อะไรเป็นเหตุให้ภิกษุหนุ่มประพฤติพรหมจรรย์จนตลอดชีวิต
โดย สารธรรม  16 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43919

ขอกล่าวถึงพระสูตรที่ยาวพระสูตรหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะได้เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภารทวาชสูตร เป็นการสนทนาระหว่างท่านพระบิณโฑลภารทวาชะกับพระเจ้าอุเทน

ครั้งนั้น ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี พระเจ้าอุเทนได้เสด็จไปหาท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ทรงสนทนาปราศรัยกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

เป็นชีวิตจริงๆ ที่ท่านถามว่า ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต เป็นการเจริญสติปัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ๑๐ วัน ๑๕ วัน ถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

คือ พระเจ้าอุเทนทรงสงสัยว่า อะไรเป็นเครื่องให้ภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่หมดความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ซึ่งเป็นข้อที่น่าคิด

ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ก็ได้ทูลตอบว่า

ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไวัดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า เป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่า เป็นพี่สาว น้องสาว ในสตรีปูนพี่สาว น้องสาว เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่า เป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา

ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

มีข้อคัดค้านไหม อำนาจของกิเลสที่มีอยู่ในใจมากมาย เป็นไปในลักษณะที่ล้ำลึกอย่างใด ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ทราบ พระเจ้าอุเทนทรงแย้งว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ จิตเป็นธรรมชาติโลเล บางคราวธรรม คือ ความโลภทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี

มีไหมหนอท่านภารทวาชะ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

ตราบใดที่ยังมีกิเลสหนาแน่น เหนียวแน่นมากมาย ก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่จะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้

ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า

พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ ดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเปลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร

แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

ที่ยกพระสูตรนี้เพื่อให้เห็นว่า ถึงแม้มีอัธยาศัยที่จะประพฤติพรหมจรรย์เป็นบรรพชิตแล้ว อำนาจของกิเลสก็ยังมากถึงอย่างนี้ ปุถุชนที่เป็นฆราวาส ก็แน่นอนว่าคงจะมีกิเลสมากกว่า เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาทั้งหมดเพื่อเตือนให้รู้จักตนเอง เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความสลด เพื่อเจริญกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเป็นการไร้สาระ หรือไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงความจริง แต่เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักชัดถึงความจริง

ทุกคนมีของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อยู่ในกาย ทั้งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าแตกย่อยออกไปเป็นส่วนๆ แล้ว เอามาหยิบมายื่นให้ก็คงจะไม่ต้องการ ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก แต่พอมารวมกัน ก็ทำให้จิตโลเล ไม่ได้ประจักษ์ความจริงถึงความไม่สะอาดของแต่ละส่วนที่ทุกคนมี

พระเจ้าอุเทนได้ตรัสกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี

มีไหมหนอแล ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านั้น ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

การพิจารณาถึงความไม่สะอาดของผม ขน เล็บ ฟัน หนังต่างๆ พระเจ้า อุเทนก็เห็นด้วย สำหรับพระภิกษุผู้ที่เป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว คือ ถ้าพิจารณาเรื่องของความไม่สะอาดของกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นผู้ที่อบรมอยู่เสมอ เวลาที่เห็นสิ่งที่งาม ก็อาจจะน้อมใจไปถึงสภาพที่ไม่งามได้โดยง่าย สำหรับผู้ที่อบรมอยู่เสมอๆ

แต่พระเจ้าอุเทนทรงทราบความจริงว่า ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิต คือ สมาธิยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ไม่เหมือนกันระหว่างผู้ที่ท่านเจริญกายคตาสติเนืองๆ กับท่านที่ไม่ได้อบรมเจริญกายคตาสติ พระเจ้าอุเทนจึงได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี

จะตั้งใจไว้สักเท่าไรว่าไม่งาม ผมก็ไม่งาม แต่เมื่อกิเลสยังมี ถึงแม้ว่าจะตั้งใจอย่างนั้น อารมณ์ย่อมมาโดยเป็นของงามก็มี ด้วยอำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้น พระเจ้าอุเทนก็ตรัสถามต่อไปว่า

ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นานนั้น จะมีไหม

เป็นชีวิตจริงๆ เพราะเหตุว่าจะต้องปฏิบัติจนตลอดชีวิต และก็ปฏิบัติอยู่ได้นานด้วย

ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า

ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด

เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ต่อไปก็เป็นการฟังเสียงด้วยหูแล้วสำรวม ตลอดไปจนถึงจมูก ลิ้น กาย ใจ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

นี่เป็นข้อความที่ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบ ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ทางที่ดีที่สุดนั้น คือ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดู เพราะว่าพยัญชนะแสดงไว้ว่า

เห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดย อนุพยัญชนะ

คือ โดยรูปร่างรวมๆ หรือโดยลักษณะส่วนละเอียดปลีกย่อย

เพราะในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ การไม่ยึดถือ ไม่ใช่ว่าด้วยคำสั่งว่าอย่ายึดถือ แต่ต้องแสดงเหตุว่า การละการยึดถือ ไม่ติดในนิมิต ไม่ติดในอนุพยัญชนะนั้น จะต้องเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระเจ้าอุเทนก็ได้ตรัสสรรเสริญว่า

