยไปในอากาศดุจพญาหงส์บินไปเหนือท้องฟ้า ฉะนั้น, พระเถระทั้งหลายเหาะขึ้นไปแล้วอย่างนั้น ก็ลงที่ยอดเขาแล้ว ยืนอยู่บนยอดบรรพต ซึ่งงามไปด้วยเมฆ อันตั้งอยู่ข้างหน้าแห่งบุรีอันประเสริฐราวกะว่า หมู่หงส์จับอยู่บนยอดเขา ฉะนั้น.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 124
ก็ท่านพระมหินทเถระ ผู้มาร่วมกับพระเถระทั้งหลาย มีพระอิฏฏิยะเป็นต้น ยืนอยู่อย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ได้ยืนอยู่แล้วในเกาะนี้ ในปีที่ ๒๓๖ พรรษา นับมาแต่ปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน.
[ลําดับราชวงศ์ที่เสวยราชย์ในเกาะลังกาและชมพูทวีป]
ความพิสดารว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วในปีที่ ๘ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอชาตศัตรู (เสวยราชย์). ในปีนั้นนั่นเอง พระราชโอรสของพระเจ้าสีหกุมาร ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้นวงศ์แห่งเกาะตัมพปัณณิทวีป ทรงพระนามว่า วิชัยกุมาร เสด็จมาสู่เกาะนี้แล้ว ได้ทรงทําเกาะนี้ ให้เป็นที่อยู่ของมนุษย์. พระเจ้าวิชัยกุมาร (เสวยราชย์อยู่ในเกาะนี้ ๓๘ ปีแล้ว) (๑) สวรรคตที่เกาะนี้ ในปีที่ ๑๔ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอุทัยภัทท์ในชมพูทวีป. พระราชาทรงพระนามว่า บัณฑุวาสุเทพ ขึ้นครองราชย์ในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๕ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอุทัยภัทท์ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่ในชมพูทวีป). พระเจ้าบัณฑุวาสุเทพ ได้สวรรคตที่เกาะนี้ ในปีที่ ๒๑ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้านาคทัสสกะ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. พระราชกุมาร ทรงพระนามว่า อภัย ขึ้นครองราชย์ในเกาะนี้ ในปีนั้นนั่นเอง. พระเจ้าอภัย (เสวยราชย์อยู่) ในเกาะนี้ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในปีที่ ๑๗ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าสุสูนาคะ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น คราวนั้น ทามริกา พระนามว่า ปกุณฑกาภัย ได้ยึดเอาราชสมบัติ ในปีที่ ๒๐ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอภัย (ผู้ครองราชย์อยู่ในคราวนั้น). พระเจ้าปกุณฑกาภัย (ครองราชย์อยู่) ในเกาะนี้ ครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ในปีที่ ๑๖ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้ากาฬาโศก (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. ๑๗ ปีเหล่านั้น
(๑) สารตฺถทีปนี. ๑/๒๔๐.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 125
รวมกันอีก ๑ ปี ถัดมา จึงเป็น ๑๘ ปี พระเจ้าปกุณฑกาภัย ได้สวรรคตในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๔ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าจันทรคุต (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. (ต่อจากนั้น) พระเจ้ามุฏสีวะก็ขึ้นครองราชย์ (ในเกาะนี้) พระเจ้ามุฏสีวะได้สวรรคตในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๗ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอโศกธรรมราช (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. (ต่อจากนั้น) พระเจ้าเทวานัมปิยดิสก็ขึ้นครองราชย์ (ในเกาะนี้).
อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู เสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. ส่วนพระเจ้าอุทัยภัทท์ เสวยราชย์ได้ ๑๖ ปี. (ต่อจากนั้น) พระเจ้าอนุรุทธะและพระเจ้ามุณฑะ เสวยราชย์ได้ ๘ ปี. พระเจ้านาคทัสสกะ เสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. พระเจ้าสุสูนาคะ เสวยราชย์ได้ ๑๘ ปี. พระเจ้าอโศก (๑) พระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาคะนั้นนั่นแล เสวยราชย์ได้ ๒๘ ปี. พระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ พระองค์ (๒) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศก (๓) เสวยราชย์ได้ ๒๒ ปี. ภายหลังแต่กาลแห่งพระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ พระองค์นั้น มีพระราชา ๙ พระองค์ (๔) มีพระนามว่า นันทะ (ต่อสร้อยพระนามทุกๆ พระองค์) เสวยราชย์ได้ ๒๒ ปี เท่านั้น พระเจ้าจันทรคุต เสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. พระเจ้าวินทุสาร เสวยราชย์ได้ ๒๘ ปี.
(๑) , (๓) พระนามว่า พระเจ้าอโศก ทั้ง ๒ แห่งนี้ ฎีกาสารัตถทีปนี และอรรถโยชนา แก้ไว้ว่า ได้แก่พระเจ้ากาฬาโศก หรือกาลาโศกนั่นเอง.
(๒) พระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ พระองค์นั้นคือ ภัททเสน ๑ โกรัณฑวัณณะ ๑ มังคุระ ๑ สัพพัญชหะ ๑ ชาลิกะ ๑ อุภกะ ๑ สัญชัย ๑ โกรัพพะ ๑ นันทิวัฒนะ ๑ และปัญจมกะ ๑.
(๔) พระราชา ๙ พระองค์ ที่มีสร้อยพระนามว่า นันทะ นั่นคือ อุคคเสนนันทะ ๑ ปัณฑุกนันทะ๑ ปัณฑุคตินันทะ ๑ ภูตปาลนันทะ ๑ รัฏฐปาลกนันทะ ๑ โควิสาณกนันทะ ๑ ทสสิฏฐกนันทะ ๑ เกวัฏฏกนันทะ ๑ และธนนันทะ ๑ นัยสารัตถทีปนี ๑/๒๔๔.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 126
ในที่สุด (รัชกาล) แห่งพระเจ้าวินทุสารนั้น พระเจ้าอโศก (๑) ก็ขึ้นครองราชย์. ในกาลก่อนแต่ทรงอภิเษก พระเจ้าอโศกนั้น ครองราชย์อยู่ ๔ ปี. ในปีที่ ๑๘ จากเวลาที่พระเจ้าอโศกทรงอภิเษกแล้ว พระมหินทเถระก็มายืนอยู่ที่เกาะนี้. คํานี้ว่า พระมหินทเถระมายืนอยู่ที่เกาะนี้ ในปีที่ ๒๓๖ พรรษา นับมาแต่ปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบ ตามสายราชวงศ์ (ของพระราชาในชมพูทวีป) นั่น ดังพรรณนามา ฉะนี้.
[พระเจ้าเทวานัมปิยดิสทรงพบพระมหินทเถระ]
ก็ในวันนั้น ที่เกาะตัมพปัณณิทวีป มีงานนักขัตฤกษ์ในเชษฐมาสต้น (คือเดือน ๗) พระราชามีพระราชกระแสรับสั่งให้โฆษณานักขัตฤกษ์ แล้วทรงบังคับพวกอํามาตย์ว่า พวกท่านจงเล่นมหรสพเถิด ดังนี้ มีราชบุรุษจํานวนถึงสี่หมื่นเป็นบริวาร เสด็จออกไปจากพระนคร มีพระประสงค์จะทรงกีฬาล่าเนื้อ จึงเสด็จไปโดยทางที่มิสสกบรรพตตั้งอยู่. เวลานั้น มีเทวดาตนหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ที่บรรพตนั้น คิดว่า เราจักแสดงพระเถระทั้งหลาย แก่พระราชา จึงแปลงเป็นตัวเนื้อละมั่งเที่ยวทําทีกินหญ้าและใบไม้อยู่ในที่ไม่ไกล (แต่พระเถระนั้น). พระราชาทอดพระเนตรเห็นเนื้อละมั่งตัวนั้นแล้ว จึงทรงพระราชดําริว่า บัดนี้ ยังไม่สมควรจะยิงเนื้อ ตัวที่ยังเลินเล่ออยู่ จึงทรงดีดสายธนู. เนื้อเริ่มจะหาทางหนี หนีไปทางที่กําหนดหมายด้วยต้นมะม่วง. พระราชาเสด็จติดตามไปข้างหลังๆ แล้วเสด็จขึ้นสู่ทางที่กําหนดด้วยต้นมะม่วงนั่นเอง. ฝ่ายมฤค ก็หายตัวไปในที่ไม่ไกลพระเถระทั้งหลาย. พระมหินทเถระเห็นพระราชากําลังเสด็จมาในที่ไม่ไกล จึงอธิษฐานใจว่า ขอให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นเฉพาะเราเท่านั้น อย่าทอดพระเนตรเห็นพวกนอกนี้เลย จึงทูลทักว่า ติสสะ ติสสะ
(๑) พระนามว่า พระเจ้าอโศก พระองค์นี้ คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าวินทุสาร หรือพินทุสารนั่นเอง. พึงดูบาลีในสมันต์ฯ นี้ หน้า ๔๐ และ ๔๔.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 127
ขอจงเสด็จมาทางนี้. พระราชาทรงสดับแล้ว เฉลียวพระหฤทัยว่า ขึ้นชื่อว่าชนผู้ที่เกิดในเกาะนี้ซึ่งสามารถจะเรียกเราระบุชื่อว่า ติสสะ ไม่มี ก็สมณะโล้นรูปนี้ทรงแผ่นผ้าขาดที่ตัด (ด้วยศัสตรา) นุ่งห่มผ้ากาสาวะ เรียกเราโดยเจาะชื่อ ผู้นี้คือใครหนอแล จักเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์? พระเถระจึงถวายพระพรว่า
ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายชื่อว่าสมณะ เป็นสาวกของพระธรรมราชา มาที่เกาะนี้ จากชมพูทวีปก็เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรเท่านั้น.
[ไม้ไผ่ ๓ ลําประมาณค่าไม่ได้เกิดแก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส]
โดยสมัยนั้น พระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราช และพระเจ้าอโศกธรรมราชา ทรงเป็นพระอทิฏฐสหายกัน (คือสหายที่ยังไม่เคยพบเห็นกัน). ก็ด้วยพระบุญญานุภาพของพระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราช มีไม้ไผ่ ๓ ลํา มีประมาณเท่าคันธงรถ เกิดขึ้นที่กอไม้ไผ่แห่งหนึ่ง ที่เชิงฉาตกบรรพต ลําหนึ่งชื่อ ลดายัฏฐิ ลําหนึ่งชื่อ บุปผยัฏฐิ ลําหนึ่งชื่อ สกุณยัฏฐิ.
บรรดาไม้ไผ่ ๓ นั้น ลําที่ชื่อว่า ลดายัฏฐิ (คือลําไม้เถา) มีสีเหมือนเงินแท้ ลดาวัลย์ที่เกิดพันต้นไม้ไผ่นั้นก็ปรากฏมีสีเหมือนทอง. ส่วนในลําที่ชื่อว่า บุปผยัฏฐิ (คือลําดอกไม้) ก็มีดอกซึ่งมีสีเขียว เหลือง แดง ขาวและดํา ปรากฏมีขั้ว ใบ และเกสรที่จําแนกไว้ดี. ส่วนในลําที่ชื่อว่า สกุณยัฏฐิ (คือลําสกุณชาติ) ก็มีหมู่สกุณาหลายหลาก มีหงส์ ไก่ และนกโพระดก เป็นต้น และมีสัตว์ ๔ เท้านานาชนิด ปรากฏเป็นเหมือนมีชีวิตอยู่. แม้สมจริงดังที่พระอาจารย์ชาวสิงหล กล่าวไว้ในคัมภีร์ทีปวงศ์ว่า
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 128
ไม้ไผ่ ๓ ลํา ได้มีแล้วที่เชิงเขาชื่อฉาตกะ ลําที่เป็นเถา มีสีขาวและงามเหมือนสีทอง ปรากฏอยู่ที่ลําต้น (๑) สีเงิน, ดอกสีเขียวเป็นต้น มีอยู่เช่นใด, ดอกเช่นนั้น ก็ปรากฏอยู่ในลําดอกไม้, สกุณชาติหลายหลาก ก็จับกันอยู่ที่ลําสกุณชาติ โดยรูปของตนนั่นเอง.
[รัตนะคือแก้ววิเศษ ๘ ชนิดเกิดแก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส]
รัตนะ (คือแก้ว) มีหลายชนิด มีแก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์เป็นต้น เกิดขึ้นแม้จากสมุทร แก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิสพระองค์นั้น. ส่วนในเกาะตัมพปัณณิทวีป มีแก้วมุกดาเกิดขึ้น ๘ ชนิด คือ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนรูปช้าง ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนรูปรถ ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนผลมะขามป้อม ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนกําไลมือ ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนวงแหวน ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนผลไม้กุ่ม ๑ แก้วมุกดาปกติ ๑. ท้าวเธอได้ส่งลําไม้ไผ่ แก้วมุกดานั้นๆ กับรัตนะมากมาย อย่างอื่นไปถวาย เพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าอโศกธรรมราช.
