แม้จะฟังธรรมมาเป็นแรมปีแล้วก็ตาม แต่ผมก็ยังหงุดหงิดและโมโหง่ายอยู่เหมือนเดิม บางครั้งก็ยังมีเรื่องทะเลาะกับพ่อแม่อยู่ ผมก็รู้ว่ามันบาปแต่บางครั้งมันก็ทนไม่ไหว อยากถามถึงตรงจุดนี้ว่าตัวเราจะมีวิธีควบคุมอย่างไรในขณะที่โกรธเกิดขึ้นหรือว่าเราควรจะพิจารณาอย่างไร เพราะมีบางคนบอกผมว่า "ฟังธรรมแต่ยังมีนิสัยแบบนี้อยู่ แล้วฟังธรรมเพื่ออะไร" บางครั้งผมจึงรู้สึกละอายใจที่ว่า ฟังธรรมมานานแล้วแต่จิตใจก็ยังเป็นเหมือนเดิม จึงอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำวิธีการด้วยครับเพราะบังคับจิตตัวเองนี้มันยากเหลือเกิน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ โทสเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ซึ่งความโกรธสามารถเกิดได้เป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่หนาด้วยกิเลส ที่ยังเป็นปุถุชน ซึ่งผู้ที่จะละความโกรธได้จนหมดสิ้น คือ พระอนาคามี ครับ
ซึ่งในความเป็นจริง โกรธ เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้น โดยมากของผู้ที่เผินในการศึกษาพระธรรม ย่อมที่จะละความโกรธ เพียงเพราะรู้ความโกรธไม่ดี ก็เป็นตัวเราที่จะละ เป็นตัวเราที่ไม่ดี เป็นตัวเราที่โกรธ เป็นตัวเราที่จะละความโกรธ ก็ไม่มีทางละความโกรธได้เลย เพราะฉะนั้น โกรธไม่ดี รู้แค่เข้าใจขั้นการฟัง ว่า โกรธไม่ดี แต่ยังไม่ได้รู้จักตัวความโกรธจริงๆ ในลักษณะของความโกรธที่เกิดขึ้น จึงยังไม่รู้ว่าโกรธเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกต้องในการละความโกรธ คือ เข้าใจความโกรธที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ย่อมเป็นหนทางการละความโกรธได้ในที่สุด ครับ
บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส มีกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากมาย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นทันที เป็นอกุศลทันที อกุศลเป็นธรรม เกิดกับใครก็เป็นอกุศลไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่เพราะไม่เข้าใจธรรม จึงมีการยึดถือว่าคนนี้ที่ทำไม่ดี สร้างความเสียหายให้แก่เรา หรือใครก็ตาม ตัวเราเองจึงเกิดอกุศลจิตเพราะการกระทำไม่ดีของผู้อื่น แท้ที่จริงแล้ว ตัวเราก็ไม่มี คนอื่นก็ไม่มี มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น แล้วจะโกรธอะไร? แต่ความโกรธ ความไม่พอใจก็เกิดขึ้นเป็นไป ตามความเป็นจริงแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจ สงสาร เข้าใจในอกุศลของบุคคลอื่น เพราะขณะนั้น เขากำลังสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตัวเขาเอง
ขณะที่โกรธ ขณะที่ไม่พอใจ ขณะที่ขุ่นเคืองใจ นั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ขณะนั้นเป็นการสะสมโทสะไว้ในจิตแล้ว เมื่อสะสมมากขึ้นๆ จนโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ มีกำลังมากขึ้น วันหนึ่งวันใดข้างหน้าอาจจะถึงกับประทุษร้าย เบียดเบียน ฆ่าผู้อื่นก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่ควรเห็นว่า ความโกรธเป็นเรื่องดี ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะยินดีในความโกรธ เพราะเหตุว่า การสอนให้โกรธ การสอนให้ทำร้าย สอนให้คิดร้ายต่อบุคคลอื่นนั้น ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่ ก็ยังเป็นการคิดเรื่องราวในความโกรธ ไม่ใช่หนทางการละความโกรธ ตามที่กล่าวมา แต่การคิดถูกก็เป็นการสะสมสิ่งที่ดี ให้คิดดี แต่ไม่ควรลืมว่า หนทางการละความโกรธ คือ การเข้าใจความโกรธว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ทำให้ผู้ที่ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อละอกุศล ละความไม่รู้ จนกระทั่งสูงสุดเพื่อความเป็นผู้ดับกิเลสได้หมด พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ครับ.
