ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รายการโทรทัศน์ "บ้านธัมมะ" วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ถอดเทปสนทนาธรรม โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
ท่านอาจารย์สุจินต์ ผู้ที่ศึกษาพระธรรม ควรที่จะเข้าถึง "โวหาร" และ "อรรถของโวหาร" ด้วย เช่น คำว่า "มิตร" พระธรรมที่ทรงแสดงในอดีตนั้น เป็นจริงในปัจจุบัน และอนาคตด้วยหรือเปล่า เป็น "โวหาร" ที่จะทำให้เข้าใจ "อรรถ"หรือ "ความหมายของคำ" ที่ทรงแสดง อย่างเช่น ถ้ากล่าวถึง เรื่องของโค เกวียน คนเดินทางเดินด้วยเท้า ไม่มีเพื่อน กับมีเพื่อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้ากล่าวถึงมิตร หมายถึงไม่ใช่คนเดียวเพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนไปด้วย ก็ช่วยเหลือกันได้ เวลาที่เกิดความลำบาก ทุกข์ร้อนก็ยังมีเพื่อนที่มีความหวังดี ที่จะเกื้อกูลได้แต่ถ้าไปโดยไม่มีเพื่อน คือ ไปคนเดียว ไปโดยยานพาหนะ เช่น เกวียน หรือ โคอุปมา ว่าเป็น "เพื่อน" ได้ไหมคะ เพราะเกวียน หรือ โค ช่วยเหลือในการเดินทางให้สำเร็จ และยุคสมัยก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนมีโค และเกวียนสมัยนี้ มีรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ เป็นเพื่อนหรือเปล่าคะ หรือว่า เฉพาะโคและเกวียน เท่านั้น ที่จะเป็นเพื่อนได้ในเฉพาะยุคนั้น เท่านั้น หรือว่า ทุกยุค ทุกสมัย เพราะฉะนั้น "อรรถ" ของ "โวหาร" นี้ คือ ให้เข้าใจว่าขณะใดก็ตาม ที่เป็นผู้ซึ่งกระทำกิจการงานใดๆ ให้สำเร็จลงไปได้นั้นขณะนั้น ก็เป็นมิตร เป็นสหาย แต่แม้กระนั้น ก็ยังละเอียดกว่านั้นอีกคือ ขณะที่กำลังกระทำกิจการนั้น. จิตใจของบุคคลนั้น กระทำกิจนั้นด้วยความหวังดี เกื้อกูลอย่างแท้จริง หรือเปล่า หรือว่า เพียงเป็นประโยชน์ที่จะได้อาศัยกันและกัน เพื่อกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ
เพราะฉะนั้น "โวหารเทศนา" คือ ให้เข้าใจว่า "มิตร" หมายถึงบุคคลที่สามารถช่วยกิจการงานนั้นให้สำเร็จไปได้ "มิตร" ก็คือ ผู้ที่หวังดี พร้อมที่จะทำประโยชน์ เกื้อกูล ลองพิจารณาดูว่า จิตใจของผู้ที่หวังดีต่อบุคคลอื่นนั้น จะเป็นศัตรูหรือเปล่า ในเมื่อ จิตใจขณะนั้น พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลทุกอย่าง และ ทุกทางทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจโดยไม่มีจุดประสงค์ ที่จะให้ใครเกิดความเดือดร้อน (กาย-ใจ) ไม่มีจุดประสงค์ให้เกิด ความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะทำ จะพูด หรือ คิด ก็เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น นั่นคือ "มิตร"
"มิตร" คือ ผู้ที่คำนึงถึงประโยชน์ของบุคคลที่เขาคบ ใช่ไหมคะ ขณะใดก็ตาม ที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์ต่อบุคคลอื่นขณะนั้น เป็นประโยชน์ต่อตนเองด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ชาวโลก จะคิดว่า ประโยชน์ตนก่อน แล้วถึงจะประโยชน์ผู้อื่นแต่พระธรรมไม่ใช่อย่างนั้นเลย พระธรรม ลึก และ ละเอียดด้วย ขณะใด ที่สามารถจะเป็นเพื่อน หวังดี ทั้งต่อหน้าและลับหลังทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น และ เป็นประโยชน์ต่อตนเองด้วยเพราะว่า ขณะนั้น เป็น "กุศลจิต" อย่างแท้จริง
