[คำที่ ๓๕o] อกปฺปิยะ
โดย Sudhipong.U  10 พ.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 32470

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกปฺปิย

คำว่า อกปฺปิย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ – กับ – ปิ – ยะ] มาจากคำว่า น (ไม่) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า กปฺปิย (เหมาะควร,สมควร) รวมกันเป็น อกปฺปิย เขียนเป็นไทยได้ว่า อกัปปิยะ มีความหมายว่า ไม่สมควร แสดงถึงทั้งวัตถุที่ไม่สมควร เช่น เงินทอง เป็นวัตถุที่เป็นอกัปปิยะ คือ ไม่สมควรแก่พระภิกษุ เป็นต้น และ แสดงถึงความประพฤติเป็นไปที่ไม่สมควร เพราะอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วย ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายว่า ความประพฤติหรือการกระทำที่ไม่สมควร เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกระทำที่ไม่สมควร เป็นความประพฤติที่ไม่ดี นั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยใด หรือเพศใดก็ตาม ล้วนมาจากอกุศลธรรมทั้งนั้น เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนประการต่างๆ มากมาย และยิ่งหากสละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นภิกษุ ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่งแล้ว แต่กลับมีความประพฤติตรงกันข้ามกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้คล้อยตามความประพฤติของพระองค์ มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ก็ยิ่งเป็นโทษมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตำหนิการกระทำที่ไม่สมควรไว้มากมาย อย่างเช่น กรณีของพระอุปนันทศากยบุตร ผู้เป็นต้นบัญญัติในเรื่องการรับเงิน หลังจากที่พระอุปนันทศากยบุตร รับเงินแล้ว พระองค์ทรงตำหนิพฤติกรรมอันไม่สมควรของพระอุปนันทศากยบุตร ไว้มากมาย ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ดังนี้ คือ

"ดูกร โมฆบุรุษ (ผู้ว่างเปล่าจากประโยชน์) การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้รับรูปิยะ (เงิน) เล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว"


พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บริสุทธิ์ สะอาด เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้มีความเข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมแล้วโอกาสที่จะกระทำผิด กระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ก็ย่อมจะมีได้มาก ไม่ว่าจะเป็นวัยใด เพศใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่บวชเป็นภิกษุ ซึ่งอยู่ในเพศที่สูงยิ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็ย่อมล่วงละเมิดพระวินัยสิกขาบทต่างๆ มีโทษโดยส่วนเดียว เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะกำลังของกิเลส ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เองเพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุทั้งหลาย

การที่จะบวชเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณของการที่จะสละเพศคฤหัสถ์ มีความมั่นคงที่จะไม่ติดข้อง ไม่ทำกิจของคฤหัสถ์ ไม่รับเงินทอง ไม่มีทรัพย์สมบัติเหมือนอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะว่าชีวิตของพระภิกษุ อุทิศชีวิตแก่การที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต โดยต้องเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น จึงมีการฟังธรรมศึกษาธรรม เพราะความเข้าใจเท่านั้นที่จะขัดเกลากิเลสได้ ที่สามารถที่จะเห็นคุณของการที่จะเป็นภิกษุที่จะดำรงชีวิตตามสิกขาบท (สิ่งที่จะต้องศึกษาและน้อมประพฤติตาม) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะกระทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้เลย ไม่มีทางเสื่อมอย่างแน่นอน เพราะจุดประสงค์ของการบวชเป็นภิกษุ ก็เพื่อฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง เท่านั้น ถ้าไม่ได้บวชเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวนี้แล้ว ย่อมเป็นบุคคลผู้เสื่อมอย่างยิ่ง เสื่อมจากคุณความดีประการต่างๆ เป็นการเพิ่มโทษให้แก่ตนเองเท่านั้น และถ้าล่วงละเมิดสิกขาบท แล้วไม่เห็นโทษ ไม่กระทำให้ถูกต้องตามพระวินัย เป็นผู้มีอาบัติติดตัว ถ้าหากมรณภาพ (ตาย) ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า โดยไม่มีเว้น ไม่ว่าจะบวชนานหรือไม่นาน ก็ตาม เพราะเป็นผู้มีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการเกิดในสุคติภูมิ นั่นหมายความว่า ชาติหน้า เกิดในอบายภูมิเท่านั้นสำหรับภิกษุที่มีอาบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง การกล่าวตามพระธรรม อย่างถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่มีโทษเลย

พระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ นั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะเป็นสัจจะความจริง เมื่อเป็นความจริง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ก็เป็นความจริง ภิกษุทุกรูปทุกยุคทุกสมัยต้องประพฤติตามพระธรรมวินัย พระภิกษุรูปใดที่ล่วงละเมิดสิกขาบท ก็มีโทษตามพระวินัย ไม่มีการยกเว้น และข้อที่น่าพิจารณา คือ พระวินัยเป็นไปเพื่อขัดเกลาความประพฤติที่ไม่ดีทั้งหลาย เป็นการนำออกซึ่งสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ถ้าได้น้อมประพฤติตามด้วยความจริงใจ เว้นจากสิ่งที่ไม่เหมาะควร แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ย่อมจะไม่เดือดร้อน ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เลย และจะอยู่ได้อย่างเบาสบายผาสุกโปรดโปร่งอย่างยิ่งด้วยเพศที่ขัดเกลาจริงๆ ไม่ได้อยู่เพื่อลาภสักการะ ทรัพย์สินเงินทอง แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะเหตุว่าปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตมีเพียง ๔ อย่าง คือ จีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เท่านั้น เพียงพอแล้วที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อขัดเกลากิเลส แต่ถ้ายินดีในเงินและทอง ก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย

พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต มีความเคารพอย่างยิ่งในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อมีบุคคลย่ำยีทำลายพระธรรมคำสอนของพระองค์ พระอริยสาวกเหล่านั้นก็ได้มีการประชุมกันทำสังคายนารวมรวมพระธรรมคำสอน ตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา ก็เพื่อดำรงรักษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ดำรงอยู่และเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง ซึ่งท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอริยบุคคล ไม่มีแม้แต่ท่านเดียวที่ทำการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัย เลย มีแต่ช่วยกันรักษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบริสุทธิ์สะอาดอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง

ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท คือ ผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย่อมมีความมั่นคงที่จะเห็นคุณค่าว่าเป็นที่พึ่งจริงๆ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ตรงด้วยว่า จะช่วยกันดำรงรักษาสิ่งที่มีค่าสูงสุดนี้ ทำทุกอย่างเพื่อความถูกต้องตรงตามพระธรรมและเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมอบรมปัญญา ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะช่วยกันรักษาพระธรรม ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกของแต่ละคน และเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้กระทำในสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่สมควรทั้งปวงได้ในที่สุด คฤหัสถ์ ก็ไม่ทำผิด พระภิกษุ ก็ไม่ทำผิด เป็นภิกษุตามพระธรรมวินัยจริงๆ เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นคุณความดีเท่านั้น ไม่นำพาไปในทางที่ไม่สมควรเลยแม้แต่น้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