[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 244
๑๒. โลหิจจสูตร
โลหิจจสูตร 351/244
อรรถกถาโลหิจจสูตร 254
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 12]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 244
๑๒. โลหิจจสูตร
[๓๕๑] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่บ้านสาลวติกา ก็สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์ ครอบครองบ้าน สาลวติกา ซึ่งมีประชาชนคับคั่ง มีหญ้า ไม้ และน้ำ สมบูรณ์ อุดมไปด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชทรัพย์ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทาน เป็นบําเหน็จเด็ดขาด
[๓๕๒] ก็สมัยนั้น ความเห็นอันลามก เห็นปานนี้เกิดขึ้นแก่ โลหิจจพราหมณ์ ว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดีในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุกุศลธรรมแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทําอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจําเก่าได้แล้ว พึงสร้างเครื่องจองจําอื่นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทําอะไรแก่ผู้อื่นได้ ดังนี้.
โลหิจจพราหมณ์ ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวช จากศากยตระกูล เสด็จจาริกไปไนแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านสาลวติกาแล้ว ก็กิตติศัพท์อันงามของพระโคดมผู้เจริญนั้น ได้แพร่หลายไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 245
ผู้จําแนกพระธรรม พระองค์ทรงกระทําโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ่มแจ้ง ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์เช่นนั้น เป็นการดีนักแล.
[๓๕๓] ครั้งนั้นโลหิจจพราหมณ์ ได้เรียกช่างกัลบก ชื่อ โรสิกะ มาบอกว่า มานี่ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลถามพระสมณโคดม ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความคล่องแคล่ว กําลัง ความอยู่ผาสุก ตามคําของเราว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ถามพระองค์ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความคล่องแคล่ว กําลัง ความอยู่ผาสุก และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยหมู่ภิกษุ โปรดรับนิมนต์เสวยภัตตาหาร ของโลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้ โรสิกะช่างกัลบกรับคําโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ถามพระองค์ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความคล่องแคล่ว กําลัง ความอยู่ผาสุก และให้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยหมู่ภิกษุโปรดรับนิมนต์ เสวยภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
[๓๕๔] โรสิกะช่างกัลบกทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกระทําประทักษิณ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 246
เสร็จแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ บอกว่า ข้าพเจ้าได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าตามคําของท่านแล้ว. และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับนิมนต์แล้ว. ครั้งนั้นแลโลหิจจพราหมณ์ ตระเตรียมของเคี้ยวของฉัน อันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น ได้เรียกโรสิกะมาสั่งว่า มานี่เพื่อนโรสิกะ จงไปหาพระสมณโคดม แล้วจงทูลพระสมณโคดมว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสําเร็จแล้ว. โรสิกะ รับคําโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วยืนที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระเจ้าข้า ภัตตาหารสําเร็จแล้ว.
[๓๕๕] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสก แล้วทรงถือบาตรจีวรเข้าไปยังบ้านสาลวติกา พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ เวลานั้น โรสิกะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลัง กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์เกิดความเห็นชั่วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ พึงบรรลุกุศลธรรม ครั้งบรรลุแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทําอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจําเก่าได้แล้ว พึงทําเครื่องจองจําอย่างอื่นใหม่ ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมลามก ผู้อื่นจักทําอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงปลดเปลื้องโลหิจจพราหมณ์เสีย จากความเห็นชั่วนี้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร โรสิกะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว ประทับเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. ลําดับนั้นโลหิจจพราหมณ์ได้อังคาสหมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ให้อิ่มหนําให้เพียงพอแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 247
[๓๕๖] ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงนําพระหัตถ์ออกจากบาตร โลหิจจพราหมณ์ถืออาสนะที่ต่ําอันหนึ่ง นั่งที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ดูก่อนโลหิจจะ เขาว่าจริงหรือ ท่านเกิดความเห็นลามกอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ บรรลุธรรมที่เป็นกุศลแล้วไม่บอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นทําอะไรแก่ผู้อื่นได้ เปรียบเหมือนบุคคลตัดเครื่องจําจองเก่าได้แล้ว พึงทําเครื่องจําจองใหม่ อย่างอื่นฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวว่า เป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทําอะไรแก่ผู้อื่นได้ดังนี้.
