๙. สันธิตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสันธิตเถระ
โดย บ้านธัมมะ  19 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40574

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 225

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๕

๙. สันธิตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสันธิตเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 225

๙. สันธิตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสันธิตเถระ

[๓๐๖] ได้ยินว่า พระสันธิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจจสัญญาอันสหรคตด้วยพุทธานุสติหนึ่ง อยู่ที่โคนอัสสัตถพฤกษ์อันสว่างไสว ด้วยแสงแห่งไฟ แก้วมณี และผ้ามีสีเขียวงาม ความสิ้นอาสวะเราได้บรรลุแล้วเร็วพลัน เพราะสัญญาที่เราได้แล้วในครั้งนั้น ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้. จบวรรคที่ ๕

จบทุกนิบาต

อรรถกถาสันธิตเถรคาถา

คาถาของท่านพระสันธิตเถระ เริ่มต้นว่า อสฺสตฺเถ หริโตภาเส. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย เข้าไปสั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ได้เกิดเป็นนายโคบาลผู้หนึ่ง ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สิขี. เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว เขาเข้าไปหาพระเถระรูปหนึ่ง ฟังธรรมอันปฏิสังยุตด้วยพระพุทธคุณ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 226

ในสำนักของพระเถระ มีใจเลื่อมใส ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ ที่ไหน ฟังความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว กลับได้อนิจจสัญญาว่า แม้ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมากอย่างนี้ ยังต้องดำเนินไปสู่อำนาจแห่งความเป็นของไม่เที่ยง โอ สังขารทั้งหลายไม่ ยั่งยืนหนอ. พระเถระให้เขาเกิดอุตสาหะ ในการบูชาโพธิพฤกษ์. เขาไปสู่ที่ใกล้โพธิพฤกษ์ ตามกาลอันเหมาะสม เจริญวิปัสสนา ระลึกถึงพระพุทธคุณ กราบไหว้ต้นโพธิ์.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ในแคว้นโกศล ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า สันธิตะ เจริญวัยแล้ว ฟังธรรมกถาอันปฏิสังยุตด้วยอนิจจตา เกิดความสลดใจบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก เพราะญาณถึงความ แก่กล้าแล้ว.

ท่านเมื่อระลึกถึงบุพเพนิวาสญาณของตน ระลึกถึงการกราบไหว้โพธิพฤกษ์ และการได้เฉพาะซึ่งอนิจจสัญญา มีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ เมื่อจะประกาศการบรรลุคุณพิเศษของตน ด้วยการเข้าไปอาศัยเหตุ ๒ ประการนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจสัญญาอันสหรคต ด้วยพุทธานุสติหนึ่ง อยู่ที่โคนอัสสัตถพฤกษ์ อันสว่างไสว ไปด้วยแสงแห่งไฟ แก้วมณี และผ้ามีสีเขียวงาม ความสิ้นอาสวะเราได้บรรลุแล้วเร็วพลัน เพราะสัญญาที่เราได้แล้วในครั้งนั้น ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสตฺเถ ได้แก่ ในที่เป็นที่ประดิษฐาน ไม้อัสสัตถะ. ไม้อัสสัตถะอันเป็นไม้ที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลาย


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 227

ในบัดนี้ ตั้งอยู่ในที่ใด ในที่ซึ่งมีไม้อัสสัตถพฤกษ์ตั้งอยู่นั้น ครั้งนั้น มีไม้บุณฑริก อันเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ตั้งอยู่แล้ว เพราะเหตุนั้น ไม้โพธิพฤกษ์นั้น ท่านจึงเรียกว่า อัสสัตถะ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งไม้อัสสัตถะ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อสฺสตฺโถ ได้แก่ ไม้อัสสัตถะ ที่ยังความเบาใจให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย. แต่อาจารย์บางพวก กล่าวว่า พระเถระกล่าวว่า อสฺสตฺเถ เพราะเหตุที่ท่านนั่ง ณ โคนต้นอัสสัตถะ แล้วเจริญพุทธานุสติในครั้งนั้น.

บทว่า หริโตภาเส ความว่า สว่างไสวอยู่ด้วยสีแห่งแก้วผลึกอัน เขียวสด.

บทว่า สํวรุฬฺหมฺหิ ความว่า งอกงามดีแล้ว คือประดิษฐานอยู่แล้ว ด้วยดี.

บทว่า ปาทเก ได้แก่ ต้นไม้.

บทว่า เอกํ พุทฺธคตํ สญฺญํ อภิลตฺถํ สญฺญํ ปฏิสฺสโต ความว่า เราชื่อว่าเป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า เพราะมีพระพุทธคุณเป็นที่พึ่งได้ แล้วซึ่งสัญญา อันสหรคตด้วยพุทธานุสติอันเป็นไปแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ชื่อว่า หนึ่ง เพราะความเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นหนเดียว.

ก็พุทธานุสติสำเร็จแล้ว ด้วยสัญญามีประมาณเท่าใด สัญญานั้นอันเราได้แล้ว ในครั้งนั้น เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เอกตึเส อิโต กปฺเป ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ คือ ในกัปที่ ๓๑ โดยการจัดอันดับ นับแต่ภัทรกัปนี้ถอยหลังไป.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 228

บทว่า ยํ สญฺญํ ได้แก่ ได้สัญญาอันสหรคตด้วยพุทธานุสติใด หรือ ได้อนิจจสัญญา ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง ในครั้งนั้น ด้วยการตามระลึกถึงพระพุทธคุณนั้น เพราะเห็นความเป็นของไม่เที่ยงของพระพุทธเจ้าทั้งหลายใด.

บทว่า ตสฺสา อญฺญาย วาหสา ความว่า กระทำสัญญานั้นให้เป็นอุปนิสัย เพราะความเป็นเหตุแห่งสัญญาตามที่กล่าวแล้วนั้น.

บทว่า ปตฺโต เม อาสวกฺขโย ความว่า ความสิ้นคือความดับแห่งอาสวะทั้งหลาย อันเราบรรลุแล้วในบัดนี้. แม้คาถาอปทานของพระเถระนี้ ก็คือ ๒ คาถานี้แหละ. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

เรามีสติเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้สัญญาอันสหรคตในพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ที่ไม้อัสสัตถพฤกษ์ อันมีรัศมีเขียวสดงดงามดี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้น เพราะการได้สัญญานั้นเป็นเหตุนำมา เราได้บรรลุความสิ้นอาสวะ ในกัปที่ ๑๓ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ พระนามว่า " ธัมมิกะ " สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

จบอรรถกถาสันธิตเถรคาถา

จบวรรควรรณนาที่ ๕

แห่งอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี

จบอรรถกถาทุกนิบาต


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 229

ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๙ รูป คือ

    ๑. พระกุมารกัสสปเถระ

๒. พระธรรมปาลเถระ

๓. พระพรหมาลิเถระ

๔. พระโมฆราชเถระ

๕. พระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระ

๖. พระจูฬกเถระ

๗. พระอนูปมเถระ

๘. พระวัชชิตเถระ

๙. พระสันธิตเถระ และอรรถกถา.

ในทุกนิบาตนี้ รวมคาถาได้ ๙๘ คาถา และรวมพระเถระผู้ฉลาดในนัย ผู้ภาษิตคาถาไว้ได้ ๔๙ รูป.