ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำขวัญประจำจังหวัดตรัง
เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา
เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา
วันนี้ วันพุธที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ มีสนทนาธรรมเป็นวันแรกที่โรงแรม ธรรมรินทร์ ธนา จ.ตรัง ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ด้วยกุศลจิตการจัดสนทนาธรรมครั้งนี้ของคุณอัครา - คุณเพลินพันธ์ ลาภาพัฒนวณิชย์ [สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๓๘๕๖ และ ๓๘๕๘] โดยมีคุณจริยา จ่ายพัฒน์ [สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๒๗๐๙] เป็นผู้คอยช่วยในการประสานงาน เป็นโอกาสที่ได้พบกันได้ร่วมกันสนทนาในสิ่งที่มีจริงตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมสนทนาธรรมในครั้งนี้พอสมควร [โดยก่อนหน้าวันสนทนาธรรม (และนอกเหนือจากการสนทนาธรรมตามเวลาปกติ) อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ก็ได้เมตตาสนทนาธรรมนอกรอบ ร่วมหลายชั่วโมงด้วยกัน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สหายธรรมสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ภาคใต้ เป็นอย่างยิ่ง]
การสนทนาในวันนี้ ได้เริ่มต้นตามหัวข้อ คือ ชาวพุทธคือใคร? การเป็นชาวพุทธ เป็นได้ด้วยปัญญาที่เข้าใจพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่การทำอะไรตามๆ กันไป ด้วยความไม่รู้โดยการขาดเหตุผล ที่สำคัญที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สิ่งที่ผิดที่เป็นวิกฤตที่เป็นความเสื่อมอย่างหนักที่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ ผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจว่า ธรรม คืออะไร เป็นต้น เป็นเหตุทำให้ทำในสิ่งที่ผิดมากมาย ตามความไม่รู้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะพระธรรม คิดเองไม่ได้ แต่ต้องได้ฟังได้ศึกษาจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เพราะแต่ละคำ เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด
ในครั้งนี้อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ได้นำคลิปสนทนาธรรมที่บ้านอาจารย์จริยา เจียมวิจิตร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเกี่ยวกับความเป็นผู้ตรง มาเปิดให้ผู้เข้าร่วมสนทนาธรรมได้รับชมรับฟัง ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ทำให้ได้คิดพิจารณาไตรตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง จึงขอโอกาสถอดเทปคำสนทนาทนาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณาร่วมกัน ดังนี้
"ถ้ามีวัด แต่ว่ามีตลาดนัดในวัด ถูกต้องหรือเปล่า วิกฤตหรือเปล่า วัดคืออะไรก็ไม่รู้ อาราม ที่รื่นรมย์ที่ได้เข้าใจความจริงที่ได้ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ เป็นที่สงบใช่ไหม เพราะอะไร เพราะเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ เพราะฉะนั้น พระภิกษุคือใคร ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรก็ชวนกันไปบวชเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสน อาจจะมีคนคิดว่าจะให้ถึงล้าน ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยนอกจากเกณฑ์กันไปบวชเพื่อครบจำนวน นั่นคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น เข้าใจว่าถ้ามีคนบวชมากๆ พระพุทธศาสนารุ่งเรือง แต่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แล้วพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองได้อย่างไร นอกจากเป็นการทำลายคำสอนทำให้คนหลงเข้าใจว่ากาชบวชคือพระพุทธศาสนารุ่งเรือง แต่บวชเพื่ออะไรในสมัยครั้งพุทธกาล ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้เข้าใจคำสอนจะบวชไหม แล้วบวชอุทิศใคร บวชเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะว่าการขัดเกลากิเลสสามารถที่จะขัดเกลาได้จากธรรมที่ได้ฟัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนหรือบรรพชิต เพราะฉะนั้น ธรรมต่างหาก ความเข้าใจความจริงต่างหาก ที่ทำให้ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้และความเข้าใจผิด แต่ไม่ใช่วัดวาอารามซึ่งเป็นตลาดนัด เป็นที่ขายสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เช่น ตระกรุด พระเครื่อง ผ้ายันต์ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นคนที่ตรงอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ถ้าชาตินี้ไม่ตรง คิดหรือว่าชาติต่อๆ ไปจะตรง เพราะฉะนั้น ความตรงในสิ่งที่ถูกต้องว่าถูก ไม่เป็นผู้ที่จะใช้คำว่าอย่ากล่าวคำนี้เลยจะก่อให้เกิดความแตกแยก แต่รู้ไหมว่าความแตกแยกมาจากไหน ตราบใดที่เห็นไม่ตรงกัน จึงแตกแยก ถ้าเห็นอย่างเดียวกันหมดก็ไม่แตกแยก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความแตกแยก ต้องรู้ว่าเพราะอะไร และแตกแยกคืออะไร ถ้าเห็นอย่างเดียวกันถูกหมด ไม่มีการแตกแยกเลย แต่เมื่อมีการแตกแยก ต้องมีผิดและถูก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนที่อาจหาญร่าเริงแกล้วกล้าที่จะพูดสิ่งที่จริง เพราะเป็นประโยชน์ ไม่มีโทษอะไรเลยสักอย่าง แล้วทำไมไม่พูดในความจริงนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเคารพไม่ใช่อยู่ที่แค่กราบไหว้ แต่เคารพด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ให้คำของพระองค์เข้าใจกันผิดๆ ถูกๆ แต่ต้องรู้ว่าถูกคืออย่างไร และผิดคืออย่างไร เมื่อรู้ว่าอะไรถูกจะไม่กล่าวสิ่งที่ถูกหรือ ถ้ารู้ว่าอะไรผิด ไม่ทิ้งความผิดหรือ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ยังคงผิดอยู่เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญญาความเห็นถูก จะไม่พาไปในสิ่งที่ผิดเลย