โลหิจจพราหมณ์ กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นความจริงอย่างนั้น.
ดูก่อน โลหิจจะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านครอบครอง บ้านสาลวติกามิใช่หรือ อย่างนั้นสิท่านโคดม. ตรัสถามว่า ผู้ใดหนอจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ครอบครองบ้านสาลวติกาอยู่ โลหิจจพราหมณ์ควรใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในบ้านสาลวติกานั้น แต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ดังนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นจะชื่อว่า ทําอันตราย หรือไม่ทําอันตรายแก่ชนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่. ชื่อว่า อันตรายสิท่านโคดม. เมื่อทําอันตรายจะชื่อว่า หวังประโยชน์ หรือไม่หวังประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น. ชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์สิท่านโคดม. ผู้ไม่หวังประโยชน์จะชื่อว่า เข้าไปตั้งจิตเมตตาในชนเหล่านั้น หรือเป็นศัตรู. เป็นศัตรูสิท่านโคดม. เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรูจะชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิสิท่านโคดม. ดูก่อนโลหิจจะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติเป็น ๒ คือ นรก หรือกําเนิดเดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง.
[๓๕๗] ดูก่อนโลหิจจะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลมิใช่หรือ. อย่างนั้นสิ ท่าน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 248
โคดม. ดูก่อนโลหิจจะ ผู้ใดหนอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลอยู่ พระองค์ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ในแคว้นกาสี และโกศลแต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทําอันตรายหรือไม่ทําอันตราย แก่พวกท่านและคนอื่น ซึ่งได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าปเสนทิโกศลเลี้ยงชีพอยู่.
ชื่อว่า ทําอันตราย ท่านโคดม. เมื่อทําอันตรายชื่อว่า เป็นผู้หวังประโยชน์ หรือไม่หวังประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น.
ชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ ท่านโคดม. ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์จะชื่อว่า เข้าไปตั้งเมตตาจิต หรือเป็นศัตรูในชนเหล่านั้นเล่า. เป็นศัตรูสิท่านโคดม.
เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้วจะชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิเล่า. เป็นมิจฉาทิฏฐิสิท่านโคดม.
ดูก่อนโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติเป็น ๒ คือ นรก หรือกําเนิดเดียรัจฉาน คติอย่างใดอย่างหนึ่ง.
[๓๕๘] ดูก่อนโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกา ควรใช้สอยผลประโยชน์ อันเกิดในบ้านสาลวติกาแต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทําอันตรายแก่ชนที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ เมื่อทําอันตรายชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ชื่อว่า เข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูย่อมชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนั้นนั่นแล.
โลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรมแต่แล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้ บุคคลตัดเครื่องจําจองเก่าได้แล้ว ควรสร้างเครื่องจําจองอย่างอื่นขึ้นใหม่ ฉัน-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 249
ใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น ชื่อว่า ทําอันตรายแก่กุลบุตรผู้อาศัยธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ย่อมทําให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง และแก่กุลบุตรผู้ที่บ่มครรภ์อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทําอันตรายย่อมชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ย่อมชื่อว่า เข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูย่อมชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ. ดูก่อนโลหิจจะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรก หรือกําเนิดเดียรัจฉาน คติอย่างใดอย่างหนึ่ง
[๓๕๙] ดูก่อนโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงครองแคว้นกาสี และโกศลพระองค์ทรงใช้สอยผลประโยชน์อันเกิดขึ้นในแคว้นกาสี และโกศล แต่พระองค์เดียว ไม่พระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทําอันตรายแก่ชนทั้งหลาย คือตัวท่าน และคนอื่น เมื่อทําอันตรายชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ชื่อว่า เข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เช่นเดียวกัน. โลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้พึงบรรลุกุศลธรรม แต่แล้วไม่พึงบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้. บุคคลตัดเครื่องจองจําอันเก่าแล้ว ควรสร้างเครื่องจองจําอย่างอื่นใหม่ ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทําอันตรายแก่กุลบุตรผู้ที่ได้อาศัยธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ คือทําให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง และแก่กุลบุตรผู้บ่มครรภ์อันเป็นทิพย์
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 250
เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทําอันตราย ชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์เมื่อไม่หวังประโยชน์ชื่อว่า ตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรู ย่อมชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนโลหิจจะ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรก หรือกําเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
[๓๖๐] ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดา ๓ จําพวกนี้ ควรประท้วงได้ในโลก การประท้วงศาสดาเห็นปานนี้ของเขา เป็นการประท้วงที่เป็นจริงแท้ เป็นธรรมไม่มีโทษ ศาสดา ๓ จําพวกเป็นไฉน ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุ แต่แล้วก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤตินอกคําสอนของศาสดา. เขาจะพึงถูกประท้วงอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว แต่แล้วท่านก็แสดงธรรมแก่สาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และย่อมหลีกเลี่ยงประพฤตินอกคําสอนของศาสนา เหมือนบุรุษรุกเข้าไปหาสตรีที่กําลังถอยหลังหนี หรือเหมือนบุรุษที่กอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใดข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้ ดังนี้ ดูก่อนโลหิจจะนี้เป็นศาสดาที่หนึ่งซึ่งควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วงของผู้ประท้วงศาสดาเห็นปานนี้ เป็นจริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
[๓๖๑] ดูก่อนโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจาก
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 251
เรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุ แต่เขาแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลายนี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤตินอกคําสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกประท้วงว่า ท่านออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว แต่ท่านแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้นย่อมตั้งใจฟัง ย่อมเงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤตินอกคําสอนของศาสดา เหมือนบุคคลทิ้งนาของตนแล้ว สําคัญของผู้อื่นว่า เป็นที่ที่ตนควรทําให้ดี ฉันใด คําอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้ ดูก่อนโลหิจจะ นี้แลศาสดาคนที่สาม ซึ่งควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วง ของผู้ประท้วงศาสดาเห็นปานนั้นชื่อว่า เป็นจริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
[๓๖๒] ดูก่อนโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด เขาบรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ของเขาว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย ดังนี้ สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟังไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อความรู้ทั่ว หลีกเลี่ยงประพฤตินอกคําสอนของศาสดาเขาพึงท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านออกจากเรือนบวชเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย ดังนี้สาวกเหล่านั้น ย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าใจไปตั้งจิตเพื่อความรู้ทั่ว และหลีกเลี่ยง
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 252
ประพฤตินอกคําสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจําเก่าได้แล้ว สร้างเครื่องจองจําอย่างอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด คําอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ ความโลภว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทําอะไรกันได้ ดังนี้ ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาคนที่สาม นี้ควรประท้วงในโลก อนึ่ง ผู้ใดประท้วงศาสดา การประท้วงของผู้ประท้วงเป็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นจริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาสามจําพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก อนึ่งการประท้วงของผู้ประท้วงศาสดา เห็นปานนี้ชื่อว่า เป็นจริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ดังนี้.
[๓๖๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาบางคนที่ไม่ควรท้วงในโลก มีบ้างหรือ
ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกมีอยู่. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญก็ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกเป็นไฉน.
ดูก่อนโลหิจจะ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ฯลฯ (พึงขยายความให้พิสดารเหมือนในสามัญญผลสูตร) ฯลฯ
ดูก่อนโลหิจจะ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่.
ดูก่อนโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด ศาสดานี้แลไม่ควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วงของผู้ประท้วงศาสดาเห็นปานนี้ชื่อว่า ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ เข้าถึงฌานที่ ๒ ที่ ๓ที่ ๔ อยู่. ดูก่อนโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดาแม้นี้แลไม่ควรประท้วงในโลก อนึ่งการประท้วงของผู้ประท้วงศาสดา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 253
เห็นปานนี้ ชื่อว่า ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ เธอย่อมน้อม โน้มจิตใจไปเพื่อญาณทัสสนะ. สาวกในศาสดาใด ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. สาวกในศาสดาใด... ไม่เป็นธรรมมีโทษ.
