ความรักระหว่างหญิง-ชายเป็นความโง่ชนิดหนึ่งหรือคะ จะฝึกปฏิบัติอบรมในเบื้องต้นได้อย่างไร ให้เข้าใจถึงสภาพความโง่นั้นๆ เนื่องจากการอบรมเจริญปัญญา ต้องอาศัยระยะเวลานานมาก อาจจะไม่เกิดปัญญาเลยในชาตินี้ แต่ต้องการละคลายเพื่อให้เกิดทุกข์น้อยลง
ขอบคุณค่ะ
ความรักระหว่างหญิง ชาย เป็นอกุศลธรรม มีอวิชชาเกิดร่วมด้วย การอบรมในเบื้องต้นต้องด้วยการฟัง การศึกษาพระธรรมของท่านผู้รู้ พระธรรมของท่านผู้รู้สอนให้เข้าใจให้รู้ความจริง เมื่อเริ่มเข้าใจความจริงนั่นคือปัญญาเกิด เมื่อปัญญามากขึ้นปัญญาย่อมทำกิจของปัญญา คือ รู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงย่อมเบื่อหน่ายและละคลาย และหลุดพ้นจากทุกข์
สภาพธรรมทั้งปวงที่ไม่เที่ยงนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ฉะนั้น จึงเป็นทุกข์ ถึงแม้จะใช้คำว่า ทุกข์ ก็มิได้หมายเฉพาะความรู้สึกที่เป็นทุกข์เท่านั้น
ทุกขอริยสัจ คือสภาพของสังขารธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตลอดชีวิตของเรานั้นไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ทุกข์ ถึงแม้ความรู้สึกเป็นสุข นั้นก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง อริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”
อริยสัจที่ ๒ คือ เหตุให้เกิดทุกข์ซึ่งได้แก่ตัณหา ในพระสูตรเดียวกันมีข้อความว่า
“ ก็ทุกขสมุทัย อริยสัจนี้แล คือ ตัณหา อันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา” ตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยให้เกิดอยู่ มีปัจจัยให้นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น ฉะนั้น ก็จะต้องเป็นทุกข์
ทุกคนมีโลภะมากมาย แต่ระลึกได้ไหมว่า โลภะแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ คือ การเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จากชาติหนึ่งสืบไปอีกชาติหนึ่ง ไปสู่อีกชาติหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีโลภะ ก็ไม่เคยพิจารณารู้ว่า โลภะเป็นสมุทัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่แต่ละท่านได้สะสมมาแล้ว ทำให้แต่ละท่านระลึกได้ในชีวิตประจำวัน
อริยสัจที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ ซึ่งได้แก่นิพพาน มีข้อความว่า
“ ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือความดับด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย” นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส เมื่อดับตัณหาแล้วก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดภพชาติอีกต่อไป ฉะนั้น จึงเป็นที่ดับของทุกข์ทั้งปวง
อริยสัจที่ ๔ ว่าดังนี้
“ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แลคือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ฯ” มรรคมีองค์ ๘ หรืออริยมรรคนั้นเป็นการเจริญปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเราเจริญปัญญาให้รู้ชัดในโลกทั้งภายในและภายนอก ไม่ใช่โดยการคาดคะเน แต่เป็นการรู้แจ้งด้วยตนเอง
โดยมากความต้องการผล ทำให้หาวิธี นี่เป็นลักษณะของความต้องการ เป็นเพราะความต้องการ จึงไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ผู้มีปรกติเจริญสติปัฏฐานนั้น อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่ละ วิธีก็คือ เริ่มต้นจากการฟัง แล้วพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจ จนเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง
จะละคลายหรือดับความยึดมั่นได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องมีความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งที่เราติดข้องพอใจนั้น แท้จริงก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นคิดนึกเท่านั้น จึงจะคลายความยึดมั่นไปได้บ้าง ดังนั้นควรเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา ที่เริ่มจากการฟังธรรมศึกษาธรรมที่จะค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่จะหวังเกินวิสัยที่จะไม่ติดข้องผูกพันหรือไม่ยึดมั่น
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาค้ะ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