ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ชปฺปา”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
ชปฺปา อ่านตามภาษาบาลีว่า ชับ - ปา เขียนเป็นไทยได้ว่า ชัปปา แปลว่า กระซิบ เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นจริงของตัณหาหรือโลภะซึ่งเป็นความอยาก ความติดข้องต้องการ เป็นสภาพที่คอยกระซิบผู้ที่ยังมีความติดข้องอยู่ ด้วยอำนาจแห่งความติดข้องว่า นี่ของฉัน เป็นต้น
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของตัณหาที่ชื่อว่า ชัปปา ไว้ดังนี้
ตัณหาที่ชื่อว่า ชปฺปา (ธรรมชาติผู้กระซิบ) เพราะอรรถว่า ยังสัตว์ ให้พูดอุบอิบอย่างนี้ว่า นี่ของฉัน นี่ของฉัน หรือว่า สิ่งนี้บุคคลโน้นให้แก่เรา สิ่งนี้บุคคลโน้นให้แก่เรา ดังนี้”
ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล ความจริงก็เป็นอย่างนี้จะรู้หรือไม่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลเกิดมากกว่ากุศล อาจจะสำคัญผิดด้วยซ้ำไปว่ามีกุศลมาก พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะทำให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
อกุศลเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วนในสังสารวัฏฏ์ โดยเฉพาะตัณหาหรือโลภะ ซึ่งมีชื่อเรียกมากมาย เช่น นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ราคะ (ความกำหนัด) อิจฉา (ความปรารถนา ความอยาก) อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้) วานะ (เครื่องร้อยรัด) รุจิ (ความยินดี) อาลยะ (ความอาลัย) วิสัตติกา (สภาพที่ซ่านไปในอารมณ์) ปฏิพันธุ (ความผูกพัน) เป็นต้น รวมถึง ชัปปา ซึ่งหมายถึง สภาพที่คอยกระซิบด้วย แต่ทั้งหมดหมายถึงสภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพที่ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ด้วย ตัณหาหรือโลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัย ตัณหาก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ ประพฤติผิดในกามก็ได้ เป็นต้น เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ตามกำลังของตัณหาหรือโลภะ ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม ตนเองย่อมเดือดร้อน เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตน ไม่ใช่ใครอื่น ได้กระทำแล้ว
ผู้ถูกครอบงำด้วยตัณหาแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง ตัณหาที่มีอยู่ในใจเป็นเหมือนผู้คอยกระซิบว่า นี่ของฉัน กระซิบให้หวังสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนั้น กระซิบให้คิดไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้จะอยู่คนเดียว แต่จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ คิดพอใจไปในสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีใครมากระซิบเล่า? ลักษณะที่ให้เป็นอย่างนั้น ให้มีความหวังอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ลักษณะของใครอื่นเลย นอกจากลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตัณหาหรือโลภะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงลักษณะของธรรม รวมทั้งตัณหา โดยละเอียด ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะไม่มีใครทราบเลยว่าวันหนึ่งๆ มากไปด้วยตัณหา ซึ่งปรากฏในอาการต่างๆ มากมายเพียงใด
เรื่องของตัณหา เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนทางกาย ทางวาจา อาจจะไม่มีอาการของความละโมบโลภมาก ความอยาก ความต้องการ ความหวังให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย บางคนอาจจะมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่า มีความหวัง มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือเปล่า? ทั้งหมด คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในตัณหา ก็ไม่มีวันที่จะหมดตัณหาได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในกุศลธรรม ไม่อิ่มในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะถึงการดับตัณหาได้ในที่สุด
ที่สำคัญ ต้องเห็นตัณหาหรือโลภะ ตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ควรจะขัดเกลาละคลายให้เบาบาง แต่การที่จะขัดเกลาละคลายตัณหาให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด และยากมาก ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะลักษณะของตัณหานั้น เป็นอกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าตัณหาจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้กระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของตัณหา แสวงหาในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นความไม่สงบจริงๆ นี้คือ ความเป็นจริงของตัณหา ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ข้อที่น่าพิจารณา คือ ตัณหา ความอยากความต้องการ ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน นั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ บุคคลผู้มีตัณหา แต่สะสมศรัทธามาที่เป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับตัณหาได้ นี้คือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์ กว่าจะถึงความน่าอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้ ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อละโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อละความติดข้องยินดีพอใจจนหมดสิ้น ไม่ต้องมีการเกิดอีกในภพใหม่ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีก ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