[๓๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งพึง ฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งกําลังจะตกไปสู่เหว คือนรกไว้ ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันใด ข้าพระองค์กําลังจะตกไปสู่เหว คือนรก พระโคดมผู้เจริญได้ยกขึ้นให้ ยืนอยู่บนบก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ ไพเราะยิ่งนัก จับใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุจักเห็น รูปดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญก็ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดจงทรงจําข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปเถิด.
จบโลหิจจสูตรที่ ๑๒
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 254
อรรถกถาโลหิจจสูตร
โลหิจจสูตร มีบทเริ่มต้นว่า (ข้าพเจ้าพระอานนท์เถระเจ้า) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ... ... ... ... ... ในแคว้นโกศล
ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยากในโลหิจจสูตรนั้น บทว่า สาลวติกาเป็นชื่อของบ้านนั้น. ได้ยินมาว่าบ้านนั้นล้อมด้วยไม้สาละ เป็นแถวไปตามลําดับเหมือนล้อมรั้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า บ้านสาลาติกา. บทว่า โลหิจจะ เป็นชื่อพราหมณ์ผู้นั้น.
บทว่า ลามก คือ ชื่อว่าลามก เพราะเว้นจากการอนุเคราะห์ผู้อื่น.แต่ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เกิดขึ้นแล้ว คือบังเกิดแล้ว ได้แก่ ไม่ใช่เพียงเกิดในใจอย่างเดียวเท่านั้น. นัยว่า โลหิจจพราหมณ์นั้นยังพูดอย่างนั้น แม้ในท่ามกลางบริษัทตามอํานาจของใจ. บททั้งหลายว่า เพราะผู้อื่นจักทําอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ อธิบายว่าคนอื่นจะพูดว่า ผู้ที่ถูกเขาพร่ําสอนจักทําอะไร แก่ผู้พร่ําสอนนั้นได้ ตนเองนั่นแหละควรสักการะเคารพกุศลธรรมที่ตนได้แล้วอยู่. ข้อว่า โลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกชื่อโรสิกามา มีความว่าโลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกผู้ได้ชื่อเป็นอิตถีลิงค์อย่างนี้ว่าโรสิกา นัยว่าเขาทราบถึงการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วคิดว่า การที่เราจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ประทับจะเป็นภาระแต่เราจะอาราธนาให้เสด็จมายังเรือน แล้วเข้าเฝ้า และจักถวายอาคันตุกภิกษาตามกําลัง เพราะฉะนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงเรียก โรสิกาช่างกัลบกนั้นมา.
บทว่า ตามเสด็จไปข้างหลังๆ หมายความว่า โรสิกาช่างกัลบกตามเสด็จไปข้างหลังๆ เพื่อสะดวกในการทูลสนทนา. บทว่า ขอจงทรง-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 255
ปลดเปลื้อง คือ โรสิกากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลดเปลื้อง คือ กําจัดจากความเห็นลามก นัยว่าโรสิกานี่เป็นอุบาสกเป็นเพื่อนรัก ของโลหิจจพราหมณ์ เพราะฉะนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น เพราะหวังประโยชน์แก่โลหิจจพราหมณ์. ในบทว่า ไม่เป็นไร โรสิกา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระสุรเสียงด้วยพระดํารัสแรก ทรงเปล่งพระสุรเสียงย้ำอีกด้วยพระดํารัสที่สอง. ในบทนี้พึงทราบอธิบายดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงข้อความนี้ว่า ดูก่อนโรสิกา