กตัญญู อกตัญญู เป็นสภาพจิตที่มีต่อบุคคลเท่านั้นหรือไม่
โดย pdharma  26 ส.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32699

กตัญญู อกตัญญู ที่เป็น กุศลจิต หรือ อกุศลจิต นั้นเกิดขึ้นระหว่างบุคคลกับบุคคลเท่านั้น แต่หากเป็นอย่างที่กล่าวทั่วไปว่า กตัญญูต่อชาติ บ้านเมือง เช่นนี้ถือเป็น กุศลจิต ด้วยหรือไม่ครับ

ขอขอบพระคุณ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความกตัญญู รู้คุณ คือ ความเป็นผู้รู้คุณของผู้อื่นและกระทำตอบแทน

กตัญญูกตเวที เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่หมายถึง การระลึกถึงคุณความดีที่บุคคลอื่นกับตน แล้วจึงตอบแทนคุณ ซึ่งต้องเป็นสติเจตสิกที่ระลึกได้ในขณะนั้น และก็ยังมีเจตสิกที่ดีงามอีกมากมาย ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นครับ

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ หน้า ๒๖๘

บุคคลใด รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า กตัญญูกตเวที เปรียบเหมือน บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดา และบิดา หรือในอาจารย์ และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ชื่อว่า หาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้


ซึ่งจากคำถามที่กล่าวมานั้น ก็ต้องเข้าใจคำว่า บ้านเมือง นั้นคืออะไร ถ้าไม่มี จิต เจตสิก ไม่มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเลยก็จะไม่มีบ้านเมือง และ ถ้าไม่มีการสมมติขึ้นว่านี่คือ คน มนุษย์ กลุ่มคน ประชาชน ก็จะมีบ้านเมืองไม่ได้ เพราะ สังคม บ้านเมือง ก็คือ การรวมกันของคนแต่ละคน จนเป็นบ้านเมือง ถ้าไม่มีคน กลุ่มคน บ้านเมืองก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การกตัญญูต่อบ้านเมือง ก็เป็นการกล่าวโดยเป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึง กตัญญูรู้คุณกับสัตว์บุคคล หรือ คนที่ทำความดี มีความดี ที่ปกครองบ้านเมือง เป็นต้น หรือ ปกครองกลุ่มคน ปกครองสัตว์บุคคล ดังนั้น กตัญญูจึงเป็นกตัญญรู้คุณของสัตว์บุคคล บุคคล ที่ทำความดี ที่ปกครองบ้านเมือง หรือ อยู่ในสังคมนั้น ก็เป็นการกล่าวรวม แท้ที่จริงแล้วเมื่ออธิบายลึกลงไป ก็จะรู้ว่าหมายถึง บุคคลที่อยู่รวมกันเป็นบ้านเมือง สังคม ที่มีคุณความดี กระทำสิ่งทีด่ จึงรู้คุณ กระทำตอบแทนด้วยความดี ครับ

เช่นเดียวกัน เราก็สามารถกล่าวว่าเป็นผู้กตัญญูต่อพระศาสนา พระศาสนาก็ดูเหมือน ไม่ใช่สัตว์บุคคล แล้วจะกตัญญูได้อย่างไร แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ กตัญญูต่อบุคคลผู้เลิศที่แสดงความจริง จึงเรียกว่าศาสนา นั่นคือ กตัญญูรู้คุณต่อองค์สมเด็จพระอรหันตสัมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูก โดยไม่ไปทำสิ่งที่ผิด มีการไปนั่งสมาธิโดยไม่รู้ อันเป็นการเนรคุณ อกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า อกตัญญูต่อพระศาสนาเพราะกระทำสิ่งที่ผิดและเผยแพร่สิ่งที่ผิด อันเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา คือ ทำลายคุณธรรมในใจของตนเองและผู้อื่น อันเกิดความเห็นผิด แทนที่จะเกิดปัญญานั่นเองครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อสภาพจิตที่ดีงาม เกิดขึ้นเป็นไป เป็นไปไม่ได้ที่จะทำชั่วหรือทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มีแต่จะทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น และขณะที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ก็เป็นประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ของตน คือ กุศลธรรม ก็เจริญขึ้น ดังนั้น ความกตัญญู คือ สภาพจิตที่ดีงาม รู้คุณของความดี และเมื่อรู้คุณของความดีแล้ว มีหรือที่ผู้นั้นจะไม่ทำดี เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ถ้าแต่ละคนเป็นอย่างนี้ การอยู่ร่วมกันในสังคมประเทศชาติก็เป็นไปอย่างผาสุก ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