อรรถกถาสูตรที่ ๕ ประวัติพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ
โดย บ้านธัมมะ  16 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38360

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 420

อรรถกถาสูตรที่ ๕

ประวัติพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 420

อรรถกถาสูตรที่ ๕

ประวัติพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ

ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า สมนฺตปาสาทิกานํ ได้แก่ ผู้นำความเลื่อมใสมาแก่ชนทั้งปวง. คำว่า อุปเสน เป็นชื่อของพระเถระนั้น. ก็พระเถระนั้นเป็นบุตรพราหมณ์วังคันตะ ฉะนั้น จึงเรียกกันว่า วังคันตบุตร. ก็พระเถระนี้ มิใช่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาด้วยตนเองอย่างเดียวเท่านั้น แม้บริษัทของท่าน ก็เป็นผู้นำความเลื่อมใสมา ดังนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของภิกษุ ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ด้วยสามารถแห่งชื่อที่ได้ เพราะอาศัยบริษัท ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังต่อไปนี้.

ก็พระเถระแม้นี้ บังเกิดในเรือนตระกูล ในนครหงสวดี ในกาลแห่งพระปทุมุตตร พุทธเจ้า เจริญวัยแล้ว ไปเฝ้าพระศาสดา ฟังพระธรรมอยู่ โดยนัยก่อน นั่นแล เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งยอดเยี่ยมของภิกษุ ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ กระทำกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ต่อพระศาสดา ปรารถนาตำแหน่งนั้นกระทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาท กาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิ ในครรภ์ของนางสารีพราหมณี พวกญาติตั้งชื่อให้ท่านว่า อุปเสนทารก. อุปเสนทารกเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท ฟังพระธรรม ในสำนักของพระทศพล ได้ศรัทธาบวชแล้ว. ท่านอุปสมบทได้พรรษาเดียว คิดว่าเราจะขยายอาณาจักรพระอริยะ จึงให้


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 421

กุลบุตรคนหนึ่ง บรรพชาอุปสมบทในสำนักของตน. ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว ในเวลาที่สัทธิวิหาริกมีพรรษาเดียว ตนเองสองพรรษา ท่านคิดว่า พระทศพลทรงเห็นเราแล้วจักยินดี จึงพาสัทธิวิหาริกมาเฝ้าพระทศพล. พระศาสดาตรัสถามท่านซึ่งถวายบังคมแล้วนั่งในที่แห่งหนึ่งว่า "เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ" "สองพรรษา พระเจ้าข้า" "ภิกษุนี้มีพรรษาเท่าไร" "พรรษาเดียว พระเจ้าข้า" "ภิกษุนี้เป็นอะไรของเธอ" "เป็นสัทธิวิหาริของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า"

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า เร็วไป โมฆบุรุษ เธอเวียนมา เพื่อความเป็นผู้มักมาก แล้วทรงติเตียนท่าน โดยอเนกปริยาย. พระเถระถูกตำหนิแต่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านมีใบหน้าผ่องใส เสมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ คิดว่า เราจักให้พระศาสดาประทานสาธุการ เพราะอาศัยบริษัทนี่แหละ ดังนี้แล้วไปยังที่แห่งหนึ่งในวันนั้นเอง เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต.

ลำดับนั้น เพราะพระเถระออกบวชจากตระกูลใหญ่ และเป็นพระธรรมกถึกผู้ฉลาดในการกล่าวสอน ฉะนั้นจึงมีทารกของตระกูลเป็นจำนวนมาก เลื่อมใสธรรมกถาของท่าน และออกจากตระกูล มิตรอำมาตย์ และญาติผู้ใหญ่ พากันไปบรรพชายังสำนักของพระเถระ. ท่านกล่าวว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แม้พวกท่านก็จงสามารถเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร บรรพชาเถิด ดังนี้แล้ว บอกธุดงค์ ๑๓. ให้เขาเหล่านั้น ผู้กล่าวว่า พวกกระผมจักศึกษา ขอรับ ดังนี้บรรพชา. ท่านเหล่านั้น อธิฎฐานธุดงค์นั้นๆ ตามกำลังของตน. แม้พระเถระ ในเวลาที่ตนมี


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 422

พรรษา ๑๐ ศึกษาวินัยคล่องแคล่วแล้ว ให้สามเณรทั้งหมดอุปสมบท. ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปที่อุปสมบทแล้ว ได้เป็นบริวารของท่านด้วยประการฉะนี้.

สมัยนั้น พระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตปรารถนาจะหลีกเร้นสักครึ่งเดือน แล้วประทับอยู่พระองค์เดียว. แม้ภิกษุสงฆ์ก็ได้ทำกติกากันว่า รูปใดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ต้องให้รูปนั้น แสดงอาบัติปาจิตตีย์. คราวนั้น พระอุปเสนเถระคิดว่า จักเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพร้อมด้วยบริษัทของตนไปพระวิหารเชตวัน เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง. เพื่อเริ่มการสนทนา พระศาสดาตรัสเรียก สัทธิวิหาริกของพระเถระรูปหนึ่งว่า ภิกษุ เธอชอบใจบังสุกุลจีวรหรือ. สัทธิวิหาริกรูปนั้น กราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบังสุกุลจีวรเลย พระเจ้าข้า แล้วกราบทูลแด่พระศาสดา ถึงเรื่องที่พวกตนครองบังสกุลจีวร ก็ด้วยความเคารพพระอุปัชฌาย์. ในฐานะนี้ พระศาสดาได้ประทานสาธุการ แก่พระเถระว่า สาธุ สาธุ อุปเสนะ แล้วตรัสกถาพรรณนาคุณ โดยอเนกปริยาย. ความย่อในเรื่องนี้ ดังนี้. แต่ความพิสดารเรื่องนี้ มาแล้วในพระบาลี นั่นแล.

ในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงตั้งพระ (อุปเสนวังคันตบุตร) เถระ ไว้ในตำแหน่งยอดเยี่ยมของเหล่าภิกษุ ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ในพระศาสนานี้แล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๕