[พระเจ้าอโศกส่งเบญจราชกกุธภัณฑ์ไปถวายพระเจ้าเทวานัมปิยดิส]
พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใส แล้วทรงส่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างไปถวายแด่ท้าวเธอ คือ เศวตฉัตร ๑ แส้จามร (วาลวีชนี) ๑ พระขรรค์ ๑ รัตนะประดับพระเมาลี (คือ พระอุณหิส ติดพระมหาพิชัยมงกุฎ) ๑ ฉลอง
(๑) รชตยฏฺฐี เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ. นัยอรรถโยชนา ๑/๘๐.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 129
พระบาท ๑ และเครื่องบรรณาการอย่างอื่นหลายชนิด เพื่อประโยชน์แก่การอภิเษก. คืออย่างไร. คือ สังข์ ๑ คังโคทกวารี (น้ำที่แม่น้ำคงคา หรือน้ำที่เกิดจากสระอโนดาต) ๑ วัฑฒมานะ จุณสําหรับสรงสนาน ๑ วฏังสกะ (พระมาลากรองสําหรับประดับพระกรรณ หรือกรรเจียก เครื่องประดับหู) ๑ ภิงคาร พระเต้าทอง ๑ นันทิยาวัฏฏะ ภาชนะทอง (ทําไว้เพื่อการมงคล มีสัณฐานเหมือนรูปกากบาท) ๑ สิวิกะ (วอหรือเสลี่ยง) ๑ กัญญา ขัตติยกุมารี ๑ กฏัจฉุ ทัพพี ๑ อโธวิมทุสสยุคะ (คู่พระภูษาที่ไม่ต้องซัก) ๑ หัตถปุญฉนะ ผ้าสําหรับเช็ดพระหัตถ์ ๑ หริจันทนะ แก่นจันทน์แดง ๑ อรุณวัณณมัตติกะ ดินสีอรุณ ๑ อัญชนะ (๑) ยาหยอดพระเนตร ๑ หรีตกะ พระโอสถสมอ ๑ อามลกะ พระโอสถมะขามป้อม ๑ ฉะนี้แล.
แม้คํานี้ก็สมจริงดังคําที่พระอาจารย์ชาวสิงหล กล่าวไว้ในคัมภีร์ทีปวงศ์ว่า
พระราชาทรงพระนามว่าอโศก ทรงส่งเครื่องบรรณาการ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม (ของพระองค์) ไป (ถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส) คือ พัดวาลวีชนี ๑ พระอุณหิส (พระมหาพิชัยมงกุฏ) ๑ เศวตฉัตร ๑ พระขรรค์ ๑ ฉลองพระบาท ๑ เวฐนะ ผ้าโพกพระเศียร ๑ สารปามังคะ สร้อยสังวาล ๑ ภิงคาร พระเต้าทอง๑ นันทิวัฏฏ-
(๑) อัญชนะ แปลว่าแร่พลวงก็ได้ ดอกอัญชันก็ได้ ดอกอังกาบก็ได้ หรือยาหยอดตาก็ได้ ในที่นี้ได้แปลว่ายาหยอดตา.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 130
กะ ภาชนะทอง ๑ สิวิกะ (วอหรือเสลี่ยง) ๑ สังขะ (สังข์สําหรับรดน้ำในเวลาอภิเษก) ๑ วฏังสกะ (พระมาลากรองสําหรับประดับพระกรรณ หรือกรรเจียกเครื่องประดับหู) ๑ อโธวิมวัตถโกฏิกะ พระภูษาคู่หนึ่งที่ไม่ต้องซักฟอก ๑ โสวัณณปาตี ถาดทอง ๑ กฏัจฉุ ทัพพี ๑ มหัคฆหัตถปุญฉนะ ผ้าสําหรับเช็ดพระหัตถ์ที่มีค่ามาก ๑ อโนตัตโตทกกาชะ หาบน้ำสระอโนดาต ๑ อุตตมหริจันทนะ แก่นจันทน์แดงที่ดีเลิศ ๑ อรุณวัณณมัตติกะ ดินสีอรุณ ๑ อัญชนะ ยาหยอดพระเนตรที่นาคนํามาถวาย ๑ หรีตกะ พระโอสถสมอ ๑ อามลกะ พระโอสถมะขามป้อม ๑ มหัคฆอมโตสถะ พระโอสถแก้โรคที่มีค่ามาก๑ ข้าวสาลีมีกลิ่นหอม ๖,๐๐๐ เกวียนที่นกแขกเต้านํามาถวาย ๑.
ก็พระเจ้าอโศก ทรงส่งเครื่องบรรณาการ ที่เป็นอามิสนั้นไปถวายอย่างเดียวหามิได้ ได้ยินว่า ยังได้ส่งแม้ธรรมบรรณาการนี้ไปถวายอีก ดังนี้ คือ
หม่อมฉัน ได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ได้แสดงตนเป็นอุบาสกในพระศาสนาแห่งศากยบุตร, ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่า
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 131
นรชน ถึงพระองค์ท่าน ก็จงยังจิตให้เลื่อมใสในอุดมวัตถุทั้ง ๓ เหล่านี้เถิด ขอให้ทรงเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ นั้นว่าเป็นสรณะที่พึ่งด้วยพระศรัทธาเถิด.
ในวันนั้น พระราชาพระองค์นั้น ทรงรับมุรธาภิเษก ๑ เดือนด้วยเครื่องอุปกรณ์การอภิเษกที่พระเจ้าอโศกทรงส่งไปถวาย. จริงอยู่ เหล่าเสนามาตย์ได้ทําการอภิเษกถวายแด่ท้าวเธอ ในดิถีวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (คือวันเพ็ญเดือน ๖).
ท้าวเธอพระองค์นั้น เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงศาสนประวัตินั้น ที่พระองค์ได้ทรงสดับมาไม่นาน ครั้นได้ทรงสดับคํานั้นของพระเถระว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย ชื่อว่าสมณะ เป็นสาวกของพระธรรมราชา ดังนี้ เป็นต้นแล้ว ทรงดําริว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมาแล้วหนอแล จึงทรงทิ้งอาวุธในทันใดนั้นเอง แล้วประทับนั่งสนทนาสัมโมทนียกถาอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. เหมือนดังที่พระโบราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า
พระราชาทรงทิ้งอาวุธแล้ว เสด็จประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นประทับนั่งแล้วได้ตรัสพระดํารัสประกอบด้วยประโยชน์เป็นอันมาก ร่าเริงอยู่.
ก็เมื่อท้าวเธอพระองค์นั้น ทรงสนทนาสัมโมทนียกถาอยู่นั่นแล ข้าราชบริพารจํานวนสี่หมื่นเหล่านั้น ก็พากันมาแวดล้อมพระองค์แล้ว.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 132
[พระเถระแสดงให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นจริงอีก ๖ คน]
คราวนั้น พระเถระก็แสดงชน ๖ คนแม้นอกนี้. พระราชาทอดพระเนตรเห็น (ชนทั้ง ๖ นั้น) แล้ว จึงทรงรับสั่ง (ถาม) ว่า คนเหล่านี้มาเมื่อไร?
พระเถระ. มาพร้อมกับอาตมภาพนั่นแล มหาบพิตร
พระราชา. ก็บัดนี้ สมณะแม้เหล่าอื่น ผู้เห็นปานนี้ มีอยู่ในชมพูทวีปบ้างหรือ?
พระเถระ. มีอยู่ มหาบพิตร บัดนี้ ชมพูทวีปรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ สะบัดอบอวลไปด้วยลมฤษี, ในชมพูทวีปนั้น
มีพระอรหันต์พุทธสาวกเป็นอันมาก ซึ่งเป็นผู้มีวิชชา ๓ และได้บรรลุฤทธิ์เชี่ยวชาญทางเจโตปริยญาณ สิ้นอาสวะแล้ว.
พระราชา. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าทั้งหลาย พากันมาโดยทางไหน?
พระเถระ. มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่ได้มาทางน้ำและทางบกเลย.
พระราชาก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้มาทางอากาศ.
[พระเถระถามปัญหาเพื่อหยั่งทราบพระปัญญาของพระราชา]
พระเถระ เพื่อจะทดลองดูว่า พระราชาจะทรงมีความเฉียบแหลมด้วยพระปรีชาหรือหนอแล จึงทูลถามปัญหาปรารภต้นมะม่วงซึ่งอยู่ใกล้ว่า มหาบพิตร ต้นไม้นี้ชื่ออะไร?
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 133
พระราชา. ชื่อต้นมะม่วง ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ก็นอกจากต้นมะม่วงนี้แล้ว มะม่วงต้นอื่นมีอยู่หรือไม่?
พระราชา. มีอยู่ ท่านผู้เจริญ ต้นมะม่วงแม้เหล่าอื่นมีอยู่มากหลาย.
พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ยกเว้นมะม่วงต้นนี้ และมะม่วงเหล่าอื่นเสียแล้ว ต้นไม้ชนิดอื่นมีอยู่หรือหนอแล?
พระราชา. มีอยู่ ท่านผู้เจริญ แต่ต้นไม้เหล่านั้น มิใช่ต้นมะม่วง.
พระเถระ. ยกเว้นต้นมะม่วง และมิใช่ต้นมะม่วงเหล่าอื่นเสีย ก็ต้นไม้ชนิดอื่นมีอยู่หรือ?
พระราชา. มี คือ มะม่วงต้นนี้แหละ ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ดีละ มหาบพิตร พระองค์ทรงเป็นบัณฑิต, ก็พระประยูรญาติของพระองค์มีอยู่หรือ? มหาบพิตร
พระราชา. ชนผู้เป็นญาติของข้าพเจ้ามีอยู่มากหลาย ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ยกเว้นชนผู้เป็นพระประยูรญาติของพระองค์เหล่านี้เสียแล้ว ชนบางพวกเหล่าอื่น แม้ผู้ที่มิใช่พระประยูรญาติมีอยู่หรือ? มหาบพิตร
พระราชา. ชนผู้ที่มิใช่ญาติมีมากกว่าผู้ที่เป็นญาติ ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ยกเว้นผู้ที่เป็นพระประยูรญาติของพระองค์ และผู้ที่มิใช่พระประยูรญาติเสียแล้ว ใครๆ คนอื่นมีอยู่หรือ? ขอถวายพระพร
พระราชา. มี คือ ข้าพเจ้าเอง ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ดีละ มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าตน ไม่จัดว่าเป็นญาติของตน ทั้งจะไม่ใช่ญาติ (ของตน) ก็หามิได้.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 134
[พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารดํารงอยู่ในไตรสรณคมน์]
ลําดับนั้น พระเถระคิดว่า พระราชาเป็นบัณฑิต จักทรงสามารถรู้ธรรมได้ ดังนี้แล้วจึงแสดงจูฬหัตถิปโทปมสูตร (๑). ในเวลาจบกถา พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารประมาณสี่หมื่น ดํารงอยู่ในไตรสรณคมน์แล้ว.
ก็ในขณะนั้นนั่นเอง พนักงานห้องเครื่อง ก็นําพระกระยาหารมาทูลถวายแด่พระราชา. ส่วนพระราชากําลังทรงสดับพระสูตรอยู่ ได้ทรงเข้าพระหฤทัยดีแล้วอย่างนี้ว่า สมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่ควรจะฉันในเวลานี้. แต่ท้าวเธอทรงดําริว่า ก็การที่เราไม่ถามแล้วบริโภคไม่ควร ดังนี้แล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านจักฉันหรือ?
พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร พวกอาตมภาพ ไม่ควรฉันในเวลานี้.
พระราชา. ควรฉันในเวลาไหนเล่า? ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. ควรฉันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน ขอถวายพระพร
พระราชา. พวกเราไปสู่พระนครกันเถิด ท่านผู้เจริญ
พระเถระ. อย่าเลย มหาบพิตร พวกอาตมภาพจักพักอยู่ในที่นี้แหละ.
พระราชา. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพวกพระคุณเจ้าจะพักอยู่ (ในที่นี้) ไซร้, ขอเด็กคนนี้ จงมาไปกับข้าพเจ้า.
พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร เด็กคนนี้บรรลุผลแล้ว รู้แจ้งพระศาสนาแล้ว เป็นปัพพัชชาเปกขะ (คือผู้มุ่งจะบรรพชา) จักบรรพชาในบัดนี้.
(๑) ม. มู. ๑๒/๓๓๖
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 135
พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจักส่งรถมา (รับพวกพระคุณเจ้า), ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย พึงขึ้นรถนั้นมาเถิด ดังนี้ ถวายบังคมแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.
[สุมนสามเณรประกาศโฆษณาเวลาฟังธรรมทั่วเกาะลังกา]
พระเถระ เมื่อพระราชาเสด็จหลีกไปไม่นานนัก จึงเรียกสุมนสามเณรมาสั่งว่า สุมนะ เธอจงไปโฆษณาเวลาฟังธรรมเถิด.
สุมนสามเณรเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมจะโฆษณาให้ได้ยินตลอดที่มีประมาณเท่าไร?
พระเถระสั่งว่า จงโฆษณาให้ได้ยินทั่วเกาะตัมพปัณณิทวีปเถิด.
สามเณรรับเถรบัญชาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีละ แล้วก็เข้าจตุตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ออก (จากฌาน) แล้วอธิษฐานมีจิตตั้งมั่น โฆษณาเวลาฟังธรรมให้ได้ยินทั่วเกาะตัมพปัณณิทวีปตลอด ๓ ครั้งแล้ว.
พระราชาทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงทรงส่งข่าวไปยังสํานักของพระเถระทั้งหลายว่า มีอุปัทวะอะไรๆ หรือ? ท่านผู้เจริญ
พระเถระทูลว่า อาตมภาพทั้งหลาย ไม่มีอุปัทวะอะไร อาตมภาพทั้งหลาย ได้ให้สามเณรโฆษณาเวลาฟังธรรม. อาตมภาพทั้งหลาย มีความประสงค์จะแสดงพระพุทธพจน์ (เท่านั้น).
