ตามประวัติของท่านพาหิยะ ทารุจีริยะ ปรากฏว่า ท่านเป็นฆราวาส ได้ฟังธรรมของ พระพุทธองค์แล้วบรรลุพระอรหัตตผล คือเป็นพระอรหันต์ กำลังเที่ยวแสวงหาบริขารเพื่อ จะบวช แต่ถูกโคขวิดตายเสียก่อนจึงยังไม่ทันได้บวช พระพุทธองค์ตรัสยกย่องท่าน พาหิยะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้ฉับพลัน
ในคำตรัสยกย่องนั้น จัดท่านพาหิยะไว้ในกลุ่มภิกษุสาวก (สาวกมี 4 กลุ่ม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เรียกรวมว่า จตุบริษัท คือบริษัทสี่) ปัญหามีอยู่ว่า ท่าน พาหิยะยังไม่ได้บวชเป็นภิกษุ ไฉนจึงจัดอยู่ในกลุ่มภิกษุสาวก ขอท่านผู้รู้กรุณาช่วยอธิบายเหตุผลข้อเท็จจริงด้วยครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
บริษัท มี 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิก สำหรับเพศภิกษุ คือ ผู้ที่บวช บรรพชาในพระธรรมวินัยนี้ นั่นคือการสมมติบัญญัติ แต่งตั้งขึ้นด้วยการบรรพชา นี่คือ เพศภิกษุ ส่วนความเป็นภิกษุโดยปรมัตถ คือ ที่คุณธรรมนั่นก็คือความหมายของภิกษุ
อีกนัยหนึ่งครับ ดังนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุ ที่กล่าวโดยคุณธรรม โดยสภาพธรรมจึงไม่ใช่เพียง เป็นผู้ขอ หรือผู้ที่บวชเท่านั้น แต่ผู้ใดดับกิเลสหมดแล้วด้วยปัญญา อันรู้ความจริงของ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม หรือ ขันธ์ 5 ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาและ สามารถดับกิเลสได้ ผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นภิกษุ นี่คือความเป็นภิกษุที่แท้จริงครับ ไม่ว่าเพศใด บุคคใด แต่ถ้ามีคุณธรรมตามที่กล่าวมาก็ชื่อว่าเป็นภิกษุเช่นกันครับ
ดังในตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่พราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นพระพุทะเจ้าเรียกสาวกของตน ที่เดินบิณฑบาตว่าภิกษุ ก็เลยอยากให้พระพุทธเจ้าเรียกตนเองว่าภิกษุเช่นกัน พระ พุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่เรียกบุคคลที่ประพฤติผิดและอาศัยเพียงการขอเที่ยวไปว่าเป็น ภิกษุ แต่บุคคลใดดับกิเลสแล้วด้วยปัญญา ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ นั่นคือ เป็นภิกษุจริงๆ ด้วยคุณธรรมครับ พระพุทธเจ้าจึงตรัวพระคาถาที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 84
ลักษณะภิกษุและผู้มิใช่ภิกษุ
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพราหมณ์นั้นว่า "พราหมณ์ เราหาเรียกว่า ' ภิกษุ ' เพราะอาการเพียงขอ (เขาไม่) เพราะผู้สมาทานธรรมอันเป็นพิษแล้วประพฤติอยู่ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าภิกษุหามิได้, ส่วนผู้ใดเที่ยวไปด้วยพิจารณาสังขารทั้งปวง, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
"บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเหตุที่ขอกะคนพวกอื่นหามิได้, บุคคลสมาทาน ธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น; ผู้ใดในศาสนานี้ ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ (รู้ธรรม) ในโลก ด้วยการพิจารณา เที่ยวไป ผู้นั้นแลเราเรียกว่า 'ภิกษุ'
