จุติจิต และ ปฏิสนธิจิต
โดย showtana  11 พ.ย. 2548
หัวข้อหมายเลข 511

ขอเรียนถามว่า

จุติจิต และ ปฏิสนธิจิต หมายถึง วิบากขันธ์ ซึ่งเป็นเป็นวิบากจิตด้วยใช่หรือไม่คะ

ขอบคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 12 พ.ย. 2548

จุติจิต และ ปฏิสนธิจิต หมายถึง วิบากขันธ์ ซึ่งเป็นกิจของวิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 พ.ย. 2548

จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อดับแล้ว จิตที่เกิดต่อทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากชาติก่อน

ปฏิสนธิจิต เป็นจิตดวงแรกของชาตินี้ เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย ไม่มีจิตอื่นคั่นระหว่างจุติจิตของชาติก่อนกับปฏิสนธิจิตของชาตินี้ จิตเห็นทำทัสนกิจ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ จิตได้ยินก็ทำสวนกิจ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตดวงเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตเห็นจะเป็นปฏิสนธิจิตไม่ได้เลย

ปฏิสนธิจิต หมายถึง จิตดวงแรกของชาตินี้ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้น มีขณะเดียว ในชาติหนึ่งมีปฏิสนธิจิตขณะเดียว แต่ว่ามีจักขุวิญญาณหลายขณะได้ตามเหตุตามปัจจัย


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 พ.ย. 2548

วิบาก เกิดขึ้นโดยมีกรรมเป็นปัจจัย แต่วิบากจิตไม่สามารถทำให้เกิดวิบากจิตได้ วิบากจิตทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เมื่อกรรมให้ผล คือทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็หมดเรื่องของวิบาก แต่กรรมยังมีอยู่ต่อไปไหม ถ้ากรรมยังมีอยู่ต่อไป ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่เกิดต่อเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นผลของวิบาก


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 12 พ.ย. 2548

ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘

เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง

สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง

วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง


ความคิดเห็น 5    โดย pornpaon  วันที่ 13 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 6    โดย papon  วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย สมสมัย  วันที่ 11 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณค่ะ และขออนุโมทนาบุญนะคะ


ความคิดเห็น 8    โดย nongnong  วันที่ 14 พ.ค. 2562

สาธุ


ความคิดเห็น 9    โดย Pongtanut  วันที่ 19 ม.ค. 2563

เมื่อปฏิสนธิจิตแล้ว​ จิตดวงนี้ดับเลยไหมครับ​ หรือเป็นภวังคจิตรักษาภพชาติในอัตถภาพจนตาย​

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ​

สาธุในธรรมครับ


ความคิดเห็น 10    โดย สิริพรรณ  วันที่ 12 มี.ค. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัย ด้วยเศียรเกล้า

จิต ทุกประเภท เกิดแล้วต้องดับ ไม่มีจิตประเภทใดที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด ทรงแสดง ว่า ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ และจิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตอีกหนึ่งขณะต่อไปเกิดขึ้น จากการศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดง จึงทำให้เข้าใจได้ว่า การเกิดขึ้นและดับไปของจิต เป็นไปอย่างรวดเร็ว สุดที่จะมีเครื่องมือใดๆ ในโลกนี้ประมาณได้เลย

ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เกิดขึ้นเพราะผลของกรรม เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในแต่ละชาติ คือขณะที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมเดียวกันนั้นก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันคือภวังคจิตเกิดขึ้นทันทีเพื่อสืบต่อดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจุติจิตจะเกิดขึ้นด้วยผลของกรรมเช่นกัน

การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด จะนำไปสู่ความเข้าใจความจริงว่า ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีใครที่จะมีอำนาจจัดการอะไรให้เกิดขึ้นเป็นไปได้เลย นอกจากตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรม ความเข้าใจนี้จึงเป็นหนทางที่จะค่อยๆ ละคลายความเห็นผิดที่เคยยึดมั่น ว่า มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นเหตุของการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อันจะมีโทษที่ร้ายแรงถึงกับความเดือดร้อนในอบายภูมิได้ ผู้เห็นคุณค่าของเวลาที่มีเหลืออยู่ในชาตินี้ จึงสะสมการศึกษาพระธรรมโดยสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งการฟังพระธรรมค่ะ

ขออนุโมทนา

สนใจศึกษาเพิ่มเติมที่

จิตเกิดและดับเร็วสุดประมาณได้ ลัดนิ้วมือเดียวจิตเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ

ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 13 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย Jans  วันที่ 5 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ส.ค. 2565

การเกิดในภพต่างๆ เป็นสัตว์โลกประเภทต่างๆ เป็นผลมาจากการที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก และ รูป ในเรื่องเหตุแห่งการเกิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังมีอวิชชา ยังมีตัณหา ก็ยังต้องเกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็มีทุกข์เรื่อยไป จนกระทั่งตาย เพราะชีวิตก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขนั้นก็ไม่เที่ยง แม้แต่ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์คือรู้สึกเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนไม่เที่ยงทั้งสิ้น

ดังนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาให้เห็นชีวิตตามความเป็นจริง คือ เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ก็เพื่อให้สัตว์โลกถึงการดับทุกข์อย่างแท้จริง การดับทุกข์ที่แท้จริงนั้น ต้องดับกิเลสทั้งปวงและดับการเกิดด้วย

เพราะเหตุว่า เมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องประสบกับทุกข์ประการต่างๆ ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่แค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ต้องอบรมเจริญเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม