* ทำไมแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันทั้งอุปนิสัย และฐานะ ความสุขสบาย ความทุกข์ยาก ที่หลากหลายต่างๆ กันไป
* จิตเป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ (สิ่งที่จิตรู้) ทุกๆ ขณะในชีวิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ดับไป และจิตขณะต่อไปก็เกิดขึ้นสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น
* ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก แสดงความหมายของจิตประการหนึ่งว่า
"จิตนั้นชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า ย่อมสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี"
และอีกประการหนึ่งว่า
"ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันกรรมและกิเลสทั้งหลายสั่งสมวิบาก"
* ขณะจิตที่สำคัญในชีวิตทุกภพชาติของผู้ที่ยังมีกิเลส ก็คือขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเป็นชวนวิถี คือแล่นสืบต่อกันไป 7 ขณะจิต (โดยปกติ) จึงทำให้มีการเสพคุ้นและสั่งสมอุปนิสัยให้สืบต่อ (สันดาน หรือ สันตานะ) ไปในจิตขณะต่อๆ ไป นี่คือเหตุผลตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนว่า ทำไมแต่ละบุคคลจึงมีอุปนิสัยทั้งในทางกุศล หรืออกุศล รวมทั้งจริตอัธยาศัยที่หลากหลายต่างๆ กันไป
* ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีปัจจัยให้กระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ซึ่งกรรมที่กระทำไว้แล้ว ก็จะสะสมสืบต่อไปในจิต และเมื่อมีโอกาสคือมีปัจจัย ก็สามารถให้ผลเป็นวิบาก (ผลของกรรมที่เป็นจิตและเจตสิก) ได้ต่อไป นี่คือเหตุผลตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนว่า ทำไมแต่ละบุคคลจึงมีความสุขสบาย หรือทุกข์ยาก ต่างๆ กันไป
* ดังนั้นชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน จึงต่างกันไป และแม้จิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ ก็ยังต่างกันอีกด้วย
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม
ขออนุโมทนาครับ
เมื่อได้รู้อย่างนี้แล้ว จึงเข้าใจทันทีว่า "จิต" ต่อจากนี้ไป เมื่อเกิด หิริ โอตัปปะ และจะได้สะสมกรรมดี ให้มากๆ เพื่อจะได้ไม่ไปอบายภูมิ และหากเกิดใหม่จะมีกรรมที่แสดงผลดีบ้าง สาธุ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