ท่านพระเทวทัตถึงแม้จะมีจิตคิดอิจฉาริษยาจ้องทำร้ายพระพุทธเจ้าทุกภพทุกชาติที่เกิดร่วม แต่ท่านก็เป็นผู้ทำกุศลมากเพราะแต่ละชาติก็ได้เกิดเป็นเศรษฐี พระราชาก็มากครั้ง แสดงว่าท่านก็มีจิตที่สั่งสมกุศลไว้มากทีเดียว การอาฆาตพระพุทธเจ้าในชาติหนึ่งที่เป็นพ่อค้าทำให้ท่านต้องตามมาจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้าแม้ในพระชาติสุดท้าย เพราะจากส่วนตัวผมแม้จะมีผู้ที่ผูกโกรธอาฆาตไว้แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานมากก็คลายความอาฆาตนั้นเสียแล้วไม่กลับมาสนใจอีก จึงอยากถามว่าความโกรธแค่ครั้งเดียวของท่านพระเทวทัตมีอำนาจมากถึงเพียงนี้ได้อย่างไร เพราะท่านก็สั่งสมกุศลจิตไว้มากเช่นกัน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความโกรธเป็นสภาพธรรมที่มีจริงและไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้้น แต่ความละเอียดของความโกรธนั้น ก็มีระดับของความโกรธที่แตกต่างกัน บางครั้งความโกรธเพียงเล็กน้อยขุ่นใจ ไม่แสดงออกมาทางกายวาจา บางครั้งความโกรธมีกำลังมาก จนถึงล่วงออกมาทางกายวาจา และบางครั้งความโกรธมีกำลังมากจนถึงกับโกรธครั้งเดียวไม่พอ แต่นึกถึงบ่อยๆ เรียกว่า ผูกอาฆาต ที่เป็นความโกรธที่มีกำลัง และ ล่วงออกมาทางกาย วาจา มีความกล่าวคำผูกอาฆาต หรือ แสดงออกมาทางกาย ที่จะทำร้าย มีการฆ่า เป็นต้น เพราะฉะนั้น สำหรับบางบุคคล ความโกรธมีกำลัง แต่ไม่ถึงผูกอาฆาตก็มี ก็สามารถบรรเทา ละคลาย ไปตามกาลเวลาที่สภาพธรรมต้องเกิดและดับไปอยู่แล้ว แต่สำหรับบางท่าน ความโกรธ ผูกอาฆาต ไม่ใช่เกิดเฉพาะชาตินี้ แต่ ชาติก่อน หรือ ทางธรรม ก็คือ มีแต่ธรรม คือ โทสเจตสิกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จนมีกำลังผูกอาฆาต ที่สมมติว่าเป็นคนนั้น คนนี้ พระเทวทัต ไม่ได้ผูกอาฆาต กับ พระพุทธองค์เพียงชาติที่เป็นพ่อค้า แต่ พระเทวทัต ก็ได้สะสมความโกรธ ผูกอาฆาต ในบุคคลอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จะมาผูกอาฆาตกับพระพุทธองค์ การสะสมโทสะที่มีกำลังมากๆ ย่อมถึงความผูกอาฆาตที่มีกำลัง จนถึงการผูกอาฆาตในชาติต่อๆ ไป เพราะธรรมชาติของจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม นั่นเอง เพราะฉะนั้นพระเทวทัต จึงผูกอาฆาตในพระพุทธองค์และมีเหตุปัจจัย ที่จะเกิดโทสะที่มีกำลังในชาติต่อๆ ไปด้วยแต่เพราะได้สะสมปัญญา กุศลที่มีกำลังมาด้วย กุศล และ อกุศลไม่ปนกัน จึงทำให้สามารถเกิดปัญญาเข้าใจความจริง ละกิเลส บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาลได้ ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สาเหตุที่แท้จริงของความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เป็นเพราะการสะสมความโกรธของตนเอง ซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ความโกรธ ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย เมื่อกระทบสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นทราบได้ว่าจะต้องเป็นอุปนิสัยที่ได้สะสมมา จึงทำให้มีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ และในเมื่อเป็นอกุศลของผู้นั้น ผู้นั้นเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตนเอง คนอื่นจะทำโทษให้ไม่ได้เลย นอกจากกิเลสของตนเองเท่านั้นจริงๆ
สำหรับบุคคลผู้มีปัญญา ย่อมเห็นโทษของความโกรธ ท่านเข้าใจว่าความโกรธเป็นอกุศลธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะเหตุว่าความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้า ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตนและผู้อื่นเลย
ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี เตือนให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ว่า มากไปด้วยอกุศล ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้ในเรื่องของอกุศล นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้มากทีเดียวตามความเป็นจริงของอกุศล พร้อมทั้งทรงแสดงโทษไว้ด้วย เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