[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 298
๒. ปัญญาสูตร
[๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว แล้ว ๘ ประการเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาได้แล้ว.
เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามสอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
เธอฟังธรรมนี้แล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย และความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา.. ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
เธอย่อมปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรมเป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา... ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.
อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้... สัญญาเป็นดังนี้...สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. ฯลฯ
ขอรบกวนเรียนถามความหมายของข้อความ "สำรวมระวังในปาติโมกข์" ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร" "สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย" "ธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด" และ"..ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ ๑
ความหมายของคำว่า "สำรวมระวังในปาติโมกข์" "ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร"
"สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย" ทั้งหมด คือ มีศีล ไม่ก้าวล่วงสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
คำว่า "ธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด" บทนี้ หมายถึงคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว มีความดีงาม สมบูรณ์
คำว่า "...ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า" หมายถึง แม้คนที่นั่งนิ่ง ไม่พูด (เข้าฌาน) ก็ไม่ควรดูหมิ่นท่าน เพราะ การนิ่งอย่างพระอริยเจ้า คือการเข้าฌาน
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ด้วยความเคารพ จาก ใหญ่ราชบุรี-ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลค่ะ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมที่
การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา [มหาจุนทเถรคาถา]
ขอสาธุกาลครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