๑๐. นิทานสูตร ว่าด้วยความพอใจในปฏิจจสมุปบาท
โดย บ้านธัมมะ  3 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36543

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 270

๑๐. นิทานสูตร

ว่าด้วยความพอใจในปฏิจจสมุปบาท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 270

๑๐. นิทานสูตร

ว่าด้วยความพอใจในปฏิจจสมุปบาท

[๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของหมู่ชนชาวเมืองกุรุ อันมีชื่อว่ากัมมาสทัมมะ (๑) แคว้นกุรุรัฐ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า คือปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้งเพียงไร ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปรากฏเหมือนธรรมง่ายๆ แก่ข้าพระองค์.

[๒๒๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร.

[๒๒๖] ดูก่อนอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ


(๑) บางแห่งเป็น กัมมาสธัมมะ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 271

โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

[๒๒๗] ดูก่อนอานนท์ ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

[๒๒๘] ดูก่อนอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

[๒๒๙] ดูก่อนอานนท์ ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น แล้วขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้น ทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว เกรียกเป็นชิ้นๆ แล้วพึงผึ่งลม ตากแดด ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 272

อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

จบนิทานสูตรที่ ๑๐

จบทุกขวรรคที่ ๖

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปริวีมังสนสูตร

๒. อุปาทานสูตร

๓. ปฐมสังโยชนสูตร

๔. ทุติยสังโยชนสูตร

๕. ปฐมมหารุกขสูตร

๖. ทุติยมหารุกขสูตร

๗. ตรุณรุกขสูตร

๘. นามรูปสูตร

๙. วิญญาณสูตร

๑๐. นิทานสูตร.

อรรถกถานิทานสูตรที่ ๑๐

ในนิทานสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

สองบทว่า "กุรูสุ วิหรติ" ได้แก่ ประทับอยู่ในชนบทที่ได้ชื่อด้วยอำนาจเรียกกันมากอย่างนี้ว่า กุรุ.

นิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ เพราะฉะนั้น นิคมของชาวกุรุจึงมีชื่ออย่างนี้. อธิบายว่า ทรงกระทำนิคมนั้นให้เป็นโคจรคาม.

คำว่า "ท่านผู้มีอายุ" นี้ เป็นคำเรียกด้วยความรัก เป็นคำเรียกด้วยความเคารพ.

คำว่า "อานันทะ" เป็นชื่อของพระเถระนั้น.

คำว่า " เอกมนฺตํ นิสีทิ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง" มีอธิบายว่า ท่านพระ-


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 273

อานนท์ ผู้เป็นพระธรรมภัณฑาคาริก เมื่อเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการ ได้เข้าไปภายในพระรัศมีอันมีวรรณะ ๖ ของพระพุทธองค์ ในที่ตรงหน้ามณฑลพระชานุข้างขวา นั่งเหมือนกำลังอาบน้ำครั่งใส เหมือนกำลังห่มแผ่นทอง เหมือนกำลังเข้าไปสู่สวนดอกบัวแดง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ถามว่า ก็ท่านผู้มีอายุนี้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเวลาใดและเพราะเหตุใด.

แก้ว่า เข้าไปเฝ้าในเวลาเย็น เพราะเหตุเพื่อทูลถามปัญหาเรื่องปัจจยาการ.

เล่ากันมาว่า ในวันนั้น ท่านผู้มีอายุนี้ (พระอานนท์) ได้เที่ยวไปโปรดสัตว์ยังนิคมกัมมาสธัมมะ ดุจว่าวางสิ่งของนับพันอย่างลงทุกประตูเรือน กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้แสดงวัตรถวายพระศาสดา เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีแล้ว ก็ถวายบังคมพระศาสดาแล้วไปยังที่พักกลางวันของตน เมื่อพวกอันเตวาสิกแสดงวัตรแล้วกลับไป จึงปัดกวาดที่พักกลางวัน ปูลาดแผ่นหนัง เอาน้ำจากหม้อน้ำล้างมือและเท้าจนเย็น แล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าโสดาปัตติผลสมาบัติ ภายหลังออกจากสมาบัติด้วยอำนาจสิ้นกำหนดเวลา จึงได้หยั่งญาณลงในปัจจยาการ.

ท่านพิจารณาปัจจยาการ ๑๒ บท จำเดิมแต่ต้นว่า "เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร" จนจดปลาย ตั้งแต่ปลายไปจนจดต้น ตั้งแต่ปลายทั้งสอง จนจดกลาง ตั้งแต่กลางจนจดปลายทั้งสองที่สุด ๓ ครั้ง. เมื่อท่านพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปัจจยาการได้ปรากฏแจ่มแจ้งเหมือนง่าย แต่นั้นก็คิดว่า "ปัจจยาการนี้พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวงตรัสว่า ลึกซึ้ง และมีกระแสความลึกซึ้ง แต่ปรากฏว่าง่ายแจ่มแจ้งแก่เราที่เป็นสาวกผู้ตั้งอยู่ใน


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 274

ปเทสญาณ ความรู้บางส่วน ปัจจยาการนี้ย่อมปรากฏเหมือนง่ายแก่เราเท่านั้นหรือหนอ หรือว่าปรากฏแก่ภิกษุเหล่าอื่นด้วย" ท่านพระอานนท์คิดว่า "เราจักกราบทูลเหตุที่ปรากฏแก่ตนแด่พระศาสดา" จึงลุกจากที่นั่ง ตบแผ่นหนังแล้วถือเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเย็น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "พระอานนท์เข้าไปเฝ้าในเวลาเย็น ด้วยเหตุเพื่อทูลถามปัญหาเรื่องปัจจยาการ."

ยาว ศัพท์ ในคำว่า ยาวคมฺภีโร นี้ เป็นไปในการก้าวล่วงเกินประมาณ คือ ลึกเกินประมาณ. อธิบายว่า ลึกซึ้งอย่างยิ่ง.

บทว่า "คมฺภีราวภาโส มีเนื้อความลึกซึ้ง" อธิบายว่า ส่องสว่าง คือ ปรากฏลึกซึ้งโดยแท้.

จริงอยู่น้ำแห่งหนึ่ง เพียงตื้นๆ เท่านั้น แต่มีกระแสลึก เหมือนน้ำเก่าอันมีสีดำด้วยอำนาจรสใบไม้เน่า. เพราะว่า น้ำนั้น แม้ลึกแค่เข่า ก็ปรากฏเหมือนลึกตั้งร้อยชั่วบุรุษ. น้ำบางแห่งลึก แต่มีกระแสตื้น เหมือนน้ำอันใสแจ๋วแห่งมณีคงคา เพราะน้ำนั้น แม้น้ำลึกตั้งร้อยชั่วบุรุษ ก็ปรากฏเหมือนลึกแค่เข่า. น้ำบางแห่งตื้น และก็มีกระแสน้ำตื้นด้วย เหมือนน้ำในตุ่มเป็นต้น. น้ำบางแห่งลึก และก็มีกระแสลึกด้วย เหมือนน้ำในมหาสมุทรเชิงภูเขาสิเนรุ. น้ำย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้แล.

แต่ความตื้นความลึกย่อมไม่มีในปฏิจจสมุปบาท. เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้ชื่อว่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้นว่า "ลึกซึ้ง และมีกระแสความลึกซึ้ง." พระอานนท์เมื่อจะประกาศความอัศจรรย์ใจของตนอย่างนี้ว่า "ปฏิจจสมุปบาทเห็นปานนี้ แต่ก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายๆ สำหรับข้าพระองค์. ข้อนี้ น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า" จึงทูลถามปัญหาแล้ว ได้นั่งนิ่งอยู่.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 275

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของพระอานนท์แล้ว ทรงพระดำริว่า "ภิกษุชื่ออานนท์ เหมือนกับว่าเหยียดมือออกเพื่อจับภวัคคพรหม เหมือนกับว่าพยายามทำลายภูเขาสิเนรุ นำสะเก็ดหินออกอยู่ เหมือนใคร่จะข้ามมหาสมุทรโดยไม่ต้องใช้เรือ และเหมือนพยายามพลิกแผ่นดินถือเอาโอชะแห่งดินอยู่ จึงกล่าวถึงปัญหาอันเป็นพุทธวิสัยว่า ง่ายๆ สำหรับตน เอาเถอะ เราจะบอกความลึกซึ้งแก่เธอ" ดังนี้ จึงตรัสว่า "มาเหวํ" ดังนี้ เป็นอาทิ.

ในพระบาลีนั้น อักษร ในคำว่า "มาเหวํ" เพียงเป็นนิบาต. อธิบายว่า เธออย่ากล่าวอย่างนี้.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะทรงทำให้ท่านพระอานนท์ยินดี (เบาใจ) หรือไม่ยินดี (ไม่เบาใจ) ก็ตาม จึงได้ตรัสคำว่า "มาเหวํ" นี้.

ในพระบาลีนั้น ข้อว่า "อุสฺสาเทนฺโต ทำให้ยินดี (เบาใจ) อยู่" มีอธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ เธอมีปัญญามาก มีญาณแกล้วกล้า ด้วยเหตุนั้น เธอไม่ควรกำหนดว่า ปฏิจจสมุปบาทแม้จะลึกซึ้ง แต่ก็ปรากฏว่าง่ายๆ สำหรับเธอ หรือว่าง่ายสำหรับภิกษุเหล่าอื่นด้วย. ด้วยว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ ทั้งลึกซึ้งโดยแท้ และเป็นธรรมมีกระแสความลึกซึ้งด้วย.

ในข้อนั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าวอุปมาไว้ ๔ ข้อว่า เล่ากันมาว่า ชนทั้งหลายได้แสดงก้อนหินที่นักมวยปล้ำจะพึงยก ในระหว่างนักมวยปล้ำยิ่งใหญ่ ผู้ฝึกชำนาญแล้ว ได้รับการเลี้ยงดูด้วยรสโภชนะอันดีตลอด ๖ เดือน ไปสู่ยุทธภูมินักมวยปล้ำในสมัยชุมนุมแข่งขันกัน. นักมวยปล้ำนั้น พูดว่า "วัตถุอย่างหนึ่งนี้ คืออะไร." ชนทั้งหลายกล่าวว่า "ก้อนหินที่นักมวยปล้ำจะต้องยก." เขากล่าวว่า พวกท่านจงนำก้อนหิน


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 276

นั้นมาเถิด." พอชนทั้งหลายกล่าวว่า "พวกข้าพเจ้ายกไม่ไหวดอก" จึงยกขึ้นเสียเอง แล้วกล่าวว่า "ที่หนักกว่าหินนี้อยู่ที่ไหน" แล้วยกก้อนหิน ๒ ก้อนขึ้นด้วยมือทั้งสองแล้ววางลงเหมือนยกงบน้ำอ้อยเล่น. ในข้อนั้น เขาพึงถูกชนทั้งหลายต่อว่าว่า "ก้อนหินที่นักมวยปล้ำจะต้องยก เป็นของเบาสำหรับนักมวยปล้ำ" แต่ไม่ควรจะกล่าวว่า "เป็นของเบาสำหรับบุคคลเหล่าอื่นด้วย."

