ดิฉันมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งค่ะ ต้องมาอยู่ด้วยกันเพราะทำงานที่เดียวกัน ปกติดิฉันชอบบุญ ชอบศึกษาพระไตรปิฎก แต่ดิฉันไม่รู้ว่าเค้าไม่ชอบแต่ต้องมาอยู่ด้วยกัน มีหลายครั้งที่เค้าห้ามดิฉันไม่ให้ทำบุญ พูดประชด เวลาที่ดิฉันศึกษาพระธรรม เวลาดิฉันทำบุญเค้าก็จะพูดให้ดิฉันไขว้เขว้ ตัวอย่าง ดิฉันเคยร่วมสบทบทุนสร้างวิหารกับทางร้าน 7-11 เค้าก็บอกฉันว่า แน่ใจเหรอว่าเค้าจะเอาไปสร้างจริงๆ เวลาดิฉันใส่บาตรเค้าก็จะพูดประมาณว่าพระท่านดีจริงๆ รึเปล่าก็ไม่
ช่วงแรกดิฉันทั้งโกรธทั้งเสียใจ แต่ก็มีสติ อดโกรธเค้าเอาไว้ ว่าเค้าคงจะไม่เข้าใจ ช่วงหลังก็เริ่มเถียงกันหนักขึ้น ดิฉันเลยตัดปัญหาด้วยการไม่โต้เถียงและก็หลีกเลี่ยงการทำบุญต่อหน้าเค้า ดิฉันพยายามไม่ให้จิตใจเศร้าหมอง และไม่เพ่งโทษเค้า แต่บางครั้งก็เผลอคิดเพ่งโทษเค้าว่าทำให้จิตใจเราเศร้าหมองเวลาทำบุญ แต่ก็ได้อ่านธรรมมะจากเว็บบ้านธัมมะทำให้เข้าใจว่า ความทุกข์มันเกิดจากจิตเราทั้งนั้น แต่ก็ยังเผลอคิดอยู่เรื่อยๆ จึงอยากขอคำแนะนำอุบายการคิดจากเพื่อนๆ กัลยาณมิตรค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ควรเห็นใจและสงสารเขามากกว่าที่เขาสะสมมาแบบนี้ (ไม่ใช่ด้วยมานะ) ด้วยความเห็นใจจริงๆ เขาทำด้วยความไม่รู้ ถ้าเขารู้ก็คงไม่ทำ ดังนั้น จึงไม่ควรโกรธคนที่ไม่รู้เลย เราก็มีกิเลส เขาก็มีกิเลส เขาสะสมความเห็นผิดมา ก็ต้องนึกคิดหรือกระทำกาย วาจาตามความเห็นผิด ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นธรรมที่เขาสะสมมาอย่างนั้น ก็จะเกิดความเข้าใจและไม่โกรธเขาบ่อย เพราะทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ เราโกรธคนนั้นจริงๆ หรือเปล่าหรือเราไปโกรธสภาพธรรม ที่เป็นอกุศล ที่บัญญัติว่าเป็นคนนั้น เมื่อรู้ความจริงพิจารณาดังนี้ ก็จะเห็นใจและอดทนเพราะเข้าใจว่า เมื่อมีความเห็นผิด กายก็ผิด วาจาก็ผิด ใจก็ผิด และที่สำคัญเราจะห้ามใครได้ในเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทำดีเพราะเป็นความดี ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่เกิดขึ้นนะครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ [ทุติยอาฆาตวินยสูตร]
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ
เราไม่อาจห้ามความคิดและการกระทำของคนอื่นได้ แต่เราสามารถรักษาใจตัวเองได้โดยไม่ให้หวั่นไหวไปตามอกุศล ทุกอย่างเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ ถ้าพิจารณาโดยไม่แยบคาย
ขออนุโมทนาค่ะ