พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔- หน้าที่ ๔๐
๕. สุกชาดก
(โทษของการไม่รู้ประมาณ)
[๓๖๔] ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น รู้ประมาณในการ
บริโภคอยู่เพียงใด ก็ได้สืบอายุและได้เลี้ยง
มารดาบิดาอยู่เพียงนั้น.
[๓๖๕] อนึ่ง ในกาลใด ลูกนกแขกเต้านั้น
กลืนกินโภชนะมากเกินไป ในกาลนั้น ก็ได้
ชื่อว่าไม่รู้จักประมาณในการบริโภค จึงได้
จมลงในมหาสมุทรนั้นเทียว.
[๓๖๖] เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ความไม่หลงติดอยู่ในโภชนะ เป็นความดี
ด้วยว่าบุคคลไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงใน
อบายทั้ง ๔ บุคคลผู้รู้จักประมาณแล ย่อม
ไม่จมลงในอบาย ๔.
จบ สุกชาดกที่ ๕
อรรถกถาสุกชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภ
ภิกษุรูปหนึ่งผู้มรณภาพเพราะฉันมากเกินไปจนอาหารไม่ย่อย จึงตรัส
เรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยาว โส มตฺตมญฺาสิ ดังนี้.
ได้ยินว่า เมื่อภิกษุนั้นมรณภาพไปอย่างนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย
นั่งสนทนากันถึงโทษมิใช่คุณของภิกษุรูปนั้นในโรงธรรมสภาว่า ผู้มี
อายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นไม่รู้ประมาณท้องของตน บริโภคมากเกินไป
ไม่สามารถทำอาหารให้ย่อย ถึงมรณภาพ. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม
ว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่อง
อะไร ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็ตายเพราะ
บริโภคมากเป็นปัจจัย ดังนี้แล้วจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก
ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนคร
พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกแขกเต้าในประเทศหิม-
พานต์ ได้เป็นพระยาของนกแขกเต้าหลายพัน อยู่ในหิมวันตประเทศ
อันเลียบไปตามมหาสมุทร. พระโพธิสัตว์นั้นมีลูกอยู่ตัวหนึ่ง เมื่อ
ลูกนกนั้นเจริญวัย พระโพธิสัตว์ก็มีจักษุทุรพล. ได้ยินว่า นกแขกเต้า
ทั้งหลายมีกำลังบินเร็ว ด้วยเหตุนั้นในเวลานกแขกเต้าเหล่านั้นแก่
ตัวลง จักษุนั่นแลจึงทุรพลไปก่อน ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น ให้บิดา
มารดาอยู่เฉพาะในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดู. วันหนึ่ง ลูกนก
แขกเต้านั้นไปยังที่หากินแล้วจับอยู่บนยอดเขา มองดูสมุทรเห็นเกาะๆ
หนึ่ง ก็ที่เกาะนั้น มีป่ามะม่วง มีผลหวาน มีสีเหมือนทอง. วัน
รุ่งขึ้น ได้เวลาหากิน ลูกนกแขกเต้านั้นบินไปลงที่ป่ามะม่วงนั้น
ดื่มรสมะม่วงแล้วได้คาบเอาผลมะม่วงสุกมาให้บิดามารดา พระโพธิ-
สัตว์กินผลมะม่วงนั้นแล้วจำรสได้จึงกล่าวว่า ลูกเอ๋ย นี้ผลมะม่วงสุก
ในเกาะโน้นมิใช่หรือ เมื่อลูกนกแขกเต้ารับว่าใช้จ้ะพ่อ จึงกล่าวว่า
ลูกเอ๋ย พวกนกแขกเต้าที่ไปยังเกาะนั้น ชื่อว่าจะรักษาอายุให้ยืนยาว
ได้ไม่มีเลย เจ้าอย่าได้ไปยังเกาะนั้นอีกเลย ลูกนกแขกเต้านั้นไม่เชื่อ
คำของพระโพธิสัตว์นั้น คงไปอยู่อย่างนั้น. ครั้นวันหนึ่ง ลูกนก
แขกเต้า ดื่มรสมะม่วงเป็นอันมาแล้วคาบเอามะม่วงสุกมาเพื่อบิดา
มารดาเมื่อบินมาถึงกลางมหาสมุทร เพราะบินเร็วเกินไป ร่างกายก็
เหน็จเหนื่อยถูกความง่วงครอบงำ ทั้งที่หลับอยู่ก็ยังบินมาอยู่นั่นแหละ.
ส่วนมะม่วงสุกที่คาบมาด้วยจงอยปากก็หลุดล่วงไป. ลูกนกแขกเต้า
นั้น ได้ละทางที่เคยมาเสียโดยลำดับ จึงตกลงในน้ำ เขาลอยมาตาม
พื้นน้ำ จึงจมลงในน้ำ. ที่นั้น ปลาตัวหนึ่งคาบลูกนกแขกเต้านั้น
กินเสีย. เมื่อลูกนกแขกเต้านั้นไม่มาตามเวลาที่เคยมา พระโพธิสัตว์
ก็รู้ได้ว่า เห็นจะตกมหาสมุทรตายเสียแล้ว. ครั้งนั้น เมื่อบิดามารดา
ของเขาไม่ได้อาหารจึงซูบผอมตายไป.
พระศาสดาครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกแล้ว ทรงเป็นผู้
ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น รู้ประมาณใน
การบริโภคอยู่เพียงใด ก็ได้สืบอายุ และ
ได้เลี้ยงดูบิดามารดาอยู่เพียงนั้น. อนึ่ง ใน
กาลใด ลูกนกแขกเต้านั้นกลืนกินโภชนะ
มากเกินไป ในกาลนั้น ก็ได้ชื่อว่าไม่รู้จัก
ประมาณในการบริโภค จึงจมลงในมหาสมุทร
นั่นเอง. เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้รู้ประมาณ
ความไม่หลงติดในโภชนะเป็นความดี. ด้วย
ว่า บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงใน
อบายทั้ง ๔ บุคคลผู้รู้จักประมาณเท่านั้น
ย่อมไม่จมลงในอบาย ๔.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว โส ความว่า นกนั้นได้รู้
ประมาณในโภชนะอยู่เพียงใด. บทว่า ตาว อทฺธานมาปาทิ
ความว่า ให้ถึงความเป็นอยู่นาน คือได้อายุ ตลอดกาลเพียงนั้น.
บทว่า มาตรญฺจ นี้เป็นเพียงหัวข้อเทศนา. อธิบายว่า ได้เลี้ยงดู
บิดามารดา. บทว่า ยโต จ โข แปลว่า ก็ในกาลใดแล. บทว่า
โภชน อชฺฌวาหริ ความว่า กลืนกินรสมะม่วง. บทว่า ตโต
แปลว่า ในกาลนั้น. บทว่า ตตฺเถว สสีทิ ความว่า จมลง คือ
ดำลงในสมุทรนั้นนั่นแหละ ถึงความเป็นอาหารของปลา. บทว่า
ตสฺมา มตฺตญฺญุตา สาธุ ความว่า เพราะเหตุที่นกแขกเต้าไม่รู้
ประมาณในโภชนะ จึงตกมหาสมุทรตาย เพราะฉะนั้น ความเป็น
ผู้รู้จักประมาณ กล่าวคือความเป็นผู้ไม่ติดในโภชนะเป็นความดี
อธิบายว่า การรู้ประมาณเป็นความดี. อีกอย่างหนึ่งแม้ความเป็นผู้รู้
ประมาณก็เป็นความดี ซึ่งท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุพิจารณา
โดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา ฯลฯ
ด้วยการอยู่อย่างผาสุก และว่า :-
ภิกษุบริโภคของสดหรือของแห้งไม่
ควรให้อิ่มเกินไป เป็นผู้มีท้องพร่อง รู้จัก
ประมาณในอาหาร มีสติพึงงดเว้นเสีย ยังอยู่
๔-๕ คำ ก็จะอิ่ม อย่าบริโภค พึงดื่มน้ำ
แทน เป็นการเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่าง
ผาสุก สำหรับภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่น. เวทนา
ของภิกษุนั้นผู้เป็นมนุษย์มีสติอยู่ทุกเวลา ผู้
ได้โภชนะแล้วรู้จักประมาณ ย่อมเป็นเวทนา
ที่เบา อาหารที่บริโภคย่อมค่อยๆ ย่อยไป
เลี้ยงอายุ.
มีความเป็นผู้ไม่ติดก็เป็นความดี ซึ่งท่านพรรณนาไว้อย่าง
นี้ว่า :-
บุคคลไม่ติดรส ย่อมกลืนกินอาหาร
เพื่อต้องการยังอัตภาพให้เป็นไปเหมือน
บริโภคเนื้อบุตรในหนทางกันดาร เหมือนใช้
น้ำมันหยอดเพลารถฉะนั้น.
แต่ในบาลีท่านเขียนว่า อคิทฺธิตา ปาฐะในอรรถกถานี้ไพเราะ
กว่าพระบาลีนั้น. บทว่า อมตฺตญฺญู หิ สีทนฺติ ความว่า ด้วยว่า
บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ กระทำกรรมอันลามกด้วยอำนาจ
ความอยากในรส ย่อมจมลงในอบายทั้ง ๔. บทว่า มตฺตญฺญูว
น สีทเร ความว่า ส่วนชนเหล่าใดย่อมรู้จักประมาณในโภชนะ
ชนเหล่านั้นย่อมไม่จมลงทั้งในทิฏฐธรรม ทั้งในสัมปรายภพ.
พระศาสดาครั้นทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกแล้ว ทรง
ประกาศอริยสัจ ๔ แล้วประชุมชาดก. ในเวลาจบอริยสัจ ชนเป็น
อันมากได้เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง
พระอรหันต์บ้าง. ภิกษุผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะได้เป็นลูกของพระยา
นกแขกเต้าในกาลนั้น ส่วนพระยานกแขกเต้า คือเราตถาคตฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสุกชาดกที่ ๕