[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 197
วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์
อัพยากตวรรคที่ ๑
๑๐. ภริยาสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 197
๑๐. ภริยาสูตร
[๖๐] ครั้งนั้นเมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาคนนี้ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านางก็ไม่สักการะเคารพนับถือบูชา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะนางสุชาดา นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 198
เสมอด้วยทาสี ๑ ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกแล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น
นางสุชาดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึงความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยที่หม่อนฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อนี้โดยพิสดารเถิด.
พ. ดูก่อนนางสุชาดา ถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรีภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร ภริยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 199
ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วยมารดา ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดีเหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอกก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี ภริยาที่เรียกว่าวธกาภริยา ๑ โจรีภริยา ๑ อัยยาภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้นล้วนแต่เป็นคนทุศีล หลาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑ ภคินีภริยา ๑ สขีภริยา ๑ ทาสีภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 200
ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น.
ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี.
จบ ภริยาสูตรที่ ๑๐
อรรถกถาภริยาสูตรที่ ๑๐
ภริยาสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า เกวฏฺโฏ มญฺฌ มจฺเฉ วิโลเปติ ความว่า ในที่ที่ชาวประมงยืนยกตะกร้าปลาลง พอยกแหอวนขึ้นจากน้ำเท่านั้น คนจับปลาก็ส่งเสียงดังลั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเสียงนั้นจึงตรัสคำนั้น. บทว่า สุชาตา ได้แก่ หญิงเป็นน้องสาวมหาอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา. บทว่า สา เนว สสฺสุํ อาทิยติ ความว่า นางสุชาดานั้นไม่กระทำวัตรปฏิบัติอันชื่อว่าวัตรอันหญิงสะใภ้จะพึงทำแก่มารดาของสามี ทั้งไม่ยอมรับนับถือมารดาสามีว่าเป็นมารดา. บทว่า น สสฺสุรํ อาทิยติ ความว่า นางสุชาดานั้นไม่ยอมเชื่อฟังแม้คำบิดาของสามี. เมื่อเป็นเช่นนี้จึงชื่อว่านางไม่เชื่อฟัง เพราะนางไม่เอื้อเฟื้อบ้าง เพราะนางไม่ยอมรับบ้าง แม้ในบทที่เหลือ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 201
ก็นัยนี้เหมือนกัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถือเอามรรยาทของหญิงสะใภ้นั่งตรง พระพักตร์ของพระศาสดา. ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายนางสุชาดานั้นคิดว่าเศรษฐีนี้จักกล่าวสรรเสริญคุณของเราในสำนักพระทสพลหรือจะกล่าวโทษ ดังนี้แล้ว ได้ไปยืนฟังเสียงในที่ไม่ไกล. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกเธอมาตรัสว่า มานี่ สุชาดา. บทว่า อหิตานุกมฺปินี แปลว่า ผู้ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า อญฺเสุ ได้แก่ ในชายอื่น. บทว่า อติมญฺเต ความว่า ย่อมทนงตัว คือ ย่อมดูหมิ่นด้วยอำนาจมานะ. บทว่า ธเนน กีตสฺส ความเป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ บทว่า วธาย อุสฺสุกฺกา ความว่า พยายามจะฆ่า. บทว่า ยํ อิตฺถิยา วินฺทติ สามิโก ธนํ ความว่า สามีของหญิงได้ทรัพย์ใดมา. บทว่า อปฺปมฺปิสฺส อปหาตุมิจฺฉติ ความว่า ภรรยาปรารถนาที่จะลักทรัพย์แม้มีอยู่น้อยหนึ่งนั้น คือพยายามที่จะลักทรัพย์ทีละน้อย แม้จากข้าวสารที่ห่อใส่ไว้ในหม้อข้าวอันยกขึ้นตั้งไว้บนเตาไฟ. บทว่า อลสา ความว่า เป็นผู้นั่งแช่ในที่ตนนั่ง ยืนแช่ในที่ที่ตนยืน. บทว่า ผรุสา แปลว่า กระด้าง บทว่า ทุรตฺตวาทินี ความว่า ผู้มีปกติกล่าววาจาเป็นทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบ คือกล่าวคำหยาบและกระด้างนั่นเอง. ในคำว่า อุฏฺายกนํ อภิภุยฺย วตฺตติ นี้ มีวินิจฉัยต่อไปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสามีผู้สมบูรณ์ด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้นด้วยศัพท์ อันเป็นพหุวจนะว่า อุฏฺายกานํ ดังนี้. ภรรยาประพฤติกดขี่สามีผู้สมบูรณ์ด้วยความหมั่นเพียรนั้น แล้วกระทำสามีนั้นให้อยู่ในภายใต้อำนาจตน. บทว่า ปโมทติ ความว่า ย่อมเป็นผู้ชื่นชมปราโมทย์.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 202
บทว่า โกเลยฺยกา ความว่า เพียบพร้อมด้วยสกุล. บทว่า ปติพฺพตา ได้แก่ ปติเทวตา เป็นผู้มีสามีดังเทวดา. บทว่า วธทณฺฑตชฺชิตา ความว่า ภรรยาผู้อันสามีถือท่อนไม้. ขู่ด้วยการฆ่า กล่าวว่า ข้าจะฆ่าเจ้าเอง ดังนี้. บทว่า ทาสีสมํ ความว่า นางสุชาดากราบทูลว่าขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นทาสีผู้บริบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติสามีดังนี้ แล้วตั้งอยู่ในสรณะทั้ง ๓.
จบ อรรถกถาภริยาสูตรที่ ๑๐