ท่านพระอานนท์ผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหารตลอดแสนกัป ก็เหมือนนักมวยปล้ำผู้ถูกเลี้ยงดูด้วยรสโภชนะอันดีตลอด ๖ เดือน. ก้อนหินที่นักมวยจะต้องยกเป็นของเบาสำหรับนักมวยปล้ำ เพราะนักมวยปล้ำมีกำลังมาก ฉันใด. ปฏิจจสมุปบาทพึงกล่าวว่า เป็นธรรมอันง่ายสำหรับพระอานนท์ เพราะพระเถระมีปัญญามาก แต่มิใช่เป็นธรรมอันง่ายสำหรับภิกษุเหล่าอื่น ฉันนั้น.

ก็ในมหาสมุทร ปลาใหญ่ชื่อ ติมิ ยาว ๒๐๐ โยชน์ ปลาติมิงคละ ยาว ๓๐๐ โยชน์ ปลาติเมรปิงคละ ยาว ๕๐๐ โยชน์. ปลา ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ปลาอานนท์ ปลาปนันทะ ปลาอัชโฌหาระ ปลามหาติมิ ยาวตั้งพันโยชน์. ในปลาทั้ง ๔ อย่างนั้น ท่านแสดงด้วยปลาติเมรปิงคละนั่นเอง. เมื่อมันกระดิกหูขวา น้ำในพื้นที่ตั้ง ๕๐๐ โยชน์ ก็จะเคลื่อนไหว หูซ้าย หาง หัว ก็เหมือนกัน. แต่เมื่อมันกระดิกหูทั้ง ๒ ฟาดหางเอียงหัวไปมา เริ่มจะเล่นน้ำที่คนเอาใส่ภาชนะ น้ำในที่ ๗ - ๘ ร้อยโยชน์ก็กระเพื่อม เหมือนยกขึ้นตั้งบนเตา น้ำในพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ โยชน์ก็ไม่อาจจะท่วมหลัง (ของมัน). มันพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "ชนทั้งหลายกล่าวว่า มหาสมุทรนี้ลึก ความลึกของมหาสมุทรนั้นอยู่ที่ไหน. พวกเราไม่ได้น้ำแม้เพียงที่จะท่วมหลังของพวกเราได้."

ในข้อนั้น พึงกล่าวว่า "มหาสมุทรตื้น


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 277

สำหรับปลาเล็กเหล่าอื่น" ปฏิจจสมุปบาทก็เหมือนอย่างนั้นแหละ พึงกล่าวว่า "ง่ายสำหรับพระอานนท์ ผู้เข้าถึงญาณ (ผู้มีปัญญามาก) แต่ไม่พึงกล่าวว่า "ง่ายสำหรับภิกษุเหล่าอื่น."

อนึ่ง พระยาครุฑสูงตั้ง ๑๕๐ โยชน์ ปีกขวาของพระยาครุฑนั้นยาว ๑๕๐ โยชน์ ปีกซ้ายก็เหมือนกัน หางยาว ๖๐ โยชน์ ปาก ๙ โยชน์ เท้า ๑๒ โยชน์. เมื่อมันเริ่มแสดงการกระพือปีกกินลมแบบครุฑ สถานที่ประมาณ ๗ - ๘ ร้อยโยชน์ก็ไม่พอ. มันพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "ชนทั้งหลายกล่าวว่า อากาศนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความไม่มีที่สุดแห่งอากาศนั้นมีที่ไหน. เราไม่ได้แม้โอกาสสำหรับกระพือปีกกินลม."

ในข้อนั้น พึงกล่าวว่า อากาศมีเพียงเล็กน้อยสำหรับพระยาครุฑ ผู้เข้าถึงกาย (เป็นนกครุฑใหญ่). แต่ไม่พึงกล่าวว่า มีเพียงเล็กน้อยสำหรับนกเล็กๆ เหล่าอื่น. ปฏิจจสมุปบาทก็เหมือนอย่างนั้นแหละ พึงกล่าวว่า ง่ายสำหรับพระอานนท์ ผู้เข้าถึงญาณ (มีปัญญามาก) แต่ไม่พึงกล่าวว่า ง่ายสำหรับภิกษุเหล่าอื่น.

ส่วนอสุรินทราหู ตั้งแต่ปลายเท้าถึงปลายผม วัดได้ ๔,๘๐๐ โยชน์ ระหว่างแขนทั้ง ๒ ของอสุรินทราหูนั้นวัดได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ โดยส่วนหนาวัดได้ ๖๐๐ โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้า ๓๐๐ โยชน์ ปากก็เหมือนกัน ข้อนิ้วแต่ละข้อ ๕๐ โยชน์ ระหว่างคิ้วก็เหมือนกัน หน้าผาก ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะ ๙๐๐ โยชน์ เมื่ออสุรินทราหูก้าวลงสู่มหาสมุทร น้ำจะลึกประมาณแค่เข่า. เขาพึงกล่าวว่า "ชนทั้งหลายกล่าวว่า มหาสมุทรนี้ลึก ความลึกของมหาสมุทรนั้นมีที่ไหน. เราไม่ได้น้ำแม้เพียงที่จะท่วมถึงเข่า."

ในข้อนั้น พึงกล่าวว่า มหาสมุทรตื้นสำหรับอสุรินทราหู ผู้เข้าถึงกาย (มีกายใหญ่) แต่ไม่พึงกล่าวว่า ตื้นสำหรับผู้อื่น. ปฏิจจสมุปบาท


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 278

ก็เหมือนกันอย่างนั้นแหละ พึงกล่าวว่า ง่ายสำหรับพระอานนท์ ผู้เข้าถึงญาณ (มีปัญญามาก) แต่ไม่พึงกล่าวว่า ง่ายสำหรับภิกษุเหล่าอื่น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้" ดังนี้ ทรงหมายเอาข้อความนี้แล.

