พระธรรมที่ทรงแสดง จะแสดงเรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ แต่ปัญญาของผู้ฟังจะต้องใคร่ครวญ พิจารณา ไตร่ตรอง ระลึก ศึกษา จนกระทั่งสามารถเข้าใจแม้เพียงคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสสั้นๆ ว่า ธรรม หรือธาตุ ให้รู้จริงๆ ว่า เป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อว่าธาตุ ๑๘ มีอะไรบ้างแล้วก็จบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของธาตุว่าเป็นธาตุ ตราบนั้นยังไม่จบ
ถ้าพูดถึงเรื่องของวิญญาณ ก็คือเรื่องของจิตใจ
ใช้คำว่า จิต ก็ได้ หรือที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า ใจ หรือบางท่านก็ใช้คำว่า วิญญาณ แต่ท่านที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจะเข้าใจคำว่า วิญญาณ ผิด คือ คิดว่าวิญญาณมีหลังจากที่ ตายแล้วเท่านั้น โดยไม่รู้ว่า คำว่า วิญญาณ ก็ดี หรือคำว่า จิต ก็ดี มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง มีวิญญาณ แต่ถ้ารู้เพียงสั้นๆ อย่างนี้ว่า มีวิญญาณ มีจิต ก็ไม่สามารถละคลายการยึดถือวิญญาณหรือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระธรรมเรื่องของสภาพธรรม แม้ในเรื่องของจิต หรือเจตสิก หรือรูป ตลอด ๓ ปิฎกใน ๔๕ พรรษา เป็นธรรมประการต่างๆ ทั้งในพระสูตรบ้าง ในพระอภิธรรมบ้าง ซึ่งบางท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะอาจจะคิดว่า เรื่องของวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ มีในพระอภิธรรมเท่านั้น แต่ความจริงแม้ในพระสูตร พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดง
ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธาตุสังยุต นานัตตวรรคที่ ๑ ธาตุสูตร ข้อ ๓๓๓ มีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความต่างแห่งธาตุแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ณ บัดนี้
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน
จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ
จบ ธาตุสูตรที่ ๑
พระผู้มีพระภาคตรัสย่อสำหรับผู้ที่สามารถพิจารณาธรรมและเข้าใจธรรม ในขณะนั้น และในขณะนี้ถ้าจะนับดูตามจำนวนที่ได้เคยศึกษามาเรื่องของธาตุ ๑๘ ในพระสูตรนี้ก็ครบที่ว่า
จักขุธาตุ ๑ รูปธาตุ ๑ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ ทางตา ๓ ธาตุ
โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ทางหู ๓ ธาตุ
ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ทางจมูก ๓ ธาตุ
ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ ทางลิ้น ๓ ธาตุ
กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพะธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ ทางกาย ๓ ธาตุ
รวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๕ ธาตุ
นอกจากนั้นก็มีมโนธาตุ ๑ ธรรมธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑ อีก ๓ ธาตุ รวมเป็น ๑๘ ธาตุ
ธรรมทั้งหมดถ้าไม่กล่าวโดยนัยของธรรม จะกล่าวโดยนัยของธาตุก็ได้ เพราะคำว่า ธาตุ หรือคำว่า ธรรม ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง
ขอเชิญรับฟัง
ธาตุ
ธาตุ ตอนที่ ๑