ตามการสะสม
โดย papon  17 ก.พ. 2557
หัวข้อหมายเลข 24487

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

คำที่ใช้พิจารณาบ่อยๆ "ตามการสะสม" หมายถึงการสะสมของชวนวิถี จนกระทั่งเป็นอุปนิสสยปัจจัย ใช่หรือไม่อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามการสะสม หมายถึง จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ทางชวนวิถีจิต ที่เป็นกุศล อกุศล ซึ่งไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเลย เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง คือ จิต, จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็มีลักษณะเดียว คือ มีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น จิตหลากหลายประเภท ก็เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่จะมีการสะสมดีหรือไม่ดีก็ต้องในขณะที่เป็นกุศลกับอกุศล เท่านั้น แต่ว่าอกุศลเกิดแล้ว กุศลเกิดแล้ว ไม่สูญหายแล้วไปไหน สะสมสืบต่อต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ จึงทำให้เห็นถึงความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลได้ว่า มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ดีบ้าง ไม่ดี บ้าง นั้นก็เพราะเป็นไปตามการสะสม นั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว การสะสมที่ดี ที่ประเสริฐ ก็ต้องเป็นการสะสมกุศล สะสมความดี ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ความดีเกิดขึ้นเป็นไปในนั้น จิตก็เป็นจิตที่ดีงาม มีเจตสิกธรรมที่ดีงาม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ขาดการฟังพระธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ซึ่งท่านได้ตอบไว้ชัดเจนแล้ว

เป็นไปตามการสะสม ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างกัน

ผู้ถาม หลงลืมสติมีบ่อยมาก

สุ. เพราะฉะนั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่ากว่าสติจะเกิดจริงๆ เป็นปกติและก็ต้องละการยึดถือขณะนั้นด้วย ก็จะเห็นได้ว่าก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน เพราะว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ถ้ายังไม่รู้จริงๆ โดยที่เป็นความมั่นคงขึ้น โดยที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นและความเห็นผิดก็จะแทรกเข้ามาได้ มีความเป็นเราที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม และเป็นอนัตตา ก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นประโยชน์ว่าสำคัญที่สุดคือการฟังเพราะว่าเราบังคับอะไรไม่ได้เลย เราคุ้นเคยกับโลภะมาก ทางตา เราคุ้นเคยกับการที่จะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเราคุ้นเคยกับเรื่องราว และเราก็พอใจในเรื่องราว สิ่งนี้เป็นอะไร เป็นกระเป๋า เป็นรองเท้า เป็นหนังสือ เป็นอะไร ก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด ความพอใจของเราในเรื่องราวนั้นมากมายมหาศาล จนกระทั่งลืมว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตกิเลสของเราที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น วันนี้ไม่รู้เลยว่ามาก ทีละน้อย ทีละนิด ทีละหน่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้ามีอะไรที่ปรากฏว่าเป็นความพอใจอย่างมาก เริ่มเห็น และความพอใจอย่างมาก แต่ละชาติจะมากแค่ไหน ที่จะพาไปสู่อะไร นอกจากการกระทำทุจริต หรือว่าวนเวียนไปสู่สังสารวัฏฏ์ ถ้าเข้าใจความหมายที่เป็นอนัตตา ที่เป็นไปตามการสะสม ก็จะรู้ว่าการสะสมการฟังธรรมแม้เพียงเล็กน้อย ประโยชน์มากและก็ต่างกับทางฝ่ายอกุศล ซึ่งทางฝ่ายอกุศลไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ และก็ต้องเป็นไปตามการสะสม ทำให้แต่ละบุคคลก็มีอัธยาศัยต่างกันและก็จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานแสนนาน ก็ยิ่งจะเห็นประโยชน์ของการฟัง แม้เพียงเล็กน้อยก็ฟังเถอะ เราอาจจะไปเที่ยวกับญาติพี่น้อง พอกลับมาเราก็ฟังได้ หรือจะตรึกตรองถึงธรรม ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ คือเป็นผู้ที่เห็นคุณของการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ สั่งสม สะสมไปทีละเล็ก ทีละน้อย ก็จะทำให้มีอัธยาศัยในการที่จะฟังธรรม และยิ่งฟังก็ยิ่งเห็นความละเอียด ค่อยๆ เข้าใจในความละเอียดขึ้น ก็จะทำให้มีการไม่ประมาทในการที่จะไตร่ตรองธรรมให้ถูกต้องและก็อบรมเจริญไป ก็เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนว่าถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะฟังธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องบังคับ ก็จะรู้อัธยาศัยที่สะสมมาเมื่อไหร่ เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

