ผมเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฎทางตา ไม่ใช่ตัวตน บุคคล วัตถุ สิ่งของ เป็นเพียงสภาพธรรมะเกิดแลัวดับ
ผมอยากทราบว่าการเข้าถึงสภาพธรรมะ (นามธรรม) ที่ถูกต้อง จิตจะมีความรู้สึกอย่างไร เพื่อผมจะจำไว้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำทีละคำให้ถูกต้องในประโยคที่ท่านผู้ถามได้กล่าวมาก่อนครับว่า จิต นั้น ทำหน้าที่ รู้ เป็นใหญ่ในการรู้ ไม่ได้ทำหน้าที่ รู้สึก ส่วน ความรู้สึก ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เรียกว่า เวทนาเจตสิก ซึ่ง ความรู้สึก ที่เป็นเวทนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท คือ กุศล อกุศล วิบากและกิริยา ซึ่งเวทนา ความรู้สึก นั้น จะมีความรู้สึก ๕ อย่าง คือ สุขกาย สุขใจ (โสมนัสเวทนา) ทุกข์กายและทุกข์ใจ (โทมนัสเวทนา) และ ความรู้สึกเฉยๆ ดังนั้น ความรู้สึก ไม่ใช่จิต เป็นเวทนา จิต ไม่มีความรู้สึก แต่จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น รู้ในสิ่งที่เป็นอารมณ์อยู่ ซึ่ง เวทนา ความรู้สึก ตามที่กล่าวแล้ว เป็นความรู้สึก ๕ อย่าง ดังนั้น ความรู้สึก จึงไม่ใช่รู้สึกว่า สภาพธรรม เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สภาพธรรมนี้ไม่เที่ยง เกิดดับ ดังนั้น เวทนา ความรู้สึก ทำหน้าที่ รู้สึก สุขและทุกข์เท่านั้นครับ แต่สภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริงในสภาพธรรมในขณะนั้น คือ ปัญญา
ดังนั้น การเข้าถึง ธรรมะ หรือ การรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ ปัญญา แต่ ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาเพียงขั้นการฟัง เข้าใจว่า ธรรม คืออะไร เป็นต้น ก็มี แต่ ยังไม่ได้เข้าถึงตัวสภาพธรรมจริงๆ ส่วน ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง และมีปัญญาที่แทงตลอดสภาพธรรม อย่างคมกล้า ที่แยกขาดว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม รวมทั้งเห็นการ เกิดดับ ก็เป็นปัญญาระดับสูงที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ และปัญญาระดับสูงอีกประการหนึ่ง คือ ปัญญา ที่สามารถดับกิเลสได้ ที่เป็น มรรคจิต ครับ
ซึ่ง จะขอกล่าวถึงปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่ เรา คือ เป็นสติและปัญญา ที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่ การคิดนึก ซึ่ง สภาพธรรมในขณะนี้ มีลักษณะให้รู้ได้ เช่น ขณะนี้มี แข็ง แข็งกำลังปรากฏ แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่เมื่อใด ที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น จะรู้ตรงลักษณะที่แข็งในขณะนั้น และปัญญาก็รู้ทันทีว่า เป็นธรรมไม่ใช่เราเลยในขณะนั้นครับ ซึ่งจากที่กล่าวมา ก็ต้องเป็นปัญญาของผู้นั้นเองที่จะรู้ได้ แม้กล่าวไป ก็เพียงสัญญาที่จำเรื่องราวที่กล่าวให้ทราบ
ที่สำคัญจะต้องอบรมเหตุให้ถูกต้อง คือ การฟังพระธรรมให้ เข้าใจ เมื่อความเข้าใจขั้นการฟังเพิ่มขึ้น แม้ยังไม่ถึงการรู้ลักษณะ แต่เป็นเหตุเพื่อจะไปถึงจุดนั้นนั่นเองครับ ดังนั้น ไม่ต้องทำอะไร นอกจากฟังพระธรรมต่อไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เพราะการอบรมปัญญา เป็นสิ่งที่ยากและใช้เวลายาวนาน อดทนที่จะฟังพระธรรม ค่อยๆ เข้าใจ ก็จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท" จิต เจตสิก รูป นิพพาน
จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน
รูปไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป
สภาพธรรมมี ๒ อย่างคือ ๑. สภาพรู้ (นามธรรม) ๒. สภาพไม่รู้ (รูปธรรม)
ปัญญาจะทำหน้าที่เอง ไม่มีเราที่จะไปทำ (ธรรมไม่มีทำไม เพราะไม่มีใครทำ)
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การที่จะมีปัญญาระดับสูง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น จะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ได้ เพราะปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่สามารถจะมีปัญญาในระดับที่ถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมในทันทีทันใด ต้องอาศัยการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมความเป็นผู้มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขึ้นชื่อว่าเป็นธรรมแล้ว ก็หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรม นั้นๆ ไม่ได้
สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา (สี) เท่านั้น ซึ่งเป็นรูปธรรมประการหนึ่ง สภาพธรรมที่รู้สี ก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ นามธรรม ได้แก่ จิต และ เจตสิก ที่เกิดร่วมด้วย จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นทางตา ย่อมรู้สี เหมือนกันทั้งหมด แต่รู้โดยกิจหน้าที่ที่ต่างกัน แต่ถ้าเป็นการรู้สีตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ก็จะต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศลอันประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ในขณะที่เห็นสีโดยกิจหน้าที่ของจักขุวิญญาณ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าสะสมปัญญาไปตามลำดับ ในวันหนึ่งข้างหน้า ก็คงจะถึงวันที่ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปทั้งหมด ไม่มีการบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้เลยครับ
