ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอน จาก หนังสือ "มาฆบูชา-ศรัทธาสามัคคี" (คุยกันวันพุธเล่มที่ ๒) โดย "คณะสหายธรรม" ดำเนินงานโดยอาจารย์ประณีต ก้องสมุทร คุณสงวน สุจริตกุล คุณอรุณี โชติบุตร คุณประมัย โชติวรรณ คุณประเทือง เทพหัสดิน ณ อยุธยา คุณพูลศรี เจริญพงษ์ คุณพิมลพรรณ ภัคดีศรี คุณปิยนารถ กนกพลอย
ความจริง เรื่อง วันมาฆบูชา เป็นเรื่องที่ เกือบจะเรียกว่า ชาวพุทธทุกคนทราบกันดี แต่ เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึง พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและ พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น รวมทั้งน้อมระลึกถึง พระธรรมที่พระบรมศาสดา ทรงยกขึ้นมาแสดง ท่ามกลางพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เหล่านั้น ด้วย คณะของเราจึงได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกัน
วันมาฆบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ ซึ่งตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของไทยเรา. ในวันนั้น นับย้อนหลังไป ในสมัยที่พระบรมศาสดา ยังทรงพระชนม์อยู่ได้มีเหตุการณ์สำคัญ อันเป็นเหตุให้ชาวพุทธได้น้อมระลึกถึง วันมาฆบูชามาจนตราบเท่าปัจจุบัน.
เหตุการณ์ที่ว่านั้น เกิดขึ้น ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธ อันเป็นแคว้นที่อยู่ในการปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ณ พระวิหารเวฬุวัน ได้มีการประชุมใหญ่ของพระอรหันตสาวกเรียกว่า สาวกสันนิบาต เกิดขึ้นในวันนั้น
การประชุมใหญ่ของพระอรหันตสาวกในวันนี้ประกอบด้วย องค์ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นวัน "มาฆนักขัตฤกษ์" พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันอุโบสถ
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมกัน ตามธรรมดาของตน โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน
๓. ในบรรดาพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป นั้นไม่มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย ที่เป็นภิกษุปุถุชน หรือ พระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามี หรือ พระอรหันต์ที่เป็น สุกขวิปัสสกะ ทุกรูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้ อภิญญา ๖ ทั้งสิ้น
๔. พระภิกษุทุกรูปนั้น ล้วนมิได้เป็นพระภิกษุ ที่ต้องปลงผมออกบรรพชาอุปสมบทหากแต่เป็นพระภิกษุ ด้วย "เอหิภิกขุอุปสมบท" ทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกการประชุมใหญ่นี้ว่า "จาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งหมายถึง การประชุมพร้อมกันด้วยองค์ ๔ ดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ดิฉันกล่าวตาม อรรถกถา ปัญญจสูทนี ภาค ๓ (หน้า ๑๙๗-๑๙๘) ตอนที่แก้ ทีฆนสูตร มัชฌิมปัณณาสก์ทีขนสูตร นี้ ส่วนมาก รู้จักกันในชื่อว่า "เวทนาปริคคหสูตร" ฯลฯ จากพระวินัย มหาวรรค และ อรรถกถา ที่แสดงไว้ ทำให้ทราบว่าหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือ เดือน ๖ ณ ใต้โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ฯ ตำบล อุรุเวลาแล้วประทับเสวยวิมุตติสุข อยู่ ณ บริเวณนั้น ๗ สัปดาห์ จึงได้เสด็จไปเมืองพาราณสีเพื่อทรงโปรด พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วทรงประทับจำพรรษาแรก อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นั้นเอง
ในระหว่างพรรษา ทรงโปรด พระยสะ และ สหายของพระยสะ ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ครั้นออกพรรษาแล้วได้เสด็จโดยลำพังไปที่ตำบลอุรุเวลาอีกเพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะและ บริวารอีกพันคน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
จากนั้น ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ พร้อมกับพระภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ผู้เคยเป็นชฎิลเมื่อถึงกรุงราชคฤห์ ได้ประทับอยู่ ณ ลัฎฐิวโนทยาน หรือ สวนตาลหนุ่ม ใกล้กรุงราชคฤห์ ณ ที่สวนตาลหนุ่งแห่งนี้ ทรงโปรด พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
ในวันรุ่งขึ้น ได้เสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ณ พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงรับพระราชอุทยานเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานพระบรมศาสดาทรงอนุญาต เวฬุวัน ให้เป็นอารามของพระภิกษุสงฆ์ และ ทรงประทับอยู่ ณ อารามนี้ เวฬุวนาราม หรือ พระเวฬุวันวิหาร จึงเป็นอาราม หรือ วัดแห่งแรกในพระศาสนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้
ณ เวฬุวันวิหารนี้เอง พระพุทธองค์ ทรงได้อัครสาวกทั้งสองคือท่านพระมหาโมคคัลลานะ และ ท่านพระสารีบุตรรวมทั้งบริวารปริพาชก ๒๕๐ คน ที่เคยเป็นบริวารของพระอัครสาวกทั้งสองเข้ามาอุปสมบทด้วย.