จริงอยู่ ปฏิจจสมุปบาท แม้จะเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง แต่ก็ปรากฏว่าเป็นธรรมง่ายแก่พระอานนทเถระ ด้วยเหตุ ๔ ประการ. เหตุ ๔ ประการ คืออะไรบ้าง. คือ ด้วยการถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในปางก่อน ๑ ด้วยการอยู่ใกล้ศาสดา ๑ ด้วยความเป็นผู้บรรลุกระแสธรรม ๑ ด้วยความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ๑.

เล่ากันมาว่า ในแสนกัป นับแต่ภัทรกัปนี้ไป ได้มีพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงมีนครที่ประทับนามว่า หังสวดี ทรงมีพระบิดาเป็นพระราชา ทรงพระนามว่า อานันทะ ทรงมีพระมารดาเป็นพระเทวี ทรงพระนามว่า สุเมธา พระโพธิสัตว์ทรงพระนามว่า อุตตรกุมาร. พระองค์ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ในวันที่พระโอรสประสูติ ทรงผนวชแล้วประกอบความเพียรเนืองๆ ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณตามลำดับ ทรงเปล่งอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ เป็นอาทิ ทรงยับยั้งให้เวลาล่วงไปที่โพธิบัลลังก์สิ้น ๗ วันแล้ว ทรงยกพระบาทออกด้วยทรงพระดำริว่า "เราจักเอาเท้าเหยียบแผ่นดิน." ขณะนั้น ดอกบัวหลวงดอกใหญ่ ก็ชำแรกแผ่นดินปรากฏขึ้น กลีบดอกบัวนั้น วัดได้ ๙๐ ศอก เกสร ๓๐ ศอก ฝัก ๑๒ ศอก มีละอองเกสรประมาณ ๙ หม้อ.

ส่วนพระศาสดา โดยส่วนสูง ทรงสูง ๕๘ ศอก ระหว่างพระ-


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 279

พาหาทั้ง ๒ ของพระองค์ วัดได้ ๑๘ ศอก พระนลาต ๕ ศอก พระหัตถ์และพระบาท ๑๑ ศอก พอพระองค์ทรงใช้พระบาท ๑๑ ศอก เหยียบดอกบัวประมาณ ๑๒ ศอก ละอองเกสรที่มีประมาณ ๙ หม้อ ก็ฟุ้งขึ้นเกลื่อนกล่นไปตลอดพื้นที่ ๕๘ ศอก เหมือนจุณแห่งมโนศิลาอันเกลื่อนกล่นฉะนั้น อาศัยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงปรากฏพระนามว่า "ปทุมุตตระ." พระองค์ได้มีอัครสาวก ๒ รูป คือ พระเทวิละและพระสุชาตะ. อัครสาวิกา ๒ รูป คือ พระนางอมิตาและพระนางอสมา. อุปัฏฐากชื่อสุมนะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ เมื่อจะทรงกระทำการสงเคราะห์พระบิดา ประทับอยู่ที่หังสวดีราชธานี มีภิกษุ ๑ แสนรูป เป็นบริวาร. อนึ่ง พระกนิษฐภาดาของพระองค์ทรงพระนามว่า สุมนกุมาร. พระราชาได้พระราชทานโภคะในที่ ๑๒๐ โยชน์ จากหังสวดี แก่สุมนกุมารนั้น. บางคราวพระสุมนกุมาร ก็มาเฝ้าพระบิดาและพระศาสดา.

ต่อมาวันหนึ่ง ชายแดนเกิดการกำเริบ (เกิดความไม่สงบ) สุมนกุมาร ได้ทรงส่งสาสน์ไปถวายพระราชา พระราชาทรงส่งสาสน์ตอบไปว่า "ลูกเอ๋ย พ่อตั้งเจ้าไว้เพื่ออะไร." สุมนกุมาร ทรงปราบโจรให้สงบราบคาบแล้ว ทรงส่งสาสน์ไปถวายพระราชาอีกว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ชนบทสงบแล้ว." พระราชาทรงยินดี รับสั่งว่า "ขอให้ลูกของเราจงมาเร็ว." สุมนกุมารนั้น ทรงมีอำมาตย์ประมาณ ๑,๐๐๐ คน พระองค์ทรงปรึกษากับอำมาตย์เหล่านั้น ในระหว่างทางว่า "พระราชบิดาของเราทรงยินดี หากทรงประทานพรแก่เรา เราจะรับอะไรดี." ครั้นแล้ว อำมาตย์พวกหนึ่ง ได้กราบทูลพระกุมารว่า "พระองค์จงเอา


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 280

ช้าง เอาม้า เอาชนบท เอาแก้ว ๗ ประการ." อำมาตย์อีกพวกหนึ่ง กราบทูลว่า "พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระราชา ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรัพย์มิเป็นของหาได้ยากสำหรับพระองค์ พระองค์ควรละทรัพย์ที่ได้แล้วทั้งหมดนี้ไป บุญอย่างเดียวเท่านั้นที่ควรพาไป เพราะฉะนั้น เมื่อพระราชาพระราชทานพร ขอพระองค์จงทรงรับพร เพื่ออุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ตลอดไตรมาสเถิด." พระกุมารรับสั่งว่า "พวกท่านเป็นกัลยาณมิตรของเรา อันที่จริงเรามีความคิดเช่นนั้นอยู่ แต่พวกท่านให้เกิดขึ้นก่อน เราจักทำอย่างนั้น" แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบิดา เมื่อพระบิดาทรงสวมกอด ทรงจุมพิตที่พระเศียร แล้วรับสั่งว่า "ลูก พ่อขอให้พรแก่เจ้า" จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัจจัย ๔ ตลอดไตรมาส ทำชีวิตมิให้มีโทษ ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพรนี้แก่ข้าพระองค์เถิด." พระราชารับสั่งว่า "ลูก พ่อไม่อาจจะให้ได้ ลูกจงขอสิ่งอื่นเถิด." พระกุมารกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขึ้นชื่อว่า กษัตริย์ทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเป็นสอง ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานพรนี้แหละ ข้าพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยสิ่งอื่น." พระราชารับสั่งว่า "ลูก จิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายรู้ได้ยาก หากพระผู้มีพระภาคเจ้า จักไม่ทรงปรารถนาไซร้ แม้เมื่อพ่อให้พรไปแล้ว จักมีประโยชน์อะไร." พระกุมารกราบทูลว่า " ข้าแต่สมมติเทพ ดีละ ข้าพระองค์จักรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า" ดังนี้แล้วเสด็จไปสู่พระวิหาร.

เวลานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสร็จภัตกิจแล้ว เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี. พระสุมนกุมารนั้น ได้เสด็จไปถึงสำนักพวกภิกษุที่นั่งอยู่พร้อม


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 281

กันในโรงกลม. ภิกษุเหล่านั้น ถวายพระพรพระราชกุมารนั้นว่า "ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร พระองค์จึงเสด็จมา (ที่นี่)."

พระกุมาร. "มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้พวกท่านจงโปรดแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้า แก่ข้าพเจ้าด้วย."

พวกภิกษุ. "ขอถวายพระพร พวกอาตมาให้พระองค์เฝ้าพระศาสดา ในขณะที่พระองค์ทรงประสงค์หาได้ไม่."

พระกุมาร. "ท่านผู้เจริญ ใครเล่า ให้เฝ้าได้."

พวกภิกษุ. "ขอถวายพระพร พระเถระชื่อ สุมนะ."

พระกุมารตรัสถามถึงที่นั่งของพระเถระว่า "ท่านผู้เจริญ พระเถระนั้นอยู่ที่ไหน" เสด็จไปทรงไหว้พระเถระแล้วตรัสว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอท่านจงแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้า แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด."

พระเถระถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด" แล้วนำเสด็จพระกุมารไปพักที่บริเวณพระคันธกุฎี แล้วขึ้นไปยังพระคันธกุฎี.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่ง (ถาม) พระเถระนั้นว่า "ดูก่อนสุมนะ เพราะเหตุไร เธอจึงมา (ที่นี่)."

พระเถระ. "พระราชโอรส เสด็จมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า."

พระผู้มีพระภาคเจ้า. "ดูก่อนภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงปูอาสนะเถิด."


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 282

พระเถระปูอาสนะแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับนั่งบนอาสนะที่ปูแล้ว พระราชโอรสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกระทำปฏิสันถาร.

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่ง (ถาม) ว่า "ขอถวายพระพร พระองค์เสด็จมาเมื่อไหร่."

พระราชโอรส. "มาเมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี พระเจ้าข้า. แต่พวกภิกษุกล่าวว่า พวกอาตมาให้พระองค์เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในขณะที่พระองค์ทรงประสงค์หาได้ไม่ แล้วสั่งข้าพระองค์ไปยังสำนักพระเถระ และพระเถระก็ได้แสดง (ให้ได้เฝ้า) ด้วยคำเพียงคำเดียวเท่านั้น พระเถระเห็นจะเป็นที่โปรดปรานในพระศาสนาของพระองค์มาก พระเจ้าข้า."

พระผู้มีพระภาคเจ้า. "ขอถวายพระพร ถูกแล้ว ภิกษุนี้เป็นที่โปรดปรานในศาสนาของอาตมภาพ."

พระราชกุมาร. "ทำอะไร จึงจะเป็นที่โปรดปราน ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเจ้าข้า."

พระผู้มีพระภาคเจ้า. "ขอถวายพระพร ต้องให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ จึงจะเป็นที่โปรดปราน."

พระราชกุมาร. "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะเป็นที่โปรดปรานในพระพุทธศาสนาเหมือนพระเถระ ขอพระองค์จงทรงรับนิมนต์ข้าพระองค์ อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสด้วยเถิด."

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า "จะมีประโยชน์ด้วยการไปหรือ


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 283

หนอ" ทรงเห็นว่า "มี" จึงรับสั่งว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมทรงยินดีในเรือนว่างแล."

พระราชกุมารกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ได้ทราบแล้ว." ทรงถือเอาปฏิญญาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะล่วงหน้าไปก่อน แล้วให้สร้างวิหาร เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวไป ขอพระองค์จงเสด็จมาพร้อมภิกษุ ๑ แสนรูป" แล้วเสด็จไปยังสำนักพระบิดา กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ปฏิญญาแก่ข้าพระองค์แล้ว เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวไป ขอพระองค์ได้โปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไปด้วย." ถวายบังคมพระบิดาแล้ว เสด็จออกไปสร้างวิหารในที่ ๑ โยชน์ เสด็จทางไกล ๒,๐๐๐ โยชน์ ครั้นเสด็จถึงแล้ว ทรงเลือกที่ตั้งวิหาร ในพระนครของพระองค์. ทรงเห็นอุทยานของกุฎุมพีชื่อโสภณะ ทรงซื้อด้วยทรัพย์ ๑ แสน และทรงสละทรัพย์ ๑ แสนให้สร้างวิหาร.

ในอุทยานนั้น พระราชกุมารรับสั่งให้สร้างพระคันธกุฎี สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า กุฎีถ้ำ และมณฑป เพื่อเป็นที่พักกลางคืนและกลางวัน สำหรับพวกภิกษุที่เหลือ ทรงสร้างกำแพงและซุ้มประตูเสร็จแล้ว ส่งข่าวไปยังสำนักพระบิดา "งานของข้าพระองค์เสร็จแล้ว ขอให้พระองค์ได้โปรดส่งพระศาสดาไปด้วย."

พระราชาถวายภัตตาหารพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า งานของสุมนกุมารเสร็จแล้ว เธอหวังการเสด็จไปของพระองค์."


