ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อคิดจากชีวิตของ "ปฏาจาราภิกษุณี"
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ ในพระเชตวันมหาวิหาร ได้ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัลป์ ผู้พร้อมมูลด้วยอภินิหารเดินมาอยู่.
สดับมาว่า "นางปฏาจารา" นั้นในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางได้เห็นพระเถรีผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่ง อันพระปทุมุตตระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ นางจึงทำคุณความดีแล้วตั้งความปรารถนาว่า "แม้หม่อมฉันพึงได้ตำแหน่งเลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงพระวินัยทั้งหลายในสำนักของพระพุทธเจ้า เช่นด้วยพระองค์"
พระปทุมุตตระพุทธเจ้าทรงเล็งอนาคตังสญาณไป ก็ทรงทราบว่าความปรารถนาของนางจะสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า "ในอนาคตกาล หญิงผู้นี้จักเป็นเป็นผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินัยทั้งหลาย โดยนาม "ปฏาจารา" ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า."
พระพุทธเจ้าของเราในบัดนี้ทรงเห็นนางผู้มีความปรารถนาที่ตั้งไว้แล้วอย่างนั้น กำลังเดินมาแต่ไกล จึงทรงดำริว่า "เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี" จึงทรงอนุเคราะห์นางโดยประการต่างๆ ที่จะนำนางมาสู่วิหาร.
ในเวลาที่นางเดินมาใกล้พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง." นางกลับได้สติด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคในขณะนั้นนั่นเอง. แล้วทูลว่า "ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า, เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป, ส่วนอีกคนหนึ่งถูกน้ำพัดพาไป, สามีก็ตายในทางเปลี่ยว, มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับ เขาเผาบนเชิงตะกอนอันเดียวกัน."
พระศาสดาสดับคำของนางแล้ว จึงตรัสว่า
"อย่าคิดเลย ปฏาจารา, เธอมาสู่สำนักของผู้สามารถที่จะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรของเธอคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายแล้วในทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน"
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาความว่า
"น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของสัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว เศร้าโศก มีมิใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น; เพราะเหตุใดเล่า เธอจึงประมาทอยู่"
เมื่อพระศาสดาตรัสเรื่องที่เกี่ยวกับสงสาร ที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ความโศกในสรีระของนางได้ถึงความเบาบางแล้ว
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่านางมีความโศกเบาบางลงแล้ว จึงทรงเตือนต่อไปอีกว่า "ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้, เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานของตนเท่านั้น"
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
"บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อความต้านทาน, บิดาก็ไม่มี ถึงพวกพ้องก็ไม่มี, เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี; บัณฑิตทราบถึงอำนาจแห่งประโยชน์นั้นแล้ว พึงสำรวมในตน พึงชำระทางไปนิพพานโดยเร็วทีเดียว."
ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนี้แล.
ฝ่ายนางปฏาจาราเมื่อได้เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว จึงทูลขอบรรพชากับพระศาสดา. พระศาสดาทรงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณีให้บรรพชา.
นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า "ปฏาจารา" เพราะนางกลับความประพฤติได้.
วันหนึ่ง นางกำลังเอาหม้อตักน้ำล้างเท้า เทน้ำลง น้ำนั้นไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ขาด. ครั้งที่ ๒ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกลกว่านั้น. ครั้งที่ ๓ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกล แม้กว่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
นางถือเอาน้ำนั้นนั่นแลเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง ๓ แล้ว คิดว่า
"สัตว์เหล่านี้ ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก,
ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น,
ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น."
พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปเป็นดังว่าประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนางปฏาจารา แล้วทรงตรัสว่า "ปฏาจารา ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น ด้วยว่าความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งปัญจขันธ์"
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงทรงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
"ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ ถึงแม้เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม พึงประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น."
ครั้นจบพระธรรมเทศนานี้ นางปฏาจาราบรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้.
จากหนังสือ "ธรรมานุภาพ" เรียบเรียงโดย มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ๑ มกราคม ๒๕๒๗
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์
"อาศัยเรา ผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์
ผู้มีชาติ เป็นธรรมดาก็พ้นจากชาติ
ผู้มีชรา เป็นธรรมดาก็พ้นจากชรา
ผู้มีมรณะ เป็นธรรมดาก็พ้นจากมรณะ
ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา
ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส"
ขออนุโมทนา
"ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่งหรือเป็นที่ป้องกัน ของผู้ไปสู่ปรโลกได้ เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้น ถึงมีอยู่ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานของตน เท่านั้น"
ขออนุโมทนาครับ
สาธุ
โลภะเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสมุทัยอริยสัจจ์ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ย่อมมีเหตุให้ประสบกับทุกข์เพราะโลภะได้อยู่เพราะโลภะจะนำมาซึ่งการเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกยาวนานผู้ที่ยังต้องเกิด ... ก็ย่อมจะต้องประสพกับทุกข์มิใช่น้อยมีการพลัดพราก สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น ผู้ที่สั่งสมปัญญามามาก เมื่อได้ฟังพระธรรมอีกครั้ง ย่อมได้สติโดยเร็วเข้าใจธรรมโดยเร็ว ประจักษ์แจ้งธรรมโดยเร็วถึงความดับแห่งกิเลสโดยเร็วตามเหตุตามปัจจัย
... ขออนุโมทนาครับ ...
ธรรมช่วยให้มนุษย์ได้พ้นจากทุกข์ ทำให้เป็นผู้อยู่เหนือทุกข์
ขออนุโมทนาค่ะ
"ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมอยู่ถึงแม้เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปีความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิด และความเสื่อมพึงประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ของผู้นั้น"
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ . . .
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอกราบอนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