ถ. ถ้าในครั้งพุทธกาลไม่มีการเข้าห้องกัมมัฏฐาน แต่ดิฉันเคยศึกษาในพระสูตร หรือเคยดูในพระสูตร เช่น พระนางอุบลวรรณาเถรี สมัยที่ออกไปกลางป่านั้น ทำไมจึงต้องออกไปอยู่ป่าคนเดียวจนกระทั่งถูกนายมานพทำครุกรรมหนักให้เกิดขึ้น นี่ถือว่าการปฏิบัติต้องให้ห่างจากหมู่คณะใช่ไหม เพราะการออกจากหมู่คณะจะสร้างปรมัตถประโยชน์ หรือได้ปัจจุบันอารมณ์นั่นเอง ถ้าเราอยู่ในหมู่คณะ การที่จะได้ปรมัตถประโยชน์ หรือปัจจุบันอารมณ์นี้เป็นของยาก จะได้แต่บัญญัติอารมณ์เป็นพื้นฐาน เพราะปัจจุบันอารมณ์จะต้องมีสติสัมปชัญญะ แต่การที่เราอยู่กับหมู่คณะหรือคุยสังสรรค์กันตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นบัญญัติอารมณ์ทั้งนั้น สำหรับดิฉันคิดว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานนี้มีประโยชน์มาก ดิฉันส่งเสริม เพราะเคยไปเข้ามาแล้วก็เห็นคุณประโยชน์ หรือการไปจับปัจจุบันอารมณ์ได้ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะมีกำลังแข็งแรง รู้ช้า รู้เร็ว สติสัมปชัญญะเขาก็มีกำลังในตัวของเขาเอง จนกระทั่งจับปัจจุบันอารมณ์ได้
คนที่เริ่มทำใหม่ๆ จะคล้ายๆ ขึ้นบนเส้นลวด ตอนขึ้นบนเส้นลวดจะต้องประคับประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวตลอดเวลา ย่อมเป็นของยาก แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมีกำลังดีแล้ว รู้สึกไม่ยาก พอขึ้นบนลวดก็ขึ้นได้เลย เดินได้เลย อะไรเกิด อกุศลจิตเกิด ก็มีหน้าที่กำหนดดูปัจจุบันอารมณ์นั่นเอง นี่สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้วก็รู้สึกว่าไม่ยาก แต่สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจก็รู้สึกว่ายากมาก เพราะการที่จะเข้าถึงปัจจุบันอารมณ์ต้องเห็นถึงไตรสรณคมน์ คือ เห็นลักษณะอารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือ เห็นในขณะสันตติอารมณ์นั้นขาดลงไป
สุ. ท่านสรรเสริญสำนักปฏิบัติว่า ได้ผล ท่านรู้สภาวะ ประจักษ์สันตติขาด ประจักษ์สันตติขาดนั้นเป็นวิปัสสนาญาณขั้นอุทยัพพยญาณ และที่ท่านรู้สภาวะประจักษ์สันตติขาดนั้นก็เพราะข้อปฏิบัติ คือ ท่านเดิน หรือยืน หรือนั่ง หรือนอนจนเมื่อย แล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถเพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ ท่านกล่าวว่า ถ้าสำนักปฏิบัติไม่ได้ผลก็คงจะไม่มีใครสร้างเงินเป็นแสนๆ ล้านๆ ท่านกล่าวว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานหรือเข้าห้องปฏิบัติ เหมือนกับการที่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าโรงเรียนจึงจะรู้สภาวธรรมได้ ซึ่งจะขอให้ท่านพิจารณาเป็นข้อๆ ดังนี้
สำหรับข้อคิดที่ ๑ คือ คำกล่าวที่ว่า ถ้าสำนักปฏิบัติไม่ได้ผล ก็คงจะไม่มีใครมีศรัทธาเสียเงินสร้าง
การที่มีคนหนึ่งคนใดมีศรัทธา มีความคิด มีความเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใด แล้วก็เสียเงินเสียทองกันเป็นล้านๆ เป็นแสนๆ นั้น ควรจะยึดถือเงินทองที่เสียไป เพราะความคิด ความเห็นความเข้าใจนั้นๆ เป็นเครื่องวัดข้อปฏิบัติว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกได้ไหม ซึ่งในพระไตรปิฎก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยยกเงินทองขึ้นเป็นเครื่องตัดสินข้อปฏิบัติเลย เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่มีความคิดความเชื่อถูกต้องเหมือนกันหมด แม้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ประสูติ ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงธรรมแล้ว แต่แม้กระนั้นความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของคนก็ยังแตกแยกออกมากมาย ไม่จำกัดแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎกจึงไม่มีพยัญชนะที่ว่า ให้สาวกพิจารณาว่าบุคคลใดมีศรัทธา มีความเชื่อ เสียเงินที่จะทำนุบำรุง หรือจัดสร้างที่หนึ่งที่ใดขึ้น ก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ได้ผล หรือมีประโยชน์ ประเด็นนี้จึงตัดออกไปได้ เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุและผล แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นเป็นเครื่องวัด
สำหรับข้อคิดประการที่ ๒ ที่ท่านผู้นั้นใช้คำว่า ห้องกัมมัฏฐาน ห้องปฏิบัติหรือสำนักปฏิบัติ หรือโรงเรียน