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สภาพธรรมคือรู้เฉยๆ แต่ไม่ปรุงแต่ง ... ยกตัวอย่าง เวลารับประทานอาหาร ให้รู้รสอาหารเฉยๆ แต่ไม่ปรุงแต่ง ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย (ชอบหรือไม่ชอบ) ... ทางทวารอื่นก็เช่นเดียวกัน ได้ยิน, เห็น, สัมผัสฯ ให้รู้เฉยๆ ให้เห็นว่ามันเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น ต้องฝึกด้วยครับจึงจะเข้าใจ อาการ คือ ไม่เข้าไปยึดมั่นปรุงแต่งให้เกิดเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ ... ให้มีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเกิดอยู่ในแต่ละขณะ
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
ธรรม เป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำว่าปรุงแต่ง
ขออธิบายเรื่องการปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งครับ จริงๆ แล้วเรามักเข้าใจว่าเมื่อไม่คิดอะไร เฉยๆ คือการไม่ปรุงแต่ง แต่ในความจริงแล้ว สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตคือเจตสิก ซึ่งเมื่อใดที่จิตเกิดก็จะต้องมีเจตสิกเกิดแล้วครับ ปรุงแต่งจิตในขณะนั้นครับ ดังนั้น เพียงแค่เห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งจิตแล้ว ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไรเลยและขณะนั้นก็เฉยๆ เท่านั้น ก็ปรุงแต่งแล้วครับ ปรุงแต่งด้วยเจตสิกที่เกิดขึ้นครับ
ดังนั้น ปัญญาต่างหากที่เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจว่า เป็นธรรมมไม่ใช่เรา โดยไม่มีตัวตนที่จะฝึก จะทำเลย แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระะรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมทำให้รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรุงแต่งอยู่ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น ปัญญาไม่ได้วัดที่ความรู้สึกเฉยๆ แต่วัดที่ขณะนั้นปัญญากำลังรู้ความจริงว่าอย่างไร ครับ
การอธิบายแม้จะเป็นข้อความเดียวกัน แต่คนอ่านหรือคนฟังก็เข้าใจต่างกันครับ
จึงแนะให้ฝึกไปด้วย มันจะพัฒนาเป็นความเข้าใจ และเกิดเป็นความชำนาญ
ถ้าปฏิบัติได้ไม่ขัดข้อง เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรานำมาใช้ปฏิบัติเป็นเพียงอุบายเท่านั้น
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
ควรเข้าใจตามความเป็นจริงครับว่า ความเป็นจริงมีเรา หรือ มีแต่ธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป มีเราปฏิบัติ หรือ ธรรมที่เป็นสติและปัญญาปฏิบัติหน้าที่ มีเราที่ฝึก หรือ มีธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นสติและปัญญาทำหน้าที่ มีเราที่บังคับบัญชาได้ หรือ ว่า พระพุทธเจ้าแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีเรา มีแต่ธรรมและบังคับบัญชาไม่ได้ หากมองตามความเป็นจริง ไม่เอนเอียงแล้ว และพิจารณาจากคำกล่าวที่ได้กล่าวมา แสดงว่าธรรมเป็นอนัตตา มีแต่ธรรม จึงไม่มีเราที่จะฝึก แต่อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม ธรรมจะเกิดทำหน้าที่เอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่า สติและปัญญาจะเกิดหรือไม่ หากไม่เกิด จะพยายามให้เกิด ก็เป็นไปไม่ได้เลย อันเป็นการขัดแย้งกับหลัก อนัตตา เพราะคิดว่าทำได้ ฝึกได้ มีตัวเราที่จะทำได้ และมีตัวเราที่จะนำไปใช้ ไม่มีใครนำไปใช้ นอกจากธรรมที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ครับ
หากปัญญายังน้อย สะสมปัญญามาน้อย จะพยายามให้สติและปัญญาเกิด โดยพยายามที่จะฝึก ย่อมไม่ใช่ฐานะเลย ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง การศึกษาธรรมจึงจะต้องเข้าใจและสอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งอภิธรรม ที่แสดงว่า มีแต่ธรรม ไม่มีเรา จึงไม่มีเราที่จะฝึก ที่จะทำ มีแต่ธรรมที่ทำหน้าที่เกิดขึ้นและดับไป ที่สำคัญที่สุดไม่ลืมคำว่าอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ หากเข้าใจ แม้แต่เริ่มต้นผิด ก็จะทำให้เข้าใจหนทางปฏิบัติผิดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายในการศึกษาพระธรรมครับ
เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ในเรื่องต่อไปนี้นะครับ
จะทำให้เข้าใจขึ้น ลองฟังครับ
ยังคิดที่จะทำอีกรึเปล่า ๑
ยังคิดที่จะทำอีกรึเปล่า ๒
ไม่ใช่เรื่องจะทำแต่ต้องอบรมเจริญ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบคุณครับที่มีเมตตาให้คำแนะนำจะไปทบทวนครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณทุกๆ ท่าน ... ครับ
ปัญญาขั้นการฟัง ยังไม่ถึงขั้นการปฏิบัติ แต่อาศัยการสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย และความมั่นคงในความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม สักวันหนึ่งก็จะเข้าถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