ผมอ่านแล้วยังงงๆ ไม่ทราบจะนำเอามาปรับใช้กับสภาพจิตของเราอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิญญาณฐิติ หมายถึง ที่ตั้งของปฏิสนธิวิญญาณ ที่มุ่งหมายถึง กาย และ สัญญา ซึ่ง กาย ในที่นี้ก็มุ่งหมายถึง การะประชุมรวมกันของรูป และ สัญญา จะมุ่งหมายถึงปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยสัญญา ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีดังนี้ ครับ
[๖๕] ดูกรอานนท์ วิญญาณฐิติ ๗ อายตนะ ๒ เหล่านี้ วิญญาณฐิติ ๗ เป็นไฉน คือ
๑. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑
๒. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่องในชั้นพรหม ผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสรนี้ เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพชั้นสุภกิณหะ นี้ เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔
๕. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะ ล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗
ส่วนอายตนะอีก ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ (ข้อที่ ๑) และข้อที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้ ครับ
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ และพวกเทพบางพวก พวกวินิปาติกะบางพวก นี้วิญญาณฐิติข้อที่หนึ่งในกามวาจรภูมิ ๑๑ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ อบายภูมิ ๔ จัดเป็นจำพวกกายต่างกัน และสัญญา คือ การปฏิสนธิสัญญาต่างกัน ท่านไม่ใช่คำว่าวิญญาณ ใช้คำว่า สัญญา บอกลักษณะของการปฏิสนธิจิตแทนด้วยคำว่า สัญญา คือในวิญญาณฐิติ ที่ตั้งสถานที่ปฏิสนธิวิญญาณ ในข้อนี้ ที่มีกายต่างกัน สัญญาต่างกัน คือจำพวกเฉพาะพวกนี้เท่านั้น ที่ว่าบางจำพวกคือ บางพวกเป็นติเหตุกะ (อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีโอกาสตรัสรู้อริยสัจจธรรมในปัจจุบันชาติ) บางจำพวกเป็นทุเหตุกะ หรือ ทวิเหตุกะ (สองเหตุ อโลภะ อโทสะ แต่ขาดอโมหะคือไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นปทปรมะบุคคลไม่มีโอกาสรู้แจ้งอริยสัจธรรมในปัจจุบัน ต้องสะสมเหตุปัจจัยต่อไปในวาระอื่นๆ ) นี่คือ สัญญาต่างกัน คือ ปฏิสนธิวิญญาณต่างกัน ส่วนกายต่างกัน คือ มีรูปร่างต่างๆ กัน ครับ นี่คือ มีกายต่างกัน และ สัญญาต่างกัน
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพผู้นับเนื่องในพวกพรหมซึ่งเกิดในภูมิปฐมฌาน นี้วิญญาณฐิติข้อที่สอง ฯ
พรหมในชั้น ปฐมฌานภูมิ ได้แก่ กายต่างกัน มีรูปร่างกายต่างกัน ท่านจึงกำหนดว่า มีกายต่างกัน แต่มีสัญญา คือปฏิสนธิวิญญาณ หรือสัญญา ในที่นี้คือสัญญาใน ปฐมฌานภูมินั่นเองเป็นอย่างเดียวกัน
และอธิบายเพิ่ม อัฏฐกถาจารย์ท่านจัด สัตว์ในอบาย ๔ เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒ มีกายต่างกัน มีสัญญา (อเหตุกอกุศลวิบาก) เป็นอย่างเดียวกัน แม้สัตว์เดรัจฉานก็มีกายต่างๆ กัน มีรูปร่างต่างๆ กัน สัตว์นรก ก็มีรูปร่างต่างๆ กันแต่มีสัญญาเหมือนกัน คือ เกิดด้วยปฏิสนธิวิญญาณประเภทเดียวกัน อเหตุกอกุศลวิบาก
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกเทพเหล่าอาภัสสระ นี้วิญญาณฐิติข้อที่สาม ฯ
พรหมชั้นอาภัสสะ เกิดด้วยปฏิสนธิจิตที่เป็นสัญญา ต่างๆ กัน แตกต่างตามระดับของฌาน แต่รูปร่างกายกว้างเท่ากัน ครับ
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพเหล่าสุภกิณหา นี้วิญญาณฐิติข้อที่สี่ ฯ
พรหมสภกิณหา เกิดจาก สัญญาเดียวกัน คือ ปฏิสนธิประเภทเดียวกันที่เกิดจากกำลังของจตุฌานและมีรูปร่างที่เหมือนกัน ครับ จึงชื่อว่ามีกายเดียวกัน สัญญาเดียวกัน
๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งเข้าถึงอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา นี้วิญญาณฐิติข้อที่ห้า ฯ
อรูปพรหมที่เกิดด้วกำลังของอรูปฌาน ที่เป็นอากาสานัญจายตนะฌาน
๖. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ นี้วิญญาณฐิติข้อที่หก ฯ
อรูปพรหมที่เกิดด้วกำลังของอรูปฌาน ที่เป็นวิญญาณัญจายตนะฌาน