เรากระทําทุกรกิริยาหลายอย่างและบําเพ็ญบารมี ตลอดสี่อสงไขย และตลอดแสนกัป ก็เพื่อประโยชน์นี่แหละเรารู้แจ้งแทงตลอดสัพพัญุตญาณ ก็เพื่อประโยชน์นี่อีกแหละ การขจัดความเห็นลามกของโลหิจจพราหมณ์ไม่ใช่เรื่องหนัก ของเรา ดังนี้ ชื่อว่าทรงเปล่งพระสุรเสียงด้วยพระดํารัสแรก. และเมื่อจะทรงแสดงความข้อนี้ว่า ดูก่อนโรสิกา การมาก็ดี การนั่งดี การสนทนาปราศรัยก็ดี ในสํานักเราของโลหิจจพราหมณ์ทั้งหมดนี้จงยกไว้ก่อน แม้ว่า บุคคลเช่นโลหิจจพราหมณ์มีความสงสัยในปัญหาตั้งแสนข้อ เราก็มีกําลังพอที่จะบรรเทาความสงสัยได้แต่ในการบรรเทาความเห็นลามกของโลหิจจพราหมณ์เพียงคนเดียว ไฉนจะเป็นเรื่องหนักของเราเล่าดังนี้ จึงทรงเปล่งพระสุรเสียงย้ำด้วยพระดํารัสที่สอง
บทว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยคือการเกิดขึ้นแห่งโภคทรัพย์ อธิบายว่าทรัพย์และข้าวเปลือกอันเกิดขึ้นจากผลประโยชน์นั้น. บทว่า ผู้ที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพ คือ ชนทั้งหลายมีญาติบริวารชนทาสและกรรมกรเป็นต้น อาศัยเขาเลี้ยงชีพ. บทว่า ผู้ทําอันตราย คือผู้ทําอันตรายทางลาภ. คําว่า ประโยชน์ ในบทว่า อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ ได้แก่ความความเจริญ. บุคคลย่อมเอ็นดู เพราะฉะนั้น ชื่อว่าผู้อนุเคราะห์ความ-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 256
ว่าย่อมปรารถนา ท่านกล่าวอธิบายว่าปรารถนาความเจริญ หรือไม่ปรารถนา. บทว่า นรก หรือกําเนิดเดียรัจฉาน มีอธิบายว่า หากว่าความเห็นผิดนั้นสมบูรณ์ คือ เป็นความแน่นอน ย่อมเกิดในนรก โดยส่วนเดียว หากยังไม่แน่นอน ย่อมเกิดในกําเนิดเดียรัจฉาน.
บัดนี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระประสงค์จะให้พราหมณ์เกิดความสลดใจยิ่งขึ้น เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายสลดใจด้วยอันตรายทางลาภของตนเอง มิใช่สลดใจด้วยอันตรายทางลาภของคนอื่น ฉะนั้น จึงตรัสเรื่องเกิดขึ้นครั้งที่สองว่า โลหิจจะ ท่านสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉนดังนี้.
บทว่า กุลบุตรทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ กุลบุตรเหล่านี้สดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคต แล้วไม่สามารถจะก้าวลงสู่อริยภูมิได้. บทว่า ครรภ์อันเป็นทิพย์ รูปศัพท์เป็นปฐมาวิภัตติลงในอรรถทุติยาวิภัตติ แปลว่าซึ่งครรภ์อันเป็นทิพย์. อนึ่งบทว่า ครรภ์อันเป็นทิพย์นี้ เป็นชื่อ ของเทวโลก ๖ ชั้น. บทว่า กุลบุตรทั้งหลายย่อมบํารุง อธิบายว่า กุลบุตรทั้งหลายบําเพ็ญปฏิปทา เพื่อไปสู่เทวโลก ให้ทาน รักษาศีล ทําการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เจริญภาวนา ชื่อว่าย่อมบํารุงบริหาร ย่อมอบรม คือว่าย่อมเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง
บทว่า เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ อธิบายว่า วิมานของเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าภพเป็นทิพย์ เพื่อจะไปเกิดในวิมานเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่งบทว่า ครรภ์อันเป็นทิพย์ หมายถึง บุญวิเศษมีทานเป็นต้น. บทว่า ภพอันเป็นทิพย์ อธิบายว่า ภพทั้งหลายเป็นวิบากขันธ์ในเทวโลก กุลบุตรทั้งหลายกระทําบุญเพื่อเกิดในภพเหล่านั้น. บทว่า ทําอันตรายแก่ชนเหล่านั้น คือ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 257
