ภพชาติ
โดย nattawan  10 พ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24834

ในปฏิจสมุปบาท ภพเป็นเหตุให้เกิดชาติ ชาติในที่นี้คือการเกิดใช่หรือไม่ แล้วภพในที่นี้คืออะไรคะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 10 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แม้แต่คำคำเดียว ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในที่นั้น มุ่งหมายถึงอะไร แม้แต่คำว่า ชาติ คำเดียว ถ้ากล่าวถึงจิต (และเจตสิก) แล้ว ก็ต้องหมายถึงการเกิดขึ้น ว่าทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ (ชาติ ในที่นี้ หมายถึง การเกิดขึ้น) กล่าวคือ เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก และ เป็นกิริยา ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็กล่าวกล่าวถึงเจตสิกด้วย เมื่อจิตเป็นอกุศลชาติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดก็เป็นอกุศลชาติ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลชาติ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากชาติ อย่างเช่น ปฏิสนธิจิต กับ ภวังคจิต เป็นวิบากชาติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นวิบากชาติ เช่นเดียวกัน และเมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยาชาติ ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ชาติของจิต แล้ว จะไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของรูปธรรม เลย มุ่งหมายถึงเฉพาะการเกิดขึ้นของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก เท่านั้น

แต่ถ้าเป็นชาติในปฏิจจสมุปบาท แล้ว ต้องหมายถึงการเกิดขึ้นของวิบากจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป ในขณะแห่งปฏิสนธิจิต ซึ่งก็คือ อุปัตติภพ อันเป็นผลมาจากกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมซึ่งเป็นกรรมภพ นั่นเอง ดังนั้น ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง ทั้งนามชาติ (คือ การเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ ทั้งรูปชาติ คือ การเกิดขึ้นของรูปธรรม ที่เป็นกรรมชรูป ด้วย [เจตสิกที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต นั้น มีทั้งสัญญาเจตสิก (สัญญาขันธ์) เวทนาเจตสิก (เวทนาขันธ์) พร้อมทั้งเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นสังขารขันธ์] อันเป็นผลมาจาก ภพ ที่เป็นกรรมภพ คือ กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 10 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจ คำว่า ปฏิจจสมุปบาท ก่อนครับ ว่าคืออะไร

ปฏิจจสมุปบาท เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจั หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ เป็นการแสดงเรื่องของปัจจัย (เหตุ) และปัจจยุบบัน (ผล) อีกนัยหนึ่ง ซึ่งต่างจากนัยของปัฏฐาน ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ คือ ...

๑. อวิชชา ๒. สังขาร ๓. วิญญาณ ๔. นามรูป

๕. สฬายตนะ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา

๙. อุปาทาน ๑๐. ภพ ๑๑. ชาติ ๑๒. ชรา มรณ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความเป็นปัจจัยของปฏิจจสมุปบาท คือ ...

๑. อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

๒. สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

๔. นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ

๕. สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

๗. เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

๘. ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

๙. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ

๑๐. ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

๑๑.ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ซึ่งจากคำถามที่ว่า

ชาติในปฏิจจสมุปบาท มีรูปชาติสงเคราะห์ในรูปขันธ์ และอรูปชาติสงเคราะห์ในสังขารขันธ์ เรียนถามว่า รูปชาติหมายถึงรูปอุปจยะใช่หรือไม่ครับ ส่วนอรูปชาติหมายถึงเจตสิกใดครับ

-----------------------------------------------------------------------------

ชาติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ชาติไทย ชาติจีน แต่หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่เป็นการเกิด ดังนั้น ชาติในที่นี้ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้น อันเป็นการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 ที่เป็น รูปขันธ์ และนามขันธ์ รูป มุ่งหมายถึง รูปที่เป็นกัมมชรูป ขณะที่เกิดขึ้น ส่วนนามขันธ์ ที่เป็นชาติ คือการเกิดขึ้น ของนาม หมายถึงวิบาก จิต และเจตสิก ซึ่ง ภพที่เป็น คือ กัมมภพ ที่เป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ วิบากจิต เจตสิก ที่เป็นนามขันธ์ ในขณะนั้น และรูปที่เป็น กัมมชรูป จึงชื่อว่า ชาติในขณะนั้น ครับ

สรุปได้ว่า ชาติในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ 5 ที่เป็น นามธรรม คือ วิบากจิตและเจตสิก ไม่ใช่เพียงสังขารขันธ์ และ รูปที่เป็นกัมมชรูป

ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย nattawan  วันที่ 10 พ.ค. 2557

สรุปว่า ภพ คือ กรรมภพ ที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม คือ เจตนา ใช่ไหมคะ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 10 พ.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

กรรมภพ แปลว่า ภพคือกรรม ได้แก่ เจตนาและธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนา มีอภิชฌา (ความละโมบ) เป็นต้น อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร

หรือจะกล่าวให้ง่ายก็คือ กรรมภพนั้น ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม อันจะนำไปสู่กามภพ รูปภพ อรูปภพ


ความคิดเห็น 5    โดย nattawan  วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