สุรีย์ ดิฉันขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า การที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องของวิถีจิต โดยเฉพาะในลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ชื่อว่าจิตเพราะสั่งสมสันดานของตน โดยสามารถแห่งชวนวิถี หรือเราเรียนรู้วิถีจิตทั้งหมด อันนี้ถ้าเผื่อเราได้เรียนรู้อันนั้นแล้ว เราจะเข้าใจสังสารวัฏฏ์ที่เมื่อกี้ ขอย้อนกลับพูดถึงสังสารวัฏฏ์อีกสักนิด ว่าจะเข้าใจยิ่งขึ้นหมายความว่าอย่างไร

สุ. หมายความว่าตราบใดที่ยังมีเหตุ ตราบนั้นผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ ไม่หมดสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าก็จะต้องมีกรรม เมื่อมีกรรมก็จะต้องมีวิบาก ถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องมีกรรม

สุรีย์ ทีนี้สำหรับประการที่ ๓ ที่ชื่อว่าจิตเพราะเป็นธรรมชาติที่กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อันนี้พอฟังแล้วก็รู้สึกยังจะไม่เข้าใจชัด เท่ากับข้อ ๒ ที่ว่าสั่งสมสันดาน เรามองเห็นชัดเลยว่า ถ้าเราเกิดอกุศล มันซ้ำกัน ๗ ครั้ง มันสั่งสม แต่คำว่ากรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาให้ความกระจ่าง ให้เรามองเห็นชัดว่า ลักษณะจิตที่ ๓ มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร

สุ. เพราะเหตุว่ากิเลสก็ไม่ได้เกิดที่อื่น กิเลสก็เกิดกับจิต แล้วกรรมก็ไม่ได้เกิดที่อื่นกรรมก็เกิดที่จิต แล้วจิตที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า เพราะว่าเหตุกับผลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ คือ กุศลจิตจะเป็นกุศลวิบากจิตในขณะนั้นด้วยไม่ได้ หรือว่าอกุศลกรรมจะเป็นอกุศลวิบากในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าเมื่อทำกรรมแล้ว อกุศลกรรมดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

สุรีย์ สั่งสมวิบากอย่างไร อาจารย์คะ

สุ. เกิดดับสืบต่อกันเรื่อยๆ

สุรีย์ มันก็เกิดในจิตที่เกิดดับสืบต่อ

สุ. ทุกขณะ

สุรีย์ เหมือนกุศล อกุศลเหมือนกัน

สุ. ทุกขณะ

สุรีย์ วิบากก็ไปด้วยทุกขณะ

สุ. ยังไม่เกิด แต่มีปัจจัยที่จะให้เกิด

สุรีย์ ปัจจัย ตัวนี้ตัวสำคัญ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 17 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลก็เป็นไปตามการสะสมจริงๆ แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย และเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่ดี น้อมไปในทางที่เป็นกุศลอยู่เสมอ ก็จะต้องมีความแตกต่างไปจากผู้สะสมมาไม่ดี มากไปด้วยอกุศล การที่จะคิดไตร่ตรองในสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ก็ย่อมไม่เหมือนกับผู้ที่มีปัญญา ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นอกุศลหรือ เป็นกุศล สะสมแล้วในขณะที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น โดยไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะเปลี่ยนให้ปัญญาไม่ให้เป็นปัญญาก็ไม่ได้ หรือจะเปลี่ยนสภาพธรรมอื่นๆ ให้เป็นปัญญา ก็ไม่ได้ เพราะสิ่งที่มีจริง เป็นจริงแต่ละอย่าง โดยไม่ปะปนกันจริงๆ และประการที่สำคัญจะต้องไม่ลืมว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีกิเลสเกิดขึ้น ยังมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่ว่าจะมีแต่กุศลอยู่ตลอด ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ประโยชน์จริงๆ ก็คือ เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ..


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 17 ก.พ. 2557

การสะสมเกิดจากการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิกที่ชวนจิต ค่ะ