ทําอันตรายแห่งมรรคสมบัติ ผลสมบัติ และความวิเศษแห่งภพอันเป็นทิพย์ของชนเหล่านั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงทําลายมานะของพราหมณ์ซึ่งขึ้นไปจนถึงภวัคคพรหม โดยวิธีอุปมาโดยไม่กําหนด แล้วทรงแสดงถึงศาสดา ๓ จําพวก ผู้ควรท้วง จึงตรัสพระดํารัสเป็นอาทิว่า ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดา ๓ จําพวกเหล่านี้. บทว่า การท้วงนั้น คือการท้วงของผู้ท้วงศาสดา ๓ จําพวกเหล่านั้น. บทว่า ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงคือไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้รอบ คือเพื่อประโยชน์แก่การรู้ทั่ว บทว่า หลีกเลี่ยง อธิบายว่า ไม่กระทําตามคําสั่งสอนของศาสดานั้นตลอดเวลา หลีกเลี่ยงประพฤติจากคําสอนนั้น. บทว่า พึงลุกเข้าไปหาสตรีที่กําลังถอยหลังหนี คือเข้าไปหาผู้ที่ถอยหนี ต้องการหญิงที่เขาไม่ต้องการ อธิบายว่า หญิงคนหนึ่งผู้ไม่ต้องการอยู่ร่วม ตัวคนเดียวก็ยังต้องการอยู่. บทว่า บุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ อธิบายว่า บุรุษไปข้างหลังแล้วกอดสตรีผู้ไม่อยากแม้จะเห็นยืนหันหลังให้ บทว่า ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น อธิบายว่า เมื่อศาสดาแม้นี้คิดว่า พวกนี้เป็นสาวกของเรา แล้วสอนสาวกผู้หลีกเลี่ยงประพฤติจากคําสอนด้วยความโลภ เราจึงกล่าวธรรมคือความโลภนี้ว่า มีข้ออุปไมยฉันนั้น ศาสดานั้นควรถูกท้วงว่า ท่านได้เป็นเหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรีที่กําลังหนี เหมือนบุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ด้วยธรรมคือความโลภใด ธรรมคือความโลภของท่านนั้นก็เป็นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. ข้อที่ว่า เพราะคนอื่นจักทําอะไรแก่คนอื่นได้ มีอธิบายว่าศาสดาย่อมควรถูกท้วงว่า ท่านสอนคนอื่นด้วยธรรมใด ท่านจงยังตนให้ถึงพร้อมในธรรมนั้นก่อน คือท่านจงทําให้ตรง เพราะคนอื่นจักทําอะไรให้คนอื่นได้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 258
บทว่า ที่อันตนควรบํารุง อธิบายว่า ควรถอนหญ้าที่ทําลายข้าว กล้าแล้วทําให้เรียบร้อย.
เนื้อความแห่งการท้วงครั้งที่ ๓ ว่า คนอื่นจักทําอะไรแก่คนอื่นได้ หมายความว่า คนอื่นที่ถูกพร่ําสอนตั้งแต่เวลาที่ไม่รับคําสอน จักทําอะไร แก่คนอื่น คือผู้พร่ําสอนได้ อธิบายว่า ศาสดานั้นควรถูกท้วงอย่างนี้ว่า ตน นั่นแหละควรถึงความเป็นผู้ขวนขวายน้อย แล้วจึงควรนับถือบูชาธรรมที่ตน รู้แจ้งแทงตลอดแล้วอยู่มิใช่หรือ.
บทว่า ไม่ควรท้วง อธิบายว่า เพราะศาสดานี้ตั้งตนไว้ในความ เหมาะสมแล้วก่อนจึงแสดงธรรมแก่สาวก และสาวกของเขาเป็นผู้เชื่อฟัง ปฏิบัติตามคําพร่ําสอนย่อมบรรลุคุณวิเศษยิ่งใหญ่ ฉะนั้น เขาจึงไม่ควรท้วง
บทว่า ตกไปสู่เหว คือ นรก ความว่า เพราะเราถือทิฏฐิลามกเราจึง ตกไปสู่เหว คือนรก. บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกเราวางไว้บนบก ความว่า โลหิจจพราหมณ์กล่าวว่า เราอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดทิฏฐิลามกให้แล้ว ทรงยกขึ้นจากเหว คืออบาย ด้วยพระหัตถ์คือพระธรรมเทศนา แล้ววางเราไว้บนบกคือทางสวรรค์ ดังนี้
คําที่เหลือในสูตรนี้มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.
อรรถกถาโลหิจจสูตรแห่งอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินีจบ แล้วด้วยประการฉะนี้
สูตรที่ ๑๒ จบ