ไตรธาตุ หมายถึงอะไร
โดย ทรงศักดิ์  12 มี.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 45658

จากแนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม187หน้า37 บรรทัดที่14

" คำว่านรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่านรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ.........."

..................................

ไตรธาตุ หมายถึงอะไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 12 มี.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไตรธาตุ ได้แก่ ธาตุ ๓ ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ และ อรูปธาตุ ซึ่งก็ไม่พ้นจากธรรมที่เกิดแล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์ สวรรค์ (กามธาตุ) รูปพรหมภูมิ (รูปธาตุ) และ อรูปพรหมภูมิ (อรูปธาตุ)
ดังนั้น จากข้อความที่ว่า "บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ" นั้น ก็มุ่งหมายถึง กุศลที่เป็นกามาวจรกุศล (มหากุศล) รูปาวจรกุศล (รูปฌาน) อรูปาวจรกุศล (อรูปฌาน)
จะเห็นได้ว่า การเจริญกุศลของบุคคลผู้มีปัญญา จะไม่ได้มีความหวังความต้องการอย่างอื่นเลย ไม่ได้ต้องการทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ต้องการลาภสักการะชื่อเสียง ไม่ได้ต้องการการเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ไม่ได้ต้องการผลของกุศล แต่ทั้งหมดทั้งปวง เป็นไป น้อมไปเพื่อถึงการดับกิเลส ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ครับ
ขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
(แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530)

สำหรับการทำกุศลของแต่ละท่าน ไม่ทราบว่าทุกครั้งที่ทำมีเจตนา หรือมีความหวัง หรือมีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ในบางครั้งบางขณะ หรือเปล่า หรือว่ากุศลทั้งหมดที่ทำนี้ เพื่อมุ่งอย่างเดียว ที่จะดับกิเลส เพื่อที่จะหมดกิเลส ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงเตือนไว้ในขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๕ มีข้อความว่า

ผู้มีปัญญาทำกุศลเพื่ออะไร?

ต่างกันแล้วระหว่างผู้มีปัญญากับคนที่ไม่มีปัญญา

คำว่า นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

นิพพานนี้ยาก ที่ใครจะน้อมไปได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ดับทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มจากดับกิเลส จึงดับทุกข์และดับขันธ์ได้ ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ทุกข์ก็ยังดับไม่ได้ ขันธ์ก็หมดไปไม่ได้ ยังต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการเกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ดับ และจะต้องประสบกับทุกข์อย่างหนึ่งอย่างใด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทันทีที่เกิดก็เป็นทุกข์ เพราะดับทั้งจิต เจตสิก รูป สภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มีเลย แต่เนื่องจากปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ก็ทำให้แม้เห็น ก็กลับยินดีพอใจ แม้ได้ยินก็ยินดีพอใจ ทั้งในการเห็น และสิ่งที่เห็น ทั้งในการได้ยินและในเสียงที่ได้ยิน จนกระทั่งอวิชชาปิดบังสภาพของธรรม ไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง พอที่ต้องการที่จะดับกิเลสและดับขันธ์ คือไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย

เพราะฉะนั้น เรื่องของนิพพานนี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจถูกว่า เป็นเรื่องของการดับกิเลสอย่างเดียว

คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

"นรชนพึงปราบความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน"

ขณะนี้ทุกคนพอที่จะรู้จักตนเองว่า มีจิตน้อมไปในนิพพานแค่ไหน หรือว่ายัง แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระนิพพานได้

ผู้ถาม เจริญสติมาถึงขณะนี้ ยังไม่เคยน้อมใจไปถึงนิพพานเลยครับ

สุ. เพราะอะไร ทราบไหมคะ

ผู้ถาม ปัญญายังไม่แก่กล้า

สุ. นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค จึงทรงเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าแม้แต่การที่จะให้ทาน หรือการที่จะรักษาศีล ก็ไม่ควรที่จะเป็นไปโดยการหวังคติ โดยหวังภพ หรือโดยหวังสังสารวัฏฏ์ หวังสุข ซึ่งเป็นวิบาก แต่ควรที่จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และรู้ว่าถึงแม้ว่าจะมีสุขเป็นวิบากสักเท่าไร ก็ไม่เที่ยง ไม่เหมือนกับการที่จะดับสนิท ไม่มีการเกิดของขันธ์เลย


...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 12 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 16 มี.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