ชมยัญ ชมผล ชมทักขิเณยยบุคคล
โดย สารธรรม  20 พ.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 45151

ข้อความต่อไป

ชนทั้งหลายย่อมหวัง ย่อมชม ย่อมบูชานั้น มีความหมายว่า คำว่า ย่อมชม ความว่า ย่อมชมยัญบ้าง ย่อมชมผลบ้าง ย่อมชมทักขิเณยยบุคคลบ้าง

นี่เป็นอกุศลที่ละเอียดขึ้น ถึงแม้ว่าท่านให้ทานแล้ว แต่แม้กระนั้นความกระหยิ่มลำพองทำให้ท่านชมยัญนั้นบ้าง ชมผลของยัญบ้าง และก็ชมทักขิเณยยบุคคลผู้รับยัญบ้าง ซึ่งถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลหรือว่าเป็นกุศล แต่พระธรรมจะขัดเกลายิ่งขึ้นแม้ในขณะที่ได้กระทำกุศลไปแล้ว แต่มีอกุศลเกิดขึ้น ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่จะต้องขัดเกลา

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

ย่อมชมยัญอย่างไร

ย่อมชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของรัก เราให้ของเจริญใจ เราให้ของประณีต เราให้ของที่ควร เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เนืองๆ เมื่อกำลังให้ จิตก็เลื่อมใส ย่อมชมยัญอย่างนี้

เป็นอกุศลหรือเปล่า ขณะที่กำลังเกิดปีติ ขณะที่ให้สิ่งที่ประณีต สิ่งที่ควร หรือว่าเลือกให้ ให้ของที่รัก ให้ของที่เจริญใจ ให้ของที่ไม่มีโทษ หรือว่าเป็นผู้ที่ให้เนืองๆ เป็นอกุศลจิตได้ไหม ได้ เราให้ของรัก ย่อมชม คือ ยกย่องพรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของรัก ให้แล้ว ปีติแล้ว ก็ยังบอกคนอื่นอีกว่า เราให้ของรัก เราให้ของประณีต เคยเป็นอย่างนี้ไหม สังเกตจิตหรือเปล่า เจริญสติหรือเปล่า ถ้าไม่เจริญสติ คิดว่าเป็นกุศลแล้วใช่ไหม

ท่านให้ของที่ประณีต ท่านให้ของที่เจริญใจ ท่านให้ของที่ควร ทำให้เกิดปีติผ่องใสโสมนัสก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่ท่านชม ยกย่อง พรรณนานั้น เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง เล่าให้คนอื่นฟัง ชมยัญนั้นเสียมากมายด้วยความภาคภูมิใจ เป็นจิตประเภทไหน ผู้ที่เจริญสติหยั่งถึงจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้กล่าววาจาอย่างนั้น และก็รู้ว่า ขณะที่กล่าววาจาอย่างนั้น คำนั้นเกิดเพราะจิตชนิดใด สำหรับผู้ที่เจริญสติก็ทราบได้ และก็เข้าใจแม้ตนเองและบุคคลอื่นละเอียดขึ้น ซึ่งผู้ที่ไม่เจริญสติก็อาจจะชื่นชมโสมนัส ต่างคนก็ต่างพลอยชื่นชมดีใจ กุศลกับโสมนัสที่เป็นโลภะก็ผสมกันไป สลับกันไป แต่ว่าผู้ที่เจริญสติรู้สภาพของจิตที่ต่างกัน มีความละเอียดยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะละอกุศลธรรมได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ชมยัญด้วยความภาคภูมิใจ เพียงแต่กล่าวถ้อยคำที่จะทำให้คนอื่นเกิดปีติอนุโมทนา ก็เป็นเรื่องที่ว่า ที่ถูกที่ควรนั้นควรจะเป็นอย่างไร เพราะสติระลึกได้และรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรเว้น ควรขัดเกลาให้ละเอียดยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

ย่อมชมผลอย่างไร

ย่อมชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้เป็นเหตุจักได้รูป จักได้เสียง จักได้กลิ่น จักได้รส จักได้โผฏฐัพพะ จักได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล และอื่นๆ เป็นต้น จนกระทั่งถึงจักได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ย่อมชมผลอย่างนี้

ไม่ได้พ้นไปจากความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีตยิ่งขึ้นเลย ย้ายจากการชมยัญมาชมผลของยัญกันอีก อกุศลสลับกันกับกุศลไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่เจริญสติก็ไม่ทราบว่า อกุศลแอบมาเมื่อไร ในลักษณะใด แม้ในเรื่องของการทำกุศล ถ้าไม่พิจารณาจิต ไม่รู้สภาพของจิตอย่างละเอียดจริงๆ ก็ไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นได้มีอกุศลจิตประเภทละเอียดเกิดแทรกขึ้นแล้ว ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะขัดเกลาไหม ก็ไม่ขัดเกลาเพราะไม่รู้ ก็ชื่นชมโสมนัส เป็นโลภะสลับกันไปอีกเรื่อยๆ

ขอเชิญรับฟัง

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส เรื่องยัญ