สำหรับพระอริยบุคคล ท่านรู้ว่าในอดีตชาติท่านเป็นอะไรก็จริง แต่ท่านละความยึดถือแม้นามรูปว่าเป็นตัวตนหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีเยื่อใยที่จะไปผูกพันในบุคคลที่ท่านรู้ว่าชาติก่อนนี้เคยเป็นอะไร เกี่ยวข้องผูกพันกับท่านในสถานใด
ขุททกนิกาย ชาดก มีข้อความว่า
แม้ท่านพระเทวทัต ก็เคยเป็นพระราชบิดาของพระผู้มีพระภาคในพระชาติที่ทรงเป็นปทุมราชกุมาร ในมหาปทุมชาดก
ในพิสชาดก พระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตร ท่านมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระปุณณะ และท่านพระอานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ท่านพระอุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส
แต่เมื่อท่านเหล่านั้นเป็นพระอริยบุคคล ท่านไม่ได้เหลือเยื่อใยที่จะยึดถือนามใด รูปใดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ในมหานารทกัสสปชาดก พระเจ้าอังคติราช ซึ่งเป็นพระราชาของวิเทหรัฐ ผู้มีความเห็นผิดในกาลครั้งนั้น เป็นท่านพระอุรุเวลกัสสปในกาลครั้งนี้ ท่านพระอานนท์เป็นพระนางรุจาราชธิดา อำมาตย์ ๓ คนของพระเจ้าอังคติราช คือ วิชยอำมาตย์ ก็เป็นท่านพระสารีบุตรในครั้งนี้ สุนามอำมาตย์ ก็เป็นท่านพระภัททชิในครั้งนี้ อลาตเสนาบดี ก็เป็นท่านพระเทวทัตในครั้งนี้
ท่านจะเห็นการพัฒนาจิตของบุคคลตั้งแต่ครั้งโน้น ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้เป็นพระอัครสาวก ก่อนที่จะได้เป็นพุทธสาวกว่า ท่านจะต้องมีความเห็นถูก และสะสมบุญกุศลมากมายเหลือเกิน ก่อนที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ข้อความบางตอน ใน มหานารทกัสสปชาดก มีว่า
คืนวันเพ็ญ ในปฐมยาม พระเจ้าอังคติราชตรัสว่า ในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายพึงยังฤดูเช่นนี้ให้เป็นไปด้วยความยินดีอะไร
เป็นชีวิตปกติของท่านในครั้งนี้ก็ได้ คือ ในคืนวันเพ็ญท่านจะทำอะไรที่จะให้เกิดความแช่มชื่นยินดี เหมือนในครั้งนั้นที่พระเจ้าอังคติราชตรัสว่า ในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายพึงยังฤดูเช่นนี้ให้เป็นไปด้วยความยินดีอะไร
อลาตเสนาบดี ซึ่งเป็นท่านพระเทวทัตในชาตินี้ กราบทูลว่า ขอให้นำชายฉกรรจ์ออกรบ ขอให้ทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ
สุนามอำมาตย์ ซึ่งเป็นท่านพระภัททชิในชาตินี้ กราบทูลว่า ขอให้ทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ ในการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม
นั่นในครั้งโน้น ครั้งนี้ชีวิตของท่านอยากจะทำอะไร เดือนหงาย สว่าง สบาย อากาศเย็นดี จะทำอะไรกันดี ขอให้คิดดู ซึ่งตามความเป็นจริงของชาวโลกในปัจจุบันนี้ย่อมยินดีที่จะรื่นรมย์ด้วยกามคุณ ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยอาหาร ด้วยความสนุก ด้วยเพลง ด้วยดนตรี ด้วยการฟ้อนรำ ด้วยการประโคม ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนบุคคลในครั้งโน้น ซึ่งเพิ่งเริ่มพัฒนาให้จิตได้รู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งได้เป็นพระ อริยเจ้าในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม แต่ว่าในครั้งโน้นท่านก็มีความคิดเห็นอย่างนั้น
วิชยอำมาตย์ ซึ่งในครั้งนี้ได้เป็นท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระมหาราชา กามคุณทุกอย่างบำเรอพระองค์อยู่เป็นนิจแล้ว การทรงเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์ด้วยกามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิดของข้าพระบาท วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูตร รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่า
เคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอัครสาวกในครั้งนี้ เริ่มพัฒนาจิตของท่านตั้งแต่ในครั้งนั้น ซึ่งอลาตเสนาบดี คือ ท่านพระเทวทัตในครั้งนี้ก็ได้ทูลแนะนำให้ไปหาคุณาชีวกกัสสปโคตร ผู้มีความเห็นผิดว่า บุญบาปไม่มี โลกอื่นไม่มี ผลของทานไม่มี และความเห็นผิดประการอื่นๆ อีกหลายอย่าง และกล่าวว่า ทาน คนโง่บัญญัติไว้ คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งคำกล่าวของคุณาชีวกกัสสปโคตรนั้น เป็นที่ชอบใจของอลาตเสนาบดีอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้พระเจ้าวิเทหราชหลงเชื่อ ใส่ใจในกามคุณยิ่งขึ้น และยังรับสั่งให้ทุกคนใส่ใจในกามคุณให้มาก แต่พระนางรุจาราชธิดาเป็นผู้มีความเห็นถูก ซึ่งเป็นท่านพระอานนท์ในชาตินี้ ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษ ผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำตนเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อ ย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมเปื้อนแร่ง ฉะนั้น
นักปราชญ์ไม่ควรเป็นคนมีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน การเสพคนพาล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น
ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน ดังใบไม้สำหรับห่อ จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ คบหาสมาคมสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ
นี่เป็นถ้อยคำของพระนางรุจาราชธิดา ซึ่งท่านก็จะต้องสะสมเจริญกุศล เจริญ อินทรีย์บารมีจนกว่าจะแก่กล้า และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 185