เรียน ท่านวิทยากร
ปัจจุบันภิกษุรับเงินทองกันเป็นประเพณีไปแล้ว ตั้งแต่พระผู้ใหญ่ยันผู้น้อย เช่นไปสวดงานศพหรืองานแต่งโยมใส่ซอง อาจมีภิกษุบางองค์ไม่อยากรับ แต่เมื่อมีพระผู้ใหญ่รับ พระที่ไปด้วยกันจำต้องรับ การออกกฎหมายไม่ให้ภิกษุรับเงินทองอาจช่วยได้ แต่ย่อมมีภิกษุบางกลุ่มคงไม่ยอม เพราะรับมากันจนเคยชิน ครั้นจะสิกขาลาเพศ พระที่ยังหนุ่มคงไม่เดือดร้อน แต่พระที่มีอายุคงได้รับผลกระทบแน่ ภิกษุที่ยังรับเงินทองควรจะหมดไป จะแก้ไขอย่างไรครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ มณิจูฬกสูตร ว่า
“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”
พระภิกษุ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วยไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่งที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริงถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง
เราไม่สามารถจะไปทำอะไรได้ ไม่สามารถจะไปจัดการอะไรได้ นอกจากการกล่าวคำจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระภิกษุที่ท่านสำนึกในความเป็นภิกษุ ก็ย่อมจะมีความละอาย ไม่ล่วงละเมิด หรือ ถ้าล่วงละเมิดแล้ว ก็เห็นโทษ แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ส่วนพระภิกษุที่ไม่ละอาย ก็ทำผิดต่อไป ใครจะช่วยท่านได้ ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นานก็ตาม อบายภูมิรออยู่ข้างหน้าแล้ว ถ้าล่วงละเมิดพระวินัยแล้วไม่แก้ไข ไม่กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย มีอาบัติติดตัว และยังปฏิญาณว่าเป็นพระภิกษุ หากมรณภาพไป ชาติถัดไป ก็คือ เกิดในอบายภูมิเท่านั้น ส่วนคฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็ไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ เมื่อรู้ว่าสิ่งใดผิด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น แต่จะทำเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง เท่านั้น ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ดิฉันคิดว่า เราควรช่วยหาทางทำให้พระท่านอยู่ได้กับปัจุบันนะคะ สมัยที่คุณอยู่ในผ้าเหลือง เวลาขึ้นรถไปเรียนหนังสือไม่ต้องจับเงินหรือคะ การพูดพระวินัยว่าพะพุทธเจ้าห้ามรับเงิน ดิฉันคิดว่าใครๆ ก็เข้าใจประเด็นนี้ แล้วจะให้พระหนุ่มเณรน้อยทำอย่างไร เวลาท่านเดินทางไปต่างจังหวัด เวลาท่านซื้อของ ในฐานะพุทธบริษัท4 เราควรช่วยกันคิดแก้ปัญหาด้วยไหมคะ
อีกอย่าง วาจาสุภาษิต. ต้อง 1. จริง 2. มีประโยชน์ 3. สุภาพ 4. ถูกกาล ดิฉันคิดว่าเราขาดข้อ 2. ไปนะคะ ดิฉ้นอยากเห็นวิธีช่วยกันแก้ปัญหา มากกว่าตำหนิกันอย่างเดียว ถ้าเรามีทางออกให้พระเณร ท่านที่ต้องใช้จ่ายเงิน ดิฉันเชื่อว่า พระเณรท่านก็พร้อมทำตามนะคะ บอกตามตรงนะคะ ดิฉ้นมีพระน้องชายบวชอยู่วัดใกล้บ้าน ท่านช่วยดูแลคุณแม่ด้วย ส่วนดิฉันทำงานอยู่กทม ดิฉันต้องโอนเงินเข้าบัญชีพระน้องชายทุกเดือน เพื่อเป็นค่าใช่จ่ายให้พระน้องพาคุณแม่ไปโรงพยาบาลทุกเดือน ช่วยหาทางออกให้ดิฉันด้วยนะคะ
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 3 โดย Somjabonsom
พระภิกษุเป็นเพศบรรพชิต มีความแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง ถ้ามีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุ ก็จะต้องน้อมประพฤติตามพระองค์ ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะรักษาสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็สามารถลาสิกขาได้ มาเป็นคฤหัสถ์ ก็จะไม่มีอาบัติใดๆ เลย สามารถทำงาน หาเงิน ใช้จ่ายเงินอย่างคฤหัสถ์ได้ ไม่มีโทษทางพระวินัยเลย แต่ถ้าตราบใดที่ยังปฏิญาณว่าเป็นพระภิกษุ ก็ต้องเป็นศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ขัดเกลากิเลสของตนเอง และ ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าหากล่วงละเมิดแล้ว ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่แก้ไขตามพระวินัย ก็ยังเป็นผู้มีโทษ หากมรณภาพไป ก็ไปเกิดในอบายภูมิ เท่านั้น
การปรนนิบัติดูแลบิดามารดา คฤหัสถ์ดูแลได้สะดวกมาก ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
โอ้โห คุณ khampan สงสัยต้องให้พระสึกทั้งหมดประเทศ เลยมั้งครับ มีไม่น่าถึง 10 รูปมั้งครับ ที่ไม่รับเงิน
ส่วนการดูแลพ่อแม่ พระศาสดาก็ทรงให้อนุญาตภิกษุดูแลได้ คุณจะให้พระท่านสึก มาดูแล คุณจะไม่เก่งกว่าพระศาสดาเลยหรือ?