๗. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย มีสัตว์พวกหนึ่งก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร นี้วิญญาณฐิติข้อที่เจ็ด ฯ
อรูปพรหมที่เกิดด้วกำลังของอรูปฌาน ที่เป็นอากิญจัญญายตนะฌาน
- เพราะฉะนั้นจากคำถามที่ว่าจะปรับเข้ามาในจิตใจอย่างไรในเรื่องวิญญาณฐิติ
นั่นก็คือ ให้เข้าใจถึงความหลากหลายของสัตว์โลกที่จะต้องเป็นไปตามกรรม คือ การกระทำของตน ทั้งกายต่างกัน เหมือนกัน หรือ ปฏิสนธิต่างกัน เหมือนกัน เพราะ กรรมที่ทำมา เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทในการทำอกุศล หรือ การเจริญกุศล
เพราะ ย่อมจะทำให้ถึงภพภูมิที่มีกายต่างกัน สัญญญาเดียวกัน ที่เป็นอบายภูมิได้ และ ไม่ประมาทในการเจริญกุศล และที่สำคัญที่สุด ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังจะต้องมีที่ตั้งของปฏิสนธิ ที่เป็น วิญญาณฐิติและไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ครับ
ควรที่จะอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม เพื่อดับกิเลส เพื่อที่จะพ้นจาก วิญญาณฐิติ ๗ ประการ ตามที่กล่าวมา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิญญาณฐิติ แปลโดยศัพท์หมายถึง ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ หมายความว่า เป็นภูมิที่มีความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต ซึ่งก็ต้องหมายรวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีคนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด
คำพูดเหล่านี้ เป็นเพียงคำกล่าวอันเนื่องมาจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดในภพใด ก็ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ จนกว่าจะได้มีการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ การเกิด มีได้ ก็เพราะว่ายังมีกิเลส ที่จะดับการเกิดไม่ต้องมีการเกิด อีกเลย ก็ต้องดับที่เหตุ คือ กิเลส แต่การดับกิเลสเป็นเรื่องที่ไกลมาก ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา
เมื่อได้ศึกษาเรื่องวิญญาณฐิติ แล้ว ไม่มีใครที่จะนำไปปรับใช้ได้ ที่ควรจะได้พิจารณา คือ ขณะนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว กิจที่ควรทำ คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ และ น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม อันเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้ตนเองเป็นผู้ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะยังได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และความดีประการต่างๆ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป เพราะการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล กุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณท่าน paderm & khampan.a ที่ช่วยให้ความรู้ที่ดีอย่างยิ่งครับ
และขอบคุณท่านธนฤทธิ์เช่นกันที่สนใจประเด็นนี้ ...
ผมขอความกรุณาเพิ่มเติมจากทั้งสองที่ช่วยกรุณาให้คำแนะนำไว้แล้ว รวมถึงผู้รู้ท่านอื่นๆ ที่จะช่วยให้คำชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะครับ ...
๑. จากคำอธิบายของท่าน paderm ที่ว่า ...
สัญญา คือ การปฏิสนธิสัญญาต่างกัน ท่านไม่ใช่คำว่าวิญญาณ ใช้คำว่าสัญญา บอกลักษณะของการปฏิสนธิจิตแทนด้วยคำว่า สัญญา
คำว่าสัญญาและวิญญาณในที่นี้ ความหมายต่างจากสัญญาและวิญญาณในขันธ์ ๕ ไหมครับ
แล้วทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ใช้ มีวิญญาณต่างกันไปเลย ทำไมต้องใช้คำว่าสัญญาแทนวิญญาณล่ะครับ
ขออภัยนะครับหากเป็นคำถามที่เปิ่นเชยเกินไป ผมยังไม่เข้าใจจริงๆ พอดีผมมีกิจด่วนเข้ามา ขอค้างคำถามไว้เท่านี้ก่อน สะดวกแล้วผมจะกลับมาถามท่านผู้รู้ทั้งหลายใหม่นะครับ
ขอบคุณมากๆ ครับ
๒. ผมพยายามอ่านคำแนะนำของท่านอาจารย์ทั้งสองหลายเที่ยว แล้วรู้สึกยังไม่เข้าใจ คิดว่าเรื่องนี้คงเกินภูมิรู้ของผมแล้ว ขอผ่านไม่ถามอะไรต่อแล้วกันนะครับ ผมไม่มีพื้นฐานอะไรทางบาลี อีกทั้งพระอภิธรรมก็ไม่รู้ ภาษา คำ ความ ต่างๆ จึงยังเข้าใจได้ยากครับ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองที่ได้กรุณาอนุเคราะห์ความรู้นี้อีกครั้งครับ