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ บรรพชาอุปสมบทได้ ๗ วัน จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ส่วนท่านพระสารีบุตร บรรพชาอุปสมบทได้ ๑๕ วัน จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน ๓อันเป็นเดียวกับวันประชุมพระอรหันตสาวก นั้นเอง. ฯลฯ .
ขออันเชิญ "พระโอวาทปาฏิโมกข์" พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขานิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธาน หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตีสมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทาสจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข สํวโรมตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญจ สยนาสนํอธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ
ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็น ตบะ อย่างยิ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัส พระนิพพาน ว่า เป็นยอด ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่จัดว่า เป็น บรรพชิตผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่า สมณะ การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๑ ความยังจิตให้ผ่องแผ้ว ๑ (๓ อย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
การไม่ว่าร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวม ในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ ๑ ที่นั่ง ที่นอน อันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
(๖ อย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย) ฯลฯ
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระภิกษุแต่ คฤหัสถ์ ผู้มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็ควรน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม ตามกำลัง พระองค์ทรงสอนให้อดทน อดกลั้น เพราะผู้ที่ขาดความอดทน ขาดความอดกลั้น ย่อมไม่สามารถละ-บาปธรรมไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพาน อันเป็นยอดแห่งธรรมทั้งหลายได้ ทรงสอนให้ละเว้นการกระทำบาป-อกุศล ทั้งปวง ทรงสอนให้เจริญกุศลทั้งปวง ตั้งแต่กุศลขั้นต่ำสุดไปจนถึงกุศลขั้นสูงสุด คือ อรหัตตมรรคชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสทั้งปวง ด้วย อรหัตตผล ทั้งหมดนี้ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ฯลฯ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ในท่ามกลางพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป นั้นล้วนแต่เป็นธรรมข้อปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุด ในพระพุทธศาสนา ทั้งสิ้น
แม้พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมเหล่านี้แก่พระอรหันต์ ผู้บรรลุจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้วแต่ พระองค์ทรงประสงค์จะประกาศ "หัวใจของพระพุทธศาสนา"คือศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้นั้นต้องปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงยกขึ้นมาแสดงนี้ เท่านั้น
แม้ท่านจะยังไม่ปรารถนาพระนิพพานท่านก็จะประสพกับความสุข ความเจริญ เป็นอย่างมากเพราะอานิสงส์ของการเจริญกุศล ประพฤติธรรม นั้น มีมากมายส่วนท่านที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเหล่านี้อยู่แล้วก็ควรที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม "พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุ "อมตธรรม" คือ "พระนิพพาน" อันเป็นยอดแห่งธรรมทั้งมวล
การน้อมรำลึกถึง พระองค์ท่าน ในวันมาฆบูชา นั้นไม่มีอะไร ดีไปกว่า การประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน
วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานเป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมี ตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลางนอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน ฯ
(ภาพจากสารานุกรมเสรี วิกิพิเดีย)
... ขออนุโมทนา ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
สาธุ อนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