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 284

พระผู้มีพระภาคเจ้า มีภิกษุ ๑ แสนรูปเป็นบริวาร ได้เสด็จไปประทับพักอยู่ในวิหาร ในระยะทางแห่งละโยชน์ๆ.

พระราชกุมาร ได้ทรงสดับข่าวว่า "พระศาสดากำลังเสด็จมา" ได้เสด็จไปทรงต้อนรับระยะทาง ๑ โยชน์ ทรงบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น อาราธนาให้เสด็จเข้าไปสู่วิหาร แล้วมอบถวายวิหารว่า "ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงทรงรับอุทยานชื่อโสภณะ ที่ข้าพระองค์ซื้อด้วยเงิน ๑ แสน สร้างด้วยเงิน ๑ แสน." ในวันเข้าพรรษา ท้าวเธอถวายทานทรงมีรับสั่งให้พระโอรสและพระมเหสีของพระองค์ และพวกอำมาตย์เข้าเฝ้า แล้วรับสั่งว่า "พระศาสดาได้เสด็จจากแดนไกลมาสู่สำนักของพวกเรา และขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้เคารพธรรม ไม่ทรงเห็นแก่อามิส เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้า จักนุ่งผ้าสาฎก ๒ ผืน สมาทานศีล ๑๐ อยู่ที่นี่แหละ ตลอดไตรมาสนี้ ขอให้พวกท่านทั้งหลาย พึงถวายทานแด่พระขีณาสพ ๑ แสนรูป ตลอดไตรมาส โดยทำนองนี้."

ท้าวเธอประทับอยู่ในที่ที่มีส่วนเสมอกับที่อยู่พระสุมนเถระ ได้ทอดพระเนตรเห็นวัตรทุกอย่างที่พระเถระทำถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงพระดำริว่า "พระเถระรูปนี้ อยู่ในฐานะเป็นที่โปรดปรานโดยส่วนเดียว ควรที่เราจะปรารถนาฐานันดรของพระเถระนี้แหละ" เมื่อใกล้ปวารณา ได้เสด็จเข้าสู่บ้าน พระราชทานมหาทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงวางไตรจีวรลงที่ใกล้เท้าของภิกษุ ๑ แสนรูป ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้กระทำบุญแล้ว ตั้งแต่ให้สร้างวิหารในระยะทางแห่งละโยชน์ ในทางใหญ่ ข้าพระองค์มิได้กระทำบุญนั้นเพราะหวังสมบัติคือความเป็นท้าวสักกเทวราช


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 285

ทั้งมิได้กระทำเพราะหวังมารสมบัติและพรหมสมบัติเลย แต่กระทำเพราะปรารถนาความเป็นพุทธอุปัฏฐาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นพุทธอุปัฏฐากเหมือนพระสุมนเถระในอนาคตด้วยเถิด" ดังนี้ ทรงหมอบลงถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า "ความคิดอันยิ่งใหญ่ ของกุลบุตรจักสำเร็จหรือไม่หนอ." ทรงทราบว่า "ในกัปที่หนึ่งแสน นับแต่ภัทรกัปนี้ไป ในอนาคต พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคตมะ จักอุบัติขึ้น เธอจักได้เป็นอุปัฏฐากแห่งพระโคตมะนั้นแล" จึงตรัส (ให้พร) ว่า

"ขอให้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์แล้ว ทรงปรารถนาแล้ว ทั้งหมดนั้นแหละ จงสำเร็จเถิด ขอให้พระดำริทั้งปวง จงเต็มเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญฉะนั้น."

พระกุมารได้ทรงสดับแล้ว จึงทรงพระดำริว่า "ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มีพระวาจาเป็นสอง" ในวันที่ ๒ นั่นเอง ทรงรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ได้เป็นเหมือน (ตาม) เสด็จมาข้างหลังๆ. ท้าวเธอทรงให้ทานตลอดแสนปีในพุทธุปบาทนั้น ทรงบังเกิดในสวรรค์ แม้ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ได้ถวายผ้าห่มเพื่อเป็นที่รองบาตร พระเถระที่เที่ยวโปรดสัตว์ ทำการบูชาแล้ว ทรงบังเกิดในสวรรค์อีก เคลื่อนจากสวรรค์นั้นแล้ว ได้เป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงให้สร้างบรรณศาลา ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ทรงตั้งเชิงรองบาตรแก้วมณี ทรงทำการบำรุงด้วยปัจจัย ๔ ตลอดเวลา ๑ หมื่นปี.


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 286

นี้เป็นฐานะที่ปรากฏ.

อนึ่ง เมื่อทรงให้ทานอยู่ตลอดแสนกัป ได้ทรงบังเกิดในดุสิตบุรี พร้อมกับพระโพธิสัตว์ของเรา เคลื่อนจากดุสิตบุรีนั้นแล้ว ทรงถือปฏิสนธิในเรือนเจ้าศากยะทรงพระนามว่า อมิโตทนะ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามลำดับ เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์โดยการเสด็จครั้งแรก แล้วเสด็จออกไปจากกรุงกบิลพัสดุ์นั้น เมื่อพระราชกุมารทั้งหลายทรงบรรพชา เพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้เสด็จออกพร้อมกับเจ้าศากยะพระนามว่าภัททิยะเป็นต้น บรรพชาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังธรรมกถาในสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลต่อกาลไม่นานเลย. ท่านพระอานนท์นี้ ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในปางก่อนอย่างนี้. ปฏิจจสมุปบาท แม้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายแก่ท่าน เพราะคุณสมบัติข้อนี้.

