ทบทวนเรื่องของปัจจัย [๙]
โดย พุทธรักษา  8 ธ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 14522

ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เช่น "อุปนิสสยปัจจัย" เป็นต้น "อุปนิสสยปัจจัย" หมายถึง ที่อาศัยที่มีกำลังที่จะให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เช่น อกุศล ไม่มีใครชอบ แต่ทำไมเกิดขึ้นมาได้

ถ้าไม่มีการสะสมของอกุศลธรรมมาแล้วในอดีต ซึ่ง พร้อมที่เป็นปัจจัยทำให้ อกุศลธรรมในขณะนี้ เกิดขึ้นอกุศลธรรมในขณะนี้ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นอกุศลธรรม ที่เคยเกิดขึ้นเป็นไปในอดีต ไม่ได้สูญหายไปไหนแต่ สะสมและมีกำลัง จนกระทั่งเป็น "อุปนิสสยปัจจัย" ที่ทำให้ อกุศลในขณะนี้ เกิดขึ้น ฉันใด กุศลธรรม ก็เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มี "อธิปติปัจจัย" แต่ก็มีปัจจัยอื่น (เช่น อุปนิสสยปัจจัย) ที่ทำให้กุศลธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นได้

สำหรับเรื่องของกุศลธรรม ซึ่งมีฉันทะบ้าง วิริยะบ้าง จิตบ้าง ปัญญาบ้าง เป็น "อธิปติปัจจัย" เกิดร่วมด้วยมีท่านผู้ฟัง มีข้อสงสัยอะไรบ้างคะ

อาจารย์กรุณายกตัวอย่างเรื่องที่ว่า จิต เป็น อธิปติปัจจัย หมายความว่า ขณะนั้น ไม่ใช่ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ และ ไม่ใช่ปัญญาแต่ก็มี จิต ที่เกิดขึ้น เป็นไปในขณะนั้น เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ก็ได้

เช่น อย่างบางท่าน ท่านมีความมั่นคงในการที่จะเจริญกุศลแต่ไม่ใช่เพราะว่าท่านมีฉันทะ มีวิริยะ หรือมีปัญญา เป็นอธิปติปัจจัย ในขณะนั้นแต่เป็นเพราะว่า มีความมั่นคงในการที่จะเจริญกุศล ถ้ากล่าวถึงฝ่ายกุศลธรรม เช่น อย่างบางท่าน ท่านก็มีความมั่นคงที่จะไม่พูดมุสาเลย ในขณะที่มีความมั่นคงที่จะไม่พูดมุสา ขณะนั้น ไม่เห็นลักษณะของฉันทะหรือว่า ไม่มีลักษณะของปัญญา ที่ปรากฏให้รู้ได้หรือว่า ไม่มีลักษณะของวิริยะ ที่ปรากฏเป็นอธิปติปัจจัยแต่ขณะนั้น เป็นสภาพของ "จิต" ที่มั่นคงในกุศล

ท่านผู้ฟังมีจิตที่มั่นคงในกุศลประเภทไหนบ้างคะ เช่น ขณะที่ท่านขวนขวาย ฟังพระธรรม หรือ ศึกษาพระธรรมนี้น่ะค่ะ

ในขณะนั้น ลักษณะของ อธิปติปัจจัย อื่นๆ เช่น ฉันทะ หรือวิริยะ หรือปัญญา ไม่ปรากฏแต่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งความมั่นคงของท่าน ในการที่จะศึกษาพระธรรม หรือ พิจารณาพระธรรม ในขณะนั้น เป็นเพราะ "จิตตะ" เป็น อธิปติปัจจัย เพราะว่า บางท่าน กุศลไม่มั่นคงเลย ใช่มั้ยคะ ชักชวนง่ายที่สุด ที่จะให้เป็นอกุศล เช่น คิดว่าจะมาฟังพระธรรม แต่ว่ามีเพื่อนฝูง หรือว่าญาติพี่น้องชักชวนไปที่อื่น ท่านก็ไปแล้ว (เป็นต้น) หมายความว่าในขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมใด ที่เป็นอธิปติปัจจัยทางฝ่ายกุศล แต่ถ้ายังไงๆ ก็ไม่ยอม (ที่จะไม่ไปฟังพระธรรม) ก็หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีลักษณะของฉันทะ หรือวิริยะ หรือปัญญา กำลังปรากฏ เป็นอธิปติปัจจัย แต่ขณะที่ จิต มั่นคงที่จะเป็นไปในกุศลก็เป็นเพราะ "จิตตะ" เป็นอธิปติปัจจัย

แต่ก็ต้องทราบว่า สำหรับจิตตะก็ดี ฉันทะก็ดี วิริยะก็ดี วิมังสะ (ปัญญา) ก็ดี ที่จะเป็นอธิปติปัจจัย ได้ ไม่ใช่ในขณะที่เป็น วิบากจิต แต่ต้องเป็นในขณะที่เป็น ชวนจิต เท่านั้น และก็ต้องเว้นขณะจิตที่มีกำลังอ่อน เช่น จิตที่ประกอบด้วยเหตุเดียวซึ่งไม่สามารถจะมีสภาพธรรมใด เป็นอธิปติปัจจัยได้

ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๖

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย bsomsuda  วันที่ 8 ธ.ค. 2552

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 9 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