น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ตามกำหนดธรรมปริยายนี้อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัม-พุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

เพียงให้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง พระเจ้าอุเทนได้ฟังก็สรรเสริญว่าน่าอัศจรรย์นัก ก่อนๆ นี้ไม่ได้สรรเสริญกายคตาสติ การระลึกว่าเป็นมารดาบ้าง เป็นพี่สาวบ้าง เป็นน้องสาวบ้าง เป็นธิดาบ้าง พระเจ้าอุเทนก็ไม่ได้ทรงสรรเสริญ แต่พอถึงเรื่องของการสำรวมอินทรีย์ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระเจ้าอุเทนก็ตรัสสรรเสริญว่าน่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ตามกำหนดธรรมปริยายนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

ยิ่งได้ฟังพระสูตรมากๆ ยิ่งได้เห็นว่า ในครั้งกระโน้นท่านที่เจริญสติท่านเห็นคุณของสติ ท่านผู้ฟังคิดว่าพระเจ้าอุเทนเจริญสติหรือไม่ ถึงได้มาสนทนากับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะด้วยเรื่องนี้ หรือว่าเพียงแต่ทรงสงสัยว่า ทำไมพระภิกษุจึงได้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้จนตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ยังไม่หมดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ถ. เป็นไปได้ไหมที่พระเจ้าอุเทนยังมีกิเลสหนาแน่น

สุ. ทุกท่านมีสิทธิที่จะคิดพิจารณา เพราะว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ตื้นลึกหนาบางต่างๆ กัน ถ้ารู้จักตัวเองจริงๆ ก็รู้ตลอดไปถึงบุคคลอื่นด้วย และพระเจ้าอุเทนเจริญสติหรือไม่ คนที่ไม่สนใจการเจริญสติปัฏฐานก็คงจะสนทนากันเรื่องอื่น ไม่สนทนาเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม วิธีเจริญปัญญา หรือสงสัยว่า ทำไมกิเลสที่มีมาก และก็ยังอยู่ในวัยที่ยังเพลิดเพลินยินดีอย่างนั้น มีอะไรทำให้ประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

พระเจ้าอุเทนเจริญสติปัฏฐานด้วย แม้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้จำกัดสถานที่ ไม่ได้จำกัดบุคคล แล้วก็กิจการงานด้วย พระเจ้าอุเทนตรัสกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ในสมัยใด แม้ข้าพเจ้าเองมีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายย่อมครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ แต่ว่าในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายไม่ครอบงำข้าพเจ้า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่ง ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด

ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานดี สนทนากับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วก็เข้าใจถูกต้อง เข้าใจกันได้ว่า ธรรมนั้นแจ่มแจ้งนัก ไม่มีข้อสงสัยในการเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด แม้พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปที่ไหน แม้แต่เข้าไปสู่ฝ่ายใน พระองค์ก็ทรงทราบถึงพระองค์เองในขณะที่หลงลืมสติ โลภะครอบงำ ในขณะที่ไม่หลงลืมสติ โลภะทั้งหลายไม่ครอบงำพระองค์เลย

โลภะมีไหม มี สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะที่กำลังปรากฏได้ จึงชื่อว่าโลภะไม่ครอบงำ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของโลภะ โลภะก็เพิ่มพูนทวีคูณครอบงำจิตใจของบุคคลนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า เวลาที่ไม่ครอบงำแล้วโลภะจะไม่มี โลภะมี เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง โลภะนั้นจึงไม่ครอบงำได้

เพราะฉะนั้น คงไม่สงสัยในการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอุเทน ไม่ว่าจะเป็นใคร ไปที่ไหนก็ตาม เพราะว่าผู้ที่เจริญสติย่อมรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ ถ้าไม่รู้ เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ พระเจ้าอุเทนทรงทราบไหมว่า ขณะใดทรงหลงลืมสติ ขณะใดทรงมีสติ ผู้ที่เจริญสติ-ปัฏฐานทุกคนทราบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติถูกต้องจึงได้สรรเสริญการเจริญสติ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยการที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า เป็นข้อปฏิบัติที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. การที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ใครก็บังคับใครไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพของจิต อัธยาศัยของบุคคลโดยละเอียด เห็นว่าการบรรพชานั้นเป็นคุณ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นสิ่งที่ควรอบรมสะสมเป็นบารมี เพราะฉะนั้น มิได้ทรงรังเกียจผู้ที่มีศรัทธาที่จะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่าที่พื้นฐานของจิตใจจะกระทำได้ เป็นการเพิ่มพูนสะสมบารมีให้มากขึ้น แต่จะไปบังคับให้ภิกษุรูปนั้นเจริญสติตอนนั้นตอนนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกไม่มีเลย มีแต่ทรงเทศนาให้เห็นประโยชน์ ให้เห็นคุณ เพื่อเกื้อกูลแก่สติของบุคคลนั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 79

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 80