สำหรับอิริยาบถบรรพ กับสัมปชัญญะบรรพนี้ต่อเนื่องกัน ขอกล่าวถึงสัมปชัญญะบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามา ฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบ สัมปชัญญะบรรพ
ใน อิริยาบถบรรพ ก็ดี ใน สัมปชัญญะบรรพ ก็ดี กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น แล้วปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่ควรจะหลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถบรรพ ในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง เป็นสัมปชัญญะบรรพ ไม่ควรหลงลืมสติในขณะที่ก้าว ในขณะที่ถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ไม่ว่ากระทำกิจการงานใดๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีนั่ง นอน ยืน เดิน มีแล มีเหลียว มีคู้ มีเหยียด
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 91