ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่าขณะใด ที่ท่านมีมานะ คือ ขณะที่ไม่อ่อนน้อม ต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม
สังเกตดูก็ได้ วันหนึ่งๆ มีจริงไหม ในขณะที่ควรจะแสดงความนอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อมแต่จิตใจในขณะนั้น กระด้าง หรือมีความสำคัญตนเกิดขึ้นจึงไม่นอบน้อม ต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม
ถ้าเจริญสติ จะรู้ได้จริงๆ ว่า จิต มีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเป็นกิเลสเป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ควรละให้เบาบาง
ถ้าขณะนั้น รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรม แล ะรูปธรรม ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น ท่านก็จะละคลายความสำคัญตน และจิตใจที่หยาบกระด้าง จิตใจก็จะอ่อนโยน ขณะนั้น เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ปราศจากมานะ เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบรรพที่เป็น วีตราคจิต
สำหรับ เรื่องของความอ่อนน้อมใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต วันทนาสูตร ข้อที่ ๕๙๔ มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายการไหว้ ๓ อย่างนี้ เป็นไฉน คือ ไหว้ทางกาย ๑ ไหว้ทางวาจา ๑ ไหว้ทางใจ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลายการไหว้ ๓ อย่าง นี้แล
ขณะนั้น เป็นการอ่อนน้อม ที่เกิดขึ้นบางท่าน แสดงทางกาย บางท่านแสดงทางวาจา โดยกล่าววาจาที่อ่อนน้อม อ่อนโยน ในขณะนั้น คือ จิต ปราศจากมานะ
บางครั้ง ท่านอาจจะไม่ได้แสดงความอ่อนน้อม ทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ จิตใจ ซึ่งเห็นความเสมอกัน ของนามธรรม และ รูปธรรม ไม่มีช่องว่าง ระหว่างคนนั้น คนนี้ คนโน้นเลย เพราะว่า ได้ระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ขณะนั้น เป็นความอ่อนน้อมทางใจ ในทุกคน ที่ท่านได้พบ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญกุศล คือ การขัดเกลามานะ ความสำคัญตน ให้เบาบางลง
คงจะมีหลายท่าน ที่มีความนอบน้อมทางใจ โดยที่ไม่ได้แสดงออก ทางกาย และ ทางวาจา
แต่ใครจะทราบ ว่า ขณะนั้น เป็นจิตที่อ่อนน้อม ถ้าสติเกิด ระลึกรู้ในสภาพของจิต ที่อ่อนน้อม ในขณะนั้น ว่า เป็นจิต ที่เป็นกุศล ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่นาน พอถึงขณะอื่น ความยกตน ความสำคัญตน ก็เกิดได้อีก ตราบใด ที่ยังไม่ได้ดับ (มานะ) หมด เป็นสมุจเฉท
ในชีวิตปกติประจำวัน ก็จะมีกุศลธรรมเกิดบ้าง อกุศลธรรมเกิดบ้าง เกิดสลับกันไป เรื่อยๆ แต่ถ้าสติเกิด จิต ก็สามารถที่จะระลึกรู้ "ลักษณะ" ของจิต ที่อ่อนน้อมทางใจได้ แม้ว่า ในขณะนั้น ไม่ได้แสดงออก ทางกาย และ ทางวาจา มีไหม ท่านที่มีความนอบน้อมทางใจ แม้ว่าจะไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา
ขณะใด ที่วาจาอ่อนโยน และ ไม่มีความสำคัญตน และไม่มีการแสดงออกทางกาย ทางวาจาที่เป็นการยกตน หรือ ข่มบุคคลอื่น ในขณะนั้น คือ การอ่อนน้อมทางวาจา
เพราะฉะนั้น กาย วาจา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะให้สติเกิดขึ้น แล้วระลึกรู้ได้ ว่า ขณะนั้น เป็นจิตประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังไหว้ หรือ ไม่ไหว้ ถ้าสติเกิด ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ว่า ขณะนั้น เป็นจิตที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นจิตที่เป็นอกุศล ไม่ใช่ตัวตน
แม้ขณะที่มีความอ่อนน้อม ทางกาย ทางวาจาหรือแม้แต่ในขณะที่จิตใจอ่อนโยน เป็นกุศล ไม่มีความสำคัญตน ที่เป็นลักษณะของมานะ ถ้าสติเกิดบ่อยๆ ก็จะรู้ได้ ว่า มานะ ยังมีอยู่ แม้ในการแสดงความนอบน้อมทางกาย หรือทางวาจา หรือ แม้แต่ในขณะที่เป็นจิต ที่อ่อนโยน ทางใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนาบรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
ขออนุโมทนา
สาธุ
ซาบซึ้งค่ะ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