ส่วนการเล่าเรียน การฟัง การสอบถาม และการทรงจำในสำนักของครูทั้งหลาย ท่านเรียกว่า "อยู่ใกล้ศาสดา." ท่านพระอานนท์มีความเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง. ด้วยเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาทแม้จะลึกซึ้งนี้ จึงปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายแก่ท่าน. และสำหรับพระโสดาบันทั้งหลาย ปัจจยาการปรากฏเป็นธรรมง่าย. และท่านพระอานนท์นี้ก็เป็นพระโสดาบัน การกำหนดนามรูป ย่อมปรากฏแก่ผู้ได้ยินได้ฟังมาก เหมือนเมื่อประทีปในห้อง ๔ ศอก ลุกโพลงอยู่ เตียงและตั่งก็ปรากฏ ฉะนั้น และท่านพระอานนท์ ก็เป็นยอดแห่งบุคคลผู้พหูสูตทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ปัจจยาการแม้จะเป็นธรรมลึกซึ้งก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรม


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 287

ง่ายสำหรับท่าน เพราะความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก.

ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมลึกซึ้ง เพราะความลึกซึ้ง ๔ ประการ และความลึกซึ้งแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.

ความลึกซึ้งแม้ทั้งหมดนั้นได้ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายสำหรับพระอานนทเถระ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทำให้พระอานนท์ยินดี จึงตรัสว่า มาเหวํ เป็นอาทิ.

ก็ในพระบาลีนั้นมีอธิบาย ดังนี้ ดูก่อนอานนท์ เธอมีปัญญามาก มีญาณแจ่มแจ้ง ด้วยเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาท แม้จะเป็นธรรมลึกซึ้ง ก็ย่อมปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายสำหรับเธอ เพราะฉะนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ ปรากฏเป็นธรรมง่ายสำหรับเราหรือหนอ หรือว่าง่ายสำหรับคนอื่นด้วย.

แต่พระอานนทเถระยังมิยินดีด้วยถ้อยคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วใด ในข้อนั้น มีอธิบายดังนี้ "ดูก่อนอานนท์ ก็แหละเธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาทปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายๆ สำหรับเรา ก็ถ้าปฏิจจสมุปบาทนี้ ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายๆ สำหรับเธอไซร้ เพราะเหตุไร เธอจึงมิได้เป็นพระโสดาบันตามธรรมดาของตน แต่เธอได้ตั้งอยู่ในนัยที่เราให้แล้ว จึงแทงตลอดโสดาปัตติมรรค ดูก่อนอานนท์ พระนิพพานนี้เท่านั้น ที่ลึกซึ้ง ส่วนปัจจยาการเป็นธรรมง่าย ครั้นแล้ว เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ถอนขึ้นซึ่งกิเลส ๔ เหล่านี้ คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อันหยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อันหยาบ แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ไม่ถอนขึ้นซึ่งกิเลส ๔ ที่อาศัยสังโยชน์และอนุสัยเหล่านั้นนั่นแหละ แล้วกระทำอนาคามิผลให้แจ้ง ไม่ถอนขึ้น


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 288

ซึ่งกิเลส ๘ เหล่านี้ คือ สังโยชน์ ๕ มีรูปราคะ เป็นต้น มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต หรือว่าเพราะเหตุไร จึงไม่แทงตลอดสาวกบารมีญาณ เหมือนพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะผู้ได้บำเพ็ญบารมีตลอด ๑ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ไม่แทงตลอดปัจเจกโพธิญาณ เหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ได้บำเพ็ญบารมีตลอด ๒ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป.

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าปฏิจจสมุปบาทนี้ ปรากฏเป็นธรรมง่ายโดยประการทั้งปวงสำหรับเธอไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ทำให้แจ้งซึ่งพระสัพพัญญุตญาณเหมือนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปบ้าง ๘ อสงไขยบ้าง ๑๖ อสงไขยบ้าง เธอไม่มีความต้องการด้วยธรรมเครื่องบรรลุคุณพิเศษเหล่านี้หรือ. เธอจงเห็นว่าเป็นเพียงความผิดพลาดของเธอ เธอชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในสาวกปเทสญาณ ได้กล่าวถึงปัจจยาการอันลึกซึ้งยิ่งว่า ปรากฏง่ายสำหรับเรา คำพูดเช่นนี้ของเธอนั้น เป็นศัตรูต่อพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเช่นนั้น จะพึงกล่าวถ้อยคำอันเป็นศัตรู ต่อพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการไม่สมควร.

ดูก่อนอานนท์ ก็เมื่อตถาคตพยายามเพื่อแทงตลอดปัจจยาการนี้อยู่ ชื่อว่าการให้ทานที่ไม่เคยให้ เพื่อประโยชน์เก่การแทงตลอดปัจจยาการ ย่อมไม่มีแก่ตถาคต ตลอด ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป. ขึ้นชื่อว่า ผู้มิได้บำเพ็ญบารมี ย่อมไม่มี. และเมื่อตถาคตกำจัดกำลังของมาร ดุจว่าให้หมดความพยายามด้วยคิดว่า เราจักแทงตลอดปัจจยาการในวันนี้ มหาปฐพีนี้ ก็มิได้ไหว แม้เพียงเท่า ๒ องคุลี.

อนึ่ง เมื่อตถาคตยังปุพเพนิวาสานุสสติญาณให้ถึงพร้อมในปฐมยาม และ


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 289

ยังทิพพจักขุญาณให้ถึงพร้อมในมัชฌิมยาม ส่วนในปัจฉิมยาม ด้วยเพียงเห็นว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลาย โดยอาการ ๙ อย่าง ดังนี้ ในเวลาเช้าตรู่ โลกธาตุนี้เปล่งเสียงอยู่ตั้งร้อยตั้งพัน เหมือนกังสดาลถูกเคาะด้วยท่อนไม้ ได้ไหวแล้ว เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวที่ถูกลมพัด ฉะนั้น ดูก่อนอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ ทั้งลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนอานนท์ เพราะไม่รู้ธรรมนี้ ฯลฯ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร."