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีสำนักของพระอรหันตสัมมาสัม-พุทธเจ้า สำนักสงฆ์ ใช้คำว่า สำนักปฏิบัติหรือเปล่า ใช้คำว่า สำนักปฏิบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าสำนักปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์หรือเปล่า หรือใช้แต่คำว่า สำนักพระผู้มีพระภาค สำนักพระสงฆ์ อย่างพระวิหารเวฬุวัน พระวิหารเชตวัน พระวิหารนิโครธาราม สำนักของพระผู้มีพระภาค สำนักสงฆ์ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำว่าปฏิบัติ แต่ท่านปฏิบัติธรรมหรือไม่ได้ปฏิบัติ หรือต้องมีสำนักพิเศษต่างหากที่เป็นเฉพาะสำนักปฏิบัติ เป็นห้องปฏิบัติ เป็นห้องกัมมัฏฐาน แต่ปกติของท่านเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
สำนัก ก็คือ ที่อยู่นั่นเอง ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่นั่นก็เป็นสำนักของท่าน เป็นที่อยู่ของท่าน แล้วท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตของท่าน
เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้คำว่า สำนักปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถ้าใช้อย่างนั้น จะทำให้แยกความหมายว่า สำนักเฉยๆ ไม่ได้มีการปฏิบัติแต่เฉพาะบางแห่ง บางสถานที่ จึงจะเป็นสำนักปฏิบัติ นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป
และข้อคิดประการที่ ๓ ข้ออ้างของท่านที่ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องไปสู่สำนักปฏิบัติ เหมือนกับทางโลก การที่จะรู้อะไรก็จะต้องเข้าโรงเรียน ต้องไปเรียนที่โรงเรียน
ขอให้ทราบว่า วิชาทางโลกที่ต้องมีโรงเรียนนั้น เพราะเหตุว่าเป็นวิชาที่จำกัดแต่ละวิชาไปว่าเป็นสถาบัน หรือเป็นสถานที่สำหรับศึกษาวิชาอะไร แต่ว่าการศึกษาในพระพุทธศาสนากว้างกว่านั้นมาก โลกทั้งโลก ทุกโลก เป็นโรงเรียน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในมนุษย์โลก ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ จนกระทั้งถึงพรหมโลก ท่านก็ต้องเป็นผู้ศึกษา จึงจะสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
โรงเรียนของพระพุทธศาสนาที่จะทำให้ผู้ศึกษาเป็นพระอริยบุคคลนั้น ไม่ใช่จำกัดสถานที่หนึ่งที่ใด แต่ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม ท่านก็เป็นผู้ศึกษาโลก คือ โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อการรู้แจ้ง เพื่อการละความไม่รู้ซึ่งมีเป็นปกติ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ขณะนั้นท่านไม่ใช่ผู้ศึกษา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
และถ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็แจ้งตลอดทั้งโลก รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยไม่จำกัดว่าท่านจะรู้แคบๆ เพียงที่เดียว หรือว่าเพียงโลกเดียว แต่ท่านจะรู้โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะศึกษาโลก เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเจริญสติแล้วจะต้องไปเข้าโรงเรียน หรือจะต้องไปสู่สำนักปฏิบัติ ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นพระอริยบุคคลมีทั้งผู้ที่เป็นฆราวาสและบรรพชิต
แม้ผู้ใดที่เห็นว่า ชีวิตของฆราวาสนั้นยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยากแก่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยๆ เนืองๆ ท่านผู้นั้นมีศรัทธาที่จะเจริญสติปัฏฐานดำเนินมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต ท่านละอาคารบ้านเรือน แล้วไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคหรือสำนักสงฆ์ ซึ่งสำนักของพระผู้มีพระภาคและสำนักสงฆ์นั้น ไม่มีข้อปฏิบัติที่ให้จำกัดอยู่เฉพาะสถานที่ที่เป็นห้องปฏิบัติ โดยที่ไม่ให้ออกไปที่ไหนเลย เพราะเหตุว่าสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นต้องเป็นสำนักที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระวินัยปิฎกยังครบถ้วนสมบรูณ์ที่ทุกท่านจะตรวจสอบได้ พระธรรมวินัยไม่เคยจำกัดเลยว่า ไม่ให้บุคคลไหนไปที่ไหน ให้อยู่แต่เฉพาะในห้อง จึงจะเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น ธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ได้จำกัดบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ได้ฟังธรรม ตั้งแต่พระราชา มหาอำมาตย์ ไปจนกระทั่งถึงทาสกรรมกร ธรรมอุปมาดุจแสงสว่างที่ส่องไปทั่วถึง ผู้ใดที่มีความเข้าใจธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสละเพศฆราวาส และถึงแม้จะสละ แล้วไปสู่เพศบรรพชิต ก็ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ไม่จำกัดสถานที่ หรือไม่ให้ประกอบกิจการงานใดๆ เลย
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 159