[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 148
๑๐. เอณิชังฆสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 148
๑๐. เอณิชังฆสูตร
[๗๖] เทวดากล่าวว่า
พวกข้าพระองค์เข้ามาเฝ้าแล้ว ขอทูลถามพระองค์ผู้มีความเพียร ซูบผอมมีแข้งดังเนื้อทราย มีอาหารน้อย ไม่มีความโลภ เป็นเหมือนราชสีห์และช้างเที่ยวไปโดดเดี่ยว ไม่มีห่วงใยในกามทั้งหลาย บุคคลจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร.
[๗๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้.
จบเอณิชังฆสูตรที่ ๑๐
จบสัตติวรรคที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 149
อรรถกถาเอณิชังฆสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในเอณิชังฆสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-
บทว่า เอณิชงฺฆํ แปลว่า มีพระชงฆ์ (แข้ง) กลมเรียวเรียบ ดังแข้งเนื้อทราย.
บทว่า กีสํ ได้แก่ มีพระสรีระสม่ำเสมอ ไม่อ้วน.
อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า มีพระตจะ (หนัง) มิได้เหี่ยวแห้ง คือ มีพระสรีระงามโดยมิต้องพอกพูนด้วยกลิ่นดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ทั้งหลาย.
บทว่า วีรํ แปลว่า มีความเพียร.
บทว่า อปฺปาหารํ ได้แก่ มีอาหารน้อย เพราะความเป็นผู้รู้จักประมาณในการเสวยพระกระยาหาร.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มีอาหารน้อย เพราะมิได้เสวยในเวลาวิกาล.
บทว่า อโลลุปฺปํ แปลว่า ไม่มีความโลภ ได้แก่ ทรงปราศจากความอยากในปัจจัย ๔.
อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีความโลภนี้ คือ มิได้มีรสตัณหา.
บทว่า สีหํเวกจรํ นาคํ ได้แก่ เป็นเหมือนราชสีห์ และช้างตัวประเสริฐเที่ยวไปโดดเดียว.
เพราะว่าบุคคลผู้อยู่เป็นหมู่ ย่อมเป็นผู้ประมาท ผู้เที่ยวไปแต่ผู้เดียว ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท. เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ไม่ประมาท ท่านจึงถือเอาว่า ผู้เที่ยวไปผู้เดียวนั่นแหละ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ปญฺจ กามคุณา โลเก มโนฉฏฺฐา ปเวทิตา เอตฺถ ฉนฺทํ วิราชิตฺวา เอวํ ทุกฺขา ปมุจฺจติ.
กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 150
บทว่า ปเวทิตา แปลว่า ประกาศแล้ว คือ บอกแล้ว.
บทว่า เอตฺถ แปลว่า ในนามรูปนี้.
จริงอยู่ รูปท่านถือเอาด้วยสามารถแห่งกามคุณ ๕ ส่วนนามท่านถือเอาใจ.
ก็แล บัณฑิตควรถือเอานามและรูปทั้งสองโดยไม่แยกจากกัน แล้วพึงประกอบพื้นฐานในนามและรูปนี้ ด้วยสามารถแห่งธรรมมีขันธ์ ๕ เป็นต้นเถิด.
จบอรรถกถาเอณิชังฆสูตรที่ ๑๐
จบอรรถกถาสัตติวรรคที่ ๓
รวมพระสูตรที่กล่าวในสัตติวรรคนั้นมี
๑. สัตติสูตร
๒. ผุสติสูตร
๓. ชฏาสูตร
๔. มโนนิวารณสูตร
๕. อรหันตสูตร
๖. ปัชโชตสูตร
๗. สรสูตร
๘. มหัทธนสูตร
๙. จตุจักกสูตร
๑๐. เอณิชังฆสูตร
ครบ ๑๐ สูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.