การรู้ว่าเราโกรธ แล้วความโกรธหายไป เป็นเราที่รู้โกรธ ไม่ใช่ ปัญญาที่รู้ลักษณะ ที่โกรธว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเป็นเราที่รู้ว่าโกรธแล้วความโกรธหายไป เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กิเลส คือ โทสะก็เกิดอีกเป็นธรรมดา ดังนั้น วิธีละกิเลสที่ถูกต้องคือ การรู้ลักษณะกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่การคิดนึก ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมาก ผู้ที่มีปัญญาท่านจึงเห็นโทษแม้ในอกุศลเพียงเล็กน้อย
เป็นความจริงที่ว่า ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความโกรธ ก็ยังมี เมื่อมีเหตุที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ถ้าเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะลดน้อยลง ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นจริงๆ จึงไม่ควรโกรธใครเลยทั้งสิ้น ไม่ควรเห็นว่าโกรธ เป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนมีที่พึ่ง นั่นก็คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูก) ของแต่ละบุคคล นั่นเอง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ฟังไว้ พิจารณาไว้ ถ้าฟังธรรมะจนเข้าใจถึงขั้นหนึ่ง ว่าฟังธรรมะ เป็นธรรมะ ไม่มีคน สัตว์บุคคล โกรธก็เป็นธรรมดา เพราะยังไม่ได้ดับสภาพธรรมะที่เรียกว่าโกรธ ท่านอาจารย์สุจินต์จะย้ำนักหนาว่า เป็นธรรมะหรือยัง ถ้าไม่เป็น ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจ เป็นเราที่ฟัง แล้วเป็นมาหลายชาติแล้ว จะฟังธรรมะสิบปีแล้วจะไม่โกรธย่อมไม่ตรงต่อเหตุ ลืมแล้วค่ะ ยากที่จะดับความเป็นตัวตน ง่าย รู้ไหมว่ากำลังประมาทในพระปัญญาธิคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขออนุญาตร่วมสนทนาค่ะ เท่าที่คิดว่าจะดี
1.ทำไมถึงไม่พอใจ เราทำอะไรผิดต่อเขาก่อนหรือเปล่า ถึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ทำให้เราเกิดความไม่พอใจ ทำผิดตรงไหนเราก็แก้ตรงนั้น ฝึกขอโทษ ให้เป็น ให้บ่อย ให้เร็ว
2.หากคิดว่า เขาผิดต่อเราก่อน เขาไม่มีเหตุผล เขาเอาแต่ใจตนเอง เขาเข้าใจผิด ..บางทีเขาก็หวังดีต่อเรา แต่แสดงออกไม่เหมาะเช่นบ่นว่าน่าเบื่อ..ฝึกเข้าใจผู้อื่น ว่าเขาทำอย่างนั้นเพราะเหตุไร ..ให้อภ้ยเขาได้ไหม ยิ่งเป็นพ่อแม่..ยิ่งต้องยอมให้ท่านเคารพท่าน เอาชนะกิเลสของเราเอง อย่าให้กำเริบทำร้ายตนเอง อย่าลามไปทำร้ายผู้อื่นอีก
3.สภาพธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุปัจจัยจะเกิดก็ต้องเกิด ก็พูดตามประสาปุถุชน ว่า สะสมเครียดสะสมโกรธบ่อยๆ ความดันสูง เส้นโลหิตแตก อัมพฤกษ์อัมพาต ฯลฯ โทษของความโกรธเบื้องต้น แล้วที่สะสมไปชาติต่อไปขณะต่อไปเป็นคนมักโกรธ ก็คงไม่มีใครต้องการให้เป็นอย่างนั้น ใช่ไหมคะ
ที่กล่าวนี้ แม้ไม่ใข่ภาษาธรรม แต่หวังให้คิดตั้งคำถามมีคำตอบให้ตนเองอย่างมีเหตุผล "ไม่เป็นไร-ขอโทษ-ขอบคุณที่เตือน"..เป็นคำที่ควรนึกถึงบ่อยๆ นะคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำสอนของพระศาสดา เป็นคำสอนซึ่งนำออกจากความทุกข์ทั้งปวง แต่โดยความความใจเท่านั้น
เพราะฉะนั้นความเข้าใจเล็กน้อยไม่สามารถทำอะไรกับกิเลสซึ่งใหญ่ยิ่งได้
เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม ทั้งสามคำนี้ต้องไม่แยกจากกัน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเป็นเราไม่มีทางจะหยุดกิเลสได้ ไม่มีทางครับ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น คือ ทางเดียวจริงๆ ครับ
ผมเองก็เป็นผู้ที่มีกิเลสมากมายนัก แต่ทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสนั้นได้ คือ ทำดีและศึกษาพระธรรมครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ไม่ว่าจะโกรธมากหรือน้อย อกุศลจิตเกิดทีละขณะ กุศลจิตก็เกิดทีละขณะ ไม่มีใครบังคับบัญชา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ทุกขณะที่ผ่านไปก็ผ่านไปหมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ สิ่งที่มีจริงคือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทำดีและศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สั่งสมเหตุปัจจัยที่ดีต่อไป ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ.
ไม่มีใครชอบความโกรธ มีเหตุมีปัจจัยก็เกิด แต่ให้รู้ว่าแม้ความโกรธก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่งไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร มีแต่การฟังธรรมแล้วเข้าใจเท่านั้น เพราะปัญญาจะเห็นโทษและทำหน้าที่ละ หรือ ขัดเกลากิเลสตามลำดับขั้นของปัญญาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