[เสียงโฆษณาเวลาฟังธรรมกระฉ่อนไปถึงชั้นพรหมโลก]
ก็แล เหล่าภุมมเทวดา ได้ฟังเสียงของสามเณรนั้นแล้ว ก็ได้ประกาศเสียงให้บันลือลั่นแล้ว เสียงได้กระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยอุบายนั่น. เพราะเสียงนั้น ได้มีเทวดามาสันนิบาตกันอย่างมากมาย. พระเถระเห็นเทวดา
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 136
มาสันนิบาตกันอย่างมากมาย จึงแสดงสมจิตตสูตร. ในเวลาจบกถา เหล่าเทวดาประมาณอสงไขยหนึ่ง ได้บรรลุธรรมแล้ว. นาคและสุบรรณมากหลายก็ได้ตั้งอยู่ในสรณคมน์แล้ว. ก็เมื่อพระสารีบุตรเถระแสดงพระสูตรนี้อยู่ การสันนิบาตของเหล่าทวยเทพได้มีแล้วเช่นใด, เทวดาสันนิบาตเช่นนั้น ก็ได้เกิดแล้วแม้เมื่อพระมหินทเถระ (แสดงพระสูตรนี้).
[พระปฐมเจดีย์เมืองอนุราธบุรี]
ครั้งนั้น โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น พระราชา ก็ทรงส่งรถไปเพื่อ (รับ) พระเถระทั้งหลาย. นายสารถี พักรถไว้ ณ ที่ข้างหนึ่งแล้วเรียนบอกแก่พระเถระทั้งหลายว่า รถมาแล้ว ขอรับ โปรดขึ้นรถเถิด. พวกเราจะไปกัน.
พระเถระทั้งหลายพูดว่า พวกเราจะไม่ขึ้นรถ, ท่านจงไปเถิด พวกเราจักไปภายหลัง ดังนี้แล้ว ได้เหาะขึ้นสู่เวหาส แล้วไปลง ณ ปฐมเจดีย์สถานในด้านทิศบูรพาแห่งเมืองอนุราธบุรี. จริงอยู่ พระเจดีย์นั้น ชาวโลกเรียกว่า พระปฐมเจดีย์ เพราะเป็นเจดีย์ที่ประชาชนสร้างไว้ในสถานที่พระเถระทั้งหลายลงครั้งแรกนั่นแล.
[พระราชาทรงรับสั่งให้เตรียมการต้อนรับพระเถระ]
ฝ่ายพระราชา ครั้นส่งนายสารถีไปแล้ว จึงทรงบังคับพวกอํามาตย์ว่า ขอให้พากันตกแต่งมณฑปภายในพระราชนิเวศน์เถิด. ในทันใดนั้นเอง อํามาตย์ทั้งปวงก็ยินดีร่าเริง ตกแต่งมณฑปเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก. พระราชาทรงดําริอีกว่า วันวานนี้ พระเถระเมื่อแสดงหมวดศีลอยู่ ก็กล่าวว่า ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ย่อมไม่ควร (แก่พวกภิกษุ) ดังนี้, พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 137
จักนั่งบนอาสนะทั้งหลาย หรือจักไม่นั่งหนอ เมื่อท้าวเธอทรงดําริอยู่อย่างนั้นนั่นแล นายสารถีนั้น ก็มาถึงประตูพระนคร (พอดี). เวลานั้นนายสารถีได้เห็นพระเถระทั้งหลาย มารัดประคดเอว ห่มจีวรอยู่ก่อนแล้ว. ครั้นเธอเห็นแล้ว ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสยิ่งนัก แล้วกลับมาทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเถระทั้งหลายมาถึงแล้ว.
พระราชาตรัสถามว่า พระเถระทั้งหลายขึ้นรถมาหรือ? (๑)
นายสารถีกราบทูลว่า ไม่ขึ้น พระเจ้าข้า อีกอย่างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายออกทีหลังข้าพระพุทธเจ้า มาถึงก่อนได้ยืนอยู่ที่ประตูด้านทิศปราจีน. พระราชาทรงสดับว่า พระเถระทั้งหลายไม่ขึ้นแม้ซึ่งรถ จึงทรงพระดําริว่า บัดนี้ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จักไม่ยินดีอาสนะสูง แล้วตรัสสั่งว่า แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงปูอาสนะ โดยอาการเพียงลาดพื้น เพื่อพระเถระทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ได้เสด็จสวนทางไป. พวกอํามาตย์ปูเสื่ออ่อนบนพื้นแล้วปูเครื่องลาดอันวิจิตรมีผ้าโกเชาว์เป็นต้น (พรม) ข้างบน. พวกโหรผู้ทํานายนิมิตเห็น (เหตุการณ์นั้น) แล้ว พากันพยากรณ์ว่า แผ่นดินนี้ถูกพระเถระเหล่านี้ยึดแล้วในบัดนี้, ท่านเหล่านี้ จักเป็นเจ้าของแห่งเกาะตัมพปัณณิทวีป. ฝ่ายพระราชาได้เสด็จมาถวายบังคมพระเถระทั้งหลายแล้ว ทรงรับเอาบาตรจากหัตถ์ของพระมหินทเถระ แล้วนิมนต์เหล่าพระเถระให้เข้าไปในเมือง ด้วยการบูชาและสักการะใหญ่ ให้เข้าไปสู่ภายในพระราชนิเวศน์. พระเถระเห็นการให้ปูอาสนะแล้ว นั่งพลางคิดไปว่า ศาสนาของเราจักแผ่ไปทั่วลังกาทวีป และตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดุจแผ่นดิน. พระราชาทรงเลี้ยงดูพระเถระทั้งหลายให้อิ่มหนําด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เสร็จเรียบร้อย
(๑) พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 138
แล้ว ได้รับสั่งให้เรียกสตรี ๕๐๐ คน มีพระนางอนุฬาเทวีเป็นประมุขมาด้วยพระดํารัสว่า พวกแม่จงกระทําการอภิวาทและบูชาสักการะพระเถระทั้งหลายเถิด ดังนี้ แล้วได้เสด็จประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
[พระเถระแสดงธรรมโปรดพระราชาและชาวเกาะ]
ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเถระ เมื่อจะให้ฝนรัตนะคือพระธรรมตกแก่พระราชาพร้อมทั้งชนบริวาร จึงได้แสดงเปตวัตถุ วิมานวัตถุ และสัจจสังยุต. สตรีทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้น ฟังธรรมเทศนานั้นของพระเถระ ได้กระทําให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. แม้เหล่ามนุษย์ที่ได้พบเห็นพระเถระบนเขามิสสกบรรพตในวันก่อน ก็พากันกล่าวสรรเสริญคุณของพระเถระในที่นั้นๆ. พวกมหาชนฟัง (จากสํานัก) ของชนเหล่านั้น ได้ประชุมกันส่งเสียงเอ็ดอึงที่พระลานหลวง. พระราชาตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน. ทวยนครกราบทูลว่า พวกมหาชนร้องว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นพระเถระ พระราชาทรงพระดําริว่า ถ้าพวกมหาชนจักเข้ามาในที่นี้ไซร้ โอกาสจักไม่มี จึงตรัสว่า แน่ะพนาย พวกเธอจงไปชําระโรงช้าง เกลี่ยทราย โปรยดอกไม้ ๕ สี ผูกเพดานผ้าแล้วปูลาดอาสนะ เพื่อพระเถระทั้งหลายบนที่ของช้างมงคล. พวกราชอํามาตย์ได้กระทําอย่างนั้นแล้ว. พระเถระได้ไปนั่งแสดงเทวทูตสูตรในที่นั้น. ในเวลาจบกถา คนประมาณหนึ่งพันได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ในเวลานั้น ชนทั้งหลายคิดว่า โรงช้างแคบเกินไปเสียแล้ว จึงตกแต่งอาสนะที่อุทยานนันทวันใกล้ประตูด้านทิศทักษิณ. พระเถระ (ไป) นั่งแสดงอาสิวิโสปมสูตรในอุทยานนันทวันนั้น. เพราะฟังอาสิวิโสปมสูตรแม้นั้น คนประมาณพันหนึ่งได้โสดาปัตติผล. ในวันที่สองแต่วันที่พระเถระมาแล้ว ธรรมาภิสมัย (การตรัสรู้ธรรม การบรรลุธรรม) ได้มีแก่คนประมาณ ๒,๕๐๐ คน.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 139
[พระราชาถวายอุทยานสร้างวัด]
เมื่อพระเถระสัมโมทนากับพวกกุลสตรี กุลสุณหา กุลกุมารี ผู้มาแล้วและมาแล้ว ในอุทยานนันทวันนั่นแล เวลาก็ตกเย็น. พระเถระสังเกตเวลาแล้วลุกขึ้นพลางพูดว่า ได้เวลา พวกเราจะไปยังเขามิสสกบรรพต. พวกอํามาตย์เรียนถามว่า พวกท่านจะไปไหนกันขอรับ? พระเถระกล่าวว่า จะไปยังที่พักของพวกเรา. อํามาตย์เหล่านั้นกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ แล้วกราบเรียนตามพระบรมราชานุมัติว่า ท่านผู้เจริญ เวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่จะไปในที่นั้น อุทยานนันทวันนี้แหละ จงเป็นที่พักของพระผู้เป็นเจ้า. พระเถระกล่าวว่า อย่าเลย พวกอาตมาจะไป. พวกอํามาตย์กราบเรียนตามพระราชดํารัสอีกว่า ท่านขอรับ พระราชาตรัสว่า อุทยานชื่อเมฆวันนี้ เป็นของพระชนกเรา อยู่ไม่ไกลไม่ใกล้นักจากพระนคร สมบูรณ์ด้วยทางไปมา ขอพระเถระเจ้าทั้งหลายโปรดสําเร็จการอยู่ในอุทยานเมฆวันนี้. พระเถระทั้งหลาย จึงพักอยู่ที่อุทยานเมฆวัน. ฝ่ายพระราชาแล ได้เสด็จไปยังสํานักของพระเถระต่อเมื่อราตรีนั้นล่วงไป ได้ตรัสถามถึงการจําวัดสบายแล้ว ตรัสถามต่อไปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อารามนี้สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์หรือ? พระเถระถวายพระพรว่า สมควร มหาบพิตร แล้วจึงนําพระสูตรนี้มาว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม ดังนี้เป็นต้น. พระราชาทรงพอพระทัย ทรงจับพระสุวรรณภิงคาร (พระเต้าทอง) ให้น้ำตกไปที่มือของพระเถระ ได้ถวายอุทยานมหาเมฆวัน พร้อมกับน้ำตก แผ่นดินก็หวั่นไหว. นี่ เป็นการไหวแห่งแผ่นดินคราวแรกในมหาวิหาร. พระราชาทรงตกพระทัยแล้ว จึงตรัสถามพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุไร แผ่นดินจึงไหว. พระเถระทูลถวายพระพรว่า มหาบพิตร อย่าตกพระทัยเลย ศาสนาของ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 140
พระทศพลจักตั้งมั่นในเกาะนี้ และที่นี้จักเป็นที่ตั้งมหาวิหารแห่งแรก แผ่นดินไหวนั่นเป็นบุรพนิมิตแห่งการประดิษฐานพระศาสนา และที่จะสร้างวิหารนั้น. พระราชาทรงเลื่อมใสเหลือประมาณยิ่ง.
[พระเถระแสดงธรรมโปรดชาวเกาะติดต่อกันไป]
แม้ในวันรุ่งขึ้น พระเถระฉันที่พระราชมณเฑียรตามเคยแล้วแสดงอนมตัคคิยสูตรในอุทยานนันทวัน. วันรุ่งขึ้นแสดงอัคคิขันโธปมสูตร ท่านแสดงโดยอุบายนี้นั่นแล ตลอด ๗ วัน. ธรรมาภิสมัย ได้มีแก่สัตว์ประมาณ ๘,๕๐๐. ตั้งแต่นั้นมา อุทยานนันทวัน ก็ได้ชื่อว่า โชติวัน เพราะอธิบายว่า เป็นสถานที่พระศาสนาปรากฏความรุ่งเรืองขึ้น. ส่วนในวันที่ ๗ พระเถระแสดงอัปปมาทสูตร โปรดพระราชาในภายในพระราชวังแล้ว ก็เลยไปยังเจติยคิรีบรรพตทีเดียว. ครั้งนั้นแล พระราชาตรัสถามพวกอํามาตย์ว่า พระเถระสั่งสอนพวกเราด้วยโอวาทหนักแล้ว พึงไปเสียหรือหนอ? พวกอํามาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระเถระ พระองค์มิได้นิมนต์มา มาเองแท้ๆ เพราะฉะนั้น แม้การไม่ทูลลาพระองค์เลย ไปเสีย ก็พึงเป็นได้.
[พระราชาทรงรถติดตามพระเถระไป]
ลําดับนั้น พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถและทรงประคองพระเทวีทั้งสองให้ขึ้นแล้ว ได้เสด็จไปยังเจติยคิรีบรรพตด้วยราชานุภาพใหญ่. ท้าวเธอครั้นเสด็จไปแล้ว ให้พระเทวีทั้งสองพักอยู่ ณ ส่วนหนึ่ง พระองค์เองเสด็จเข้าไปยังสํานักของพระเถระทั้งหลาย มีพระวรกายบอบช้ำเหลือเกินเสด็จเข้าไป. ในเวลานั้น พระเถระทูลท้าวเธอว่า มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงลําบากพระวรกายเสด็จมาอย่างนี้. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามา
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 141
เพื่อทราบว่า พวกท่านให้โอวาทอย่างหนักแก่ข้าพเจ้าแล้ว ประสงค์จะไปในบัดนี้หรือหนอ? พระเถระทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพ มิใช่ต้องการจะไป แต่เวลานี้ ชื่อว่าวัสสูปนายิกกาล (กาลเข้าจําพรรษา) มหาบพิตร ในวัสสูปนายิกกาลนั้น สมณะได้ที่จําพรรษา จึงจะสมควร.
[อริฏฐอํามาตย์ขอพระบรมราชานุญาตบวช]
ในวันนั้นนั่นเอง อํามาตย์ชื่ออริฏฐะกับพี่ชายและน้องชายรวม ๕๕ คน ยืนอยู่ในที่ใกล้พระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าอยากบวชในสํานักของพระเถระ. พระราชาตรัสว่า ดีละ พนาย จงบวชเถิด. พระราชาครั้นทรงอนุญาตแล้ว ได้มอบถวายให้พระเถระ. พระเถระก็ให้เขาบวชในวันนั้นนั่นเอง. ทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัต ในเวลาปลงผมเสร็จเหมือนกัน. ฝ่ายพระราชาแล ทรงเอาหนามสะล้อมลานพระเจดีย์ในขณะนั้นนั่นเอง แล้วทรงเริ่มตั้งการงานไว้ที่ถ้ำ ๖๘ ถ้ำ ได้เสด็จกลับสู่พระนครตามเดิม. พระเถระแม้เหล่านั้น ยังราชตระกูลประกอบด้วยเจ้าพี่และเจ้าน้อง ๑๐ องค์ ให้เลื่อมใสแล้ว อยู่จําพรรษาที่เจติยคิรีพรรพตสั่งสอนมหาชนแม้ในเวลานั้นได้มีพระอรหันต์ ๖๒ รูป เข้าจําพรรษาแรกในเจติยคิรีบรรพต.
[พระเถระแนะให้หาสิ่งที่ควรกราบไหว้บูชา]
ครั้นนั้น ท่านพระมหาหินท์ อยู่จําพรรษาปวารณาแล้ว ได้ทูลคํานี้กับพระราชา ในวันอุโบสถ เดือนกัตติกาเพ็ญว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานานแล้ว อยู่อย่างไม่มีที่พึ่ง อยากจะไปยังชมพูทวีป. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าบํารุงพวกท่านด้วยปัจจัย ๔ และมหาชนนี้ อาศัยพระคุณท่าน ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย เพราะเหตุไร
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 142
พวกท่านจึงเบื่อหน่าย, พระเถระทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว สถานที่ควรทําการอภิวาท การลุกรับอัญชลีกรรมและสามีจิกรรม ไม่มี เพราะเหตุนั้น พวกอาตมภาพจึงเบื่อหน่าย พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าได้พูดแล้วมิใช่หรือว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว. พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ปรินิพพานแล้วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสรีรธาตุของพระองค์ยังอยู่. พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้ารู้ ท่านผู้เจริญ พระคุณท่านจํานงหวังการสร้างพระสถูป แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะสร้างพระสถูป นิมนต์พระคุณท่านเลือกพื้นที่ในบัดนี้เถิด อนึ่ง ข้าพเจ้าจักได้พระธาตุแต่ที่ไหน ท่านผู้เจริญ พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ทรงปรึกษากับสุมนสามเณรดูเถิด.
[สุมนสามเณรรับจัดหาพระธาตุ]
พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ แล้วเข้าไปหาสุมนสามเณร ตรัสถามว่า ท่านขอรับ เดี๋ยวนี้ พวกเราจักได้พระธาตุจากไหน? สุมนสามเณรทูลว่า ทรงขวนขวายน้อยเถิด มหาบพิตร ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชําระถนนหนทาง ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับมีธงชัย ธงประดาก และหม้อน้ำเต็มเป็นต้น แล้วพร้อมด้วยชนบริวารสมาทานองค์อุโบสถ ให้พวกพนักงานตาลาวจรดนตรี (๑) ทั้งปวงประชุมกัน รับสั่งให้ตกแต่งช้างมงคลประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง และให้ยกเศวตฉัตรขึ้นเบื้องบนช้างมงคลนั้นเสร็จแล้ว เวลาเย็น ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จบ่ายพระพักตร์มุ่งตรงไปยังอุทยานมหานาควัน พระองค์จักทรงได้พระธาตุในที่นั้นแน่นอน. พระราชาทรงรับว่า สาธุ. พระเถระทั้งหลาย ก็ได้ไปยังเจติยคิรีบรรพตนั่นแล.
(๑) พนักงานประโคมดนตรี หรือละครรําเท้า.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 143
[พระเถระสั่งการให้สุมนสามเณรไปเชิญพระธาตุ]
ณ เจติยคิรีบรรพตนั้น ท่านพระมหินทเถระ กล่าวกะสุมนสามเณรว่า ไปเถิด สามเณร เธอจงเข้าเฝ้าพระเจ้าอโศกธรรมราช ผู้เป็นพระเจ้าตาของเธอ ในชมพูทวีป ทูลตามคําของเราอย่างนี้ว่า มหาบพิตร พระเจ้าเทวานัมปิยดิส พระสหายของพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระศาสนา ปรารถนาจะให้สร้างพระสถูป ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระธาตุนั้นแก่อาตมภาพเถิด ดังนี้แล้วรับเอาพระธาตุนั้น จงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่าพระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ๒ องค์ คือพระทันตธาตุเบื้องขวา ๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา ๑ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่พระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ และจงทูลท้าวสักกะนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุไร พระองค์ทรงส่งพวกอาตมภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้วทรงปล่อยปละละเลยเสีย ดังนี้.
[สุมนสามเณรไปเชิญพระธาตุมาเกาะลังกาตามเถรบัญชา]
สุมนสามเณรรับคําของพระเถระว่า ดีละ ขอรับ ดังนี้แล้ว ถือเอาบาตรและจีวรเหาะขึ้นสู่เวหาส ในขณะนั้นนั่นเอง ลงที่ประตูนครปาตลีบุตร ไปสู่ราชสํานัก ทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ. พระมหาราชาทรงยินดี รับบาตรจากมือสามเณร อบด้วยของหอมแล้วได้บรรจุพระธาตุเช่นกับแก้วมุกดาอันประเสริฐถวาย. สามเณรนั้นรับเอาพระธาตุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช. ท้าวสักกเทวราชเห็นสามเณรแล้วตรัสว่า พ่อสุมนะผู้เจริญ เธอเที่ยวมา เพราะเหตุไร?
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 144
สามเณร. ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงส่งพวกอาตมภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว ทรงปล่อยปละละเลยเสีย เพราะเหตุไร.
ท้าวสักกะ. ไม่ได้ละเลย ท่านผู้เจริญ พูดไปเถิด จะให้ข้าพเจ้าทําอะไร?
สามเณร. ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ ๒ องค์ คือพระทันตธาตุเบื้องขวา ๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา ๑ ฉะนั้น ขอให้มหาบพิตรทรงบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่พระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ. ท้าวสักกะจอมเหล่าเทพตรัสว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ แล้วทรงเปิดพระสถูปแก้วมณีประมาณ ๑ โยชน์ ได้นําพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาออกมาแล้ว ถวายแก่สุมนสามเณร. สุมนสามเณรนั้นรับเอาพระธาตุนั้นแล้วประดิษฐานไว้ในเจติยบรรพตนั่นแล.
[พระเถระและพระราชาตลอดถึงชาวเกาะต้อนรับพระธาตุ]
ครั้งนั้นแล พระมหานาคเหล่านั้นทั้งหมด มีพระมหินท์เป็นประมุข ประดิษฐานพระธาตุที่พระเจ้าอโศกธรรมราชพระราชทานมาไว้ที่เจติยบรรพตนั่นแล แล้วเชิญพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาไปยังมหานาควันอุทยานในเวลาบ่าย. ฝ่ายพระราชาแล ทรงทําการบูชาสักการะมีประการดังที่สุมนสามเณรกล่าวแล้ว ประทับบนคอช้างตัวประเสริฐ ทรงกั้นเศวตฉัตรด้วยพระองค์เองบนเศียรของช้างมงคล เสด็จไปถึงมหานาควันอุทยานพอดี. ครั้งนั้น ท้าวเธอได้ทรงมีพระรําพึงดังนี้ว่า ถ้าว่า นี้เป็นพระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไซร้ เศวตฉัตรจงเบนออกไป ช้างมงคลจงคุกเข่าลงบนพื้น ขอให้ผอบบรรจุพระธาตุจงมาประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของเรา. พร้อมด้วยจิตตุปบาทของพระราชา ฉัตรได้เบนออกไป ช้างคุกเข่าลงบนพื้น ผอบบรรจุพระธาตุได้มาประดิษฐาน
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 145
อยู่บนกระหม่อมของพระราชา. พระราชาทรงประกอบด้วยพระปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง ดุจมีพระองค์อันน้ำอมฤตนั่นแลโสรจสรงแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า จะปฏิบัติพระธาตุอย่างไร. พระเถระทูลว่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาวางไว้บนกระพองช้างนั่นแหละก่อน มหาบพิตร พระราชาได้ทรงยกผอบบรรจุพระธาตุลงวางไว้บนกระพองช้าง. ช้างมีความดีใจ ได้บันลือเสียงดุจเสียงนกกระเรียน. มหาเมฆตั้งเค้าขึ้นแล้ว ได้ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา. ได้มีแผ่นดินใหญ่ไหวจนถึงที่สุดน้ำ มีอันให้รู้ว่า พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักประดิษฐานอยู่ ชื่อแม้ในปัจจันตชนบท ดังนี้เป็นเหตุ พวกเทวดาและมนุษย์ได้ร่าเริงบันเทิงใจทั่วกัน.
พระมหาวีระ (ผู้มีความเพียรใหญ่) เสด็จมาในเกาะลังกานี้ จากเทวโลก ได้ประดิษฐานอยู่บนกระพองช้าง ในดิถีเพ็ญเป็นที่เต็มครบ ๔ เดือน (กลางเดือน ๑๒) ก่อให้เกิดปีติแก่ทวยเทพและหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยสิริคืออานุภาพแห่งฤทธิ์ด้วยประการฉะนี้แล.
[ช้างนําพระธาตุไปยังที่จะสร้างพระเจดีย์]
ครั้งนั้น พญาช้างนั้น อันพวกตาลาวจรดนตรีมิใช่น้อยแวดล้อมแล้ว มีทวยนครสักการะอยู่ ด้วยการบูชาสักการะอย่างโอฬารยิ่ง เดินมุ่งหน้าไปทางทิศปัจฉิม ไม่ถอยหลังจนกระทั่งถึงประตูนครด้านทิศบูรพาแล้วเข้าสู่นครทางประตูด้านทิศบูรพา มีทวยนครทั่วทั้งเมืองทําการบูชาอย่างโอฬาร ออก (จากเมือง) ทางประตูด้านทิศทักษิณ เดินไปที่เทวาลัย (เทวสถาน) ของ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 146
มเหชยักษ์ นัยว่ามีอยู่ในด้านทิศปัจฉิมแห่งถูปาราม แล้วย้อนกลับมุ่งหน้าตรงไปยังถูปารามนั่นแลอีก. ก็สมัยนั้น ถูปารามเป็นที่ตั้งบริโภคเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์.
[ประวัติเกาะลังกาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า]
ดังได้สดับมา ในอดีตกาล ทวีปนี้ (เกาะลังกา) ได้มีชื่อว่า โอชทวีป. พระราชามีพระนามว่า อภัย. เมืองหลวงชื่อว่า อภัยปุระ. เจติยบรรพตมีชื่อว่า เทวกูฏบรรพต. ถูปารามมีนามว่า ปฏิยาราม. ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ทรงอุบัติแล้วในโลก. สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นชื่อว่า มหาเทวะ ได้ยืนอยู่บนเทวกูฏบรรพตกับภิกษุพันรูป เหมือนพระมหินทเถระยืนอยู่บนเจติยบรรพตฉะนั้น. สมัยนั้น พวกสัตว์บนเกาะโอชทวีปถึงความวิบัติฉิบหายเพราะโรคชื่อปัชชรก (โรคไข้เซื่องซึม) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วแล ซึ่งสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุสี่หมื่นรูปแวดล้อมได้เสด็จไป (ที่เกาะนั้น). ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โรคปัชชรกได้สงบลงในขณะนั้นนั่นแล. เมื่อโรคสงบลงแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานธมกรกไว้แล้วเสด็จหลีกไป. ชาวเมืองสร้างพระเจดีย์ที่ปฏิยาราม บรรจุธมกรกนั้นไว้ข้างใน. พระมหาเทวะได้อยู่สั่งสอนชาวเกาะ.
ส่วนในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โกนาคมน์ ทวีปนี้มีชื่อว่า วรทวีป. พระราชามีพระนามว่า สมิทธิ. เมืองหลวงชื่อว่า วัฑฒมาน. บรรพตชื่อว่า สุวรรณกูฏ. ก็แลสมัยนั้น เกิดมีฝนแล้ง ภิกษาหายาก ข้าวกล้า
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 147
เสียหายในวรทวีป. พวกสัตว์ถึงความวิบัติฉิบหายด้วยโรค คือ ความอดอยาก. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โกนาคมน์ ทอดพระเนตรดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุสามหมื่นรูปแวดล้อมได้เสด็จไป (ยังเกาะนั้น). ด้วยพุทธานุภาพฝนได้ตกถูกต้องตามฤดูกาล. ภิกษาหาได้ง่าย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด (ชาวทวีปนั้น). ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้า พักพระเถระนามว่า มหาสุมน ซึ่งมีภิกษุพันรูปเป็นบริวารไว้ที่เกาะ ได้ประทานประคดเอวนั้นไว้แล้วเสด็จหลีกไป. ชนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์บรรจุประคดเอวนั้นไว้ภายใน.