ข้อว่า "เอตสฺส ธมฺมสฺส ธรรมนี้" ได้แก่ ธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งธรรมนี้.

บทว่า "อนนุโพธา เพราะไม่รู้" ได้แก่ เพราะไม่ตรัสรู้ด้วยอำนาจญาตปริญญา (การกำหนดรู้สิ่งที่ตนรู้แล้ว).

บทว่า "อปฺปฏิเวธา เพราะไม่แทงตลอด" ได้แก่ เพราะไม่แทงตลอดด้วยอำนาจตีรณปริญญา (การกำหนดรู้ด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง) และปหานปริญญา (การกำหนดรู้ด้วยการละ).

บทว่า ตนฺตากุลชาตา แปลว่า เป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง. เหมือนอย่างว่า ด้ายของช่างหูกที่เก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัดขาด จึงยุ่งในที่นั้นๆ การที่จะจัดให้ปลายเสมอปลาย ให้โคนเสมอโคนว่า นี้โคน นี้ปลาย ย่อมทำได้ยาก ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ผู้สับสน ยุ่งเหยิง วุ่นวาย ในปัจจยาการนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่อาจจะทำปัจจยาการให้ตรงได้. ผู้ที่ตั้งอยู่ในความเคารพนับถือแห่งบุรุษเฉพาะตน พึงเป็นผู้อาจทำอุทาหรณ์ในปัจจยาการนั้นให้ตรงได้.

นอกจากพระโพธิสัตว์ทั้งสอง สัตว์อื่นชื่อว่า เป็นผู้สามารถเพื่อทำปัจจยาการให้ตรงตามธรรมดาของตนย่อมไม่มี เหมือนอย่างว่า เส้นด้ายที่ยุ่ง ซึ่งเขาเอาน้ำส้มใส่แล้ว เอาเก้าอี้ทับ ย่อมจะเกิดเป็นก้อนติดกันเป็นกลุ่มในที่สุด ฉันใด


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 290

สัตว์เหล่านี้ ก็ฉันนั้น พลั้งพลาดในปัจจัยแล้ว ไม่สามารถทำปัจจัยให้ตรง จึงเกิดเป็นกลุ่มติดกันเป็นปม ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ๖๒.

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง อาศัยทิฏฐิ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่อาจทำปัจจัยให้ตรงได้เลย. ด้ายที่พันกันยุ่งของช่างหูก เรียกว่า กลุ่มเส้นด้ายเป็นปมในคำว่า คุฬีคุณฺิกชาตา.

รังนก ชื่อว่า คุฬา. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า รังของนางนกนั้น ดังนี้ก็มี. ความที่ด้ายเป็นปมและรังนกทั้งสองนั้น ก็นับว่ายุ่ง. การที่จะจัดให้ปลายเสมอปลาย ให้โคนเสมอโคน เป็นการทำได้ยาก. เพราะฉะนั้น ความข้อนั้น พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั่นแหละ.

บทว่า มุญฺชปพฺพชภูตา ได้แก่ เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย เหมือนหญ้าปล้อง คือ เกิดเช่นนั้น.

การถือเอาสิ่งที่ตกไปในที่ใดที่หนึ่ง ในเวลาที่เชือกซึ่งเขาทุบหญ้าเหล่านั้น ทำขาดลง แล้วจัดให้ปลายเสมอปลาย ให้โคนเสมอโคนว่า นี้คือปลาย นี้คือโคนของหญ้าเหล่านั้น เป็นสิ่งทำได้ยาก ผู้ตั้งอยู่ในความเคารพสักการะแห่งบุรุษเฉพาะตน พึงเป็นผู้สามารถทำ (ปัจจยาการ) ให้ตรงได้ นอกจากพระโพธิสัตว์ทั้งสอง สัตว์อื่นชื่อว่า เป็นผู้สามารถทำปัจจยาการให้ตรง ย่อมไม่มี ฉันใด หมู่สัตว์นี้ ก็ฉันนั้น ไม่อาจทำปัจจัยให้ตรงได้ เป็นผู้เหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ด้วยอำนาจทิฏฐิ.

ในความข้อนั้น นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย และอสุรกาย ชื่อว่า อบาย. เพราะฉะนั้น อบายแม้ทั้งหมดนั้น เรียกว่า อบาย เพราะไม่มีความเป็นไป กล่าวคือความเจริญ.

อนึ่ง ที่เรียกว่า ทุคติ เพราะ มีความเป็นไปแห่งทุกข์.

ที่เรียกว่า วินิบาต เพราะความเกิดขึ้นแห่งสุข


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 291

ได้ตกไปเสียแล้ว.

ส่วนนอกนี้ เรียกว่า สงสาร เพราะขันธ์ธาตุและอายตนะยังเป็นไปตามลำดับไม่ขาดสาย.

หมู่สัตว์ย่อมไม่ล่วงพ้น คือ ไม่ก้าวล่วงทุกข์แม้ทั้งหมดนั้น โดยที่แท้ หมู่สัตว์ถือเอาอยู่ซึ่งจุติ และปฏิสนธิบ่อยๆ อย่างนี้คือ จากจุติ ก็ถือปฏิสนธิ จากปฏิสนธิ ก็ถือเอาจุติ จึงต้องหมุนไปในภพ ๓ ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ เหมือนเรือที่ถูกลมพัดไปในมหาสมุทร และเหมือนโคเทียมด้วยเครื่องยนต์ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงรุกรานท่านพระอานนท์ จึงตรัสข้อความนี้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้.

คำที่เหลือในพระสูตรนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วแล.

จบอรรถกถานิทานสูตรที่ ๑๐

จบอรรถกถาทุกขวรรคที่ ๖