เพราะฉะนั้น การกล่าวคำจริงซึ่งเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว มีประโยชน์หรือมีโทษ? ต้องพิจารณาจริงๆ แล้วจะรักษาพระพุทธศาสนาโดยไม่เข้าใจคำสอน เป็นไปไม่ได้ เข้าใจผิด"
ในช่วงบ่าย เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เป็นประโยชน์มาก เตือนใจผู้ที่กำลังหลงผิดได้ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าได้สนทนาถึงสิ่งที่เป็นวิกฤตประการหนึ่งที่บิดเบือนทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ การสอนให้ปิดวาจา ไม่พูดกัน ซึ่งก็เข้าใจ (แบบผิดๆ ) ตามๆ กันไปว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่จะได้ทบทวนตนเองและเพื่ออยู่อย่างผาสุก เป็นต้น
เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าอย่างไร ก็ต้องกลับมาดูว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าอย่างไร มีไหมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ว่าอย่างนั้น เพราะเหตุว่ามีพระธรรมมากมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของวาจาที่ควรพูด กล่าวคือ วาจาสุภาษิต ซึ่งเป็นมงคลประการหนึ่งด้วย เพราะคำที่เป็นวาจาสุภาษิต คือ คำที่ปราศจากโทษ กล่าวคือ ไม่ใช่คำเท็จ ไม่ใช่คำส่อเสียด ไม่ใช่คำหยาบ ไม่ใช่คำเพ้อเจ้อ โดยวาจาสุภาษิต มีองค์ประกอบที่สำคัญ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจนิบาต วาจาสูตร ว่า "กล่าวถูกกาล กล่าวคำจริง กล่าวคำอ่อนหวาน กล่าวคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ และกล่าวด้วยเมตตาจิต"
โดยเฉพาะการทรงแสดงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยอดของวาจาทั้งหลาย เพราะทำให้เข้าใจความจริงจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ถ้าพระองค์ ไม่ตรัสเลย จะมีผู้เข้าใจความจริงได้อย่างไร
ถ้าไม่มีการกล่าวธรรม ไม่มีการแสดงธรรมเลย ใครจะได้ยินได้ฟังความจริง ซึ่งข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ก็ได้แสดงไว้ชัดเจนว่า "ในบรรดาบุคคลผู้แถลงคารม (ผู้กล่าว) ทั้งหลาย นั้น พระสัมมาพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ประเสริฐที่สุด" เพราะพระองค์ทรงแสดงพระธรรมในแต่ละครั้ง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน
ในหลายๆ พระสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญผู้กล่าวพระธรรมตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ไม่ได้มีการห้ามการกล่าวเลยแม้แต่น้อย ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ยิ่งกล่าวมาก แสดงมาก ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ และนอกจากนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะพบใคร ก็ทรงมีการปฏิสันถารต้อนรับ ทรงสนทนาปราศัยเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะได้ทรงแสดงพระธรรมต่อไป
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ชัดเจน ว่า ภิกษุใดสมาทาน (ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ) ที่จะไม่พูดกันเลย ซึ่งเป็นประหนึ่งการอยู่กันของปศุสัตว์ เป็นการประพฤติอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติทุกกฏ (กระทำผิด,กระทำไม่ถูกต้อง) ตามข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุไฉน โมฆบุรุษพวกนี้จึงได้ถือมูควัตร (ข้อวัตรปฏิบัติในการไม่พูดกัน เป็นใบ้) ซึ่งพวกเดียรถีย์ถือกัน การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น นั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมาทานมูควัตร ที่พวกเดียรถีย์สมาทานกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติทุกกฏ"
แต่พระองค์ทรงอนุญาตให้มีการกล่าว การตักเตือนกัน เพื่อประโยชน์ในการสำรวมระวังต่อไป ไม่ใช่ว่าไม่พูดกันเลย
จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมีเหตุมีผล สามารถเข้าใจได้ และไม่มีใครที่จะคัดค้านได้ เพราะเป็นคำจริง เป็นคำที่ถูกต้อง ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่สอนให้ทำตามๆ กันในสิ่งที่ผิด
พระธรรมทุกส่วนก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง สิ่งที่ผิด ก็ต้องกล้าทิ้ง ไม่เก็บไว้ พร้อมกับมีความจริงใจอย่างมั่นคงที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะได้ช่วยกันดำรงรักษาสิ่งที่มีค่าที่สุดนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป
จึงเป็นประโยชน์ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้สนทนาธรรม จะน้อยจะมาก ก็ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ซึ่งเป็นขณะที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...
กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณท่านวิทยากรทั้งสามท่านและคุณอัครา ที่จัดการสนทนาธรรมขึ้น หวังว่าจะมีครั้งต่อๆ ไป ครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง กราบอนุโมทนาในธรรมอันประเสริฐ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