การประพฤติไม่เหมาะสมของพระภิกษุสงฆ์
โดย litarn  30 ม.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 2745

เดี๋ยวนี้เรามักจะเห็นภาพข่าว และเนื้อหาของข่าวที่เกี่ยวกับการประพฤติไม่เหมาะสม ของพระภิกษุสงฆ์เมื่อได้รับข่าวสารนี้บ่อยๆ จิตใจเราก็เศร้าหมอง และทำให้รู้สึกไม่ศรัทธาพระภิกษุ จนบางครั้งเห็นพระภิกษุผ่านมายังแอบเผลอคิดเลยว่า เป็นพระจริงหรือเปล่า ทำไมมาเดินในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นที่ไม่สมควร ความคิดแบบนี้ จะเป็นอกุศลกรรมรึเปล่าค่ะ ช่วยแนะนำด้วยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 30 ม.ค. 2550

พระอริยสงฆ์สาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่ออริยมรรค เป็นเนื้อนาบุญของโลก ผู้ปรารถนาบุญควรกระทำการบูชา พระอริยสงฆ์เราควรเข้าใจว่าพระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ และพระภิกษุบุคคลที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นคนละอย่าง คือที่ท่านกระทำไปเพราะ อำนาจกิเลสก็เป็นธรรมดาของพระปุถุชนที่ยังละกิเลสไม่ได้ เรียกว่าเป็นคนคนหนึ่งที่ห่มผ้าเหลืองแล้วกระทำการต่างๆ นอกธรรมนอกวินัยแต่พระอริยสาวกของพระพุทธองค์ไม่มีพฤติกรรมแบบนี้ เมื่อพบนักบวชที่ถือผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นสัญลักษณ์ธงชัยของพระอรหันต์ เราก็เคารพในฐานะที่ท่านเป็นบรรพชิตการถวายอาหารบิณฑบาตรตอน เช้าๆ เพื่อบูชาคุณของพระอริยสงฆ์ ไม่ควรคิดอกุศลกับคนอื่นแม้ว่าเขาจะมีความประพฤติอย่างไร ก็ตาม


ความคิดเห็น 2    โดย supakorn  วันที่ 30 ม.ค. 2550

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย study  วันที่ 30 ม.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 130

สงฆ์ทั้งหลายก็ดี คณะทั้งหลายก็ดีมีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคต ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสงฆ์แห่งคณะทั้งปวงนั้น สงฆ์สาวก ของตถาคตคือใคร คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี ผู้เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ สัตว์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ.


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 30 ม.ค. 2550

แม้จะเป็นพระภิกษุที่ทุศีล ถ้าเรามีจิตมุ่งตรงต่อสงฆ์ก็เป็นมหากุศลแล้วค่ะ เรานอบน้อมผ้าเหลืองเป็นตัวแทนของพระศาสดา จิตเป็นกุศลดีกว่าคิดเป็นอกุศลค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย pornchai.s  วันที่ 31 ม.ค. 2550

พระอริยบุคคล ๘ บุคคล คือ

โสตาปติมรรคบุคคล ๑ โสตาปติผลบุคคล ๑

สกทาคามิมรรคบุคคล ๑ สกทาคามิผลบุคคล ๑

อนาคามิมรรคบุคคล ๑ อนาคามิผลบุคคล ๑

อรหัตตมรรคบุคคล ๑ อรหัตตผลบุคคล ๑

ซึ่งกล่าวโดยบัญญัติ เป็น ๘ บุคคล

แต่ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์ ก็คือ สภาพของ มรรคจิต ๔ และผลจิต ๔ นั่นเอง


ความคิดเห็น 6    โดย shumporn.t  วันที่ 31 ม.ค. 2550

คิดไม่ดีเป็นอกุศลจิต ยังไม่ได้ทำอกุศลกรรมใดๆ เป็นเพียงอกุศลจิตที่คิด ภิกษุที่ประพฤติไม่ตรงพระวินัย เพราะท่านไม่เห็นคุณของพระวินัยที่ขัดเกลากิเลส การเข้า ใจความจริงของจิต เจตสิกและรูป จะทำให้เราเข้าใจการกระทำของบุคคลอื่น และตัวเรามากขึ้น ไม่ว่ากายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมของผู้ใด ก็เป็นแต่อาการเป็นไปของจิต เจตสิกและรูป เมื่อเข้าใจมากขึ้นก็อภัยได้มากขึ้น เพราะเข้าใจความ เป็นอนัตตาบังคับบัญชากิเลสไม่ได้ ความเข้าใจนี้เองจะเป็นปัจจัยทำให้กุศลธรรมต่างๆ เจริญขึ้น เช่น เมตตา


ความคิดเห็น 7    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 31 ม.ค. 2550

ผ้ากาสาวะ เป็นเหมือนธงชัยของพระอรหันต์ ผู้มีปัญญาย่อมน้อมระลึกถึงสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จะขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก แม้สัตว์เดรัจฉาน ยังเคารพในผ้ากาสาวะ อันเป็นตัวแทนของพระอรหันต์ครับและเรื่องผลบุญของการบูชาแม้ผ้ากาสาวะ ลองอ่านดูนะ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เคารพผ้ากาสาวะ [เรื่องพระเทวทัต]

[เล่มที่ 51] พระะสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 70

๖. มหากาฬเถรคาถา

อรรถกถามหากาฬเถรคาถา

คาถาของท่านพระมหากาฬเถระ เริ่มต้นว่า กาฬี อิตฺถี. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร แม้พระเถระนี้ ก็สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว ไปป่า ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นผ้าบังสุกุลจีวรห้อยอยู่ที่กิ่งไม้มีจิตเลื่อมใสว่า ผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้าห้อยอยู่ แล้วเก็บเอาดอกกระดึงมาบูชาผ้าบังสุกุลจีวร. ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


ความคิดเห็น 8    โดย pornchai.s  วันที่ 1 ก.พ. 2550

อนุโมทนา กับ ม.ศ.พ. (ความเห็นที่ 1) และสมาชิก "แล้วเจอกัน" (ความเห็นที่ 7) ที่ได้นำข้อความ จากพระไตรปิฎก มาให้อ่าน เสมอๆ ก็เจอกันที่ ม.ศ.พ.เกือบทุก วัน สำหรับเจ้าของความเห็นที่ 1, 4, 7 เหมือนญาติ พี่น้องแล้วครับ รวมทั้งสมาชิก ท่านอื่นๆ แม้ไม่เห็นหน้า ก็เปรียบเหมือนสหายธรรม ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย unknown  วันที่ 3 ก.พ. 2550

จิตที่เห็นนั้นเป็นผลของกรรมที่ดีและไม่ดี แต่พอเห็นแล้วเกิดความไม่สบายใจก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งจะเป็นเหตุใหม่ให้ผลเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือคิด ก็ เป็นเพียงสิ่งหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่เรา


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