ผมก็เคยบวช มาไม่กี่ปีพอรู้พระธรรมวินัยอยู่บ้าง
ถ้าใช้วิธีเช่นคุณ พระสงฆ์คงหมด สวดศพเผาผีก็ไม่ต้องแล้วอย่างนั้นหรือครับ
"เราไม่สามารถจะไปทำอะไรได้ ไม่สามารถจะไปจัดการอะไรได้ นอกจากการกล่าวคำจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระภิกษุที่ท่านสำนึกในความเป็นภิกษุ ก็ย่อมจะมีความละอาย ไม่ล่วงละเมิด หรือ ถ้าล่วงละเมิดแล้ว ก็เห็นโทษ แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ส่วนพระภิกษุที่ไม่ละอาย ก็ทำผิดต่อไป ใครจะช่วยท่านได้ ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นานก็ตาม อบายภูมิรออยู่ข้างหน้าแล้ว ถ้าล่วงละเมิดพระวินัยแล้วไม่แก้ไข ไม่กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย มีอาบัติติดตัว และยังปฏิญาณว่าเป็นพระภิกษุ หากมรณภาพไป ชาติถัดไป ก็คือ เกิดในอบายภูมิเท่านั้น ส่วนคฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็ไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ เมื่อรู้ว่าสิ่งใดผิด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น แต่จะทำเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง เท่านั้น"
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์คำปั่นและทางมูลนิธิฯ ค่ะ
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 6 โดย เกรียงไกร007
ถ้าหาก ไม่มีพระภิกษุตามพระธรรมวินัยจริงๆ ก็คือ ไม่มี ครับ จะบอกว่ามี ได้อย่างไร
-ไม่มีใครบอกให้พระภิกษุรูปไหนสึกได้ ครับ แต่กล่าวตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าเป็นภิกษุทุศีล รับเงินทอง ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรมากมาย เป็นต้น อบายภูมิรออยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่พ้นแน่ๆ เพราะอาบัติทุกกอง เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน และกั้นการเกิดในสุคติภูมิด้วย แล้วจะไปเกิดที่ไหน ก็คือ เหลือเพียงแค่อบายภูมิ เท่านั้น ถ้าท่านเห็นว่าท่านประพฤติไม่เหมาะควร มีความสำนึกเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แก้ไขตามพระวินัย ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวท่าน แต่ถ้าหากไม่สามารถจะดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต ตามพระธรรมวินัย ได้ ก็สามารถลาสิกขาได้ ไม่ได้ห้ามการลาสิกขา ยกตัวอย่างวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอัคคิขันโธปสูตร พระภิกษุที่ไม่ได้ฟัง เทวดาทั้งหลายที่ได้ฟัง ก็ไปป่าวประกาศแสดงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระภิกษุทั้งหลาย ได้ฟังแล้ว ผู้ที่ประพฤติไม่เหมาะไม่ควร รวมกันเป็นพวกๆ ลาสิกขา เป็นจำนวนมาก เพราะรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่าไม่ควรอยู่ในเพศบบรรพชิต ครับ
-ประเด็นการดูแลมารดาบิดา นั้น พระภิกษุ สามารถดูแลได้ แต่ต้องตามพระธรรมวินัย เช่นให้อาหาร ให้ยารักษาโรค เป็นต้น ครับ
-การเผาศพจริงๆ ไม่เกี่ยวกับพระภิกษุเลย คฤหัสถ์ทำกันเองได้ และ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และการทำบุญก็ไม่ได้จำเพาะว่าจะต้องทำกับพระภิกษุ เท่านั้น จะทำกับใครก็ได้ เช่น สงเคราะห์คนยากไร้ เป็นต้น ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบคุณและอนุโมทนากับคำตอบของท่านอาจารย์คำปั่นด้วยครับ ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็น สันทิฏฐิโก (พึงเห็นชัดด้วยตนเอง) อะกาลิโก (ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา) ซึ่งหมายถึงว่า ธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตามค่านิยม หรือ สังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ธรรมนั้นผู้ใดปฏิบัติย่อมเกิดผลแก่ผู้นั้น ผู้ใดไม่ปฏิบัติก็ไม่สามารถบังคับเขาได้
ขออนุโมทนากับผู้ที่ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่แท้จริงครับ
กราบอนุโมทนาครับ อาจารย์คำปั่น
ขออนุโมทนา อ.คำปั่น ครับ
เราไม่สามารถจะไปทำอะไรได้ ไม่สามารถจะไปจัดการอะไรได้ นอกจากการกล่าวคำจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระภิกษุที่ท่านสำนึกในความเป็นภิกษุ ก็ย่อมจะมีความละอาย ไม่ล่วงละเมิด หรือ ถ้าล่วงละเมิดแล้ว ก็เห็นโทษ แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ส่วนพระภิกษุที่ไม่ละอาย ก็ทำผิดต่อไป ใครจะช่วยท่านได้ ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นานก็ตาม อบายภูมิรออยู่ข้างหน้าแล้ว ถ้าล่วงละเมิดพระวินัยแล้วไม่แก้ไข ไม่กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย มีอาบัติติดตัว และยังปฏิญาณว่าเป็นพระภิกษุ หากมรณภาพไป ชาติถัดไป ก็คือ เกิดในอบายภูมิเท่านั้น ส่วนคฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็ไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ เมื่อรู้ว่าสิ่งใดผิด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น แต่จะทำเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง เท่านั้น
ขออนุโมทนาในคำตอบของ อ. คำปั่นครับ
ขออนุโมทนาครับ