บทว่า รู้แจ้งซึ่งปีตินั้น ก็คือ
โดย สารธรรม  17 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43972

สมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย มีข้อความอธิบายว่า

บทว่า รู้แจ้งซึ่งปีตินั้น ก็คือ

เมื่อปีติปรากฏ ขณะหายใจออก ขณะหายใจเข้า ในคำว่า รู้แจ้งปีตินั้น ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอารมณ์ ๑ และโดยไม่หลง ๑

ที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอารมณ์นั้นอย่างไร

ในปฐมฌานก็ดี ในทุติยฌานก็ดี โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับด้วยปีติ ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้น รู้แจ้งโดยอารมณ์

คือ รู้ว่ามีปีติในขณะนั้น คนที่เจริญสมาธิไม่ใช่ว่าหลง ไม่ใช่ว่าขาดสติ ในขณะที่จิตจะเป็นปฐมฌาน มีองค์วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็รู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ลักษณะของสิ่งที่มีเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีปีติก็รู้ว่ามีปีติ นั่นเป็นอารมณ์อันภิกษุรู้แจ้งแล้ว

ส่วนพยัญชนะที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้ง โดยความไม่หลงอย่างไร

คือ เมื่อออกจากฌานแล้ว พิจารณาปีติอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งโดยความไม่หลง ด้วยการแทงตลอด ในขณะแห่งวิปัสสนา

พยัญชนะที่ว่า ในบท รู้แจ้งซึ่งสุข รู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร มีข้อแปลกกัน คือ รู้แจ้งสุขด้วยฌาน ๓ โดยจตุตถนัย รู้แจ้งซึ่งจิตสังขารด้วยสามารถแห่งฌานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น จตุกะนี้โดยนัยของเวทนานุปัสสนา เพราะเหตุว่าเวทนาก็เป็นจิตสังขาร

ที่ว่า รู้แจ้งปีติ รู้แจ้งสุข รู้แจ้งจิตสังขารนั้น เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของเวทนา

ส่วนพยัญชนะที่ว่า ยังจิตให้บันเทิง หายใจออก หายใจเข้า เป็นเรื่องของ จิตตานุปัสสนา

ในขณะที่หายใจออก จิตมีลักษณะอย่างไร ในขณะที่หายใจเข้า จิตมีลักษณะอย่างไร ผู้ที่เจริญสติจะต้องพิจารณารู้ด้วยในขณะนั้น

ที่ว่า ยังจิตให้บันเทิงบันเทิง คือ เบิกบาน มีความผ่องใสมีความเบิกบาน และความเบิกบานของจิตที่หายใจออก ที่หายใจเข้านั้น ก็มีโดยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งสมาธิ ๑ และด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา ๑

ที่ว่าเบิกบานด้วยสมาธินั้น คือ ภิกษุเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับปีติ ย่อมยังจิตให้บันเทิงทั่ว คือ ย่อมให้ปราโมทย์ด้วยปีติอันสัมปยุตต์ ในขณะแห่งสมาบัติ

เวลาที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน จิตใจก็บันเทิง เพราะว่ามีปีติเกิดร่วมด้วย

ส่วนเบิกบานด้วยวิปัสสนานั้นอย่างไร

เวลาที่เข้าปฐมฌาน หรือทุติยฌาน แล้วออกจากฌาน พิจารณาปีติที่เกิดร่วมกับฌานจิตนั้นโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบันเทิงปราโมทย์ นี่โดยนัยของวิปัสสนา

ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติ พิจารณาลักษณะของนามและรูป และประจักษ์ความเสื่อมไป สิ้นไป ความไม่เที่ยงของนามรูป มีปัญญารู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะปีติปราโมทย์ไหม ถ้าท่านได้ประจักษ์สภาพธรรมซึ่งเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตนทั่วถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนามใดๆ รูปใดๆ เป็นมหาวิปัสสนา คลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะรู้ปัจจัยของนามและรูปที่เกิดปรากฏว่า นามและรูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เมื่อละคลาย รู้การเกิดดับสืบต่อกัน และยังสามารถที่จะมีปัญญาแทงตลอดในความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามและรูป จิตใจจะเป็นอย่างไร หดหู่ โศกเศร้า ท้อถอย หรือว่า บันเทิง ร่าเริง

ขอให้เทียบดูลักษณะของจิตใจ ในขณะที่สติไม่เกิดอาจจะเป็นห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนโน้นจะคิดอย่างไร คนนี้จะต้องการอะไร ทำอะไรไปแล้วจะถูกใจคนโน้นไหม จะดีไหม ล้วนแต่เป็นเรื่องกังวลทั้งสิ้นในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่พอระลึกได้ สติรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปล่อยแล้ว วางแล้ว มีแต่เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเท่านั้น ก็ทำให้เบาใจ ไม่ยึดถือ ไม่ห่วงใยเรื่องยุ่งๆ เมื่อสักครู่นี้

นี่เป็นเพียงการเจริญสติที่ปัญญาเริ่มรู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามรูปแต่ละชนิดแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง และถ้าสามารถจะประจักษ์ชัดถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งกว่านั้น คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความเบาใจ ความโล่งใจเพราะไม่ยึดถือนามรูปนั้นย่อมทำให้จิตใจปีติบันเทิงที่ได้รู้ความจริง ไม่ใช่เศร้าสร้อยเสียดายว่า ไม่ใช่เราอีกต่อไป ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต ร้องไห้ โศกเศร้า คร่ำครวญ เสียดาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของธรรมะมีความบันเทิง เบาใจ โล่งใจ ไม่ยึดไม่ติดว่าเป็นตัวตน ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ความปีติ ความบันเทิงก็เกิด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 88