"ประโยชน์ตน" ที่แท้จริงนั้น คือ อะไร การคบบุคคลใด เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ หมายความว่า ขณะนั้นเป็น"ประโยชน์ตน"เพราะว่า "เป็นขณะของกุศลจิต" พระธรรม มีความละเอียด ลึกซึ้ง (โดยอรรถโวหาร) จึงควรพิจารณาถึง "ความมุ่งหมาย" ด้วย แม้แต่คำว่า "มิตร" ขณะที่พิจารณาบุคคลอื่น ขณะนั้น จิตใจของเรา เป็นอะไร เป็นศัตรู หรือ เป็นมิตร และขณะที่เราเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าบุคคลที่มีกาย วาจา อย่างใดก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้นเอง ซึ่งสะสมมาที่จะคิด พูด หรือกระทำอย่างนั้นถ้าเป็นการคิด พูด และกระทำในทางที่เป็นอกุศล ควรที่จะสงสารไหมคะ ถ้าจะเป็นมิตรกับเขา เป็นได้ไหม ทำไมจึงเจาะจงที่จะเป็นมิตร เฉพาะกับคนที่ดี บุคคลที่กำลังลำบาก อุปมาเหมือนคนที่เป็นไข้หนัก ไม่มีพยาบาล ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มียารักษาโรค และเราก็สามารถที่จะช่วยเขาให้มีกำลัง พอที่จะสามารถเดินต่อไปได้ ในสังสารวัฏฏ์ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ความเป็นมิตร ก็สามารถที่จะกว้างออกไปและที่เราใช้คำว่า "แผ่เมตตา" นั้น ความจริงแล้ว ยังไม่ได้เจริญเลย.!เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมที่ตรงกันข้ามกัน คือ โทสะ และ อโทสะ
แม้แต่บุคคลที่เราเข้าใจว่าเป็นมิตรแล้ว แต่ถ้าเกิดความโกรธในบุคคลนั้น ขณะนั้น ไม่ใช่มิตรเพราะว่า ความเป็นมิตร ไม่โกรธ ไม่หวังร้าย ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นการเตือน ให้รู้จัก ว่า "มิตรแท้ คือ กุศลธรรม" ด้วยเหตุนี้ พระธรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรเข้าใจจริงๆ แม้คำเพียงคำเดียวต้องเข้าใจให้ชัดเจนจริงๆ ว่า ความเป็นมิตร ต้องอยู่ที่จิตและต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล ด้วย ชีวิตตามความเป็นจริง เราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ แล้วขณะที่กำลังคิดนึกถึงคนอื่น ว่าเป็นมิตร หรือเป็นศัตรูให้ทราบว่า ขณะนั้น คือสภาพจิตที่เป็น กุศล หรือ อกุศล ขณะที่เป็น อกุศลจิตขณะนั้น มีศัตรูที่ใกล้ที่สุด อยู่ที่จิตของตน และกำลังทำร้ายตนเองโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ต่อไป ถ้าศัตรูนี้มีกำลังมากขึ้นก็จะทำอันตรายได้มากกว่านี้อีก เพียงแต่ เป็น "ศัตรูที่มองไม่เห็น" ด้วยเหตุนี้ จึงควรเข้าใจ "โวหารเทศนา" ด้วยนะคะไม่ใช่เข้าใจเพียงคำ หรือ พยัญชนะ เท่านั้น
คุณคำปั่น พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง ควรค่าแก่การศึกษาแม้แต่ เรื่อง "มิตร" ก็มีความละเอียด หลากหลายมากพระธรรมที่ทรงแสดง ในเรื่องของ"มิตร" ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ก็มีมากมายแม้จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบันนี้ พระธรรมก็ยังดำรงอยู่ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษา ได้ฟัง ก็ได้ประโยชน์จากพระธรรมด้วยที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่เพียงฟังเท่านั้น ต้องเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม ด้วย
ขออนุโมทนา
กรุณาแปลคำว่า
"อรรถ"
"โวหาร"
"โวหารเทศนา"
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
คำว่า "อรรถ" หมายถึง เนื้อความ ความหมาย หรือลักษณะ
คำว่า "โวหาร" หมายถึง สำนวนคำพูด ถ้อยคำ
คำว่า "โวหารเทศนา" หมายถึง พระธรรมเทศนาที่แสดงตามคำพูดของชาวโลก
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุ
การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่เพียงรู้ชื่อหรือเรื่องราว แต่ต้องให้เข้าใจจริงๆ ถึงอรรถค่ะ
ขออนุโมทนาครับ