อนึ่ง ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เกาะนี้มีชื่อว่า มัณฑทวีป. มีพระราชาทรงพระนามว่า ชยันต์. เมืองหลวงนามว่า ไพศาล. บรรพตมีชื่อว่า สุภกูฏ. ก็สมัยนั้นแล ได้มีการทะเลาะวิวาทใหญ่ในมัณฑทวีป. สัตว์เป็นอันมากเกิดทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกัน ย่อมถึงความวิบัติฉิบหาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุสองหมื่นรูปแวดล้อมเสด็จมาระงับการวิวาท แล้วแสดงธรรมโปรด. ธรรมาภิสมัย ได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระเถระนามว่า สัพพนันที ซึ่งมีภิกษุพันรูปเป็นบริวารพักอยู่ที่เกาะ ได้ประทานอุทกสาฏิก (ผ้าสรงน้ำ) ไว้แล้วเสด็จหลีกไป. ชาวเกาะได้สร้างพระเจดีย์ บรรจุอุทกสาฏิกนั้นไว้ภายใน. บริโภคเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์ได้ประดิษฐานอยู่แล้วในถูปาราม ด้วยประการอย่างนี้. เจดีย์เหล่านั้น ย่อมสาบสูญไป เพราะความอันตรธานไปแห่งพระศาสนา เหลืออยู่แต่เพียงฐาน
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 148
เท่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวคํานี้ว่า ก็สมัยนั้นถูปารามเป็นที่ตั้งแห่งบริโภคเจดีย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์.
ที่นี่นั้น เมื่อพระเจดีย์สาบสูญไปแล้ว ถูกห้อมล้อมอยู่ด้วยพุ่มไม้ต่างๆ ที่มีเรียวกิ่งสะพรั่งไปด้วยหนาม ด้วยอานุภาพของเทวดา โดยตั้งใจว่า ใครๆ อย่าได้ประทุษร้ายที่นั้นด้วยของเป็นเดน ของไม่สะอาด มลทินและหยากเยื่อ.
[ช้างไม่ยอมให้ยกพระธาตุลงจากกระพอง]
ครั้งนั้น พวกราชบุรุษล่วงหน้าไปก่อนช้างนั้น ถางพุ่มไม้ทั้งหมด ปราบพื้นที่ทําที่นั้นให้ราบเหมือนฝ่ามือ. พญาช้างเดินบ่ายหน้าไปยังที่นั้น ได้ยืนอยู่ที่ฐานต้นโพธิ์ทางทิศปัจฉิมแห่งที่นั้น. ครั้งนั้น พวกราชบุรุษปรารภจะยกพระธาตุลงจากกระพองช้างนั้น. พญาช้างไม่ยอมให้ยกลง. พระราชาตรัสถามพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ช้างจึงไม่ยอมให้ยกพระธาตุลง. พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร พระธาตุที่ยกขึ้นแล้วจะยกลงไม่สมควร. ก็ในกาลนั้น น้ำในบึงอภัยวาปีแห้งขาดไป. พื้นดินโดยรอบแตกระแหง ก้อนดินเหนียวยกขึ้นได้ง่าย มหาชนเร่งรีบช่วยกันนําดินจากบึงอภัยวาปีนั้นมาทําพื้นที่ (ฐาน) ประมาณเท่ากระพองช้าง. ในขณะนั้นนั่นเอง ชนทั้งหลายเริ่มปั้นอิฐ เพื่อสร้างพระสถูป. พญาช้างยืนอยู่ในโรงช้างใกล้ฐานของต้นโพธิ์ในเวลากลางวัน กลางคืนรักษาพื้นที่ที่จะสร้างพระสถูป ๒ - ๓ วัน จนกว่าอิฐจะสําเร็จ. ครั้งนั้น พระราชารับสั่งให้ก่อพื้นที่ (ฐาน, ที่ตั้ง) แล้วตรัสถามพระเถระว่า ข้าพเจ้าพึงสร้างพระสถูปมีรูปลักษณะเช่นไร ท่านผู้เจริญ? พระเถระถวายพระพรว่า เช่นกับกองข้าวเปลือก มหาบพิตร พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ รับสั่งให้ก่อพระสถูปขนาดฐานชุกชีแล้ว ให้กระทําสักการะใหญ่ เพื่อต้องการยกพระธาตุขึ้น.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 149
[พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชน]
ทวยนครทั้งสิ้นและชาวชนบทประชุมกันแล้ว เพื่อชมการฉลองพระธาตุ. ก็เมื่อหมู่มหาชนนั้นประชุมกันแล้ว พระธาตุของพระทศพลได้เหาะขึ้นสู่เวหาสประมาณชั่วตาล ๗ ต้น จากกระพองช้าง แสดงยมกปาฏิหาริย์. ธารน้ำและเปลวไฟมีรัศมี ๖ สี ย่อมพวยพุ่งออกจากองค์พระธาตุทั้งหลายนั้นๆ. ได้มีปาฏิหาริย์คล้ายกับปาฏิหาริย์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ณ โคนต้นคัณฑามพฤกษ์ ใกล้กรุงสาวัตถี. ก็แลปาฏิหาริย์นั้น ไม่ใช่ด้วยอานุภาพของพระเถระ ไม่ใช่ด้วยอานุภาพของเทวดาเลย แท้ที่จริง เป็นด้วยพุทธานุภาพเท่านั้น.
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั่นแล ได้ทรงอธิษฐานว่า เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ยมกปาฏิหาริย์จงมีในวันประดิษฐานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาของเรา เหนือที่ตั้งบริโภคเจดีย์ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์ ด้านทิศทักษิณแห่งอนุราธบุรี ในเกาะตัมพปัณณิทวีป ดังนี้.
พระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เป็นอจินไตย วิบากของเหล่าชนผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอจินไตยก็เป็นอจินไตย โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้แล.
[พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปเกาะลังกาเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่]
ได้ทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่เกาะนี้ (เกาะลังกา) ถึง ๓ ครั้ง แม้ในคราวยังทรงพระชนม์อยู่ คือ คราวแรกเสด็จมาพระองค์เดียวเท่านั้น เพื่อทรมานยักษ์ ครั้นทรมานยักษ์แล้ว ทรงตั้งอารักขาที่เกาะตัมพ-
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 150
ปัณณิทวีป เสด็จรอบเกาะ ๓ รอบ ตั้งพระทัยว่า เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ศาสนาของเราจักประดิษฐานอยู่บนเกาะนี้.
ครั้งที่สอง เสด็จมาพระองค์เดียวเหมือนกัน เพื่อต้องการทรมานพญานาคผู้เป็นลุงและหลานกัน ครั้นทรมานนาคเหล่านั้นแล้ว ได้เสด็จไป. ครั้งที่สาม เสด็จมามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ณ ที่ตั้งมหาเจดีย์ ที่ตั้งถูปารามเจดีย์ ที่ประดิษฐานต้นมหาโพธิ์ ที่ตั้งมุติงคณเจดีย์ ที่ตั้งทีฆวาปีเจดีย์ และที่ตั้งกัลยาณิยเจดีย์. การมาโดยพระสรีรธาตุคราวนี้ เป็นครั้งที่ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
ก็แลขึ้นชื่อว่า โอกาสน้อยหนึ่งบนพื้นเกาะตัมพปัณณิทวีป ที่เมล็ดน้ำอันพุ่งออกจากพระสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่ถูกต้องหาได้มีไม่. พระสรีรธาตุนั้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ยังความเร่าร้อนของภาคพื้นเกาะตัมพปัณณิทวีปให้สงบลงด้วยเมล็ดฝน แสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชนแล้วลงประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของพระราชา ด้วยประการอย่างนี้. พระราชาทรงสําคัญการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ซึ่งมีผลทรงทําสักการะใหญ่ ให้บรรจุพระธาตุแล้ว พร้อมด้วยการบรรจุพระธาตุ ได้เกิดมีแผ่นดินหวั่นไหวใหญ่.
[กุลบุตรชาวเกาะออกบวชในพระศาสนา]
ก็แลราชกุมารพระนามว่าอภัย เป็นพระกนิษฐภาดาของพระราชา ยังพระหฤทัยให้เลื่อมใสในปาฏิหาริย์แห่งพระธาตุนั้นแล้ว ทรงผนวชพร้อมกับบุรุษประมาณพันหนึ่ง. พวกทารก ๕๐๐ คน ออกบวชจากหมู่บ้านเวตาลิ จากหมู่บ้าน เช่นหมู่บ้านทวารมณฑลเป็นต้น พวกทารกออกบวชหมู่บ้านละ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 151
๕๐๐ คน เช่นเดียวกัน. พวกทารกหลายร้อยคนออกบวชจากภายในเมืองและภายนอกเมือง รวมทั้งหมดเป็นภิกษุสามหมื่นรูป. ก็เมื่อพระสถูปสําเร็จแล้ว พระราชา ราชอํามาตย์และพระเทวี ได้กระทําการบูชาอย่างน่าพิศวงคนละแผนกๆ แม้แก่พวกเทวดา นาค และยักษ์. อนึ่ง เมื่อการบูชาพระธาตุ (และ) พระธาตุเจดีย์สําเร็จแล้ว พระมหินทเถระไปสําเร็จการอยู่ยังอุทยานเมฆวันนั่นแล.
[พระนางอนุฬาเทวีทรงมีพระประสงค์จะบวช]
ก็สมัยนั้นแล พระนางอนุฬาเทวี มีพระประสงค์จะบวช กราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงสดับคําของพระนางแล้ว ได้ตรัสพระดํารัสนี้กะพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ พระนางอนุฬาเทวีมีพระประสงค์จะบวช. ขอพระคุณท่านให้พระนางบวชเถิด. พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร การให้มาตุคามบวช ไม่สมควรแก่พวกอาตมภาพ. แต่ในนครปาตลีบุตร มีพระเถรี นามว่าสังฆมิตตา เป็นน้องสาวของอาตมภาพ. ขอพระองค์ได้ทรงโปรดให้นิมนต์พระเถรีนั้นมา มหาบพิตร ก็แลโพธิพฤกษ์ (ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้ง ๓ พระองค์ ได้ประดิษฐานอยู่ที่เกาะนี้, โพธิพฤกษ์อันเปล่งข่ายคือรัศมีใหม่ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเรา ก็ควรประดิษฐานอยู่บนเกาะนี้ เพราะฉะนั้น พระองค์พึงส่งพระราชสาสน์ไปโดยวิธีที่พระเถรีสังฆมิตตาจะพึงเชิญไม้โพธิ์มาด้วย.
[พระราชาส่งทูตไปยังชมพูทวีป]
พระราชาทรงรับคําของพระเถระว่า ดีละ เจ้าข้า ดังนี้ ทรงปรึกษากับพวกอํามาตย์แล้ว ตรัสกะอํามาตย์ผู้เป็นหลานของพระองค์ นามว่าอริฏฐะว่า เธอจักอาจไปยังนครปาตลีบุตรนิมนต์พระแม่เจ้าสังฆมิตตาเถรีมาพร้อมกับ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 152
ไม้มหาโพธิ์หรือ? อริฏฐอํามาตย์กราบทูลว่า อาจ สมมติเทพ ถ้าพระองค์จักทรงอนุญาตให้หม่อมฉันบวช. พระราชาตรัสว่า ไปเถิดพ่อ เจ้านําพระเถรีมาแล้ว จงบวชเถิด. อํามาตย์นั้นถือเอาพระราชสาสน์และเถรสาสน์แล้วไปยังท่าเรือชื่อชัมพุโกลปัฏฏนะ โดยวันเดียวเท่านั้น ด้วยกําลังการอธิษฐานของพระเถระ ลงเรือข้ามสมุทรไปยังเมืองปาตลีบุตรทีเดียว. ฝ่ายพระนางอนุฬาเทวีแล พร้อมด้วยหญิงสาว ๕๐๐ คน และหญิงชาววังอีก ๕๐๐ คน สมาทานศีล ๑๐ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ให้สร้างสํานักอาศัย ในส่วนหนึ่งพระนคร แล้วสําเร็จการอยู่อาศัย.
[ทูตถวายพระราชสาสน์และเถรสาสน์]
ฝ่ายอริฏฐอํามาตย์ก็ไปถึงในวันนั้นนั่นแล ได้ทูลเกล้าถวายพระราชสาสน์และกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระมหินทเถระพระโอรสของพระองค์ ทูลอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระเทวีพระนามว่า อนุฬา พระชายาของพระกนิษฐภาดาแห่งพระเจ้าเทวานัมปิยดิส พระสหายของพระองค์ มีพระประสงค์จะบวช เพื่อให้พระนางได้บวช ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระแม่เจ้าสังฆมิตตาเถรี และต้นมหาโพธิ์ไปกับพระแม่เจ้าด้วย. อริฏฐอํามาตย์ครั้นทูลถวายเถรสาสน์แล้วเข้าเฝ้าพระเถรีสังฆมิตตา กราบเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระมหินทเถระ หลวงพี่ของพระแม่เจ้า ส่งข้าพเจ้ามาในสํานักของพระแม่เจ้า โดยสั่งว่า พระนางอนุฬาเทวี พระชายาของพระกนิษฐภาดาแห่งพระเจ้าเทวานัมปิยดิส พร้อมกับหญิงสาว ๕๐๐ คน และหญิงชาววัง ๕๐๐ คน มีความประสงค์จะบวช นัยว่าพระแม่เจ้าจงมาให้พระนางอนุฬาเทวีนั้นบวช. ในทันใดนั้นนั่นเอง พระเถรีนั้นรีบด่วนไปยังราชสํานัก แล้วกราบ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 153
ทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาบพิตร พระมหินทเถระ หลวงพี่ของหม่อมฉันส่งข่าวมาอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระนางอนุฬาเทวี พระชายาของพระกนิษฐภาดาแห่งพระราชา พร้อมด้วยหญิงสาว ๕๐๐ คน และหญิงชาววัง ๕๐๐ คน มีความประสงค์จะบวช คอยท่าการมาของหม่อมฉันอยู่ ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันปรารถนาจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีป. พระราชาตรัสว่า แน่ะแม่ พระมหินทเถระแม้ผู้เป็นลูกของเราและสุมนสามเณรหลานของเรา ก็ไปสู่เกาะตัมพปัณณิทวีป ทําให้เราเป็นเหมือนคนแขนขาด เรานั้นเมื่อไม่เห็นลูกหลานแม้เหล่านั้น ก็เกิดความเศร้าโศก เมื่อเห็นหน้าเจ้าก็หายโศก อย่าเลยแม่ แม่อย่าไป. พระเถรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช คําของหลวงพี่แห่งหม่อมฉันหนักแน่น แม้พระนางอนุฬาขัตติยานี อันสตรีพันคนแวดล้อมแล้วมุ่งหน้าต่อบรรพชารอคอยหม่อมฉันอยู่ หม่อมฉันจะต้องไป มหาบพิตร พระราชาตรัสว่า แม่ ถ้าเช่นนั้น เจ้าเชิญต้นมหาโพธิ์ไปด้วยเถิด.
[พระเจ้าอโศกตั้งพระทัยจะส่งต้นมหาโพธิ์ไปเกาะลังกาอยู่ก่อน]
ถามว่า พระราชาได้ต้นมหาโพธิ์มาจากไหน?
แก้ว่า ได้ทราบว่า พระราชาทรงมีพระประสงค์จะส่งต้นมหาโพธิ์ไปยังเกาะลังกา เมื่อสุมนสามเณรยังไม่มา เพื่อต้องการรับเอาพระธาตุ ก่อนแต่พระสังฆมิตตาเถรีจะไปนั้นนั่นแล ก็ทรงพระดําริว่า เราจักส่งต้นมหาโพธิ์ซึ่งไม่ควรจะตัดด้วยศัสตราไปได้อย่างไรหนอแล เมื่อไม่เห็นอุบาย จึงตรัสถามอํามาตย์ชื่อมหาเทพ. อํามาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีภิกษุบัณฑิตเป็นอันมาก. พระราชาทรงสดับคํานั้นแล้ว รับสั่งให้ตระเตรียมภัต เพื่อภิกษุสงฆ์ ในที่สุดภัตกิจได้ตรัสถามพระสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ต้นมหาโพธิ์ของ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 154
พระผู้มีพระภาคเจ้า ควรไปยังเกาะลังกาหรือไม่หนอ? พระสงฆ์มอบให้เป็นภาระของพระโมคคลีบุตรติสสเถระ. พระเถระถวายพระพรว่า ต้นมหาโพธิ์ควรไปยังเกาะลังกาแท้ มหาบพิตร ดังนี้แล้ว ได้ทูลบอกมหาอธิษฐาน ๕ ข้อของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[มหาอธิษฐาน ๕ ข้อ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า]
มหาอธิษฐาน ๕ ข้อเป็นไฉน? คือได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมบนพระแท่นปรินิพพาน ได้ทรงอธิษฐานว่า เพื่อต้องการให้ต้นมหาโพธิ์ประดิษฐานอยู่ในลังกาทวีป พระเจ้าอโศกมหาราชจักเสด็จมารับเอาต้นมหาโพธิ์ ในเวลานั้น กิ่งมหาโพธิ์ด้านทิศทักษิณ จงขาดเองทีเดียว แล้วประดิษฐานอยู่ในกระถางทอง นี้เป็นอธิษฐานข้อที่หนึ่ง. ทรงอธิษฐานว่า ก็ในเวลาประดิษฐานอยู่ในกระถางทองนั้น มหาโพธิ์จงลอยเข้าไปสู่ห้องหิมวลาหกตั้งอยู่ นี้เป็นอธิษฐานข้อที่สอง. ทรงอธิษฐานว่า ในวันคํารบ ๗ ต้นมหาโพธิ์จงลอยลงมาจากกลีบหิมวลาหก ตั้งอยู่ในกระถางทอง เปล่งฉัพพรรณรังสีจากใบและผลทั้งหลาย นี้เป็นอธิษฐานข้อที่สาม. ทรงอธิษฐานว่า พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา จงทํายมกปาฏิหาริย์ในวันประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์ในถูปาราม นี้เป็นอธิษฐานข้อที่สี่. ทรงอธิษฐานว่า พระธาตุของเราประมาณโทณะหนึ่ง ในเกาะลังกานี้แล ในเวลาประดิษฐานอยู่ในมหาเจดีย์ จงแปลงเพศเป็นพระพุทธเจ้าแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ทํายมกปาฏิหาริย์ นี้เป็นอธิษฐานข้อที่ห้า.
[วิสสุกรรมเทพบุตรปลอมตัวเป็นช่างเนรมิตกระถางทอง]
พระราชาทรงสดับมหาอธิษฐาน ๕ ข้อนี้แล้ว มีพระหฤทัยเลื่อมใส รับสั่งให้จัดการชําระหนทาง ตั้งแต่เมืองปาตลีบุตรจนถึงต้นมหาโพธิ์แล้ว ให้
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 155
นําทองคําเป็นอันมากออกมา เพื่อต้องการให้สร้างกระถางทองคํา. ในขณะนั้นนั่นแล วิสสุกรรมเทพบุตร ทราบพระราชหฤทัยได้นิรมิตเป็นช่างทอง ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ (ของพระราชา). พระราชาทอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว จึงตรัสว่า พ่อ เจ้าจงเอาทองนี้ไปทํากระถาง. เขาทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงบอกขนาดให้ทราบ. พระราชาตรัสว่า พ่อ เจ้านั่นแหละ ทราบและจงทําให้ได้ขนาด. เขารับว่า ดีละ สมมติเทพ ข้าพระองค์จักกระทํา จึงถือทองเอามือลูบคลํา ด้วยอานุภาพของตน นิรมิตกระถางทอง วัดโดยรอบประมาณ ๙ ศอก สูง ๕ ศอก กว้าง ๓ ศอก หนา ๘ นิ้ว ขอบปากมีขนาดเท่าโคนงวงช้าง.
[พระราชาพร้อมด้วยเสนาเสด็จไปยังต้นมหาโพธิ์]
ครั้งนั้น พระราชา เสด็จออกจากนครปาตลีบุตรด้วยเสนาใหญ่ ยาวประมาณ ๗ โยชน์ กว้างประมาณ ๓ โยชน์ พาเอาพระอริยสงฆ์ได้เสด็จไปยังที่ใกล้ต้นมหาโพธิ์. เสนาล้อมต้นมหาโพธิ์ ซึ่งมีธงชัยและธงแผ่นผ้ายกขึ้นไว้แล้ว วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ ประดับด้วยเครื่องอลังการมากมาย เกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้นานาชนิด ประโคมด้วยเครื่องดุริยางค์หลายหลาก. พระราชานิมนต์เอาพระมหาเถระผู้เป็นคณะปาโมกข์ ประมาณพันรูป แล้วให้พระราชาผู้ได้รับการอภิเษกทั่วชมพูทวีปจํานวนพันองค์แวดล้อมพระองค์ และต้นมหาโพธิ์ ได้ประทับยืนที่โคนต้นมหาโพธิ์ทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์. ส่วนที่เหลือเว้นลําต้นของมหาโพธิ์ และส่วนแห่งกิ่งใหญ่ด้านทิศทักษิณประมาณ ๔ ศอกไม่ปรากฏให้เห็น พระราชาทรงเห็นปาฏิหาริย์นั้น เกิดพระปีติปราโมทย์ ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นปาฏิหาริย์นี้แล้ว ยินดี จะบูชาต้นมหาโพธิ์ด้วยราชสมบัติในทวีป จึงได้ถวายการอภิเษก.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 156
[พระราชาทรงทําสัตยาธิษฐาน]
ครั้งนั้น พระราชาทรงบูชา (ต้นมหาโพธิ์) ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น กระทําประทักษิณ ๓ ครั้ง ถวายบังคมในที่ทั้ง ๘ เสด็จลุกขึ้นแล้วประทับยืนประคองอัญชลี มีพระประสงค์จะเชิญเอาต้นมหาโพธิ์ด้วยการทําคําสัตย์ รับสั่งให้ตั้งกระถางทองข้างบนตั่งที่สําเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ซึ่งตั้งหนุนให้สูงขึ้น ตั้งแต่พื้นดินจนถึงกิ่งด้านขวาของมหาโพธิ์แล้ว เสด็จขึ้นบนรัตนบิฐทรงถือพระสุวรรณตุลิกา (พู่กันทองคํา) ทํารอยขีดด้วยมโนศิลา แล้วได้ทรงทําสัจพจน์กิริยาว่า ถ้าต้นมหาโพธิ์ควรประดิษฐานอยู่ในเกาะลังกา และหากว่าข้าพเจ้าพึงเป็นผู้หมดความสงสัยในพระพุทธศาสนาไซร้ ขอให้ต้นมหาโพธิ์จงประดิษฐานอยู่ในกระถางทองเสียเองทีเดียว. พร้อมกับการทรงทําสัจพจน์ กิ่งโพธิ์ขาดตรงที่ทรงเอามโนศิลากําหนดหมายไว้ แล้วตั้งอยู่ในเบื้องบนกระถางทอง อันเต็มด้วยโคลนผสมด้วยของหอม. ต้นโพธิ์นั้นมีลําต้นสูงได้ ๑๐ ศอก กิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง ประมาณ ๔ ศอก ประดับด้วยผล ๕ ผลเท่าๆ กัน. ส่วนกิ่งเล็กๆ มีจํานวนพันกิ่ง. ครั้งนั้น พระราชาทรงกําหนดตัดรอยขีดในประเทศ (ส่วนที่) ประมาณ ๓ องคุลี ข้างบนรอยขีดเดิม. ขณะนั่นนั้นเอง รากใหญ่ ๑๐ ราก งอกเป็นต่อมคล้ายต่อมน้ำออกจากรอยขีดนั้น. พระราชาทรงกําหนดตัดรอยขีดอื่นๆ อีก ๙ แห่งในระยะต่อๆ ไป แต่ละ ๓ องคุลี. ราก ๙๐ รากงอกเป็นปุ่มคล้ายต่อมน้ำออกจากรอยขีดแม้เหล่านั้น รอยละ ๑๐ ราก. รากใหญ่ ๑๐ รากแรก งอกออกมาประมาณ ๔ นิ้ว. ราก ๙๐ ราก แม้นอกนี้ ก็งอกเกี่ยวประสานกันคล้ายตาข่ายขวัญโค. พระราชาประทับยืนอยู่เหนือสุดตั่งรัตนบิฐนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ประมาณเท่านี้ ได้ทรงประคองอัญชลีบันลือลั่น. ภิกษุจํานวนหลายพันรูป ก็ได้ซ้องสาธุการ. ราชเสนาทั้งสิ้น
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 157
ก็ได้บันลือกันอึงมี่. ธงผ้าที่ยกขึ้นไว้ตั้งแสนธง ได้โบกสะบัดพริ้ว. พวกทวยเทพตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทวดาได้ให้สาธุการเป็นไปจนกระทั่งถึงเหล่าเทพพรหมกายิกา.
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์นี้ มีพระวรกายอันปีติถูกต้องหาระหว่างมิได้ ประทับยืนประคองอัญชลีอยู่นั่นแล, ต้นมหาโพธิ์ก็ได้ประดิษฐานอยู่ในกระถางทอง ด้วยจํานวนรากตั้งร้อย. รากใหญ่ ๑๐ รากได้หยั่งลงจดพื้นกระถางทอง. รากที่เหลือ ๙๐ รากก็เจริญงอกงามขึ้นโดยลําดับหยั่งลงแช่อยู่ในเปือกตมที่ผสมด้วยของหอม. เมื่อต้นมหาโพธิ์สักว่าประดิษฐานอยู่ในกระถางทองอย่างนั้นแล้ว มหาปฐพีก็หวั่นไหว. เหล่าเภรีของทวยเทพบันลือลั่นไปในอากาศ. ความโกลาหลเป็นอันเดียวกัน ตั้งแต่พื้นปฐพีจนถึงพรหมโลกได้กึกก้องเป็นอันเดียวกัน เพราะความโน้มเอนไปมาแห่งเหล่าบรรพต เพราะเสียงสาธุการแห่งทวยเทพ เพราะการทําเสียงหิงๆ แห่งเหล่ายักษ์ เพราะการกล่าวชมเชยแห่งพวกอสูร เพราะการปรบมือแห่งพวกพรหม เพราะความคํารามแห่งหมู่เมฆ เพราะการร้องแห่งหมู่สัตว์สี่เท้า เพราะความขันกู่แห่งเหล่าปักษี (และ) เพราะความว่องไวเฉพาะตนๆ แห่งพนักงานตาลาวจรดนตรีทั้งปวง. ฉัพพรรณรังสีพวยพุ่งออกจากแต่ละผลในกิ่งทั้ง ๕ แล้วก็พุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลกเหมือนทําจักรวาลทั้งสิ้นให้ติดเนื่องกันดุจกลอนเรือนแก้ว ฉะนั้น.
[กิ่งต้นมหาโพธิ์ลอยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า ๗ วัน]
ก็แล จําเดิมแต่ขณะนั้นไป ต้นมหาโพธิ์ก็เข้าไปสู่กลีบเมฆซึ่งเต็มไปด้วยหิมะ แล้วดํารงอยู่สิ้น ๗ วัน. ใครๆ ก็ไม่เห็นต้นมหาโพธิ์. พระราชาเสด็จลงจากรัตนบิฐแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทําการบูชามหาโพธิ์สิ้น ๗ วัน. ในวัน
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 158
ที่ ๗ หิมะและรัศมีทั้งหลายก็หมุนกลับจากทิศทั้งปวงเข้าไปสู่ต้นมหาโพธิ์นั่นแล. เมื่อห้องจักรวาลปราศจากหิมวลาหกแจ่มใสแล้ว ต้นมหาโพธิ์ที่มีลําต้น กิ่งใหญ่และกิ่งน้อยบริบูรณ์ ซึ่งประดับไปด้วยผลทั้ง ๕ ได้ปรากฏตั้งอยู่ในกระถางทองนั่นแล.
พระราชา ทอดพระเนตรเห็นต้นมหาโพธิ์แล้ว มีพระปรีดาปราโมทย์อันปาฏิหาริย์เหล่านั้นให้เกิดแล้ว จึงทรงพระราชดําริว่า เราจักบูชาต้นมหาโพธิ์หนุ่มด้วยราชสมบัติในสากลชมพูทวีป ดังนี้แล้ว ได้ทรงประทานการอภิเษก (แก่ต้นมหาโพธิ์นั้น) แล้วได้ประทับยืนอยู่ที่ฐานต้นมหาโพธิ์นั่นแล สิ้น ๗ วัน. ในวันปวารณาเดือนกัตติกะต้น เวลาเย็น ต้นมหาโพธิ์ก็ประดิษฐานอยู่ในกระถางทองก่อน. หลังจากนั้นมา พระราชาทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์ที่มหาโพธิ์อยู่ในกลีบเมฆ และสัปดาห์ที่พระราชทานอภิเษก จึงเสด็จเข้าไปสู่พระนครปาตลีบุตร ในวันอุโบสถแห่งกาฬปักษ์โดยวันเดียวเท่านั้น, ในวันปาฏิบท (แรมค่ําหนึ่ง) แห่งชุณหปักษ์ของเดือนกัตติกะ ทรงพักต้นมหาโพธิ์ไว้ที่โคนต้นสาละใหญ่ด้านปราจีนทิศ.
[ต้นมหาโพธิ์แตกหน่อออกใหม่]
ในวันที่ ๑๗ ตั้งแต่วันที่ต้นมหาโพธิ์ประดิษฐานอยู่ในกระถางทอง หน่อใหม่ๆ แห่งต้นมหาโพธิ์ก็ได้ปรากฏขึ้น. พระราชา แม้ทอดพระเนตรเห็นหน่อเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงเลื่อมใส เมื่อจะทรงบูชาต้นมหาโพธิ์ด้วยราชสมบัติอีก ได้ทรงถวายการอภิเษกในสากลชมพูทวีป. สุมนสามเณรไปเพื่อรับเอาพระธาตุ ในวันเพ็ญเดือนกัตติกะ (คือ วันเพ็ญเดือน ๑๒) ได้เห็นการบูชาแก่ต้นมหาโพธิ์เป็นมหรสพเดือนกัตติกะ.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 159
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงหมายถึงต้นโพธิ์ที่นํามาจากมหาโพธิมณฑลแล้วชําไว้ที่นครปาตลีบุตร โดยนัยดังกล่าวมานี้ จึงตรัส (กะพระนางสังฆมิตตาเถรี) ว่า แม่ ถ้าเช่นนั้น ขอให้ลูกรับเอาต้นมหาโพธิ์ไปด้วยเถิด. พระนางสังฆมิตตาเถรีนั้น ทูลรับว่า สาธุ.
[พระเจ้าอโศกทรงตั้งตระกูลต่างๆ ไว้เพื่อรักษาต้นมหาโพธิ์]
พระราชาพระราชทานตระกูลเทวดา ๑๘ ตระกูลอํามาตย์ ๘ ตระกูลพราหมณ์ ๘ ตระกูลกุฎมพี ๘ ตระกูลเลี้ยงโค ๘ ตระกูลเสือดาว ๘ และตระกูลชาวกาลิงคะ ๘ ไว้เพื่อรักษาต้นมหาโพธิ์ และพระราชทานหม้อทอง ๘ หม้อเงิน ๘ ใบ ไว้เพื่อรดน้ำ (ต้นมหาโพธิ์) แล้วทรงให้ยกต้นมหาโพธิ์ขึ้นสู่เรือ พร้อมด้วยบริวารนี้ที่แม่น้ำคงคา. ฝ่ายพระองค์เองเสด็จออกจากพระนครข้ามดงชื่อวิชฌาฏวี แล้วเสด็จไปถึงท่าชื่อตามพลิตตี ตลอด ๗ วัน โดยลําดับ. ในระหว่างทาง พวกทวยเทพ นาค และมนุษย์ ได้พากันบูชาต้นมหาโพธิ์อย่างมโหฬาร. ฝ่ายพระราชา ทรงพักต้นมหาโพธิ์ไว้ที่ริมฝังสมุทร ๗ วันแล้วได้ทรงถวายราชสมบัติใหญ่ในสากลทวีป. คราวนี้ เป็นการทรงถวายราชสมบัติในชมพูทวีปครั้งที่๓ แก่ต้นมหาโพธิ์นั้น.
[พระเจ้าอโศกทรงลุยน้ำส่งต้นมหาโพธิ์ไปเกาะลังกา]
พระเจ้าอโศกธรรมราชา ครั้นทรงบูชา (ต้นมหาโพธิ์) ด้วยราชสมบัติอย่างใหญ่อย่างนั้นแล้ว ในวันปาฏิบทแรก (คือแรม ๑ ค่ํา) แห่งเดือนมิคสิระ (คือ เดือนอ้าย) จึงทรงยกต้นมหาโพธิ์ขึ้น เสด็จลุยน้ำไปประมาณเพียงพระศอ ทรงวางไว้บนเรือ แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งให้แม้พระนางสังฆมิตตาเถรีพร้อมด้วยบริวารขึ้นเรือ จึงได้ตรัสคํานี้กะอริฏฐอํามาตย์ว่า พ่อ ข้าพเจ้า
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 160
บูชาต้นมหาโพธิ์ ด้วยราชสมบัติในสากลชมพูทวีปถึง ๓ ครั้ง ต้องลุยน้ำไปประมาณเพียงคอ ส่ง (ต้นมหาโพธิ์) ไปให้พระสหายของข้าพเจ้า. แม้พระสหายของข้าพเจ้านั้น ก็จงทรงบูชาต้นมหาโพธิ์เหมือนอย่างนี้แหละ.
ท้าวเธอ ครั้นพระราชทานข่าวสาสน์แก่พระสหายอย่างนั้นแล้ว ทรงคร่ําครวญประคองอัญชลี ประทับยืนหลั่งพระอัสสุชลอยู่ว่า ต้นมหาโพธิ์ของพระทศพล ซึ่งฉายช่อพระรัศมีดุจมีชีวิตอยู่ ไปละหนอ ดังนี้. นาวาที่ต้นมหาโพธิ์ขึ้นประดิษฐานอยู่แม้นั้นแล เมื่อมหาชนจ้องมองแลดูอยู่ ก็ออกวิ่งไปสู่ท้องทะเลหลวง. เหล่าระลอกคลื่นในมหาสมุทรสงบเงียบประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ. เหล่าปทุมชาติเบญจพรรณก็แย้มบาน. ทิพยดุริยางค์ดนตรีทั้งหลายก็บันลือลั่นอยู่บนอากาศกลางหาว. ได้มีการบูชาอันโอฬารยิ่งนัก ซึ่งพวกทวยเทพผู้อาศัยอยู่ในอากาศ ทางน้ำ บนบกและที่ต้นไม้เป็นต้น บันดาลให้เป็นไปแล้ว. พระนางสังฆมิตตาเถรี ทําให้ตระกูลนาคทั้งหลายในมหาสมุทรสะดุ้งกลัวแล้ว ด้วย (จําแลงเป็น) รูปสุบรรณ (คือนิรมิตเป็นรูปครุฑ). ก็นาคเหล่านั้นสะดุ้งกลัว มาเห็นสมบัตินั้นเข้า จึงทูลขอกะพระเถรี แล้วนําต้นมหาโพธิ์ไปสู่นาคพิภพ บูชาด้วยราชสมบัติแห่งนาคตลอด ๗ วันแล้ว (นํากลับมา) ให้ประดิษฐานอยู่บนเรืออีก. นาวาได้แล่นไปถึงท่าชมพูโกลปัฏฏนะในวันนั้นนั่นเอง. ฝ่ายพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงระทมทุกข์เพราะวิโยคจากต้นมหาโพธิ์ ทรงคร่ําครวญกันแสง จ้องพระเนตรดูจนสุดทัศนวิสัย แล้วก็เสด็จกลับ.
[พระเจ้าเทวานัมปิยดิสกรุงลังกาเตรียมต้อนรับต้นมหาโพธิ์]
ฝ่ายพระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราชแล จําเดิมแต่วันปาฏิบทแรกแห่งเดือนมิคสิระ (คือเดือนอ้าย) มีพระราชกระแสรับสั่งให้ชําระตกแต่งมรรคาตั้งแต่ประตู
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 161
ด้านทิศอุดร (แห่งอนุราธบุรี) จนถึงท่าชมพูโกลปัฏฏนะตามคําของสุมนสามเณร, ในวันที่เสด็จออกจากพระนคร ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ตั้งศาลาอันมีอยู่ที่ฝังสมุทรใกล้กับประตูด้านทิศอุดรนั่นเอง ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมหาโพธิ์ ที่กําลังมาอยู่ในมหาสมุทรนั่นแล โดยสมบัตินั้น เพราะอานุภาพของพระเถระ ทรงปลื้มพระหฤทัยเสด็จออกไป มีพระราชกระแสรับสั่งให้เอาดอกไม้เบญจพรรณโปรยลงตลอดทางทั้งหมด ทรงตั้งเครื่องบูชาดอกไม้ (๑) อันมีค่าไว้ในระหว่างทางเป็นระยะแล้ว เสด็จไปท่าชมพูโกลปัฏฏนะโดยวันเดียวเท่านั้น อันพวกพนักงานตาลาวจรดนตรีทั้งปวงแวดล้อมแล้ว ทรงบูชา (ต้นมหาโพธิ์) อยู่ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลาย มีดอกไม้ ธูปและของหอมเป็นต้น เสด็จลุยน้ำไปประมาณเพียงพระศอแล้วมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ต้นมหาโพธิ์ของพระทศพล ซึ่งฉายช่อพระรัศมีดุจมีชีวิตอยู่มาแล้วหนอ มีพระหฤทัยเลื่อมใสแล้ว จึงทรงยกต้นมหาโพธิ์ขึ้นแล้ว วางลงบนพระเศียร อันเป็นอวัยวะสูงสุด พร้อมด้วยเหล่าตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยชาติ ๑๖ ตระกูล ผู้แวดล้อมต้นมหาโพธิ์ เสด็จขึ้นจากสมุทรแล้วทรงพักต้นมหาโพธิ์ไว้ที่ริมฝังมหาสมุทร ทรงบูชาด้วยราชสมบัติในเกาะตัมพปัณณิทวีปทั้งหมดสิ้น ๒ วัน. ท้าวเธอทรงให้ตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยชาติ ๑๖ ตระกูลสําเร็จราชการแทน. ภายหลังต่อมาในวันที่ ๔ ท้าวเธอทรงรับเอาต้นมหาโพธิ์แล้ว ทรงทําการบูชาอยู่อย่างโอฬาร เสด็จถึงกรุงอนุราธบุรีโดยสําดับ.
[พระเจ้าเทวานัมปิยดิสพักต้นมหาโพธิ์ไว้ในปูชนียสถาน ๔ แห่ง]
พระราชา ครั้นทรงทําสักการะอย่างใหญ่ แม้ในกรุงอนุราธบุรี ในวันจาตุทสี (คือวันขึ้น ๑๔ ค่ํา) นั่นเอง มีพระราชกระแสรับสั่งให้ส่งต้นมหาโพธิ์เข้าไปทาง
(๑) ฎีกาสารัตถทีปนี. แก้ว่า ให้ทําเจดีย์ดอกไม้ไว้ในระหว่างทางทั้ง ๒ ข้าง น่าจะได้แก่พุ่มดอกไม้นั่นเอง.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 162
ประตูด้านทิศอุดรในเวลาตะวันบ่าย แห่ไปโดยท่ามกลางพระนคร ออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วทรงให้ตั้งต้นมหาโพธิ์ไว้บนฐานซุ้มพระทวารแห่งราชอุทยาน ที่ทําบริกรรมพื้นไว้แต่แรกทีเดียว ตามคําของสุมนสามเณร ซึ่งเป็นใจกลาง (จุดเด่น) แห่งราชอุทยานมหาเมฆวัน อันเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์ เคยประทับนั่งเข้าสมาบัติ. ทั้งเป็นสถานที่มีต้นซึกใหญ่ ซึ่งเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่ากกุสันธะ, ต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ) ซึ่งเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าโกนาคมน์ และต้นนิโครธ (ต้นไทร) ซึ่งเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในที่ประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู วัดจากประตูด้านทิศทักษิณ.
ถามว่า พระราชาทรงรับสั่งให้ตั้งต้นมหาโพธิ์นั้นไว้อย่างไร?
