ถ. สติกับสติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไร
สุ. สติเป็นโสภณธรรม เป็นสภาพที่ระลึกได้ ในขณะที่กำลังให้ทาน ก็มีสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ในการให้ขณะนั้น ในขณะที่กำลังวิรัติจากทุจริต ขณะนั้นสติก็เกิดขึ้นเป็นไปในศีล ดังนั้น สติที่เป็นไปในทาน คือ ในขณะที่กำลังให้ทาน สติที่เป็นไปในศีล คือ ในขณะที่เกิดขึ้นวิรัติทุจริต หรือในขณะที่จิตใจไม่สงบแล้วรู้ว่า สภาพของอกุศลจิตนั้นไม่ควรจะสะสมให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ระลึกไปในการให้จิตสงบ ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณบ้าง หรือว่าศึกษาธรรม พิจารณาธรรมให้จิตสงบบ้าง ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในความสงบ แต่ทั้งหมดนั้น ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังให้ทาน มีสติที่เป็นไปในทาน แล้วยังสามารถเจริญสติที่เป็นสติปัฏฐานได้ โดยที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร กำลังรู้รสอะไร กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือว่ากำลังคิดนึก
ถ้าเห็นอุบัติเหตุ และไม่เคยฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเลย ในขณะนั้นจิตใจจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอกุศลจิตอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะที่กำลังเห็นอสุภะ ซากศพ หรือว่าอุบัติเหตุ ในขณะนั้นมีเวทนา ความรู้สึกเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น สติระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพของความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น ในขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานแล้ว
ตลอดทั้งวันก็มีเวทนา ความรู้สึกต่างๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส คิดนึกต่างๆ มีกาย มีรูปมีนามทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติทราบว่า ขณะใดสติปัฏฐานเกิดขึ้น และขณะใดที่หลงลืมสติ
ความเมตตาก็เป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตน ความกรุณาก็เป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายดีก็ไม่ใช่ตัวตน ธรรมฝ่ายไม่ดีก็ไม่ใช่ตัวตน ผู้ที่จะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้ คือ สติที่กำลังระลึกลักษณะที่กำลังเกิดปรากฏ แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรม หรือเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทุกวันๆ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสะสมการที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน จนกระทั่งปัญญาสามารถเพิ่มขึ้น รู้ชัดจนกระทั่งถึงผล คือ การรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลได้ในวันหนึ่ง แล้วแต่ว่าเหตุจะสมควรแก่ผลเมื่อไร ซึ่งถ้าสะสมเจริญเหตุที่ถูกต้องแล้ว ใครก็กั้นผล คือ การรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ให้เกิดไม่ได้เลย ต้องเกิดแน่ ถ้าสติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเจริญสติได้เป็นปกติธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งสิ้น
แต่ที่เจริญไม่ได้เพราะอะไร ขอให้ผู้ที่เจริญไม่ได้คิดใคร่ครวญ แล้วกำจัดเครื่องกั้นที่ว่า ทำไมจึงเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะมีความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ เพราะมีความต้องการผลอย่างมากมาย ชักพาให้ไปสู่การไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้
มีผู้เจริญสติปัฏฐานหลายท่านกล่าวว่า แต่ก่อนนี้ท่านก็เคยเจริญสมาธิ มีความสงบมาก แต่พอท่านเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ฟังแนวทางเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า อายตัวเองเหลือเกิน เพราะว่าใครจะรู้จักใจตนเองดีเท่ากับผู้ที่เจริญสติย่อมไม่มี ตามธรรมดาทุกท่านก็มีโลภะ โทสะ โมหะ ในลักษณะที่ต่างๆ กัน สะสมกันมามากมาย แต่ท่านไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ตัวของท่านมีความน่ารังเกียจ เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะที่กำลังเกิดขึ้นและปรากฏ แต่เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีอะไรมาปิดบัง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็กล่าวว่า อายตัวเองมาก เพราะมีความไม่ดีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นจะรู้ไม่ได้ แต่ตัวเองรู้ได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 141