ซึ่งแม้แต่คำว่าภิกษุ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสธรรมสูตรใดสูตรหนึ่ง ถึงคำว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ไม่ได้หมายถึงตรัสเฉพาะกับพระภิกษุเท่านั้น แต่หมายถึงพุทธบริษัท ทั้งหมด ด้วยครับในเรื่องนั้น แต่พระองค์กล่าวด้วยความที่ภิกษุทั้งหลายเป็นประธานในบริษัท 4 ดังนั้นคำว่าภิกษุอีกความหมายหนึ่ง ที่เป็นคุณธรรมคือ ผู้ที่เห็นภัยใน สังสารวัฏฏ์ ชื่อว่าภิกษุ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่เห็นภัยของการเกิด เป็นต้น ด้วยปัญญา ก็ ชื่อว่าเป็นภิกษุ
อีกเรื่องหนึ่ง แม้ท่านสันตติมหาอำมาตย์ ท่านเป็นคฤหัสถ์ เมื่อท่านได้ฟังธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านก็ไม่ได้บวชเหมือนท่านพระพาหิยะ ท่านก็ปรินิพพาน ในวันนั้นเหมือนกัน เมื่อท่านปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายก็สนทนากันว่าจะเรียกท่าน สันนติมหาอำมาตย์ว่าอย่างไร จะเรียกว่าสมณะ หรือ พราหมณ์ได้ไหม คือจะเป็นสมณะ ได้ไหม ในเมื่อท่านไม่ได้บวชแต่ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า ให้เรียกบุตรของเราว่า สมณะก็ควร เรียกว่าพราหมณ์ก็ควรเพราะท่านดับกิเลส แล้วนั่นเองครับ ซึ่งแม้บุคคลจะประดับตกแต่งเป็นเพศคฤหัสถ์ แต่ดับกิเลสแล้วก็ควร เรียกว่า สมณะ และควรเรียกว่าภิกษุได้ ดังพระคาถามที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบภิกษุทั้ง หลายในเรื่องท่านสันตติมหาอำมาตย์ว่าควรเรียกท่านว่าอย่างไร พระคาถามีว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 119
"แม้ถ้าบุคคลประดับแล้ว พึงประพฤติสม่ำเสมอ เป็นผู้สงบ ฝึกแล้ว เที่ยงธรรม มีปกติประพฤติ ประเสริฐ วางเสียซึ่งอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก บุคคลนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ"
จะเห็นนะครับว่า การเป็นภิกษุจึงเป็นโดยการสมมติแต่งตั้งด้วยการบรรพชา อุปสมบทนี่โดยนัยของภิกษุที่สมมติขึ้น ส่วนความเป็นภิกษุจริงๆ คือ จากคุณธรรม จากสภาพธรรม คือ จิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว ด้วยปัญญาก็ชื่อว่าเป็นภิกษุเช่นกัน ดังนั้น ท่านพระพาหิยะ ท่านแม้จะเป็นเพศคฤหัสถ์ยังไม่ได้บวช จะกล่าวว่าท่านเป็น บรรพชาเป็นพระภิกษุแล้วโดยสมมติ แต่งตั้งขึ้นมา เป็นพระภิกษุสงฆ์โดยการบรรพชา ไม่ได้ เพราะท่านยังไม่ได้บวช แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่ใช่ภิกษุสาวก ตามที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าท่านเป็นภิกษุสาวก อันเป็นผู้เลิศในผู้บรรลุเร็ว เพราะท่านเป็น ภิกษุโดยปรมัตถ โดยคุณธรรม เพราะดับกิเลสหมดแล้ว ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น มี ท่านสันตติมหาอำมาตย์ เป็นต้นครับ
ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
กราบขอบพระคุณครับที่กรุณาให้ความรู้
ขออนุญาตตั้งข้อสงสัยต่อไปอีกหน่อยว่า ถ้าเป็นภิกษุได้โดยปรมัตถ์เช่นนั้นแล้ว ก็แปลว่าไม่จำเป็นต้องทำพิธีบวชก็ได้ ใช่หรือไม่ กระผมหมายความว่า ไม่ต้องผ่าน สังฆกรรม ก็คือนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เอาเองก็เป็นภิกษุได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ต้องบวชก็ ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเหมือนกับผู้ที่บวชเป็นภิกษุเช่นเดียวกัน กระนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นจะ ทรงบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทขึ้นมาทำไม?
ขอแถมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ ถ้าฆราวาสผู้นั้นบรรลุธรรมต่ำกว่าภูมิพระอรหันต์ เช่นเป็นอนาคามีเป็นต้น ถ้าไม่ผ่านพิธีบวชจะได้ชื่อว่าเป็น ภิกษุ โดยปรมัตถหรือไม่
ขอขอบพระคุณที่จะกรุณาให้ความรู้เป็นหลักคิดที่ถูกต้องครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าได้ศึกษาพระธรรม มีการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ก็จะสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ตามประวัติของท่านพาหิยะทารุจีริยะ ท่านได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สามารถตรัสรู้ธรรมอย่างรวดเร็ว ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งได้อย่างหมดสิ้นตั้งแต่ในขณะที่เป็นคฤหัสถ์ ได้ขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทแก่ท่านเนื่องจากว่าบาตรและจีวรยังไม่มี ท่านจึงต้องแสวงหาบาตรและจีวร ก่อน ในขณะที่แสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้น ก็ถูกนางยักษิณีตนหนึ่งซึ่งมาในรูปของแม่โคนม ขวิดถูกตรงขาอ่อนข้างซ้ายของท่าน ทำให้ท่านถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งชีวิต เป็นการตายครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ท่านพาหิยะทารุจีริยะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นเพศพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และปรินิพพานในวันนั้น แต่ท่านเป็นภิกษุที่แท้จริง แม้ว่าจะไม่ได้บวชพระภิกษุ (โดยเพศบรรพชิต) ก็ตาม เพราะการเป็นภิกษุที่แท้จริง คือ เป็นผู้ทำลายกิเลสได้หมดสิ้น นั่นเอง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
จากคำถามที่ว่า
ขออนุญาตตั้งข้อสงสัยต่อไปอีกหน่อยว่า ถ้าเป็นภิกษุได้โดยปรมัตถเช่นนั้นแล้ว ก็แปลว่าไม่จำเป็นต้องทำพิธีบวชก็ได้ ใช่หรือไม่ กระผมหมายความว่า ไม่ต้องผ่าน สังฆกรรม ก็คือนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เอาเองก็เป็นภิกษุได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ต้องบวชก็ ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเหมือนกับผู้ที่บวชเป็นภิกษุเช่นเดียวกัน กระนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นจะ ทรงบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทขึ้นมาทำไม?
เรียนอย่างนี้ครับ ผู้ที่เป็นภิกษุโดยปรมัตถโดยคุณธรรมคือผู้มีปัญญา สามารถดับ กิเลสได้หมดแล้วครับ ซึ่งในกรณีของท่านพระพาหิยะ ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์เมื่อ ฟังพระธรรมสั้นๆ จบ ซึ่งท่านพระพาหิยะ ท่านก็ทูลขอบวชด้วยครับ แต่พระพุทธเจ้า ทราบว่าท่านพระพาหิยะไม่ได้ทำบุญคือการได้บาตรและจีวรมา และทำบาปกรรมที่ ทำให้ท่านไม่ได้จีวรและบาตร พระองค์จึงไม่ได้บวชท่านพระพาหิยะด้วยเอหิภิกขุ มีการตรัสว่าเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เพราะฉะนั้นเมื่อท่านพระพาหิยะทูลขอบวช พระพุทธเจ้าจึงให้ท่านพระพาหิยะไปแสวงหาบาตร จีวรให้ครบ เมื่อท่านแสวงหาอยู่ จึงถูกแม่โคขวิดครับ
จะเห็นว่าแม้ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ขอบวช แต่พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ เหตุว่าจะให้บวชด้วยเอหิภิกขุได้หรือไม่ ท่านจึงให้ไปแสวงหาบาตร จีวร เป็นต้น ดังนั้น ไมได้ห้ามการบวช แม้เป็นพระอรหันต์แล้วครับ และผู้ที่ศรัทธา เห็นโทษของการครอง เรือน พระพุทธองค์ก็ทรงให้บวชด้วยครับ ดังนั้นการอธิบายคำว่าภิกษุจึงจะต้องแยก ประเด็นว่าเรากล่าวภิกษุในความหมายของอะไรครับ
ส่วนคำถามที่ว่า
ขอแถมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ ถ้าฆราวาสผู้นั้นบรรลุธรรมต่ำกว่าภูมิพระอรหันต์ เช่นเป็นอนาคามีเป็นต้น ถ้าไม่ผ่านพิธีบวชจะได้ชื่อว่าเป็น ภิกษุ โดยปรมัตถหรือไม่
ภิกษุมีหลายความหมายเมื่อกล่าวถึงภิกษุโดยปรมัตถ ปรมัตถ คือสภาพธรรมที่มี จริงมีจิต เจตสิก รูป เป็นต้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงภิกษุโดยปรมัตถ ก็คือ จิตของบุคคลนั้น ดังนั้นถ้าความหมายของภิกษุที่เป็นผู้ดับกิเลสหมดแล้ว คฤหัสถ์นั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็น ภิกษุโดยปรมัตถ แต่เมื่อกล่าวถึงความหมายของภิกษุ อีกนัยหนึ่งคือ เป็นผู้เห็นภัยใน สังสารวัฏฏ์ ซึ่งเห็นด้วยปัญญา ดังนั้นการเห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ที่เป็นปัญญา ปัญญาไมได้จำกัดเพศเลยครับ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตก็เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ได้เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุโดยปรมัตถ โดยคุณธรรมนั่นเอง แม้จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตามครับ
ขออนุโมทนาครับ
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 291
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...
ประวัติท่านพาหิยะ ทารุจีริยะ
พาหิยสูตร ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดทุกข์