๒. ผัคคุนสูตร ว่าด้วยพระผัคคุนะทูลถามเรื่องอาหาร
โดย บ้านธัมมะ  3 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36495

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 62

๒. ผัคคุนสูตร

ว่าด้วยพระผัคคุนะทูลถามเรื่องอาหาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 62

๒. ผัคคุนสูตร

ว่าด้วยพระผัคคุนะทูลถามเรื่องอาหาร

[๓๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ เป็นไฉน. [๑] กวฬีการาหารหยาบหรือละเอียด [๒] ผัสสาหาร [๓] มโนสัญเจตนาหาร [๔] วิญญาณาหาร อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์.

[๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้ว ท่านพระโมลิยผัคคุนะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 63

ย่อมกลืนกินวิญญาณาหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า กลืนกิน [วิญญาณาหาร] ถ้าเรากล่าวว่ากลืนกิน [วิญญาณาหาร] ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมกลืนกิน [วิญญาณาหาร] แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรหนอ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า วิญญาณาหารย่อมมีเพื่อความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป เมื่อวิญญาณาหารนั้นเกิดมีแล้ว จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.

[๓๓] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถูกต้อง.

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่าย่อมถูกต้อง ถ้าเรากล่าวว่าย่อมถูกต้อง ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอ ย่อมถูกต้อง แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีผัสสะ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

[๓๔] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์.

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์ แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีเวทนา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 64

[๓๕] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมทะเยอทะยาน.

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมทะเยอทะยาน แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีตัณหา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.

[๓๖] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น.

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมถือมั่น ถ้าเราพึงกล่าวว่า ย่อมถือมั่น ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีอุปาทาน อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

[๓๗] ดูก่อนผัคคุนะ ก็เพราะบ่อเกิดแห่งผัสสะทั้ง ๖ ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

จบผัคคุนสูตรที่ ๒


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 65

อรรถกถาผัคคุนสูตรที่ ๒

ในผัคคุนสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงในที่นี้นั่นเอง. เพราะเหตุไร. เพราะผู้มีทิฏฐินั่งอยู่แล้ว.

จริงอยู่ พระโมลิยผัคคุนภิกษุ ซึ่งมีทิฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้นแล้ว ต่อนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า โมลิยผัคคุนภิกษุนี้ จักลุกขึ้นถามปัญหาเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักแก้ปัญหาให้เธอ แล้วให้เทศนาจบลง เพื่อให้โอกาสเธอได้ถาม.

มวยผม ท่านเรียกว่า โมลี ในคำว่า โมลิยผคฺคุโน นี้. สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

พระสักยมุนี ทรงตัดพระเมาลีที่อบด้วยน้ำหอมอย่างดี แล้วทรงเหวี่ยงไปในอากาศ ท้าววาสวะผู้สหัสสเนตรก็เอาผอบทองคำอย่างประเสริฐ รับไว้ด้วยเศียรเกล้า.

ในสมัยที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ เมาลี (มวยผม) ของท่านใหญ่มาก. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเกิดมีชื่อเรียกว่า โมลิยผัคคุนะ. แม้ท่านจะบวชแล้ว คนก็ยังรู้จักตามชื่อนั้นนั่นแหละ.

บทว่า เอตทโวจ ได้แก่ ท่านเมื่อจะสืบต่อเทศนานุสนธิ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอนำวิญญาณาหารมา.

พึงทราบเนื้อความแห่งคำนั้นดังต่อไปนี้ :-

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ที่กินหรือบริโภควิญญาณาหารนั้นคือใคร.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร. พระโมลิยะนี้จึงไม่ถามถึงอาหาร ๓ นอกจากนี้ ถามแต่เพียงวิญญาณาหารนี้อย่างเดียว.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 66

ตอบว่า เพราะเธอมีลัทธิความเห็นว่า ตัวเองรู้.

จริงอยู่ เธอเห็นแต่คนที่ทำคำข้าวใหญ่ๆ แล้วบริโภคอาหารเป็นคำๆ เพราะเหตุนั้น เธอจึงมีลัทธิความเห็นว่า ตัวเองรู้.

ก็เธอเห็นแต่นกคุ่ม นกกระทา นกยูงและไก่ เป็นต้น เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยมาตุสัมผัส จึงมีความเห็นว่า สัตว์เหล่านั้นเลี้ยงชีวิตด้วยมาตุสัมผัส. ส่วนเต่าขึ้นจากทะเลในอุตุสมัยของตน แล้ววางไข่ที่หลุมทรายริมฝั่งทะเลแล้วเอาทรายกลบ จึงลงไปสู่ทะเลตามเดิม. ไข่เหล่านั้นไม่เสีย (ไม่เน่า) ด้วยอำนาจระลึกถึงแม่. เธอมีลัทธิความเห็นว่า ไข่เหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยมโนสัญเจตนาหาร.

แม้พระเถระมีความเห็นอย่างนั้นก็จริง ถึงกระนั้นท่านก็หาถามปัญหานี้ตามความเห็นนั้นไม่. เพราะท่านถือทิฏฐิเป็นเสมือนคนบ้า. คนบ้าถือกระเช้าข้ามระหว่างถนนก็เก็บเอาโคมัยบ้าง ก้อนหินบ้าง คูถบ้าง ท่อนเชือกบ้าง สิ่งของนั้นๆ ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ก็เก็บใส่ลงในกระเช้า ฉันใด พระเถระผู้ถือทิฏฐินี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถามปัญหาที่ควรบ้าง ไม่ควรบ้าง.

เธอก็ไม่ถูกข่มว่า ทำไมถึงถามปัญหาอย่างนี้ แต่ทรงปลุกให้รู้ถึงการถือในที่ถามแล้วถามอีก. ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัส เพราะเหตุไร เธอจึงถามอย่างนี้ กลับตรัสว่า โน กลฺโล ปญฺโห (ปัญหาไม่เหมาะ) เพื่อจะเปลื้องเธอให้พ้นจากการถือที่เธอถืออยู่ก่อน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน กลฺโล ได้แก่ ไม่สมควร.

ข้อว่า อาหาเรตีติ อหํ น วทามิ ได้แก่ เราไม่บอกว่า สัตว์หรือบุคคลใดๆ นำอาหารมา.

บทว่า อาหาเรตีติ จาหํ วเทยฺยํ ไขความได้ว่า ยทิ อหํ อาหาเรตีติ วเทยฺยํ ผิว่า เราจะพึงบอกว่า นำมาไซร้.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 67

บทว่า ตตฺรสฺส กลฺโล ปญฺโห ได้แก่ เมื่อเราพูดอย่างนี้ ปัญหานี้ก็จะเหมาะสม.

บทว่า กิสฺส นุ โข ภนฺเต วิญฺาณาหาโร ได้แก่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิญญาณาหารนี้ เป็นปัจจัยของธรรมข้อไหน.

บทว่า ตตฺถ กลฺลํ เวยฺยากรณํ ได้แก่ เมื่อปัญหาถูกถามอย่างนี้ ไวยากรณ์นี้ก็ย่อมเหมาะ วิญญาณาหารย่อมเป็นปัจจัยแก่ความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป.

คำว่า วิญฺาณาหาโร ได้แก่ ปฏิสนธิจิต.

บทว่า อายติํ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ ได้แก่ นามรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณนั้นนั่นเอง.

บทว่า ตสฺมิํ ภูเต สติํ สฬายตนํ ได้แก่ เมื่อนามรูป กล่าวคือ ความบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปนี้ เกิดมีอยู่ สฬายตนะก็ย่อมมี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงให้โอกาสเธอได้ถามปัญหาสูงยิ่งขึ้น จึงให้เทศนาจบลง แม้ในคำนี้ว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส. เพราะเธอถือทิฏฐิ จึงไม่อาจจะให้ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ถือเอาข้อที่ตกลงกันได้เท่านั้นถาม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทานโอกาสแก่เธอ แต่เนื้อความในทุกๆ บท ก็พึงถือเอาตามนัยกล่าวมานั่นแล.

เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ทูลถามว่า ใครเล่ามีอยู่ พระเจ้าข้า. เพราะเธอถือทิฏฐิจึงมีความเห็นว่า ขึ้นชื่อว่า สัตว์เกิดแล้ว คือ บังเกิดแล้ว เพราะเหตุนั้น เธอจึงได้ทูลถามว่า นี้ผิดจากความเห็นของตน.

อีกอย่างหนึ่ง เธอชื่อว่า เข้าถึงสัญญัตติ เพราะกล่าวไว้ในที่มากแห่งว่า อิทปฺปจฺจยา อิทํ อิทปฺปจฺจยา อิทํ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงมี แม้เพราะเหตุนั้น เธอจึงไม่ทูลถาม.

แม้พระศาสดาก็ทรงดำริว่า ภิกษุนี้ แม้จะถามอย่างมากมาย ก็หาอิ่มไม่ ก็ยังถามปัญหาที่ไร้สาระอยู่นั่นเอง แต่นั้นก็ทรงแสดงเทศนาให้ต่อเนื่องกันไป.

บทว่า ฉนฺนํ เตฺวว ได้แก่


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 68

พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงถือเอาเวลาที่เทศนาถูกยกขึ้นแสดง ก็ทรงเปิดเผยเทศนาตรัสอย่างนั้น.

ก็ในพระสูตรนี้มีสนธิ ๓ อย่าง โดยย่อดังนี้ คือ ระหว่างวิญญาณกับนามรูปจัดเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างเวทนากับตัณหาเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างภพกับชาติเป็นสนธิอันหนึ่ง.

จบอรรถกถาผัคคุนสูตรที่ ๒