แก้ว่า ทรงรับสั่งให้พักไว้อย่างนี้ คือ :- ได้ยินว่า ตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยชาติทั้ง ๑๖ ตระกูล ที่มาแวดล้อมต้นโพธิ์เหล่านั้น ถือเอาเพศเป็นพระราชา พระราชาก็ทรงถือเอาเพศเป็นนายทวารบาล. ตระกูลทั้ง ๑๖ ตระกูลเอาต้นมหาโพธิ์ลงปลูกแล้ว (ที่ปูชนียสถาน ๔ แห่งดังกล่าวแล้วนั้น)
[ต้นมหาโพธิ์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์]
ในขณะที่พอพ้นจากมือของตระกูลทั้ง ๑๖ เหล่านั้นนั่นแล ต้นมหาโพธิ์ก็ลอยขึ้นไปสู่เวหาสสูงประมาณ ๘๐ ศอก แล้วเปล่งรัศมีซึ่งมีพรรณะ ๖ ประการออก. รัศมีทั้งหลายก็แผ่ปกคลุมไปทั่วเกาะ ได้ตั้งอยู่จดถึงพรหมโลกเบื้องบน. บุรุษประมาณหมื่นคน เห็นปาฏิหาริย์ต้นมหาโพธิ์แล้วเกิดความเลื่อมใส เริ่ม
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 163
เจริญอนุบุพพวิปัสสนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วบวช. ต้นมหาโพธิ์ได้ประดิษฐานอยู่บนอากาศ จนพระอาทิตย์อัสดงคต ก็เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว จึงกลับ (ลงมา) ประดิษฐานอยู่บนปฐพี โดยโรหิณีนักขัตฤกษ์. พร้อมกับด้วยต้นมหาโพธิ์ประดิษฐานอยู่ (นั่นแล) มหาปฐพีได้ไหวจนถึงที่สุดน้ำ (รองแผ่นดิน). ก็แล ต้นมหาโพธิ์ ครั้นประดิษฐานอยู่แล้ว ก็นิ่งเงียบอยู่ในกลีบเมฆ (กลุ่มหมอก) ตลอด ๗ วัน. ต้นมหาโพธิ์ได้ถึงความมองไม่เห็นของชาวโลก (คือชาวโลกมองไม่เห็นต้นมหาโพธิ์). ในวันที่ ๗ นภากาศได้ปราศจากเมฆหมอกแล้ว. รัศมีซึ่งมีพรรณะ ๖ ประการ ก็พวยพุ่งกระจายออก. ลําต้น กิ่ง ใบ และผลทั้ง ๕ แห่งต้นมหาโพธิ์ก็ปรากฏให้เห็น. พระมหินทเถระ พระนางสังฆมิตตาเถรี และพระราชา พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จไปถึงสถานที่ตั้งแห่งต้นมหาโพธิ์นั่นแล. และประชาชนชาวเกาะทั้งหมดก็ประชุมกันแล้วโดยส่วนมาก. เมื่อชนเหล่านั้นมองดูอยู่นั่นเอง ผลหนึ่งจากกิ่งด้านทิศอุดรสุกแล้วก็หล่นจากกิ่ง. พระเถระน้อมหัตถ์เข้ารับไว้. ผลก็ได้ตั้งอยู่บนหัตถ์ของพระเถระ. พระเถระได้ถวายผลนั้นแด่พระราชา โดยถวายพระพรว่า ขอพระองค์ทรงปลูกเถิด มหาบพิตร
[ต้นมหาโพธิ์แตกสาขาออกถึง ๘ ต้นและ ๓๒ ต้น]
พระราชาทรงรับแล้ว ก็ทรงโปรยปุยที่มีรสดีลงที่กระถางทอง ใส่โคลนที่ผสมด้วยของหอมให้เต็ม แล้วเพาะปลูกไว้ในที่ใกล้ต้นมหาโพธิ์. เมื่อชนทั้งหมดดูอยู่นั่นเอง ต้นโพธิ์อ่อนๆ ๘ ต้น ซึ่งมีประมาณ ๔ ศอก ได้งอกขึ้นแล้ว. พระราชาทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้นแล้วก็ทรงบูชาต้นโพธิ์อ่อนๆ ๘ ต้นด้วยเศวตฉัตร แล้วถวายการอภิเษก (แก่ต้นโพธิ์อ่อนๆ ทั้ง ๘ ต้นนั้น). ประชาชนปลูกต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง (ซึ่งแยกออก) จากต้นโพธิ์อ่อนๆ ทั้ง ๘ ต้นนั้น
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 164
ไว้ที่ท่าชื่อชมพูโกลปัฏฏนะ ในโอกาสที่ต้นมหาโพธิ์ประดิษฐานอยู่ครั้งแรก ในคราวมาถึง. ปลูกต้นหนึ่งไว้ที่หน้าประตูบ้านของควักกพราหมณ์ (๑) อีกต้นหนึ่งที่ถูปาราม อีกต้นหนึ่งที่อิสสรนิมมานวิหาร (๒) อีกต้นหนึ่งใกล้ที่ตั้งพระปฐมเจดีย์ อีกต้นหนึ่งที่เจติยบรรพต อีกต้นหนึ่งที่บ้านกาชรคามในโรหณชนบท อีกต้นหนึ่งที่บ้านจันทนคามในโรหณชนบทนั่นเอง. ประชาชนทั้งหลายได้ปลูกต้นโพธิ์อ่อน ๓๒ ต้น ซึ่งเกิดจากพืชแห่งผลทั้ง ๔ นอกนี้ไว้ในอารามที่ตั้งอยู่ในระยะโยชน์หนึ่ง.
[พระนางอนุฬาเทวี และอริฏฐอํามาตย์ผนวชแล้วสําเร็จพระอรหัต]
เมื่อต้นมหาโพธิ์ อันเป็นธงชัยแห่งพระสัทธรรมของพระทศพลประดิษฐานอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนชาวเกาะโดยรอบ ด้วยการสืบต่อลําดับแห่งลูกหลานอย่างนี้แล้ว พระนางอนุฬาเทวี พร้อมกับมาตุคามพันหนึ่ง คือ หญิงสาว (ผู้เป็นบาทบริจาริกาของตน) ๕๐๐ คนและหญิงชาววังอีก ๕๐๐ คน ผนวชในสํานักของพระนางสังฆมิตตาเถรี ไม่นานนักพร้อมด้วยบริวารก็ดํารงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์. ฝ่ายพระราชภาคิไนยชื่ออริฏฐะแล พร้อมกับบุรุษ ๕๐๐ คน บวชในสํานักของพระเถระพร้อมด้วยบริวาร ได้ดํารงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ ต่อกาลไม่นานเช่นเดียวกัน.
[พระศาสนาจักตั้งมั่นเพราะกุลบุตรชาวเกาะลังกาบวชเรียน]
ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาถวายบังคมต้นมหาโพธิ์แล้ว เสด็จไปยังถูปารามพร้อมกับพระเถระ เมื่อท้าวเธอเสด็จไปถึงสถานที่จะสร้างโลหปราสาท
(๑) ฎีกาสารัตถทีปนีเป็นตวักกพราหมณ์.
(๒) คําว่า อิสสรนิมมานวิหาร ได้แก่กัสสปคิรีวิหาร คือวิหารที่อิสรชนสร้างไว้ สารัตถ. ๑/๒๘๖ - ๗.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 165
พวกราชบุรุษก็ได้นําดอกไม้ทั้งหลายมาทูลถวาย. พระราชาได้ถวายดอกไม้ทั้งหลายแก่พระเถระ. พระเถระก็เอาดอกไม้บูชาที่จะสร้างโลหปราสาท. พอเมื่อดอกไม้ทั้งหลาย สักว่าตกลงที่พื้น ได้เกิดมีแผ่นดินหวั่นไหวใหญ่. พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุไร แผ่นดินจึงไหว? พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ในอนาคต โรงพระอุโบสถจักมีแก่สงฆ์ในโอกาสนี้ นี้จักเป็นบุรพนิมิตแห่งโรงพระอุโบสถนั้น.
พระราชาเสด็จต่อไปพร้อมกับพระเถระ ได้เสด็จไปถึงอัมพังคณสถาน. ที่อัมพังคณสถานนั้น ราชบุรุษได้นําผลมะม่วงสุกผลหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น มีรสอร่อยยิ่ง มาทูลถวายแด่พระราชาพระองค์นั้น. พระราชาได้ถวายผลมะม่วงนั้นแก่พระเถระเพื่อขบฉัน. พระเถระก็ฉันในที่นั้นนั่นเอง แล้วทูลว่า ขอพระองค์ทรงปลูกเมล็ดมะม่วงนี้ไว้ในที่นี้นั่นแล.
พระราชาทรงรับเอาเมล็ดมะม่วงนั้นแล้ว ทรงเพาะปลูกไว้ในที่นั้นนั่นเอง แล้วทรงรดน้ำ. พร้อมกับการทรงเพาะปลูกเมล็ดมะม่วงปฐพีหวั่นไหวแล้ว. พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปฐพีจึงไหว? พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ในอนาคตที่ประชุมสงฆ์ ชื่ออัมพังคณะ จักมีในโอกาสนี้ นี้จักเป็นบุรพนิมิตแห่งสันนิบาตสถานนั้น.
พระราชาทรงโปรยดอกไม้ ๘ กําลงในที่นั้น ทรงไหว้แล้วก็เสด็จต่อไปอีกพร้อมกับพระเถระ ได้เสด็จไปถึงสถานที่จะสร้างมหาเจดีย์. ในสถานที่นั้น พวกราชบุรุษได้นําดอกจําปาทั้งหลายมาทูลถวายแด่พระราชาพระองค์นั้น. พระราชาได้ถวายดอกจําปาเหล่านั้นแก่พระเถระ. พระเถระก็เอาดอกไม้บูชาที่จะสร้างมหาเจดีย์แล้วไหว้. ในทันใดนั้นเอง มหาปฐพีก็หวั่นไหว. พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปฐพีจึงได้ไหว. พระเถระ
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 166
ทูลว่า มหาบพิตร ในอนาคต พระมหาสถูป ซึ่งไม่มีที่ไหนเหมือนของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าจักมีในโอกาสนี้ นี้จักเป็นบุรพนิมิต แห่งมหาสถูปนั้น.
พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าพเจ้าเอง จะสร้าง ท่านผู้เจริญ
พระเถระ ทูลว่า อย่าเลย มหาบพิตร พระองค์ยังมีการงานอื่นอยู่มาก แต่พระนัดดาของพระองค์ พระนามว่าทุฏฐคามณีอภัย จักทรงให้สร้าง.
คราวนั้น พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพระนัดดาของข้าพเจ้าจักสร้างไซร้ ก็จักสร้างสิ่งที่ข้าพเจ้าสร้างไว้แล้วนั่นเอง ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้นําเสาหินมีประมาณ ๑๒ ศอกมา แล้วให้จารึกอักษรไว้ว่า พระนัดดาของพระเจ้าเทวานัมปิยดิส พระนามว่าทุฏฐคามณีอภัย จงสร้างพระสถูปไว้ในประเทศนี้เถิด ดังนี้ รับสั่งให้ประดิษฐานไว้แล้ว จึงตรัสถามพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระศาสนาตั้งมั่นแล้วในเกาะลังกาทวีปหรือยัง?
พระเถระทูลว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระศาสนาตั้งมั่นแล้ว แต่ว่ารากเหง้าแห่งพระศาสนานั้น ยังไม่หยั่งลงก่อน.
พระราชา ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็เมื่อไรรากเหง้า (แห่งพระศาสนานั้น) จักชื่อว่าเป็นอันหยั่งลงแล้ว?
พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ในกาลใด เด็กผู้เกิดในเกาะตัมพปัณณิทวีป มีมารดาบิดาเป็นชาวเกาะตัมพปัณณิทวีป จักออกบวชในเกาะตัมพปัณณิทวีป แล้วเรียนพระวินัยในเกาะตัมพปัณณิทวีปนั่นเอง ออกสอน
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 167
(พระวินัย) ในเกาะตัมพปัณณิทวีปได้ ในกาลนั้นรากเหง้าแห่งพระศาสนาจักชื่อว่าเป็นอันหยั่งลงแล้ว.
พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็ภิกษุเช่นนี้มีอยู่หรือ?
พระเถระทูลว่า มีอยู่ มหาบพิตร พระมหาอริฏฐภิกษุเป็นผู้สามารถในกรรมนั้น.
พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าควรทําอะไรบ้าง ในกรรมนี้.
พระเถระทูลว่า ควรสร้างมณฑป มหาบพิตร
[พระเจ้าเทวานัมปิยดิสสร้างมณฑปเพื่อทําจตุตถสังคายนา]
พระราชาทรงรับว่า ดีละ เจ้าข้า แล้วรับสั่งให้สร้างมณฑปด้วยราชานุภาพ ซึ่งเป็นเช่นกับมณฑปที่พระเจ้าอชาตศัตรูมหาราชทรงสร้างในคราวทำมหาสังคีติ (คือสังคายนาครั้งแรก) ไว้ในเนื้อที่ของอํามาตย์ ชื่อเมฆวรรณาภัย แล้วทรงรับสั่งให้พวกพนักงานตาลาวจรดนตรี (๑) ทั้งปวง ฝึกซ้อมในศิลปะของตนๆ ไว้ (สั่งให้เตรียมซ้อมดนตรีไว้ให้ชํานาญ) แล้วทรงรับสั่งว่า ข้าพเจ้าจักดูรากเหง้าแห่งพระศาสนา ที่หยั่งลงแล้ว ดังนี้ มีบุรุษจํานวนหลายพันแวดล้อมแล้ว ได้เสด็จไปถึงถูปาราม.
(๑) พนักงานประโคมดนตรี หรือละครรําเท้า.